Skip to main content
sharethis

นวนิยายที่ใช้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นพื้นหลังของการเล่าเรื่องภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 มีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มันแสดงถึงการรื้อฟื้นความทรงจำที่รัฐไม่ต้องการให้จำ ท้าทายเรื่องเล่าหลักของรัฐที่ผู้คนเริ่มกังขา 6 ตุลากำลังแสดงพลังหลังจากประเทศไทยอยู่ภายใต้เผด็จการมาเกือบ 1 ทศวรรษ

  • 6 ตุลาคม 2519 ในนวนิยายไทยหลังเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของผู้พ่ายแพ้พร้อมๆ กับการท้าทายการพยายามลบความทรงจำและชิงความหมายกลับคืน
  • ความทรงจำ 6 ตุลาคม 2519 ที่เชื่อมต่อกับบริบทการเมืองไทยหลังปี 2553 คือความคลุมเครือของเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ที่มีเบื้องหลังที่ไม่อาจบันทึกได้ รวมถึงความขัดแย้งทางอุดมการณ์และชนชั้น
  • เรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลาคม 2519 มีพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ขณะเดียวกันก็มีนวนิยายที่กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้น
  • ถือเป็นเรื่องใหญ่มากเมื่อเรื่องเล่าของรัฐถูกท้าทาย รัฐจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้เรื่องเล่าของตนยังคงเป็นเรื่องเล่าหลักในสังคมต่อไป

วันที่ 6 ตุลาคมเวียนกลับมาอีกครั้ง ความทรงจำต่อเหตุการณ์ในวันเดียวกันนี้เมื่อ 45 ปีก่อนถูกหวนรำลึก และพอจะกล่าวได้ว่าภายหลังรัฐประหารปี 2557 ถึงการชุมนุมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนปัจจุบัน ทำให้เรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลามีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น คนรุ่นใหม่สนใจใคร่รู้ ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

ความสิ้นหวังต่อวัยเยาวที่สาบสูญของตนและความโกรธเคืองอันเนื่องจากความสิ้นหวังนั้นมีพลังมากกว่าที่รัฐคาดคิด

เรื่องเล่าหลัก ความทรงจำที่อยากให้จำ และความทรงจำที่อยากให้ลืมของรัฐ กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก 6 ตุลาคมกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ชนิดที่รัฐควบคุมไม่ได้ หนึ่งในพื้นที่เหล่านั้นคือนวนิยาย

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

‘ประชาไท’ สนทนากับ สิรนันท์ ห่อหุ้ม ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ ‘6 ตุลาคม 2519 ในนวนิยายไทยหลังเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553’ เรื่องเล่าอาจให้ภาพและความรู้สึกรู้สาได้ดียิ่งกว่าประวัติศาสตร์เสียอีก

ประวัติศาสตร์ของผู้พ่ายแพ้และการลบความทรงจำ

สิรนันท์เล่าถึงความสนใจของเธอว่า เกิดขึ้นจากการเห็นจุดร่วมในความรุนแรงบางอย่างจากรัฐของทั้งสองเหตุการณ์ที่มีร่วมกัน แม้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาและมีลักษณะของเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน แต่มีบางส่วนที่คาบเกี่ยวและซ้อนทับกันอยู่ โดยเฉพาะสาเหตุปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางอำนาจในสังคมไทย และวิธีการแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ของอำนาจรัฐในแต่ละยุค

เธอบอกว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง โดยเฉพาะตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 มีวรรณกรรมไทยไม่น้อยที่พูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เธอเห็นจากการอ่านนวนิยายในช่วงหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 คือความมุ่งหมายบางอย่างของนักเขียนที่ต้องการถ่ายทอดความทรงจำ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อท้าทายความทรงจำทางการหรือประวัติศาสตร์กระแสหลักที่กดทับ หลงลืมความรุนแรงทางการเมืองที่กระทำโดยรัฐ และส่งผลกระทบต่อคนหลายรุ่นวัย

