Skip to main content
sharethis

ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์กล่าวปฐกถาในวาระครบรอบ 45 ปี สังหารหมู่ใน มธ. 6 ตุลาฯ 19 เสนอสร้าง "ภราดรภาพนิยม" เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ค่านิยมประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ มีระบบคุณธรรมแทนระบบอุปถัมภ์ ส่งเสริมการเรียนรู้ความรุนแรงในอดีตเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำรอยเดิม

6 ต.ค.2564 อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ภราดรภาพนิยม: แนวทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติธรรมในวิกฤติขัดแย้งและสังคมเห็นต่าง” ในวาระ 45 ปี สังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ต.ค.2519 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวน “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง : ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร”

อนุสรณ์ ธรรมใจ

อนุสรณ์ กล่าวว่า วีรชนที่ล้มตายในเหตุการณ์ต่างๆ ล้วนเป็นลูกพี่น้องเป็นครอบครัวของผู้สูญเสียที่มีใจรักความเป็นธรรมและควรได้รับการประกาศให้เป็นรีชนของชาติเยี่ยงทหารของประเทศ เขาเป็นวีรชนผู้รักประชาธิปไตย เป็นกองหน้าในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เป็นธรรมขึ้น เนื่องในโอกาส

พวกเราไม่ได้จัดงานขึ้นมาเพื่อตอกย้ำเรื่องราวในอดีตเพื่อให้เกลียดชังกันมากขึ้น แต่เราจัดงานรำลึกเพื่อให้เราไม่ลืมไม่ให้เดินซ้ำรอยผิดพลาดรุนแรงนองเลือดในอดีต ในฐานะที่เราเป้นเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดินร่วมโลกความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติมาก และไม่ควรต้องมีใครต้องถูกฆ่าเพียงเพราะเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ

เราเสวนาเพื่อแสวงหาเส้นทางประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความรุนแรงนองเลือดเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย สังคมไทยต้องได้บทเรียนแล้วว่า การปล่อยให้มีการสร้างวาทกรรมเพื่อให้มีความเกลียดชังกัน การใส่ร้ายป้ายสีว่าหนักแผ่นดิน ขายชาติชังชาติล้มเจ้าก็ดี ย่อมไม่เป็นผลดีต่อความสงบสุขของสังคม การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าเป็นตำรวจทหารกระทำความรุนแรงต่อประชาชนภายใต้อำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตำรวจทหารเป็นลูกหลานของประชาชนต้องรับใช้ประชาชนและต้องยืนยัดการปกครองแบบประชาธิปไตย

ถ้าเราไปสำรวจศึกษาทัศนะของปรีดี พนมยงค์ ปรีดีไม่ได้มองทหารตำรวจเป็นศัตรูแต่สามารถทำให้ทหารตำรวจเป็นกองทัพของราษฎรได้ แล้วก็เคยแสดงความเห็นไว้หลังเหตุการณ์ 14ตุลา 16 ว่า

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าถ้าผู้ใดเป็นทหารตำรวจแล้วย่อมนิยมเผด็จการ หรือผู้ใดเป็นพลเรือนแล้วย่อมสนับสนุนประชาธิปไตย ปัญหาอยู่ที่ซากทรรศนะที่ตกค้างมาจากระบบทาสยังคงฝังอยู่ในบุคคลใดไม่ว่าบุคคลนั้นเป็นทหารหรือพลเรือนก็ทำให้บุคคลนั้นถือเป็นหลักนำดำเนินการปฏิบัติไปในแนวทางที่ต้องการหรือสนับสนุนให้มีระบอบเผด็จการที่ปกครองราษฎรอย่างระบบทาส” อนุสรณ์กล่าวถึงความเห็นของปรีดีในประเด็นการฝึกทหารอีกว่าหากการอบรมฝึกทหารในสมัยหลังภายใต้อำนาจเผด็จการทำให้ทหารประจำการกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจเผด็จการ

