นิธิ เอียวศรีวงศ์: อารยธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บัดนี้เป็นที่รู้และยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า เมื่อตอนที่มนุษย์ยังเก็บเกี่ยวของป่าเป็นอาหาร (ทั้งพืชและสัตว์) มนุษย์ได้กินอาหารที่มีคุณภาพ หรือพูดภาษาปัจจุบันคือครบห้าหมู่ มากกว่าเมื่อมนุษย์หันมาผลิตอาหารด้วยเกษตรกรรม นักมานุษยวิทยาบางคนบอกว่า ซ้ำยังทำงานต่อวันเฉลี่ยน้อยชั่วโมงกว่าทำเกษตรกรรมด้วย

ตรงกันข้ามกับที่คนรุ่นผมเคยเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า ที่เราได้กินอิ่มทุกมื้อก็เพราะมนุษย์หันมาทำเกษตรกรรม และเพราะเกษตรกรรมจึงทำให้เราแข็งแรงเพราะไม่ต้องอดอยากอย่างบรรพบุรุษ มีกำลังและเวลาเพียงพอจะคิดทำนู่นทำนี่ให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น เช่น สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ทอผ้าจากไยพืช และ ฯลฯ

พูดง่ายๆ ก็คือ อารยธรรมเริ่มขึ้นได้เพราะเกษตรกรรม

อันที่จริงแม้ในอาชีพเก็บเกี่ยวของป่า ก็บังคับให้มนุษย์ต้องพัฒนาตนเองไปหลายอย่างเหนือสัตว์อยู่แล้ว นับตั้งแต่สร้างเครื่องไม้เครื่องมือในการล่าสัตว์หรือเก็บพืช สร้างเพิงพักกันแดดกันฝน ในทางสังคมก็รู้จักการรวมกลุ่ม แบ่งหน้าที่กันระหว่างเด็ก ผู้ใหญ่และคนแก่ หรือระหว่างเพศ ตลอดจนถึงต้องเรียนรู้ในการยอมรับอำนาจการบริหารจัดการบางเรื่อง เช่น ในการล่าสัตว์ หรือการแบ่งอาหาร

เกษตรกรรมจึงไม่ใช่ความจำเป็นด้านการดำรงชีพของมนุษย์ (ที่จริงแล้ว นับตั้งแต่มีมนุษย์ขึ้นในโลก เราอยู่โดยไม่มีเกษตรกรรมมานานกว่าเมื่อมีเกษตรกรรมแล้วหลายพันหลายหมื่นปี) แต่เกษตรกรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางการเมืองต่างหาก

ส่วนใหญ่ของเกษตรกรรมทำให้คนหยุดเคลื่อนย้าย เมื่อหยุดเคลื่อนย้ายก็ทำให้สามารถกระจุกประชากรจำนวนมากไว้ในพื้นที่หนึ่งๆ ได้ สามารถเก็บภาษี (ส่วยและแรงงาน)ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่แต่เพียงถือสิทธิ์เอาส่วนแบ่งขากวางไปคนเดียวเหมือนสมัยที่ยังเก็บเกี่ยวจากป่าอยู่

เมื่อมีทรัพยากรมาก ก็สามารถสะสมกำลังไว้เสริมอำนาจของตนได้มากขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้ครอบครองสิ่งที่คนอื่นไม่มี คือเวลาว่าง ไม่ต้องทำงานด้วยแรงกายก็มีกินมีใช้ จึงใช้เวลาว่างนั้นไปในทางที่ไม่เกี่ยวกับอาหารได้ เช่น แต่งกลอน, แต่งเพลง, วาดรูป, ประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น หรือรังแกคนอื่นได้ง่ายขึ้น เช่น อาวุธ และก่อสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่ต่างๆ ด้วยแรงงานของคนอื่น

สิ่งประดิษฐ์สำคัญทางการเมืองของคนซึ่งได้ครอบครองเวลาว่างเช่นนี้ เปลี่ยนอำนาจแข็งให้กลายเป็นอำนาจอ่อน คือแทนที่จะต้องเสียเวลาไปใช้กำลังบังคับ ให้กลายเป็นการยอมรับ, ความภักดี, ระเบียบทางสังคมที่แม้กดขี่และเอาเปรียบ แต่คนส่วนใหญ่กลับเห็นว่าทำให้ชีวิตสงบสุขดี, สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และตระการตาซึ่งเกิดขึ้นจากการเกณฑ์แรงงานคนอื่นมาสร้างขึ้น กลับกลายเป็น “บารมี” ของผู้บังคับ ที่พิสูจน์ความชอบธรรมของอำนาจโดยไม่ต้องชักดาบออกจากฝักเลยสักครั้ง พันธะที่ถูกบังคับทั้งหมดกลายเป็น “บุญคุณ”