สิรนันท์ยกคำพูดของประจักษ์ ก้องกีรติที่เคยให้สัมภาษณ์ว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ของคนพ่ายแพ้ แต่อีกด้านหนึ่งคือการกลับไปสำรวจความหมายของเหตุการณ์หรือช่วงชิงความหมาย พื้นที่ของความทรงจำ

“นวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 2553 จะเชื่อมโยงกับ 6 ตุลา 2519 ผ่านความทรงจำปี 2553 คือความพ่ายแพ้ของประชาชนคนเสื้อแดง เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็คือประวัติศาสตร์ของคนแพ้ ขณะที่รัฐพยายามจัดการกับความทรงจำทางการเมืองด้วยการตัดต่อความทรงจำ เราเห็นได้จากวันที่เหตุการณ์สลายการชุมนุมจบลงก็มี Big Cleaning Day มีเพลงออกมาเป็นโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร Big Cleaning Day คือการลบความทรงจำก่อนที่เหตุการณ์จะกลายเป็นความทรงจำได้ด้วยซ้ำ ไม่กี่ปีมานี้เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชื่อสถานที่ที่โยงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475”

ภาพการรำลึก 10 ปี การสลายการชุมนุม พ.ค.53

หลงลบลืมสูญ

ท่ามกลางการลบความทรงจำมีนวนิยายกลุ่มหนึ่งปรากฏขึ้น ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเมืองร่วมสมัยของไทย ย้อนโยงกลับไปหาประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 บางเรื่องย้อนไปไกลถึง 2475 คำถามคือทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

“ถ้าพูดภาษาอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลก็คือประวัติศาสตร์การเรียกร้องประชาธิปไตยไทยมักจะเน้นเส้นเรื่องของการต่อสู้กับเผด็จการทหาร แต่อีกเส้นเรื่องหนึ่งถูกละเลยไป นั่นคือการต่อสู้ระหว่างแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมกับกษัตริย์นิยมที่ย้อนไปถึงเหตุการณ์ 2475”

กล่าวได้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คือการที่อุดมการณ์อื่นอย่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ถูกขจัดออกไปจากสังคมไทยจึงไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์ฉบับทางการ มีความพยายามที่จะลบลืมการรำลึกถึงเหตุการณ์นั้นตั้งแต่ช่วงแรกๆ สิรนันท์เล่าว่าหนังสือพิมพ์ในเวลานั้นลงข่าว เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าอย่าไปรำลึกเหตุการณ์เลย เรื่องราวมันจบไปแล้ว

“ลองคิดดูเอาว่าแม้แต่ข่าวการหมั้นของมกุฎราชกุมารยังปรากฏในสื่อหนังสือพิมพ์หลังจาก 6 ตุลาไม่กี่เดือน สิ่งนี้มันเกิดขึ้นซ้ำหลังเหตุการณ์ปี 2553

“นวนิยายที่ชัดเจนมากในเรื่องการเห็นความสำคัญของการหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กับพฤษภา 2553 ก็คือ หลงลบลืมสูญ ของวิภาส ศรีทอง จากเดิมตัวละครหลักหมกมุ่นกับตัวเอง อยากประสบความสำเร็จในฐานะนักเขียน แต่สุดท้ายเมื่อเข้าไปเป็นประจักษ์พยานต่อเหตุการณ์พฤษภา 2553 และได้เจาะลึกลงไปถึงอดีต คือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เขาจึงถือเป็นหน้าที่ที่จะเขียนเรื่องราวนั้นออกมา”

เรื่องเล่าที่เล่าในสิ่งที่เล่าไม่ได้

“Astrid Erll มองว่าวรรณกรรมทำหน้าที่เป็นสื่อที่ทั้งสร้าง เฝ้าสังเกตความทรงจำ และใคร่ครวญกระบวนการสร้างภาพแทนของอดีต โดยเฉพาะความทรงจำที่มีปัญหาหรือคัดง้างความทรงจำทางการ วรรณกรรมพาผู้อ่านหรือคนในสังคมกลับไปสำรวจอดีตได้โดยแสดงให้เห็นมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่างานเขียนทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นความทรงจำ 6 ตุลาคม 2519 ในนวนิยายไทยหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 จึงมีส่วนตอกย้ำว่าความรุนแรงในสังคมไทยมีความต่อเนื่อง เป็นเหตุการณ์ที่ร่วมสมัยอยู่เสมอ และเป็นความทรงจำที่ยังต้องคงต้องสร้าง ทบทวน หรือรำลึกอย่างต่อเนื่อง