อนุสรณ์ยกคำกล่าวของปรีดีอีกว่า “สังคมจะมีเสถียรภาพได้ ทหารและตำรวจต้องมีหน้าที่เพื่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง สังคมจะสงบสุขได้ก็ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามแนวคิด “ภราดรภาพนิยม”” ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีที่จัดเก็บจากความมั่งคั่งของบุคคล ซึ่งจนวันนี้รัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการจริงจัง การเก็บภาษีในฐานทรัพสินเป็นไปตามปรัชญา “ภราดรภาพนิยม” ของปรีดี เมื่อมีคนยากจนที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ สังคมก็จะต้องมีส่วนร่วมเข้ามาดูแล เสียสละความมั่งคั่งบางส่วนเพื่อช่วยเหลือสังคมโดยรวม และถ้าหากวันหนึ่งคนที่มีฐานะร่ำรวยต้องตกยากลำบากขึ้นมาสังคมก็จะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

การสร้างสังคมให้มีภราดรภาพ มีความเป็นพี่น้องถ้อยทีถ้อยอาศัย ปรองดองสมานฉันท์ ไม่สามารถเกิดขึ้นลอยๆ ในสังคมที่มีความเห็นต่างและขัดแย้งรุนแรง ต้องเริ่มที่มีสังคมหรือค่านิยมเสมอภาค ไม่แบ่งคนเป็นชั้นวรรณะ ไม่แบ่งคนเพราะเชื้อชาติต่างกัน ไม่แบ่งคนเพราะมีความคิดความเชื่อทางการเมือง ศาสนาต่างกัน เป็นรากฐานเบื้องต้นที่เราจะมีสังคมที่มีภราดรภาพ และผู้คนก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติธรรมภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาค สังคมแบบนี้จะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และผู้มีอำนาจรัฐก็จะไม่ใช้กฎหมายยัดคดีให้กับผู้เห็นต่าง หรือคนที่มีความเห้นหรือฝ่ายตรงข้าม

ภราดรภาพจะเป็นสังคมที่สงบสันติมันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยและเศรษฐกิจก็จะต้องมีความเป็นธรรมคือไม่มีความเหลื่อมล้ำสูงจนเกินไป ฉะนั้นต้องผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยทางการเมืองและเศรษฐกิจลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ก่อนจึงจะทำให้เกิดสังคมภราดรภาพนิยม

ถ้าไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมืองที่มีคุณภาพย่อมเกิดได้ยาก จะกลายเป็น “Money Politic” หรือธนาธิปไตยมากกว่า เศรษฐกิจมีความสำคัญเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต หากประชาชนยังมีความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ยังต้องดิ้นรนใช้ชีวิตอยู่ไปแต่ละวัน เขาก็จะไม่เวลาหรือทรัพยการมาตระหนักถึงสิทธิสรีภาพทางการเมืองแล้วก็ทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง

ดังนั้นเราจึงต้องแก้ไขความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจความผันผวนความยากลำบากทางเศรษฐกิจโดยการจัดให้มีสวัสดิการทางสังคมถ้วนหน้า มีระบบประกันสังคมที่เข้มแข็ง หรือที่ปรีดีเรียกว่า “การประกันความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชน”

หลักประกันความสุขของราษฎรมาจากแนวคิด “ภราดรภาพนิยม” มีนักวิชาการและนักคิดหลายคนศึกษาเอาไว้ เช่น ชาร์ล กิ๊ด อธิบายว่ามนุษยชาติต้องพึ่งพาอาศัยกันตั้งแต่เกิดจนตายดังนั้นจึงต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในความยากลำบากของผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งความยุติธรรมในสังคม ภราดรภาพนิยมเชื่อว่ามนุษย์ที่เกิดมาย่อม ต้องเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกัน คนจนเพราะสังคมอาจจะทำให้จน แล้วคนที่รวยขึ้นก็ไมได้รวยตัวเองอย่างเดียวเพราะต้องอาศัยแรงงานของผู้อื่นต้องอาศัยสังคม ฉะนั้นมนุษย์จึงมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกัน ร่วมประกอบการในสังคมหรือเศรษฐกิจ

รัฐบาลควรเร่งจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะการเก็บภาษีจากทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งของบุคคลจะไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเลย นอกจากนี้ยังเป็นตามหลักที่ผู้คนช่วยเลหือเกื้อกูลกัน เพราะว่าคนมั่งมีก็มีความสามารถที่จะสละมั่งคั่งบางส่วนมาช่วยเหลือสังคมซึ่งในเวลานี้ มีคนตกงานว่างงานแล้วบางคนก็ว่างงานตั้งแต่ล็อกดาวน์ปีที่แล้วตอนนี้ก็ยังไม่มีงานทำ ลูกหลานก็ต้องออกจากโรงเรียนมีชีวิตที่ลำบากมาก ถ้าคนในสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผ่านกลไกระบบต่างๆ ก็จะทำให้สถานการณ์เผชิญหน้าความขัดแย้งก็จะดีขึ้น

อนุสรณ์กล่าวถึงข้อเสนอในการจะทำให้เกิดสังคมภราดรภาพในเบื้องต้น มีสิ่งที่ต้องทำเฉพาะหน้าคือ

ประการแรก สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประการที่สอง ปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมประชาธิปไตยผ่านระบบการศึกษาทั้งในและการศึกษาตามอัธยาศัยและบรรจุบทเรียนความรุนแรงทางการเมืองในเหตุการณ์ต่างๆ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ อยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษาเพ่อหลีกเลี่ยงวิกฤติความรุนแรงในอนาคต

ประการที่สาม ต้องผลักดันให้เกิด “รัฐสวัสดิการ” “สวัสดิการถ้วนหน้า” ด้วยการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าเพื่อนำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน อันเป็นไปตามแนวคิด “ภราดรภาพนิยม”

ประการที่สี่คือ ส่งเสริมการใช้ “ระบบคุณธรรม” แทน “ระบบอุปถัมภ์” ในระบบราชการโดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการ เช่นในตำรวจทหารที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายในลักษณะเล่นพรรคเล่นพวกมาโดยตลอด

ประการที่ห้า เสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาสร้างพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการถาวรเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและการเรียนรู้เพื่อเป็นบทเรียนเป็นสิ่งที่เตือนสติ เป็นสิ่งที่สังคมได้เรียนรู้ว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติธรรมมีศักดิ์ศรีและมีเสรีภาพได้อย่างไร

อนุสรณ์กล่าวถึงการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในยุค 14 ต.ค.2516, 6 ต.ค.2519 ในไทยและเหตุการณ์อื่นในต่างประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าต่างก็มีการปราบปรามจากรัฐของรัฐที่เขาเรียกว่า “ทรรัฐ” ไม่ว่ารัฐนั้นๆ จะใช้การปกครองแบบไหนก็ตามที่ใช้ความโหดร้ายในการทำร้ายประชาชน ซึ่งอยู่ที่ผู้นำและกลุ่มคนชั้นนำที่ต้องการอำนาจและรักษาอำนาจแบบไหน หากเป็นไปตามทำนองคลองธรรมก็ไม่มีปัญหาแต่จำนวนไม่น้อยก็ใช้วิธีการปราบปราม ยัดคดี เข่นฆ่าประชาชนเพื่อรักษาอำนาจ ผู้นำหรือกลุ่มผู้นำที่ทำแบบนี้ก็ถือว่าเป็นทรราช

แต่บางประเทศก็มีความซับซ้อนกว่านั้นคือรัฐบาลที่มีอำนาจตามกฎหมายอาจจะไม่ได้มีอำนาจจริงในการคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงนองเลือด แต่อาจจะมีการแทรกแซงจากอำนาจภายนอกที่นักวิชาการเรียกว่า “รัฐพันลึก” ที่มาแทรกแซงก่อเหตุการณ์สร้างสถานการณ์

อนุสรณ์กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ในช่วงตั้งแต่คืนวันที่ 5 จนถึงเช้าวันที่ 6 ต.ค.2519 สำหรับคนที่ยังมีชีวิตรอดอยู่ก็ถือว่าเป็นโชคดีที่รอดพ้นมาจากความโหดร้ายของทรรัฐในเวลานั้นและสามารถเติบโตก้าวหน้ามาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ แล้วหากย้อนกลับไป 45 ปีก่อนที่เสียงปืนระดมยิงเข้าไปใน มธ. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นฐานที่มั่นคงฝ่ายที่รักประชาธิปไตและความเป็นธรรม ถูกปิดล้อมโดยตำรวจตระเวณชายแดนและทหารบางส่วนรวมทั้งมวลชนจัดตั้งฝ่ายขวา เช่นกลุ่มลูกเสือชาวบ้านและนวพล ที่ถูกปลุกเร้ามาว่านักศึกษาใน มธ.เป็นพวกล้มเจ้าและก็เป็นคอมมิวนิสต์ การปลุกเร้าด้วยวาทกรรมเหล่านี้ก็ทำให้กลุ่มมวลชนจัดตั้งเหล่านี้เกิดความบ้าคลั่งและทำรุนแรงต่อนักศึกษาที่ไปร่วมชุมนุมประท้วงอย่างสันติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม

อนุสรณ์กล่าวว่า จากเหตุการณ์นั้นทำให้ได้เห็นวีรชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์และยังมีกลุ่มแกนนำที่ถูกจับกุมดำเนินคดีไปด้วย สร้างความตกใจให้คนทั้งโลกอีกทั้งสถานที่เกิดเหตุการณ์ยังเป็นสถานที่ปรีดีก่อตั้งขึ้นมาและหวังให้เป็นสถาบันที่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยเพื่อการเมืองใหม่หลังการอภิวัฒน์ 2475

“ในวันนั้นธรรมศาสตร์ต้องนองไปด้วยเลือด และตกเป็นเป้าของอาวุธสงครามที่ยิงถล่มมาราวกับเป็นสนามรบ เหตุการณ์เยี่ยงนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกแล้ว บ้านเมืองของเราเป็นเมืองพุทธองค์พระศาสดาสอนไว้ผู้คนต้องมีเมตตากรุณาต่อกัน มีพรหมวิหาร 4 ห้ามการฆ่าฟันกัน แม้ว่าจะมีความเห็นต่างความขัดแย้งอะไรก็ตาม ต้องไม่ฆ่ากัน”

อนุสรณ์กล่าวอีกว่าเรื่องที่น่าเสียใจและน่าเสียดายคือไทยไม่เคยจำบทเรียนเพราะว่า 45 ปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ก็ยังเกิดการนองเลือดทางการเมืองแบบนี้อีกทั้ พฤษภาฯ 35 และพฤษภาฯ 53 มันไม่ควรจะเกิดอีกแล้ว และคนหนุ่มสาวที่ร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ถูกคุกคามก็ต้องหลบหนีเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนหนุ่มสาวในยุคนี้ก็ถูกคุกคามเช่นกันทั้งที่ควรจะเปิดเวทีรับฟังคนเหล่านี้มีเสวนาเพื่อแสวงหาทางออกให้บ้านเมือง คนหนุ่มสาวเหล่านี้ก็เป็นลูกหลานเป็นอนาคตของชาติไม่ใช่ทำลายล้าง

การปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณขบวนการสันติธรรมประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวโดยทรรัฐไม่ว่าเหตุการณ์ไหนก็ตามตลอด 40 ปี ที่ผ่านมาจะทำให้ประเทศไทยถลำลึกให้ประเทศเกิดปัญหาขึ้นมาอีก ทั้งที่ 45 ปีก็ถลำลึกไปแล้ว ทำให้เกิดการสู้รบกันระหว่างกองทัพไทยและกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์ กว่าจะฟื้นฟูบ้านเมืองมาได้ก็ใช้เวลากว่า 20 ปี คนหนุ่มสาวในเวลานั้นตอนนี้ก็เข้าสู่วัยเกษียณแล้วแต่บางคนก็ยังไม่ได้หยุดทำงาน แต่ประเทศไทยก็ยังไม่พ้นจาก “เผด็จการแฝงเล้น” สถานการณ์ประชาธิปไตยในไทยก็วนกลับมาเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพราะว่าเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 60 ที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยครึ่งใบปี 2521

อนุสรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า 45 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และ 48 ปีหลัง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับและมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แม้สามทศวรรษก่อนหน้านี้ ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง แต่วันนี้ คนยากจนกลับเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ติดอันดับต้นๆของโลก รายได้ประเทศลดลง ขาดดุลงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ ต้องขยายเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จาก 60% เป็น 70% ลำพังไม่มีวิกฤติความขัดแย้ง ปัญหาเหล่านี้ก็แก้ไขยากอยู่แล้ว ยิ่งมีความขัดแย้งยิ่งแก้ไม่ได้ ประเทศต้องการเอกภาพ สังคมต้องการความสามัคคี สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดหากไม่คิดเรื่อง ภราดรภาพ สิ่งนี้ไม่เกิด หากไม่มีความเป็น ธรรม สิ่งนี้ไม่เกิดหากไม่มีเสรีภาพ และ ประชาธิปไตย อย่างแท้จริง ต้องใช้ ภราดรภาพ ในการเอาชนะพลังแห่งความเกลียดชัง และ ทะลายความหวาดระแวงในหมู่คนไทยด้วยกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net