'รังสิมันต์ โรม' ชี้รูรั่ว 5 ข้อของร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฉบับ ครม.-บก.ลายจุด เผย ตร.ใหญ่เคยล็อบบี้ถอน กม.

สรุปผลการประชุม กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย นัดแรก 'รังสิมันต์ โรม' ชี้ ร่าง ครม. มีข้อบกพร่อง 5 จุดที่ต้องอุดรอยรั่ว ขณะที่ บก.ลายจุด เผย 'ตำรวจใหญ่' อดีต สนช. พยายามล็อบบี้ถอนกฎหมายนี้ ด้าน 'ศิริภา อินทวิเชียร' โฆษก กมธ. เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานและผู้เสียหายร่วมให้ความเห็น เร่งผลักดันให้เสร็จทันประชุมสมัยหน้า

5 ต.ค. 2564 วันนี้ (5 ต.ค. 2564) รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม ระบุว่า วันนี้เป็นการประชุม กมธ. วันแรก โดยมีการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ กำหนดวันเวลาประชุม และเสนอกรอบการดำเนินงานเบื้องต้น โดยที่ประชุมมีมติให้ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. จ.นครพนม พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการชุดนี้ ส่วนตนได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธาน กมธ. คนที่ 4

รังสิมันต์ ระบุว่า ในการพิจารณากฎหมายนี้ มีร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านการรับหลักการวาระแรกทั้งหมด 4 ฉบับ โดยฉบับที่ถูกยกให้เป็นร่างหลัก คือ ฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เมื่อพิจารณาร่างดังกล่าวแล้ว พบว่ายังขาดหายประเด็นสำคัญหลายประการซึ่งควรมีและพบว่าประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่ขาดหายไปนั้นมีอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับของคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ (กมธ.) และร่างฉบับอื่นๆ อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รังสิมันต์ได้ยก 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ ที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ. ฉบับ ครม. ดังต่อไปนี้

1. ต้องเพิ่มความผิดฐานย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในร่างฉบับ ครม. แม้มีการกำหนดฐานความผิดของการซ้อมทรมาน (Torture) และการอุ้มหาย (Enforce Disappearance) เอาไว้ แต่กลับไม่ได้กำหนดฐานความผิดของการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Cruel, Inhumane or Degrading Treatment or Punishment) ซึ่งมีอยู่ในอนุสัญญาระหว่างประเทศเอาไว้ด้วย โดยในร่างฉบับ กมธ. ได้นิยามความหมายของฐานความผิดดังกล่าวไว้ว่า เป็นการกระทำไม่ว่าด้วยประการใดอันก่อให้เกิดอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ที่อยู่นอกเหนือนิยามของการทรมาน หากให้ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่อาจเข้าใจได้โดยทั่วไป ก็เช่นการบังคับให้บุคคลแก้ผ้าประจานต่อธารกำนัล หรือการบังคับให้บุคคลไปสัมผัสคลุกคลีกับสิ่งปฏิกูลต่างๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่มนุษย์ไม่ว่าจะใครก็ตามไม่สมควรได้รับ จำเป็นต้องบัญญัติให้เป็นความผิดด้วยเช่นกัน

2. ต้องไม่มีอายุความ

ในร่างฉบับ ครม. ไม่ได้กำหนดเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องใช้หลักเกณฑ์ทั่วไปเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดไว้สูงสุดเพียง 20 ปีนับแต่วันที่กระทำความผิด หากพ้นจากนั้นก็จะไม่สามารถดำเนินคดีอะไรได้อีก การไม่กำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะนั้นเป็นการไม่คำนึงถึงธรรมชาติของคดีการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ที่การสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ กว่าจะสามารถระบุตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อที่จะฟ้องคดีและนำตัวมายังศาลได้นั้น อาจใช้เวลายาวนานเป็นอย่างยิ่ง จึงสมควรกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ เพื่อไม่เปิดช่องให้ผู้กระทำผิดปกปิดการกระทำของตัวเองจนสามารถลอยนวลพ้นผิดได้ โดยในร่างฉบับ กมธ. ได้กำหนดไว้ว่าความผิดทั้งหมดตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทั้งการซ้อมทรมาน, การอุ้มหาย และการย่ำยีศักดิ์ศรี ให้เป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ

3. คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย ควรนำโดยภาคประชาชน

ในร่างทั้ง 4 ฉบับ กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นผู้คอยออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ทว่าในร่างฉบับ ครม. นั้น กำหนดองค์ประกอบจากทั้งหมด 16 คน เป็นคนจากหน่วยงานรัฐเป็นกรรมการโดยตำแหน่งถึง 9 คน เช่น ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ปลัดกระทรวงกลาโหม, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, ผบ.ตร. ฯลฯ (กรรมการโดยตำแหน่งคนเดียวที่ไม่ได้มาจากหน่วยงานรัฐ คือ นายกสภาทนายความ) ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คนก็มาจากการตั้งโดย ครม. ทำให้ส่วนใหญ่ของกรรมการนี้มาจากภาครัฐ ซึ่งโดยปรกติแล้วในคดีการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ภาครัฐมักเป็นผู้ต้องสงสัยในการกระทำผิดดังกล่าว

คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย ควรมีไว้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ ครอบครัว และประชาชนโดยทั่วไปที่มีความเสี่ยงถูกกระทำเป็นสำคัญ คณะกรรมการดังกล่าวจึงควรนำโดยภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับการถูกกระทำ โดยในร่างฉบับ กมธ. กำหนดให้กรรมการจาก 11 คน มาจากภาคประชาชน 9 คน ทั้งตัวแทนผู้เสียหาย, ผู้มีประสบการณ์หรือทำงานด้านคุ้มครองสิทธิ, ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย-นิติเวช-พิสูจน์หลักฐาน ฯลฯ โดยให้มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาที่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานกรรมการ และมีผู้แทนองค์กรสิทธิ, ผู้แทนพรรคการเมือง, ผู้แทนสื่อมวลชน เป็นกรรมการสรรหาด้วย นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่กว้างกว่าในร่างฉบับ ครม. เช่น สามารถติดตามตรวจสอบกรณีต่างๆ โดยไม่ต้องมีข้อร้องเรียน สามารถตรวจเยี่ยมสถานที่คุมตัวโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า

4. ต้องให้มีการสืบสวนคดีในอดีต

ในอดีตประเทศไทยเกิดกรณีการอุ้มหายมาแล้วหลายครั้ง แค่เฉพาะหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ก็มีการอุ้มหายเกิดขึ้นแล้ว 10 ครั้ง เช่น กรณีของสุรชัย แซ่ด่าน หรือวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กรณีเหล่านี้ควรได้รับการค้นหาความจริงด้วยกระบวนการตามร่าง พ.ร.บ. ที่กำลังพิจารณาอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งในร่างฉบับ กมธ. ได้กำหนดให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการอุ้มหายที่เกิดขึ้นก่อนร่าง พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับด้วย แต่ในร่างฉบับ ครม. ไม่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ การให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดังกล่าวไม่ได้เป็นการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล เพราะเป็นเพียงการให้สืบสวนสอบสวนคดีย้อนหลังเท่านั้น ไม่ได้นำความผิดตามร่าง พ.ร.บ. นี้มาใช้ลงโทษ โดยหากพบว่ามีการกระทำจริงก็อาจใช้ฐานความผิดที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย

5. ต้องตัดอำนาจศาลทหาร

อีกประเด็นที่ต้องระวังคือการดำเนินคดีตามร่าง พ.ร.บ. นี้ จะยังมีช่องให้นำคดีที่มีจำเลยเป็นทหารไปพิจารณาในศาลทหารได้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นอาจเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียหายได้เนื่องจากตุลาการที่พิจารณาก็เป็นข้าราชการทหารด้วยกันเอง จึงควรกำหนดให้ชัดว่าศาลทหารจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีตามร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ได้

ในช่วงเวลาที่ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย กำลังพิจารณาในชั้นกรรมาธิการนี้ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่จะกำหนดว่ารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. จะออกมาเป็นเช่นไร โดยในเบื้องต้นคณะกรรมาธิการฯ กำหนดให้มีการประชุมในทุกวันอังคารและวันพุธของทุกสัปดาห์ และจะพยายามให้เสร็จลุล่วงภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อที่จะนำเข้าสู่สภาได้ทันทีหลังเปิดสมัยประชุมถัดไป ขอให้พี่น้องประชาชนโปรดติดตาม แล้วผมจะนำความคืบหน้ามาแจ้งให้ทราบกันอย่างต่อเนื่อง

ด้าน สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หนึ่งในสมาชิก กมธ. ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชนได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวภายหลังการประชุม กมธ. ว่ามีเรื่องเล่าเกิดขึ้น 2 เรื่องในการประชุมวันนี้ คือ เรื่องแรก มีผู้เสนอให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ออกจากชั้น กมธ. เพื่อนำไปทำประชาพิจารณ์ก่อน และเรื่องที่ 2 มีจดหมายน้อยและมีนายตำรวจใหญ่ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) พยายามล็อบบี้ให้เอาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ออก เพราะหากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านเป็นกฏหมาย ตำรวจจะทำงานไม่ได้ และจะโดนฟ้องร้องถึงขั้นติดคุก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมพยายามผลักดันร่างนี้เข้าสภาอีกครั้ง และเรียกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้นี้ว่าเป็น 'ร่างของรัฐบาล' เนื่องจากประเทศไทยไปลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี จึงต้องมาผลักดันกฏหมายในประเทศ ณ ขณะนี้ นอกจากนี้ สมบัติยังระบุว่าสมาชิก กมธ. ตั้งใจผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านวาระ 2 ให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า ศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร
และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษก กมธ.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กล่าวถึงการประชุมในวันนี้ว่าจะเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยด่วน โดยที่ประชุมมีมติเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานตรวจสอบ รวมถึงครอบครัว และผู้ที่ต้องเผชิญกับการกระทำความการทรมานและบังคับให้สูญหาย ให้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็นในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมสากล และสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ พร้อมกันนี้ กมธ. ได้วางกรอบการทำงานเพื่อให้การพิจารณาดังกล่าวแล้วเสร็จภายในการประชุมสมัยหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท