Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมรู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งที่หลายท่านพูดถึงหนังสือ “เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธและสังคมโลกวิสัย” กับ “อำลาพุทธราชาชาตินิยม” ในหลายแง่มุม ทั้งส่วนที่เห็นด้วย และตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์กับผมและผู้อ่าน 

สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมจึงเปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธและสังคมโลกวิสัย เพราะมันดูไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากประวัติศาสตร์ของเขากับของเราต่างกันมาก 

ประเด็นความต่างทางประวัติศาสตร์นี้ ผมถูกตั้งคำถามตั้งแต่แรกเสนอโครงการวิจัย ซึ่งผมก็อธิบายไปว่าวงวิชาการไทยมีการศึกษาเปรียบเทียบทำนองนี้มานานแล้วในหลายๆ เรื่อง เช่น การศึกษากำเนิดรัฐโบราณและระบบศักดินาไทยในเชิงเปรียบเทียบกับยุโรป ที่เห็นได้ในงานของจิตร ภูมิศักดิ์ การเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ของไทย, นิยาม “ชาติ” แบบชนชั้นนำไทย, สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย, ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย, ประชาธิปไตยแบบไทยกับสิ่งที่เรียกชื่อแบบเดียวกันในโลกตะวันตก 

พูดง่ายๆ คือ หากไม่ศึกษาเปรียบเทียบ เราจะเข้าใจตัวเองไม่ได้เลย แน่นอนว่าเราอาจมี “เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์” ของสังคมเราเองมากมาย แต่เราจะประเมินตัวเราเองอย่างไร หากไม่เปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะเราจะประเมินตัวเองในเรื่องของการมีสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ถ้าไม่เปรียบเทียบกับสังคมที่เขาต่อสู้เพื่อให้มีสิ่งพวกนั้นมาก่อน เป็นต้น 

เรื่องความเป็นรัฐศาสนาและการแยกศาสนาจากรัฐ หรือความเป็นสังคมศาสนากับความเป็นสังคมโลกวิสัยก็เช่นกัน ถ้าไม่เปรียบเทียบก็ไม่มีทางรู้จักสังคมตัวเอง ขอให้ดูภาพข้างล่างนี้ 



ที่มาภาพ https://www.facebook.com/photo/?fbid=4393976834028955&set=pcb.4393987010694604

จะเห็นว่าจากภาพข้างบน สังคมศาสนายุคโบราณ-ยุคกลาง/ยุคสังคมจารีตเป็นสังคมชนชั้นรูปปิรามิด และศาสนากับการเมืองไม่แยกจากกัน แต่แปลกไหม สังคมชนชั้นแบบอินเดีย, อียิปต์ (รวมอารยธรรมเมโสโปเตเมีย) และยุโรปยุคกลาง ถูกนำเสนอตรงไปตรงมาว่าเป็น “รัฐศาสนา” ที่มีองค์กรนักบวชเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชนชั้นปกครอง แต่พอมาสยาม สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะชั้นยศต่างๆ เหาะหายไปไหนกัน ทำไมไม่อยู่ในองค์ประกอบหนึ่งของชนชั้นปกครอง

ผมเองไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เป็นเพราะเราเหนียมอาย หรือเพราะมี “มายาคติ” อะไร จึงไม่สะดวกใจที่จะเรียกรัฐในยุคจารีตของเราเองว่า “รัฐพุทธศาสนา” แต่กลับสร้าง “ความทรงจำร่วม” ทางประวัติศาสตร์ และภูมิใจกับความเชื่อที่ว่ากษัตริย์ไทยเป็น “ธรรมราชา” ผู้ปกครองโดยธรรมมาแต่สมัยสุโขทัย กษัตริย์เป็นทั้งสมมติเทพ, พระโพธิสัตว์, พระพุทธเจ้าอยู่หัว, เป็น “หน่อพระพุทธเจ้า” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เลยด้วยซ้ำ และกษัตริย์ก็มีอำนาจปกครองทั้งอาณาจักรและคณะสงฆ์ 

เราสดุดีกษัตริย์ที่แต่งไตรภูมิพระร่วง, เชี่ยวชาญไตรปิฎก, อุปถัมภ์การสังคายนาไตรปิฎก ชำระคัมภีร์ต่างๆ, สร้างวัด, วังอลังการที่มีหน้าตาเหมือน “เมืองเทวดาบนสวรรค์” ตามที่บรรยายในคัมภีร์ศาสนา แต่เราก็ไม่นึกถึงรัฐจารีตของเราว่าเป็น “รัฐพุทธศาสนา” อย่างที่เขาเรียกรัฐฮินดู, รัฐคริสเตียน, รัฐอิสลาม เป็นต้น

สำหรับคนที่แสดงออกว่าก้าวหน้าทางความคิดก็มักจะบอกว่า ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องที่ชนชั้นปกครองใช้พุทธศาสนาเป็น “เครื่องมือ” ทางการเมือง มันเป็นเรื่องปกติของรัฐโบราณ ถึงไม่มีพุทธศาสนาเข้ามาไทย ชนชั้นปกครองก็ใช้ศาสนาอื่นๆ เป็นเรื่องมือทางการเมืองอยู่แล้ว 

แต่คำอธิบายเช่นนี้บังเอิญไปตรงกับคำอธิบายแบบ “สูตรสำเร็จ” ของชาวพุทธฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป๊ะเลยว่า “ศาสนาคือคำสอนของพระเจ้า” ซึ่งตัวคำสอนไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ปัญหาเกิดจากชนชั้นปกครองใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น

ต่างจากการศึกษาประเด็นศาสนากับรัฐ/การเมืองในตะวันตก เขามองศาสนาเป็น “มูฟเมนท์” ทางความคิด ความเชื่อ ที่เป็นเรื่องเดียวกับมูฟเมนท์ทางสังคมและการเมือง ไม่ได้แยก “ตัวคำสอน” ออกจากมูฟเมนท์ดังกล่าว 

เช่น เดิมทีชาวเมโสโปเตเมียและอียิปต์เขาอยู่ในระบบสังคมการเมืองแบบรัฐศาสนาพหุเทวนิยมอยู่แล้ว อำนาจผู้ปกครอง กฎหมาย สถานะทางชนชั้นล้วนได้รับความชอบธรรมจากเทพต่างๆ ขณะเดียวกันผู้คนในรัฐก็นับถือเทพหลากหลาย แต่เมื่อชาวยิวมูฟเมนท์ด้วยการชูศาสนาของชาติพันธุ์ตนเองที่นับถือ “พระเจ้าองค์เดียว” โดยชาวยิวโบราณเชื่อว่าพวกเขาคือ “ชนชาติพิเศษ” เพราะเป็น “ชนชาติที่ถูกเลือกโดยพระเจ้า” จึงทำให้พวกเขาแปลกแยกจากคนกลุ่มอื่นๆ และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้พวกเขาถูกกดปราบเป็นเวลายาวนาน

มูฟเมนท์ของโมเสส จึงสะท้อนบทบาทของศาสดาผู้นำทางศาสนาและการเมืองพร้อมๆ กัน มูฟเมนท์แบบมูฮัมหมัดก็เช่นกัน แต่ทั้งโมเสสและมูฮันหมัดถือว่าอาณาจักรทางโลกเป็นหนึ่งเดียวกับศาสนา ขณะที่มูฟเมนท์ของเยซูเสนอ “อาณาจักรสวรรค์” ของพระเจ้าขึ้นมาแข่งกับอาณาจักรทางโลก นั่นจึงเป็นสาเหตุของการถูกกดปราบจากอาณาจักรทางโลก จนเยซูถูกตรึงกางเขน และเป็นสาเหตุที่ชาวคริสต์ในโรมยุค 3 ศตวรรษแรกถูกกดปราบจากจักพรรดิโรมันอย่างรุนแรง เพราะชาวคริสต์ที่เชื่อว่า “อาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้าจะมาสู่โลกนี้ในไม่ช้า” และไม่ประนีประนอมกับคนที่เชื่อศาสนาเทพหลายองค์เอาเสียเลย จึงถูกมองว่าเป็น “ภัยความมั่นคง” และความสงบสุขของชาวโรมัน

แต่เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินหันมานับถือคริสต์ และประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำจักรวรรดิ จึงเป็นการเปิดทางไปสู่ยุคกลาง นั่นคือ ยุคที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกเรืองอำนาจครอบครองยุโรปแทนจักรวรรดิโรมัน ในช่วง ค.ศ. 500-1500 มันคือช่วงเวลาที่ชาวยุโรปถูกปกครองด้วย 2 อำนาจคู่ขนาน คือ อำนาจศาสนจักรคาทอลิกที่มีผู้นำสูงสุดคือสันตะปาปา กับอำนาจอาณาจักรที่มีผู้นำสูงสุดคือจักรพรรดิและกษัตริย์คริสเตียน ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ “อำนาจเทวสิทธิ์” ของพระเจ้า 

ปัญหาที่ตามมาคือ ระหว่างอำนาจทางธรรมของศาสนจักรที่ปกครองจิตวิญญาณของประชาชน เพื่อเตรียมการให้พวกเขาเข้าสู่สวรรค์ของพระเจ้าในชีวิตหลังความตาย กับอำนาจรัฐที่ให้หลักประกันความสุขในโลกนี้ อะไรสำคัญกว่า ประชาชนควรเชื่อฟังใครมากกว่า เมื่อโป๊ปประกาศลง “ปัพพาชนียกรรม” แก่กษัตริย์ และใช้กฎศาสนจักรสั่งให้ประชาชนเลิกเชื่อฟังกษัตริย์ หากกษัตริย์ไม่ยอมรับประกาศนั้น ประชาชนจะทำตัวยังไง ไม่เชื่อฟังโป๊ปก็โทษตาย ไม่เชื่อฟังกษัตริย์ก็โทษตายเช่นกัน นี่คือปัญหาการเมืองของชาวยุโรปยุคกลาง

ประกอบกับปัญหาอื่นๆ อีกสารพัดจึงนำมาสู่การ “ปฏิรูปศาสนา” ที่ตามมาด้วยการแยกนิกาย และสงครามระหว่างนิกายศาสนา 30 ปี ส่งผลให้เกิดแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) และโกลวิสัย (secularism) ขึ้นมาหาทางออกจากปัญหาระบบเผด็จการโดยศาสนจักรและระบบกษัตริย์ที่ต่างใช้ “อำนาจเทวสิทธิ์” ของพระเจ้า จนนำมาสู่การปฏิวัติประชาธิปไตย และการแยกศาสนากับรัฐซึ่งผ่านวันเวลาหลายศตวรรษ

ความคิดเสรีนิยม, ประชาธิปไตย และโลกวิสัย ก็เช่นเดียวกับศาสนาในแง่ที่มันแพร่ออกไปนอก “บ้านเกิด” ของตัวมันเอง และเป็นสิ่งผู้คนทุกชาติทุกภาษามีสิทธิจะเลือกรับหรือไม่รับมาเป็นของตนก็ได้ 

สาระสำคัญของเสรีนิยมคือ ปัจเจกบุคคล (individual) มีเสรีภาพแห่งมโนธรรม (freedom of conscience) มีอิสรภาพปกครองตนเองได้ในทางศีลธรรม (autonomy) และมีอำนาจสูงสุด (sovereignty) เหนือชีวิตร่างกายและจิตใจของตนเอง เราทุกคนที่เป็นปัจเจกบุคคลจึงเป็นผู้มีอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ ความเสอมภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นของตนเองอยู่แล้วแต่แรก นี่เท่ากับเป็นการยืนยันว่า เราไม่ใช่คนของพระเจ้า, ไม่ใช่ผู้รับใช้ศาสนา หรือไม่ใช่คนใต้อำนาจเผด็จการของศาสนจักรและกษัตริย์ หรือเผด็จการแบบอื่นใด 

รัฐไม่ได้มาจากพระเจ้า แต่รัฐเกิดจากข้อตกลง หรือ “สัญญาประชาคม” ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หน้าที่ของรัฐจึงต้องเคารพและปกป้องคุณค่าเหล่านี้

แนวคิดเสรีนิยมจึงต่อต้านเผด็จการศาสนจักรและกษัตริย์ที่บังคับศรัทธาทางศาสนาและความจงรักภักดี และแยกระหว่างรัฐกับประมุขของรัฐ ประชาชนต้องนับถือรัฐมากกว่าประมุข เพราะประมุขของรัฐต้องอยู่ใต้กฎหมายและหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน ความมั่นคงของรัฐคือความมั่นคงของอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักิด์ศรีความเป็นคนของประชาชน ไม่ใช่ความมั่นคงของสถานะและอำนาจประมุขของรัฐ ด้วยเหตุนี้รัฐจึงต้อง “เป็นกลาง” ทางคุณค่าเกี่ยวกับความเชื่อ, แนวคิดที่ว่าด้วยสิ่งที่ดี, การมีชีวิตที่ดีที่แตกต่างหลากหลาย อันเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” ซึ่งขึ้นกับอิสรภาพในการเลือกของปัจเจกบุคคลแต่ละคน

แนวคิดโลกวิสัยแชร์ไอเดียดังกล่าวของเสรีนิยม ด้วยการเสนอหลักการพื้นฐาน 2 ประการ คือ หนึ่งต้อง “แยกศาสนจักรกับรัฐ” หรือแยกอำนาจทางการเมืองออกจากศาสนา และสอง “รัฐต้องเป็นกลาง” ทางศาสนา, ความเชื่อ และคุณค่าทางศีลธรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนา เช่น อเทวนิยม และแนวคิดปรัชญาต่างๆ 

ความเป็นกลางก็คือรัฐไม่สถาปนาคุณค่า, ศีลธรรมของศาสนา หรือความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งเป็นคุณค่าหลักในการดำเนินชีวิตที่ดีของพลเมืองทุกคน เพราะจะทำให้คนส่วนน้อยทางศาสนาหรือความเชื่ออื่นๆ ตกเป็นพลเมืองชั้นสอง 

แต่โดยความเป็นกลาง ไม่ใช่ว่ารัฐจะไม่ยืนยัน “คุณค่าพื้นฐาน” ของรัฐเลย เพราะรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยต้องยืนยันหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหลักการพื้นฐานของรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันให้พลเมืองทุกคนได้ใช้เสรีภาพแห่งมโนธรรม, เสรีภาพทางความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรมในการเลือกความเชื่อ ศาสนา ปรัชญาที่แตกต่างหลากหลายเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีส่วนบุคคล ตามที่เขาหรือเธอเห็นว่าเหมาะกับตนเองให้ได้มากที่สุด โดยปราศจากการครอบงำบังคับยัดเยียด

เมื่อหันมามองมูฟเมนท์แบบพุทธ เรานึกถึงการละทิ้งความสุขสบายในวังออกบวชของสิทธัตถะ, การใช้ชีวิตแบบหนักบวชและบรรลุความหลุดพ้น นี่ดูเหมือนเป็นศาสนาที่ไม่เกี่ยวใดๆ กับรัฐ/การเมืองเลย เป็นเรื่อง “คุณ่าทางจิตวิญญาณ” ส่วนบุคคลล้วนๆ 

แต่มูฟเมนท์ของพุทธะต่างจากสิทธัตถะ ตรงที่มีการเสนอความคิดทางการเมืองว่า รัฐกำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาทางศีลธรรม เพราะในสังคมตามสภาพธรรมชาติ คนมันแย่งชิง เข่นฆ่ากันตามอำนาจของกิเลส ดังนั้น จึงมีการเมืองการปกครองขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และการปกครองที่ดีก็คือการปกครองโดย “ธรรม” ในเชิงอุดมคติมี “จักรพรรดิธรรมราชา” คู่กับ “พุทธธรรมราชา” ที่เกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน และร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน โลกพระศรีอาริย์ ก็คือ “โลกยูโทเปีย” ของระบบการเมืองการปกครองโดยธรรมที่สมบูรณ์แบบ ทั้งหมดนี้ก็คือมูฟเมนท์ทางความคิดที่ให้ภาพ “รัฐพุทธศาสนา” ที่มีธรรมราชา และคณะสงฆ์ร่วมมือกันในการสร้างสังคมที่มีศีลธรรมและความผาสุก

นอกจากนี้ ยังมีมูฟเมนท์ทางความคิดที่เสนอภาพความยิ่งใหญ่อลังการของจักรพรรดิราชผู้ครองดินแดนไพศาลจรดมหาสมุทรทั้งสี่ มีสมบัติจักรพรรดิเป็นแก้ววิเศษ 7 ประการ เป็นต้น ซึ่งเป็นมูฟเมนท์ทางความคิดที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจบรรดากษัตริย์ในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต่างพยายามแสดงตนเป็นจักรพรรดิราช หรือเป็นราชาเหนือราชาอื่นๆ 

มูฟเมนท์เหล่านี้นำโดยพระศาสดาและคณะสงฆ์ ดังนั้น การพูดง่ายๆ ว่า “ชนชั้นปกครองใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือ” จึงไม่สมเหตุสมผล เพราะพวกกษัตริย์ไม่ใช่ฝ่ายที่สร้างความคิดเหล่านั้นขึ้นแต่แรก พวกเขาแค่นำมาปรับใช้ตามบริบทของตน 

แท้จริงแล้ว “ในระดับคัมภีร์” ทั้งศาสนาพราหมณ์และพุทธต่างสร้างแนวคิดเรื่องรัฐและการเมืองขึ้นมาประชันกัน และบรรดากษัตริย์ก็นำทั้งสองความคิดมาปรับใช้ผสมผสานกัน ส่วนคณะสงฆ์ก็ยินดีที่จะเป็น “พระราชาชาคณะ” หรือข้ารับใช้ของราชาผู้ทรงธรรม มากกว่าจะสร้างศาสนจักรขึ้นแข่งอำนาจของราชา

ในรัฐพุทธศาสนาไทย ที่กษัตริย์ปกครองทั้งอาณาจักรและคณะสงฆ์ เริ่มจากกษัตริย์ตั้ง “ศักดินาพระ” มีพระราชาคณะ แล้วให้ที่ดิน เบี้ยหวัด ข้ารับใช้แก่วัด ออกกฎหมายลงโทษพระสงฆ์ที่ทำผิดธรรมวินัยและอื่นๆ จนต่อมากษัตริย์ตั้ง “นิกายของราชสำนัก” (ธรรมยุติกนิกาย) บนฐานคิดการแบ่งแยก “พุทธแท้-พุทธไม่แท้” ถือว่านิกายของราชสำนักสืบทอดวงศ์ของพุทธที่แท้จริงมากกว่า แล้วตั้ง “ศาสนจักรของรัฐ” (มหาเถรสมาคม) ให้เป็นศาสนจักรที่มีอำนาจทางกฎหมาย แบ่งสายการปกครองเลียนแบบราชการ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช, คณะกรรมการมหาเถรสมาคม, เจ้าคณะปกครองระดับต่างๆ ลงไปถึงระดับภาค, จังหวัด, อำเภอ, ตำบล และหมู่บ้าน ไม่ต่างจากศาสนจักรคาทอลิกยุคกลาง เพียงแต่ไม่มีอำนาจแข่งกษัตริย์เหมือนเขา เพราะศาสนจักรพุทธอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์ นอกจากนี้พุทธศาสนายังถูกผบวกรวมเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ดังที่เราทราบกัน

พุทธศาสนาเช่นนี้ ผมเรียกว่า “พุทธราชาชาตินิยม” คือพุทธที่ประกอบสร้างโดยกษัตริย์ ทั้งในระดับ “อุดมการณ์” และ “ระบบโครงสร้าง” ที่แบ่งเป็นนิกายของราชสำนักกับนิกายเดิม และการมีศาสนจักรของรัฐที่ขึ้นตรงต่อพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี พุทธเช่นนี้จึงถูกกำหนดให้มีบทบาทหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และราชาผู้ปกครองโดยธรรม และพุทธเช่นนี้จึงอยู่เหนือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามระบอบเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย

ทั้งนี้เพราะศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมมีอำนาจทางกฎหมายสั่งให้พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรเทศนาสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และจัดกิจกรรมทางศาสนา “ถวายพระราชกุศล” แด่พระราชาผู้ทรงธรรม และสำหรับพระราชาผู้ทรงธรรมย่อมสูงส่งเหนือมนุษย์ธรรมดา ดังบรรดาพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษสอนว่า การวิพากษ์วิจารณ์พระราชาย่อมเป็นบาปเป็นกรรม ตายไปย่อมตกนรกหมกไหม้เป็นแน่แท้ ขณะเดียวกันศาสนจักรก็สั่งห้ามพระเณรแสดงความคิดเห็น อภิปราย บรรยาย และชุมนุมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน 

ยิ่งกว่านั้นยังมีการบังคับเรียนปลูกฝังจริยธรรมพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ โดยปราชญ์พุทธอย่างท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ยืนยันว่าหลักจริยธรรมพุทธคือ “หลักจริยธรรมของชาติ” ที่คนไทยทุกคนต้องเรียน การนำหลักจริยธรรมสากลมาเรียนจะทำให้เกิดความแปลกแยกและขัดแย้งกับจริยธรรมพุทธศาสนาของเรา 

คำถามคือ หากไม่เปรียบเทียบกับการปฏิรูปศาสนาคริสต์และการเปลียนแปลงสู่สังคมโลกวิสัยในตะวันตก เราจะเข้าใจสังคมเราเองอย่างไร เราก็จะเป็นได้แค่เพียง “ผู้ตาสว่างในมายาคติ” ที่ว่าชนชั้นปกครองใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองแต่ฝ่ายเดียว พุทธศาสนาไม่เกี่ยวและไม่ควรรับผิดชอบใดๆ ต่อการเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างยาวนานของระบบชนชั้นศักดินารูปปิรามิด และที่น่า “ขันขื่น” มากคืออะไร

ก็คือ การที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากปกป้องเสรีภาพของพระ ในกรณี “ดราม่า 2 พส.” ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ดูเหมือนบรรดาพระสงฆ์ คนรุ่นใหม่ และชาวพุทธส่วนใหญ่ต่าง “ไม่รับรู้” เลยว่า ภายใต้อำนาจศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม พระสงฆ์เองก็ไม่อิสรภาพในการปกครองตนเองตามหลักศาสนาของตน, ไม่มีเสรีภาพทางศาสนา และเสรีภาพทางการเมืองเลย

ยิ่งกว่านั้น สื่อมวลชนดราม่าเรื่อง “พระจับเงินได้หรือไม่” แต่ไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ทำไมประชาชนต้องจ่ายภาษีให้เงินเดือนพระ (นิตยภัต) จ่ายภาษีเป็นงบฯ ประจำปีแก่ศาสนจักรพุทธและองค์กรศาสนาอื่นๆ ทำไมประชาชนต้องจ่ายภาษีตั้งหน่วยงานราชการและมีข้าราชการ เช่น สำนักพุทธฯ (พศ) มาทำหน้าที่ตัดสินว่าพระเทศนาตลกผิดธรรมวินัยหรือไม่ เป็นต้น 

และการที่ประชาชนทุกศาสนาและไม่นับถือศาสนาถูกบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพแห่งมโนธรรม หรือเสรีภาพทางศาสนาของปัจเจกบุคคลหรือไม่ และการสอนศีลธรรมพุทธที่เน้นความสอดคล้องและสนับสนุนกันกับการเน้นความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ส่งผลดีอย่างไรต่อการเคารพและปกป้องคุณค่าพื้นฐานของสังคมเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย คือคุณค่าแห่งหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อำนาจอธิปไตย และหลักความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น เราไม่มีทางเข้าใจถึง “รากฐาน” ของปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยที่สังคมเราเผชิญมายาวนาน หากไม่ศึกษาเปรียบเทียบในเชิงประวัติศาสตร์และความคิดกับสังคมที่ก้าวสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยมาก่อนเรา 

ที่แย่กว่านั้น การไม่เปรียบเทียบ มันทำให้เราไม่รู้จักแม้กระทั่งตัวเราเองตามเป็นจริง ที่ว่าเรารู้จักตัวเองดี จริงๆ แล้วมันอาจเป็นแค่ “มายาภาพ” ที่สร้างขึ้นกล่อมประสาทตัวเองเท่านั้น เช่น ที่ปราชญ์พุทธย้ำเสมอๆ ว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล เป็นรากฐานของวิทญาศาสตร์ เป็นศาสนาแห่งอิสรภาพทางปัญญา หากยกเป็น “ศาสนาประจำชาติ” เท่ากับเป็นการสถานปนาหลักเสรีภาพทางศาสนาให้มั่นคง ฯลฯ

แต่มันจะเป็นจริงเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อภายใต้พุทธราชาชาตินิยม พระสงฆ์เองยังไม่มีแม้แต่อิสรภาพในการปกครองตนเองจากอำนาจกษัตริย์ ไม่มีเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมือง ธรรมาธิปไตยที่ยกมาชี้นำทางการเมือง ก็ยกมาแค่ใช้วิจารณ์ตัดสินนักการเมืองและประชาชนเท่านั้น ขณะที่ใช้ธรรมะอวยกษัตริย์ได้อย่างเดียว เป็นต้น 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net