“โดยการคัดสรรและผลิตซ้ำความทรงจำ 6 ตุลาคม 2519 ในนวนิยายไทย เกิดขึ้นผ่านการนำเสนอภาพความรุนแรงจากเหตุการณ์ ซึ่งเป็นภาพที่ดึงดูดสายตา เช่น ภาพการฟาดด้วยเก้าอี้และภาพการฆ่าแขวนคอ ภาพความรุนแรงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และนำไปสู่การที่นักศึกษาประชาชนมุ่งหน้าสู่ป่าเพื่อร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อนที่จะกลับออกจากป่าในทศวรรษ 2520”

นอกจากภาพความรุนแรง การปราบปราม และการเข้าป่าแล้ว ความทรงจำ 6 ตุลาคม 2519 ที่นำเสนอในนวนิยายยังเน้นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ โดยเฉพาะอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ผู้ยึดถืออุดมการณ์ที่แตกต่างกันก็ยึดถือความทรงจำที่แตกต่างกัน ทำให้นวนิยายทำหน้าที่สำคัญในการบอกเล่าหรือบันทึกประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกบันทึกในความทรงจำทางการ เช่น ในแบบเรียนหรือในพิธีรำลึกที่ดำเนินการโดยรัฐ

“ความทรงจำ 6 ตุลาคม 2519 ที่เชื่อมต่อกับบริบทการเมืองไทยหลังปี 2553 จะเห็นได้จากความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ อย่างแรกคือความคลุมเครือของเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ไม่อาจบันทึกหรือบอกเล่าได้ เพราะมีผู้เกี่ยวข้องจากหลายฝ่ายทั้งยังพัวพันกับสถาบันต่างๆ ในสังคมไทย

“ต่อมาคือความขัดแย้งทางอุดมการณ์และชนชั้น เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องต่อรัฐ สิ่งที่ผนึกคนเข้าไว้ด้วยกันมิใช่อุดมการณ์ฝ่ายขวาหรือซ้ายเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับชนชั้นอีกด้วย โดยเฉพาะในบริบทการเมืองหลังปี 2553 ที่กระแสการเมืองเรื่องชนชั้นเชี่ยวแรงมาก นวนิยายจึงนำเสนอการปะทะกันของอุดมการณ์และความแตกต่างทางชนชั้นโดยอาศัยความทรงจำจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519”

6 ตุลา ที่ถูกเล่าใหม่ในวรรณกรรม

สิรนันท์อธิบายถึงกลวิธีการนำเสนอเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะความทรงจำที่ถูกเล่าใหม่หรือสร้างใหม่ในวรรณกรรมว่ามีอยู่ 3 กลวิธี

กลวิธีที่ 1 คือการแกะรอยและการบันทึกความทรงจำ พบในนวนิยายที่ผู้อ่านเดินตามตัวละครที่พยายามค้นคว้า สืบหา แกะรอย และชันสูตรความทรงจำ 6 ตุลาคม 2519 โดยอาศัยเอกสารหลักฐาน การแกะรอยความทรงจำในนวนิยายยังถูกยกระดับขึ้นเป็นการเขียนหรือการบันทึกความทรงจำเพื่อส่งต่อไปยังวงกว้าง

กลวิธีที่ 2 คือการประสานความทรงจำหลากหลายกระแส นวนิยายกลุ่มนี้ประสานองค์ความรู้ว่าด้วย 6 ตุลาคม 2519 จากหลากหลายกระแสเพื่อแสดงให้เห็นปัญหาหรือความไม่ลงรอยกันในการถ่ายทอดความทรงจำจากเหตุการณ์ดังกล่าว ความไม่ลงรอยนี้เป็นช่องว่างที่ทำให้นวนิยายผนวกเอาความทรงจำที่อยู่นอกการทรงจำของรัฐหรือชนชั้นนำทางการเมืองมาใช้ประโยชน์ด้วย เช่น ความทรงจำครอบครัวที่ผนึกเข้ากับประวัติ ศาสตร์การพัฒนาของรัฐ ความทรงจำดังกล่าวบอกเล่าความทรงจำว่าด้วยความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐทั้งทาง ตรงและทางอ้อม การประสานความทรงจำหลากหลายกระแสนี้แสดงให้เห็นความรุนแรงที่รัฐกระทำผ่านเหตุ การณ์ต่างๆ ที่เชื่อมร้อยกันเป็นข่ายใย

และกลวิธีที่ 3 คือการแสดงจำลองเหตุการณ์ (Re-enactment) โดยนวนิยายนำเสนอตนเองในฐานะการแสดงจำลองเหตุการณ์โดยอาศัยภาพความรุนแรงที่ปรากฏซ้ำในความทรงจำ 6 ตุลาคม 2519 อย่างการฟาดด้วยเก้าอี้ การฆ่าแขวนคอ และการเผานั่งยาง การจำลองภาพเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำในนวนิยายจึงไม่ต่างกับการที่ความรุนแรงโดยรัฐเกิดขึ้นซ้ำในเหตุการณ์ที่จำลองมาในนวนิยายทั้งจากเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519 และความรุนแรงทางการเมืองในปี 2553

ภาพกิจกรรมรำลึก 45 ปี 6 ตุลา ที่ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์ข้างหอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์

ยิ่งลบ ยิ่งจดจำ

รัฐพยายามลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาคม 2519 แต่ยิ่งลบ ความทรงจำกลับยิ่งผุดมากขึ้นและกระจายตัวกว้างขวางหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 สิรนันท์ กล่าวว่า

“เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยยะสำคัญค่ะ และเป็นพื้นที่ที่แมสมากด้วย ขยายไปในทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียต่างๆ การมีพื้นที่แค่ไม่กี่บรรทัดในตำราเรียนมัธยมไม่มีความหมายเลยในยุคสมัยนี้ เพราะเด็กๆ ที่สนใจเกินกว่าประวัติศาสตร์ทางการสามารถหาข้อเท็จจริงได้แบบไม่ยากเลย เพราะฉะนั้นไม่น่าแปลกใจที่แฮชแท็ก 6 ตุลา จะติดเทรนด์ในทวิตเตอร์อยู่บ่อยครั้ง”

เกิดเป็นความพยายามรื้อฟื้นความทรงจำและแสวงหาข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ข่าวทางการจากรัฐในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ของนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ประสบเหตุในขณะนั้น ซึ่งเด่นชัดขึ้นหลังการสลายการชุมนุมในความขัดแย้งทางเมืองเมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 มีการเทียบเคียงเหตุการณ์ดังกล่าวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในประเด็นต่างๆ จากนักวิชาการ สื่อ และผู้ที่เคยประสบเหตุใน 6 ตุลาคม 2519 โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับความคิดที่ว่าการปราบปรามคือสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรมและเรียกร้องให้มีการชำระประวัติศาสตร์ผ่านสื่อต่างๆ

“เกิดการเรียกร้องให้มีการสะสางให้ข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผยโปร่งใส และหากจะต้องมีคดีความ กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องจะต้องตรงไปตรงมา กิจกรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะร่วมคือรื้อฟื้นความทรงจำในอดีต เพื่อชำระข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โดยนอกจากจะมีการเสวนา จัดงานรำลึกแล้ว ยังมีการจัดโครงการในลักษณะต่อเนื่องและใช้สื่อในช่องทางที่แตกต่างกันไป

“โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียซึ่งจะแตกต่างจากการพิมพ์หนังสือในแง่ที่ว่าจะสามารถแก้ไขข้อมูลใหม่ที่ค้นพบได้ตลอดเวลา และกระจายสู่วงกว้างได้อย่างรวดเร็วกว่าการอ่านหนังสือ หนึ่งในโครงการที่เราชื่มชมมากๆ คือโครงการบันทึก 6 ตุลา ซึ่งคิดว่าเป็นหนึ่งในความพยายามรื้อฟื้นอดีตอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม จากฝ่ายนิสิตนักศึกษาประชาชนและผู้เกี่ยวข้องที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ และสร้างขึ้นบนแนวคิดหลักคือการเป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ หรือคลังประวัติศาสตร์เพื่อต้องการให้เหตุการณ์ 6 ตุลาถูกพูดถึงตลอดทั้งปี”

อุดมการณ์ทางการเมืองในวรรณกรรม

ขณะเดียวกันงานวิจัยด้านวรรณกรรมก็ปรากฏมากขึ้นด้วย เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในปี 2553 ทำให้มีผู้ศึกษามากขึ้น สิรนันท์บอกว่ามีหลายงานที่น่าสนใจ อาทิ บทความเรื่อง ‘รอยแยกของความคิดในกวีนิพนธ์ยุคแบ่งสีแบ่งข้าง’ ของ ผศ.ดร.เสาวณิต จุลวงศ์ ที่เสนอสมมติฐานว่าในลักษณะตรงกันข้ามของกวีนิพนธ์สองฟากฝ่ายการเมืองไทยร่วมสมัย แต่ที่จริงแล้วความคิดทางการเมืองที่ปรากฏในกวีนิพนธ์สองฝ่ายมีต้นทางมาจากสายธารเดียวกันคืออุดมการณ์ทางการเมืองในกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุค 2507-2523 คืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ลัทธิมาร์กซ์ และอุดมการณ์ชาตินิยม

ทว่า อุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันนี้กลับแตกเป็นแนวคิดขั้วตรงข้ามเมื่อปรากฏในกวีนิพนธ์กลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง โดยมีสองแนวคิดใหญ่ที่ปรากฏ คือแนวคิดที่ว่าด้วยความทุกข์ของประชาชนและแนวคิดว่าด้วยความทุจริตของฝ่ายผู้ปกครอง ซึ่งทั้งสองแนวคิดนี้ไปด้วยกันได้ดีเมื่อสมัยทศวรรษ 2500-2530

แต่ในกลางทศวรรษ 2540 หลังพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายติดๆ กัน แนวคิดทั้งสองก็ค่อยแยกตัวออกจากกัน และแยกตัวอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองบนท้องถนน ซึ่งแม้จะปรากฏเป็นแนวคิดบทกวีการเมืองยุคปัจจุบัน แต่ด้วยสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป แนวร่วมทางความคิดจึงกลับกลายแยกทางไปคนละขั้ว มองสภาพการณ์ปัจจุบันไปกันคนละมุมและต่างวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งทำให้เห็นความคิดทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังวาทกรรมหลากหลายที่กวีนิพนธ์แต่ละกลุ่มสร้างขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่วิเคราะห์ความทรงจำ 6 ตุลาคม 2519 ในวรรณกรรมไทยผ่านมุมมองความทรงจำวัฒนธรรมอย่างเด่นชัดที่สุดคือ ‘ประพันธศาสตร์ของความหลัง: ความทรงจำวัฒนธรรมกับวรรณกรรมศึกษา’ ของ รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม ที่ใช้แนวคิดความทรงจำวัฒนธรรมมาวิเคราะห์นวนิยายเรื่อง เวลาในขวดแก้ว ของประภัสสร เสวิกุล โดยอธิบายบทบาทของความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในนวนิยายเรื่องดังกล่าว ข้อค้นพบของอาจารย์นัทธนัยต่างจาก แนวการอ่านที่มีร่วมกันในสังคม (Socially Shared Ways of Reading) ที่จัดวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชนสะท้อนปัญหาครอบครัว

เพราะประวัติศาสตร์หลักของชาติถูกท้าทายคือเรื่องใหญ่

ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อเรื่องเล่าหลักของรัฐและฝ่ายอนุรักษ์นิยมในทั้งสองเหตุการณ์คือ

“ก่อให้เกิดการตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบ ความสงสัยของมนุษย์ถือเป็นเรื่องน่ากลัวมากนะคะ โดยเฉพาะความสงสัยในสิ่งที่ถูกปิดบัง ความสงสัยที่ไร้คำตอบที่ชัดเจน ยิ่งเวลาล่วงผ่าน หลายคนจากที่เคยแค่สงสัย กลายเป็นส่วนหนึ่งของการถูกกระทำ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับคำถามมากมายต่อสังคมไทยตอนนี้ มันนำไปสู่ความพยายามค้นหาคำตอบที่เรื่องเล่าหลักเล่าข้ามไปให้ได้ ทุกวันนี้ไม่แปลกใจเลยที่หนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจะขายดีแบบถล่มทลาย โควทต่างๆ ในหนังสือถูกรีทวีตมากมาย เพราะประวัติศาสตร์กำลังหวนกลับมาตั้งคำถามกับปัจจุบัน”

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเรื่องเล่าหลักของรัฐถูกท้าทายหนักข้อเข้า จำเป็นอยู่เองที่ฝ่ายรัฐต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อกล่อมเกลาให้เรื่องเล่าหลักยังสามารถควบคุมผู้คนได้เช่นในอดีต สิรนันท์กล่าวว่า

“คิดว่าใช้ทุกวิธีทางที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจรัฐ เพราะการที่ประวัติศาสตร์หลักของชาติถูกท้าทายคือเรื่องที่ใหญ่มาก และถ้าเราเป็นรัฐ เราต้องแก้ไขตั้งแต่รากฐานโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กำลังจะโตขึ้น เพราะฉะนั้นการปรับตำราเรียน เพิ่มหลักสูตรการศึกษาอย่างค่านิยม 12 ประการ โฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ เพลง ละคร โครงการผ่านกระทรวงต่างๆ มากมาย การต่อสู้ทางโซเชียลมีเดีย จึงเกิดขึ้น ซึ่งงบประมาณในการโต้กลับทั้งหมดก็คือภาษีของเราด้วย”

ปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ สถาบันกษัตริย์ในนวนิยาย

เหตุการณ์ปี 2553 ยังนำไปสู่ปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ และเป็นอีกครั้งที่เรื่องแต่งก็ขับเคลื่อนไปพร้อมกระแสสังคม สิรนันท์กล่าวว่ามีนวนิยายที่ดันเพดานการพูดถึงสถาบันหลักของประเทศมากขึ้น แต่ไม่ได้พูดถึงโดยตรง แต่ใช้กลวิธีเล่าเรื่องในการนำเสนอ

“อย่างนวนิยายเรื่อง ลักษ์อาลัย ของอุทิศ เหมะมูล แม้ไม่ได้พูดถึง 6 ตุลา โดยตรง เลยไม่ได้เลือกมาศึกษาในวิทยานิพนธ์ แต่ก็วิจารณ์สังคมปิตาธิปไตย แล้วให้ตัวละครเล่าถึงงานบรรณาธิการที่ทำ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับพงศวดารอยุธยา ปัญหาการสืบสันตติวงศ์ สุดท้ายประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของชนชั้นสูง ประชาชนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรตั้งแต่ต้น

“หรือนวนิยายชื่อ ดังนั้นจึงสิ้นสลาย ของนิธิ นิธิวีรกุล มีหลายจุดที่นำเหตุการณ์จริงมาเชื่อมร้อยอย่างน่าสนใจ อย่างเช่นการเสด็จเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านของมกุฎราชกุมาร ตัวนวนิยายเองก็วิพากษ์สังคมปิตาธิปไตย ซึ่งก็โยงไปถึงสถาบันหลักของสังคมไทยด้วย เราจะเห็นการก่อตัวของบทบาทของสถาบันที่ถูกระบุลงไปในรัฐธรรมนูญ สุดท้ายแล้วประชาชนก็เป็นแต่ชีวิตที่เปลือยเปล่า ดิ้นรนเอาชีวิตให้รอด อย่างที่ตัวละครหลักมีภาพติดตาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เขาเห็นคนคนหนึ่งนั่งอุจจาระตอนผ่านสถานีหัวลำโพง สุดท้ายตัวละครก็ฆ่าตัวตายในวันสำคัญของชาติ โดยในเรื่องบอกเป็นนัยว่าเป็นเพราะการก่อประกอบความทรงจำเป็นตัวตนขึ้นมาไม่สำเร็จ ซึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนไปยังเรื่องเล่าเกี่ยวกับความทรงจำของการเมืองไทยร่วมสมัยด้วย มีบางเรื่องหรือความทรงจำบางอย่างเล่าออกมาไม่ได้”

สิรนันท์กล่าวถึงนวนิยายอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เนรเทศ ของ ภู กระดาษ ซึ่งเป็นเรื่องราวการเดินทางของครอบครัวคนอีสานครอบครัวหนึ่ง ซ้อนกับประวัติศาสตร์การคมนาคมไทย การสร้างถนนมิตรภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ ประวัติศาสตร์กระแสหลักกลายเป็นความทรงจำของคนผ่านหนังสือเรียน

“แต่ก็มีเรื่องเล่าอีกชุดซึ่งทำให้เห็นมุมมองอีกด้าน นั่นคือการสถาปนาอำนาจของสถาบันในประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านระบบสัญญะต่างๆ อย่างธนบัตร พระบรมสาทิสลักษณ์ในงานสำคัญ เรียกได้ว่านวนิยายเรื่องนี้ของภู กระดาษ คือการวิพากษ์อุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ไปกันได้ดีกับระบอบบทหารและเสรีนิยม ถ้าไปดูบันทึกท้ายเรื่อง หรือคล้ายๆ เป็นรายการอ้างอิง เราจะพบว่าหนังสือเล่มสำคัญที่ภู กระดาษใช้อ้างอิงคือวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ซึ่งต่อมากลายเป็นหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี หนังสือเล่มนี้พูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองระหว่างประเทศช่วงสงครามเย็น สุดท้ายคนอีสานที่กระจัดพลัดพรายจากถิ่นฐานเพราะถนนมิตรภาพก็เหมือนถูกเนรเทศให้เดินทาง กลายเป็นคนอื่นในถิ่นฐานของตัวเอง”

เมื่อรัฐไม่เคยเรียนรู้จาก 6 ตุลา

สิรนันท์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการเรียกร้องทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 จะเห็นเยาวชนรุ่นใหม่ย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยทาบตนเองกับเหตุการณ์ชุมนุมของเสื้อแดง 2553 ตุลา 2519 ไปจนถึง 2475 แต่ไม่พูดถึงพฤษภาทมิฬ 2535 หรือ 14 ตุลา 2516 อย่างชัดเจน เพราะสองเหตุการณ์หลังลงรอยได้ดีกับเรื่องเล่าหรือความทรงจำที่ว่าสถาบันอยู่ข้างประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือสถาบันช่วยให้ความขัดแย้งทางการเมืองยุติลงได้ อย่างที่เสน่ห์ จามริก เคยกล่าวไว้ในหนังสือ ‘เสน่ห์ จามริก: รัฐศาสตร์กับการเมืองไทย’ ตั้งแต่ปี 2530 ว่าสถาบันกษัตริย์จะช่วยสมานสังคมไทยในฐานะราชประชาสมาสัยให้เป็นหลักยึดในการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่ไม่เข้ามาข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งเฉพาะราย

“แต่การเมืองปัจจุบันไม่ได้มีลักษณะอย่างนั้น เราจึงได้เห็นนิสิตจุฬาฯ ออกมาพูดถึงเหยื่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ทำนองว่า ใครฆ่าพี่เรา เห็นการย้อนกลับไปศึกษาและตีความจิตร ภูมิศักดิ์ เรียกจิตรว่ารุ่นพี่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แปลก อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่เป็นอื่นสำหรับสังคมไทยในอดีตได้รับการประเมินใหม่ เราจะเห็นเยาวชนออกมาขอโทษคนเสื้อแดงที่พวกเขาเคยกล่าวหาว่าเผาบ้านเผาเมือง

“ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ทำให้เห็นว่าเรื่องรุ่นคนหรือ Generation ที่แตกต่างกัน อาจนำสู่ความเปลี่ยนแปลงขอบฟ้าทางการเมืองไทยร่วมสมัยได้ เส้นเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่เยาวชนรุ่นนี้ย้อนโยงกลับไปก็คืออุดมการณ์ที่เคยพ่ายแพ้ หนึ่งคือรัฐธรรมนูญนิยม สองคืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ สามคือการตื่นตัวของชนชั้นรากหญ้าหรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในกรณีหลังนี้ นวนิยายเรื่อง โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้ ของปรีดี หงษ์สต้น ทำให้เห็นชัดว่า ทักษิณ ชินวัตร คือคนที่ทำให้คนรากหญ้าตระหนักว่าพวกเขามีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ นวนิยายเรื่องนี้พูดถึงการก่อเค้าความขัดแย้งทางการเมืองที่เขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่จะปรับตัวกันยังไง”

“เราคงได้เห็นคำตอบต่อคำถามที่ผู้แต่งเรื่องโปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้ เราจะเห็นม็อบที่ใช้ป๊อปคัลเจอร์ ตัวการ์ตูน การใช้เพลงแร็พในการต่อต้านอำนาจรัฐที่พวกเขาคิดว่าไม่ชอบธรรม พวกเขาได้คำตอบว่าการอยู่เฉยๆ อย่างปลอดภัยไม่ได้ช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยไปได้นานเลย เกิดเป็นการชุมนุมนำเสนอข้อเรียกร้องที่เป็นแกนปัญหาของสังคมไทยที่เรียกว่าทะลุเพดานนั่นแหละ”

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือวรรณกรรมในรูปของนวนิยายอาจจะไม่ได้ออกมาทันทีกับสถานการณ์เพราะต้องใช้เวลา แต่จุดที่สิรนันท์สนใจก็คืองานวรรณกรรมที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นแนวสร้างสรรค์หรืออยู่นอกขอบเขตของการส่งประกวดรางวัลซีไรต์ อย่าง Lite Novel นิยายวาย นิยายแนวแฟนฟิค รวมถึงนวนิยายแนวสืบสวน กลับแสดงพลังแบบตีแสกหน้าได้

“นักเขียนแนวไลท์ โนเวลคนหนึ่ง คือ Starless Night ที่ออกมาบอกว่าวิธีที่รัฐจัดการปัญหาโควิด 19 เหมือนจัดการกับปศุสัตว์มากกว่า เมื่อประชาชนถูกต้อนให้จนมุม นึกภาพอนาคตไม่ออกก็จะกลายเป็นความโกรธแค้น ซึ่งเราจะเห็นได้จากม็อบในช่วงปีนี้ที่ดินแดง การชุมนุมปีที่แล้ว เยาวชนและประชาชนยังเห็นความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ถึงจะถูกจับดำเนินคดีครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยอมทนทุกข์ แต่ตอนนี้ไม่มีอนาคตให้เห็น รัฐสมัยใหม่ได้อำนาจเพราะสัญญาว่าจะให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชนก็ไม่เกิดขึ้น แทนที่รัฐจะจัดการปัญหาให้ถูกต้อง กลับเที่ยวไปไล่จับดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม บางคนอาจนึกถึงการหนีไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งคนยากจนไม่ได้มีโอกาสง่ายดายอย่างนั้น แต่รัฐไทยก็ทำเหมือนไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ 6 ตุลาเลย”

คำถามที่ชวนทิ้งท้ายให้ครุ่นคิดต่อคือการเมืองไทยต่อจากนี้จะมีตอนจบแตกต่างจาก 6 ตุลาคม 2519 หรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net