ก็จริงหรอกครับ ถ้าทุกคนต้องใช้แรงงานไปในด้านต่างๆ ของการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องหมด “การสร้างสรรค์” ก็จะเหลือจำกัดมากคือเครื่องไม้เครื่องมือในการหากินเท่านั้น แต่เพราะมนุษย์เริ่มอยู่กับที่โดยไม่เคลื่อนย้ายต่างหาก “การสร้างสรรค์” จึงขยายไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา-พิธีกรรม, เทคโนโลยี, การฟ้อนรำและอื่นๆ อย่างที่เราอาจพบได้ในสังคมยุคหินใหม่

แต่ยุคหินใหม่นั่นแหละครับ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของชนชั้นเวลาว่าง ไม่ว่าจะเป็นหมอผีหรือนักปกครอง ต่างไม่ต้องรับผิดชอบกับการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเอง เป็นฐานที่จะสร้างสมอำนาจให้ใหญ่โต จนไม่มีใครเทียบได้ ทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรมสืบต่อมา

ยุคหินใหม่ซึ่งเป็นยุคสมัยที่การเกษตรกำเนิดขึ้น จึงเป็นเส้นแบ่งที่กำหนดชะตากรรมมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่เลิกเก็บเกี่ยวจากป่า หันมาตั้งหลักแหล่งถาวร ทำเกษตร และหวังจะได้รับความปลอดภัยทั้งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินจากอำนาจในชุมชน จะมีลูกหลาน (ซึ่งเพิ่มปริมาณขึ้นล้นเหลือ) ที่ทำงานหนัก, ได้ส่วนแบ่งของงานน้อย, ซ้ำยังต้องเสียแรงงานไปทำอะไรตามความฝันของคนมีเวลาว่างมากอยู่เสมอด้วย ในขณะที่คนซึ่งเลือกจะอยู่ในวิถีเก็บเกี่ยวของป่าต่อไป จะส่งทอดมรดกให้ลูกหลาน (ซึ่งแทบไม่เพิ่มปริมาณขึ้นเลย) เป็นเวลาว่างที่เฉลี่ยให้แก่ทุกคนในกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน มีอาหารดีๆ กิน ทำงานน้อย อยู่ไปวันๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

น่าสังเกตนะครับว่า พวกเราซึ่งเป็นลูกหลานเหลนของคุณทวดคุณเทียดที่ตัดสินใจหยุดเคลื่อนย้าย เข้ามาอยู่ในชุมชนเกษตร จะถูกสอนให้เห็นวิถีชีวิตของคนที่ยังเก็บเกี่ยวของป่าว่าเป็นชีวิตที่ไม่ต่างจากสัตว์เท่าไรนัก ซึ่งนั่นก็คือชีวิตในสวนอีเดนนั่นเอง

เราแลกสวนอีเดนกับอะไร? มีคำที่เขาสร้างขึ้นให้เราไม่ต้องหวนรำลึกถึงสวนนั้นอีกเลย เราแลกกับ “อารยธรรม” ครับ

น่าสนใจนะครับ คำว่า “อารยธรรม” หรือ civilisation (หรือ civilization ในภาษาอังกฤษ) คิดและนิยามกันขึ้นก่อนในภาษาฝรั่งเศสเมื่อครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 นี่เอง นักปรัชญาที่คิดคำนี้ขึ้นนิยามความหมายว่า คือการตั้งหลักแหล่งถาวร การเกิดชุมชนเมือง และรัฐหรือรัฐบาล นักคิดในรุ่นหลังๆ เติมคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งให้ว่า รวมถึงการแบ่งสถานภาพของคนในสังคมออกเป็นช่วงชั้นต่างๆ ด้วย

ใช่เลย ทั้งสามหรือสี่อย่างดังกล่าวนี้คือฐานที่จะทำให้มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ ทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและส่วนที่เป็นนามธรรม เช่น ศาสนา, กฎหมาย, ระบบปกครอง, ความรู้และสถาบันความรู้ ฯลฯ ล้วนแต่สิ่ง “ดีๆ” ทั้งนั้น จนไม่ต้องถามว่าทั้งหมดเหล่านี้ต้องแลกกับอะไร เพราะสิ่งที่แลกมาถูกเรียกรวมๆ ว่า “อนารยะ” ฟังดูน่าขยะแขยงเสียไม่มี

