Skip to main content
sharethis

อดีตพนักงานเฟซบุ๊กให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "60 Minutes" หลังตัดสินใจเผยแพร่เอกสารหลายพันหน้า เพื่อกระชากหน้ากากว่าเฟซบุ๊กสนใจแต่การหากำไรเข้ากระเป๋าตนเอง โดยไม่สนใจกำจัดถ้อยคำสร้างความเกลียดชังและข้อมูลเท็จ โดยผู้เปิดโปงร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ แล้ว

ฟรานเซส เฮาเกน อดีตผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กที่ทำงานประเด็นความซื่อสัตย์ของพลเมือง (civic integrity) ในเฟซบุ๊ก ปล่อยเอกสารเกี่ยวกับการวิจัยและการสื่อสารภายในของเฟซบุ๊กจำนวนหลายพันหน้า และส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สหรัฐอเมริกา รวมถึงให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ "60 Minutes" เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2564 เปิดโปงเรื่องที่เฟซบุ๊กเห็นแก่ผลกำไรจนไม่สนใจเรื่องการเผยแพร่ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (hate speech) , ความรุนแรง, ข้อมูลเท็จ อีกทั้งยังพยายามซุกซ่อนหลักฐานในเรื่องเหล่านี้ด้วย

เฮาเกนให้สัมภาษณ์ว่า ตอนที่ทำงานในเฟซบุ๊กเธอเห็นเรื่องที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของสาธารณะและผลประโยชน์ของเฟซบุ๊กเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเฟซบุ๊กก็มักจะเลือกเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง คือเน้นแต่การทำผลกำไรเข้ากระเป๋าตนเอง

สก็อตต์ เพลลี ผู้สื่อข่าวในรายการ 60 minutes อ้างข้อความจากเอกสารภายในของเฟซบุ๊ก ระบุว่า "เรามีหลักฐานจากหลายแหล่งที่แสดงให้เห็นว่า ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง, ถ้อยคำที่สร้างความแตกแยกทางการเมือง และข้อมูลเท็จบนเฟซบุ๊กกับแอปพลิเคชันอื่นในเครือส่งผลกระทบต่อสังคมทั่วโลก"

ประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เฮาเกนส่งเรื่องร้องเรียน อย่างน้อย 8 คำร้อง ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ กล่าวหาว่าบริษัทซ่อนงานวิจัยเกี่ยวกับข้อบกพร่องของพวกเขาไม่ให้นักลงทุนและสาธารณะได้รับทราบ โดยเฮาเกนส่งเอกสารภายในให้แก่เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (the Wall Street Journal) ที่เสนอผลการสืบสวนหลายส่วนที่แสดงให้เห็นว่า เฟซบุ๊กตระหนักถึงปัญหาต่างๆ บนแอปของตน อาทิผลกระทบทางลบจากข้อมูลเท็จ และเรื่องที่อินสตาแกรมสร้างความเสียหายโดยเฉพาะต่อหญิงวัยรุ่น

ก่อนที่เฮาเกนจะเข้ามาทำงานให้เฟซบุ๊กในปี 2562 เธอเคยทำงานให้กับบริษัทเทคโนโลยีอย่างกูเกิลและพินเทอร์เรสต์ เมื่อ 5 ต.ค. 2564 เธอถูกตั้งเป็นพยานเพื่อให้การต่อคณะอนุกรรมการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยของข้อมูลของวุฒิสภาสหรัฐฯ

เฮาเกนบอกว่า เฟซบุ๊กแย่มากอย่างเห็นได้ชัดกว่าโซเชียลอื่นๆ ที่เธอเคยเห็นมา เธอจึงตัดสินใจในปี 2564 ว่าจะต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นระบบ โดยการรวบรวมเอกสารให้มากพอจนสิ้นสงสัยว่าเป็นเรื่องจริง

ด้านเฟซบุ๊กโต้กลับรายงานดังกล่าวอย่างแข็งกร้าว โดยกล่าวหาว่าข้ออ้างเหล่านี้ "ทำให้เข้าใจผิด" และบอกว่าแอปของพวกเขาให้ประโยชน์มากกว่าให้โทษ

เลนา พีตช์ โฆษกของเฟซบุ๊กแถลงว่า เฟซบุ๊กมีความพยายามทำให้พื้นที่ของพวกเขาปลอดภัยและสร้างสรรค์ และยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการกับการแพร่กระจายข้อมูลเท็จและเนื้อหาที่เป็นอันตราย พร้อมปฏิเสธว่า การบอกเป็นนัยว่าเฟซบุ๊กสนับสนุนเนื้อหาที่ไม่ดีและไม่ทำอะไรเลยนั้นไม่เป็นความจริง

ขณะที่รองประธานฝ่ายกิจการนานาชาติของเฟซบุ๊ก นิค เคลก กล่าวว่า พวกเขาทำการวิจัยและแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยภายนอกบริษัทมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และชี้ว่ามีความแตกต่างระหว่างการตรวจทานภายในองค์กรภายใต้ความร่วมมือกับนักวิชาการ และการเตรียมเอกสารเพื่อปลุกปั่นและให้ข้อมูลที่เป็นข้อถกเถียงภายใน

เฮาเกนกล่าวว่า เธอเชื่อว่ามาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊ก ไม่ได้ต้องการให้พื้นที่สื่อของพวกเขากลายเป็น "พื้นที่สร้างความเกลียดชัง" แต่เขากลับปล่อยให้มีการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดเนื้อหาปลุกปั่นความเกลียดชังและการแบ่งขั้วโดยการทำให้เนื้อหาเหล่านี้มีการแพร่กระจายออกไปมากขึ้น

เฮาเกนเล่าว่า เธอถูกรับมาจัดการกับเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนเฟซบุ๊ก แต่เมื่อบริษัทตัดสินใจสั่งยุบทีมความซื่อสัตย์ของพลเมือง (civic integrity) หลังสิ้นสุดการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2563 ไม่นาน ความรู้สึกต่อบริษัทก็เปลี่ยนไป เพราะการยุบทีมนี้ รวมถึงการปิดมาตรการคุ้มครองการเลือกตั้งต่างๆ เช่น เครื่องมือป้องกันข้มูลเท็จ  และการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กเพื่อจัดตั้งการก่อเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 ม.ค. 2564

อีกเรื่องที่เฮาเกนวิจารณ์เฟซบุ๊กไว้ในรายการ คือ เรื่องความไม่โปร่งใส ขณะที่เฟซบุ๊กเพิ่งออกรายงานความโปร่งใสว่าพวกเขากวาดล้างการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับดควิด-19 ไปจำนวนมาก แต่เฮาเกนบอกว่าในเชิงกระบวนการแล้วเฟซบุ๊ก "ไม่มีกลไกอิสระด้านความโปร่งใส ที่จะทำให้พวกเรามองเห็นว่าเฟซบุ๊กทำอะไรภายในบ้าง" เรื่องนี้ทำให้พวกเขาเลือกตัวชี้วัดที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง เช่น ปริมาณที่แท้จริงของถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังอาจสูงถึง 94% ขณะที่เอกสารภายในระบุเพียง 3-5%

นอกจาก ปัญหาการจัดการแล้ว เฮาเกนยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของเฟซบุ๊กที่มาจากระบบการจัดเรียงข้อมูลที่เรียกว่าอัลกอริทึมที่ใช้กำหนดว่าจะแสดงโพสต์หรือเนื้อหาของใครอย่างไรบ้าง และระบบนี้มักจะให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบมากที่สุด เช่น มีการแสดงความเห็นมาก, มีการกดไลก์หรือกดแสดงความรู้สึกอื่นๆ มาก, มีการแชร์ส่งต่อมาก เป็นต้น จากการวิจัยพบว่า ระบบเช่นนี้ส่งผลกระทบให้มีการส่งเสริมการสร้างเนื้อหากระตุ้นความเกลียดชัง ก่อให้เกิดการแบ่งแยกมากขึ้น

"ไม่มีใครที่ทำงานในเฟซบุ๊กที่ประสงค์ร้าย... แต่แรงจูงใจกลับไม่สอดคล้องกัน" เฮาเกนกล่าว

"เฟซบุ๊กทำเงินจากการที่พวกคุณเสพเนื้อหามากขึ้น ผู้คนมักจะชอบมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่กระตุ้นการตอบสนองทางอารมณ์... และยิ่งความโกรธถูกเปิดเผยออกมามากเท่าไหร่ พวกเขายิ่งตอบสนองและเสพเนื้อหามากขึ้นเท่านั้น"

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net