Skip to main content
sharethis

ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติงบ 3,275 ล้านบาทให้กระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับตำบล ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ใน 24 จังหวัดทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565-2569

 

5 ต.ค. 2564 ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 5 ต.ค. 2564 โดยระบุว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับตำบลให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ประจำเขตตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 6 เขต 24 จังหวัดทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วยเขตตรวจราชการที่ 3 ได้แก่ จ.กาญจนบุรี, ราชบุรี และสุพรรณบุรี เขตตรวจราชการที่ 9 ได้แก่ จ.จันทบุรี, ตราด, นครนายก, ปราจีนบุรี และสระแก้ว เขตตรวจราชการที่ 12 ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เขตตรวจราชการที่ 14 ได้แก่ จ.ยโสธร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เขตตรวจราชการที่ 15 ได้แก่ จ.เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน และเขตตรวจราชการที่ 18 ได้แก่ จ.กำแพงเพชร, นครสวรรค์, พิจิตร และอุทัยธานี

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 3,275,000,000 บาท หรือเฉลี่ยแหล่งละ 545,000,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 ถึงปี 2569 รวมระยะเวลา 5 ปี ทั้งยังอนุมัติให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอคำแนะนำด้านการบริหารและบริหารงานให้กับทางโรงเรียนอีกด้วย

ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ระบุว่า โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่กรมสามัญศึกษา (ปัจจุบัน กรมสามัญศึกษาถูกโอนกิจการไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546) จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ในวันที่ 4 ก.ค. 2536 โดยให้โอกาสแก่เยาวชนที่มีความสนใจและมีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ฝึกฝนความรู้ความสามารถด้านนี้เป็นพิเศษตั้งแต่เยาว์วัย กรมสามัญศึกษาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจึงประกาศจัดตั้งโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติขึ้นจำนวน 12 แห่งในทุกเขตการศึกษา โดยในปีการศึกษา 2536 จัดตั้ง 4 โรงเรียน คือ นครศรีธรรมราช ตรัง เชียงราย และบุรีรัมย์ ปีการศึกษา 2537 จัดตั้ง 4 โรงเรียน คือ มุกดาหาร เพชรบุรี สตูล และเลย ปีการศึกษา 2538 จัดตั้ง 3 โรงเรียน คือ ลพบุรี พิษณุโลก และ ปทุมธานี ปีการศึกษา 2539 จัดตั้ง 1 โรงเรียน คือ ชลบุรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net