จากนั้นมา แนวคิดเรื่อง “อารยธรรม” ก็ครอบงำนักคิดตะวันตก เป็นประเด็นใหญ่ในการศึกษาด้านประวัติศาสตร์, สังคมวิทยา และปรัชญา สืบมาอีกนาน มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะธำรงรักษาต่อไปได้อย่างไร และในอนาคตมันจะแปรผันไปเป็นอะไร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือสิ่งมหัศจรรย์เจ็ดอย่างของโลก (ทั้งโลกโบราณและโลกสมัยใหม่) ทั้งหมดล้วนเป็นถาวรวัตถุทั้งสิ้น และสร้างขึ้นด้วยแรงงานมหึมาของผู้คนซึ่งถูกเคี่ยวเข็ญด้วยอำนาจให้ทนตรากตรำทำงานเพื่อความสุขสบายและชื่อเสียงเกียรติยศของคนส่วนน้อยที่ถืออำนาจ

อารยธรรมส่วนที่จับต้องได้จึงไม่ได้บอกว่ามนุษย์มีความปลอดภัยในชีวิตมากกว่าเมื่อยังต้องหากินด้วยการเที่ยวเก็บเกี่ยวจากป่าเลย

สิ่งมหัศจรรย์ในโลกโบราณ กำหนดขึ้นโดยนักเดินทางชาวกรีกตั้งแต่ก่อนคริสตกาล (จึงถือว่าเป็นโลกโบราณ) แต่ในโลกสมัยใหม่เมื่อให้นักเดินทางในปัจจุบันลงคะแนนเสียงว่าอะไรคือสิ่งมหัศจรรย์ของโลก คนปัจจุบันที่อยู่ภายใต้ “อารยธรรม” แล้ว ก็เลือกทำนองเดียวกับคนโบราณ เช่น กำแพงเมืองจีน, มาชูปิคชู, หรือทัชมาฮาล เป็นต้น

ล้วนเกิดขึ้นด้วยแรงงานบังคับของผู้คนจำนวนมากที่ไร้อำนาจทั้งสิ้น

แทนที่จะเป็นกำแพงเมืองจีน มีสิ่งมหัศจรรย์กว่านั้นในเมืองจีน เช่น จีนเป็นจักรวรรดิแห่งเดียว ที่บังคับให้ท้องถิ่นทั้งจักรวรรดิ ต้องมียุ้งฉางเอาไว้เลี้ยงราษฎรในยามข้าวยากหมากแพง ซ้ำเจ้าหน้าที่รัฐยังต้องส่งรายงานปริมาณข้าวในยุ้งฉางให้แก่ส่วนกลางเป็นประจำ ดังนั้น จีนจึงเป็นจักรวรรดิเพียงแห่งเดียวในโลก ที่สามารถบรรเทาทุพภิกขภัยอย่างได้ผลที่สุด
 
นี่น่าอัศจรรย์เสียยิ่งกว่ากำแพงเมืองจีนเท่าไรครับ เพียงแต่ว่า เราต้องคิดถึงเกณฑ์ของ “อารยธรรม” ว่าคือความสุขและความมั่นคงปลอดภัยของมนุษย์ ไม่ใช่ความรุ่งโรจน์ของชีวิตชนชั้นเวลาว่างเท่านั้น

น่าสังเกตด้วยว่า ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 คือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม, ทุนนิยมแบบใหม่ และลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่ (ที่ต่างจากอาณานิคมแบบเก่า แต่ต่างอย่างไรขอไม่พูดถึง) อยู่ๆ วันหนึ่ง (เขาว่ากันว่า) Robert Clive นอนหลับอยู่ใต้เงาไม้ ในขณะที่ทหารกำลังรบกับกองกำลังของผู้ปกครองชาวพื้นเมืองเบงกอล พอตื่นขึ้นมาอังกฤษหรือบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษก็ได้เบงกอล อันเป็นดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลภายในของอนุทวีปมาเป็นอาณานิคมเสียแล้ว หลังจากมีอาณานิคมเป็นเมืองเล็กๆ ริมฝั่งทะเลเพื่อการเดินเรือของตนมาเป็นศตวรรษแล้ว

จากนั้นแผ่นดินเอเชียเกือบทั้งทวีปก็ตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจยุโรปและอเมริกาไปหมด ตั้งแต่ตะวันออกกลางไปถึงจีน ทั้งนี้ ยังไม่นับแอฟริกาเกือบทั้งทวีปเช่นกัน

ความเฟื่องฟูของแนวคิด “อารยธรรม” ในยุโรปจึงสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุโรปตะวันตกไปเป็นเจ้าอาณานิคมพอดี ความชอบธรรมของการยึดครองบ้านเมืองของคนอื่นเพียงประการเดียวคือ “อารยธรรม” เพราะหากไม่กรุณาลงมาปกครองอาณานิคมด้วยตนเองแล้ว จะนำเอา “อารยธรรม” มาสู่ดินแดน “อนารยะ” เหล่านี้ได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านี้ นับตั้งแต่เมื่อนักคิดฝรั่งเศสบัญญัติคำ “อารยธรรม” ขึ้น คำนี้ก็ถูกใช้ในภาษายุโรปเป็นเอกพจน์เสมอ สรุปก็คือ “อารยธรรม” มีเพียงหนึ่งเดียว และเป็นเช่นนี้มาจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 และต้น 20 จึงได้เห็นกันว่า “อารยธรรม” น่าจะมีหลายลักษณะ ไม่จำเป็นต้องเหมือนยุโรปเสมอไป เช่น อารยธรรมจีน, ฮินดู, หรือแอซเตค เป็นต้น จึงเริ่มมี “อารยธรรม” ที่เป็นพหูพจน์บ้าง

ดังนั้น จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า เมื่อนำเอาการศึกษาแผนใหม่เข้ามาสู่อาณานิคมทั้งหลาย โรงเรียนในอินเดีย, พม่า, เวียดนาม, กัมพูชา ฯลฯ ล้วนสอนแต่ประวัติศาสตร์ยุโรป เน้นเรื่องราวของเจ้าอาณานิคม ไม่เคยสอนประวัติศาสตร์ของประเทศอาณานิคมเองเลย เพราะจะหาอะไรที่ทำให้คนเข้าถึง “อารยธรรม” ได้ดีไปกว่าประวัติศาสตร์เล่า

ในเมืองไทยซึ่งยังมีอิสรภาพที่จะกำหนดหลักสูตรการศึกษาเอง เราสอนประวัติศาสตร์ไทยและยุโรป และสอนอย่างนี้มานานจนเมื่อผมเริ่มเข้าโรงเรียน ก็ได้เห็นหลักสูตรประวัติศาสตร์เช่นนี้สืบมา โดยแทบไม่มีอะไรเกี่ยวกับเอเชียเลย เช่น อินเดียหรือกัมพูชาซึ่งเป็น “ครู” ทางวัฒนธรรมไทยหลายด้าน ก็ไม่เคยถูกกล่าวถึงสักคำในหลักสูตรประวัติศาสตร์ของไทย

เป็นหรือไม่เป็นอาณานิคมโดยทางการ แนวคิดเรื่อง “อารยธรรม” ที่เป็นเอกพจน์ ก็แทรกซึมเข้าสู่การศึกษาแผนใหม่จนได้ ไม่ต่างกันกับอาณานิคมโดยทางการ

“อารยธรรม” ยังเป็นแกนหลักของการศึกษาไทย (และอีกหลายประเทศของเอเชีย) สืบมาจนแม้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อประเทศในเอเชียกลายเป็นรัฐเอกราชหมดแล้ว ประเทศหลักที่เน้นย้ำการเรียนรู้ด้านอารยธรรม (ซึ่งเป็นพหูพจน์เพราะยอมรับว่ามีความหลากหลาย) คือสหรัฐ จนเมื่อผมไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอเมริกัน หลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยก็ยังมีเรื่องของอารยธรรมเป็นวิชาบังคับให้นักศึกษาทุกคนต้องเรียน ผมเอาตำราของเขามาอ่านดู ก็พบว่าส่วนใหญ่ย่อมเน้นไปยังเรื่องราวของโลกตะวันตก คือไล่จากเมโสโปเตเมีย, อียิปต์, กรีก-โรมัน, จนถึงยุโรปและอเมริกา แต่ก็มีเรื่องราวของแอฟริกา, เอเชีย และอเมริกาก่อนผิวขาวอยู่ด้วย

ภายใต้อิทธิพลอเมริกันแบบนี้แหละครับ ที่มหาวิทยาลัยไทยต้องมีวิชาบังคับ “ยำไทย”, “ยำออก” และ “ยำตก” สืบต่อมาอีกหลายปี ผมได้พบวิชาเหล่านี้เมื่อเริ่มรับสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเช่นกัน

น่าสนใจนะครับที่จะตั้งข้อสังเกตว่า อเมริกันกับ “อารยธรรม” เป็นของคู่กัน เมื่อตอนที่สหรัฐเป็นเจ้าอาณานิคม (แบบใหม่ของแบบใหม่) ที่ใหญ่สุดและควบคุมประเทศต่างๆ ไปกว่าครึ่งโลก “อารยธรรม” กับลัทธิล่าเมืองขึ้นนี่มันมีอะไรเกี่ยวๆ กันอยู่อย่างไรนะครับ

ในปัจจุบัน จีนก็เที่ยวตั้งสถาบันขงจื่อไปทั่วโลก พร้อมกับโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เหมือนกัน และน่าระแวงอย่างมากด้วยว่า “อารยธรรม” ในความหมายแบบจีนจะเป็นเอกพจน์ อย่างที่เป็นเอกพจน์เสมอมาในสมัยโบราณ

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์https://www.matichonweekly.com/column/article_466802

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท