Skip to main content
sharethis

อธิบดี กสร. เผยกรณีใช้งบกลาง จ่ายชดเชยให้ พนง.บริลเลียนท์ เบื้องต้นทำหนังสือยื่นไปที่สำนักงบประมาณ อยู่ระหว่างการตอบกลับ

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่พนักงานบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด และตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นเนลแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบกิจการผลิตชุดชั้นในสตรี จ.สมุทรปราการ ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากปิดกิจการและไม่ได้รับเงินชดเชย ได้ไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำงบกลางมาจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและได้ยื่นหนังสือขอให้ทบทวนการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ผ่านนายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเมื่อวันที่ 28 เม.ย.- 11 ส.ค. 2564 ให้แก่ลูกจ้าง 1,231 คน รวมเป็นเงิน 22,321,856 บาท ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม จ่ายเงินประกันการว่างงาน 65,540,768 บาท และกรมการจัดหางาน จัดตำแหน่งงานว่างรองรับ 1,834 ตำแหน่ง

นายนิยม กล่าวต่อว่า รัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยใส่ใจพี่น้องแรงงานทุกคน ทุกกลุ่ม และได้สั่งการให้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยเร็ว วันนี้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ ในส่วนของเงินประกันการว่างงานของประกันสังคม ท่านสุชาติ ยังได้ดำเนินการให้มีการแก้ไขระเบียบให้สามารถจ่ายเงินประกันสังคมได้ก่อนที่จะจบกระบวนการศาล ซึ่งแต่เดิมการที่จะจ่ายเงินประกันการว่างงานให้กับผู้ใช้แรงงานในกรณีที่มีคดีฟ้องร้องในชั้นศาลจำเป็นจะต้องให้กระบวนการศาลจบเรียบร้อยก่อน

ส่วนเรื่องการของบกลางสำรองจ่ายให้กับลูกจ้างก่อน เบื้องต้นกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ทำหนังสือยื่นไปที่สำนักงบประมาณ อยู่ระหว่างการตอบกลับ ส่วนเรื่องการดำเนินคดีกับนายจ้างศาลอาญาได้ออกหนังสือหมายจับแก่นายจ้างทั้ง 2 รายเรียบร้อยแล้ว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 7/10/2564

ก.แรงงาน ขอดึงเงินนำส่งกองทุนต่างด้าวปีละ 500 ล้านบาท จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทั้งประเทศ 2.5 ล้านคน เก็บข้อมูลแบบไบโอเมตริกซ์ ช่วยงานด้านความมั่นคง

วันที่ 7 ต.ค. 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่นรมว.แรงงาน ได้มาหารือขอลดการนำส่งรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เข้ากองทุนเพื่อบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อนำเงินไปใช้พัฒนาระบบข้อมูลต่างด้าวที่ทำงานในไทยกว่า 2.5 ล้านคนให้มีความทันสมัย และเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ได้ดีขึ้น และลดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ปัญหาด้านความมั่นคงภายในประเทศ ตามมติ ครม.ที่เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ โดยคลังให้กระทรวงแรงงานไปศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมให้รอบด้าน เพื่อนำเสนอกลับมาให้พิจารณาอีกครั้ง

นายสุชาติ รมว.แรงงาน กล่าวว่า แนวคิดการใช้เงินกองทุนฯนั้น ต้องรอผลการศึกษาให้ชัดเจนซึ่งจะทราบผลภายใน 6 เดือน โดยเบื้องกระทรวงแรงงานจะเสนอให้แบ่งเงินจากการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวปีละ 500 ล้านบาท มาใช้พัฒนาข้อมูลแรงงานต่างด้าว และเชื่อมโยงระบบข้อมูลใหม่ ซึ่งจะทำให้มีการนำส่งเงินค่าธรรมเนียมลงทะเบียนต่างด้าวเข้ากองทุนฯ ลดลงจากปีละ 1,900 บาทล้านต่อปี เหลือเพียง 1,400 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันระบบยืนยันตัวตนแรงงานต่างด้าวจะใช้แค่นิ้วมืออย่างเดียว แต่ระบบใหม่จะใช้ไบโอเมตริกซ์ พิมพ์รายนิ้วมือทั้ง 5 นิ้ว มีการสแกนใบหน้า สแกนม่านตาซึ่งมีข้อมูลรายละเอียดเป็นรายบุคคลทั้งหมด ทำให้สามารถบ่งชี้ความเป็นตัวตนของแรงงาน โดยงานในส่วนนี้อาจต้องจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยทำ แต่มีข้าราชการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลระบบทะเบียนให้อยู่

ทั้งนี้ หากระบบเชื่อมโยงยืนยันตัวตนแรงงานต่างด้าวมีประสิทธิภาพแล้ว จะช่วยแก้ไขปัญหาได้หลายด้าน ทั้งการกินค่าหัวคิว การตรวจสอบการกระทำผิดแรงงานต่างด้าว รวมถึงการรักษาสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ที่เจ็บป่วยในประเทศ ก็จะมีการใช้ข้อมูลได้รวดเร็ว และแม่นยำ เพราะเพียงสแกนก็จะรู้ทันทีว่าเป็นใครมาจากไหน

“ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่ได้ลงทะเบียนถูกกฎหมายอยู่ในประเทศไทย 2.5 ล้านคน และมีรายได้ค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนฯ เฉลี่ย 1,900 ล้านบาทต่อปี โดยปกติรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนั้น จะต้องนำส่งเข้ากองทุนฯ และเป็นรายได้แผ่นดิน แต่เมื่อกระทรวงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวใหม่ให้ทันสมัย โดยใช้ระบบไบโอเมตริกซ์ซึ่งมีมาตรฐานสากลมาใช้ อาจจะต้องนำรายได้บางส่วนจากค่าธรรมเนียมบางส่วนมาใช้แทน และต้องมาหารือกับกระทรวงการคลัง ที่เป็นผู้ดูแลทุนหมุนเวียน”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 7/10/2564

พนง.บอดี้แฟชั่นภายใต้เครือข่ายสหภาพไทรอัมพ์ เรียกร้องดำเนินคดีเจ้าของบริษัทหลัง รง.ปิดไม่ได้จ่ายเงินชดเชย

ตัวแทนพนักงานบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย จำกัด) ที่ประกอบกิจการผลิตชุดชั้นในตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ จำนวน 200 คน ภายใต้เครือข่ายสหภาพแรงงานแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทบทวนการจ่ายเงินชดเชยจำนวน 242 ล้านบาท หลังนายจ้างบริษัทดังกล่าวได้ปิดกิจการลง โดยยังไม่จ่ายเงินค่าจ้างตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งมีพนักงานที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 1,388 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องแก่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจึงต้องขอความช่วยเหลือจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้พิจารณาอย่างเร่งด่วนทั้งเงินค่าจ้างสงเคราะห์ที่ไม่ได้รับตามกฎหมาย รวมทั้งสั่งดำเนินคดีแก่เจ้าของบริษัท ทั้งนี้ในระหว่างการชุมนุมตัวแทนของ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้ลงมารับหนังสือพร้อมกับแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่าในวันที่ 8 ต.ค. 2564 ให้มาเข้าพบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชุมนุมได้นำชุดชั้นทั้งยกทรง กางเกงใน หลากสี มาผูกเชือกขึงเป็นราวตากผ้าโชว์ที่บริเวณหน้ารั้วทำเนียบรัฐบาลเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเดือดร้อนที่ประสบอยู่ ก่อนที่จะเปิดเวทีปราศรัยเนื่องในวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปีตรงกับ 'วันงานที่มีคุณค่า' ซึ่งถือเป็นวันสำคัญขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ร่วมไปถึงย้ำขอให้รัฐบาลช่วยเยียวยาชดเชยลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19

ที่มา: มติชนออนไลน์, 7/10/2564

4 สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ยื่นหนังสือเรียกร้องผ่อนคลายจัดกิจกรรมภายใน 15 ต.ค. 2564 หลังได้รับผลกระทบยาวนาน

4 สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ นำโดย นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน หรือ EMA , นายประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA , นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ TICA , และนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย หรือ THA ร่วมลงนามในหนังสือเพื่อยื่นถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ผ่อนคลายธุรกิจไมซ์ ให้สามารถเปิดกิจการและจัดกิจกรรมได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน ภายในวันที่ 15 ตุลาคม นี้ เพื่อประคองสถานการณ์ธุรกิจของภาคเอกชนให้สามารถเดินหน้าต่อได้

นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 เดือน ตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ผ่านนั้น ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมไมซ์ ได้เห็นความมุ่งมั่น และเจตนารมณ์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อฯ ตลอดจนการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติ หรือ ใกล้เคียงสถานการณ์ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส และเชื่อว่า ฯพณฯ ได้รับทราบถึงความเดือดร้อน ผลกระทบต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้อยู่ในขณะนี้

“จากมาตรการล็อกดาวน์ในปีนี้ ที่ต่อเนื่องและยาวนานกว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ต่างประสบปัญหากับสภาวะขาดทุน มีการเลิกจ้างงาน และเลิกกิจการกันไปส่วนใหญ่ แต่หากในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เหลือของปีนี้ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ได้รับอนุญาตให้กิจการและกิจกรรมได้กลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง ก็จะช่วยประคองสถานการณ์ของธุรกิจภาคเอกชนไม่ให้ถดถอยไปกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลทางตรงและทางอ้อมไปยังผู้ประกอบการ บุคลากร ตลอดจนครอบครัว และประชาชนโดยรวม ให้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ”นายอุปถัมป์กล่าว

นายอุปถัมป์ กล่าวอีกว่า การเปิดให้กิจการและกิจกรรมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้กลับมาทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท กับการจ้างงานโดยรวมเกือบ 4 แสนอัตราในปี 2562 ซึ่งเป็นปีปกติก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจอีกหลายเท่าทวีคูณ ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างแรงงาน และบุคลากรในกิจการ เช่น โรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ร้านอาหาร ร้านค้า และการบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนกิจกรรมการจัดแสดงสินค้า การประชุมในประเทศ การจัดกิจกรรมการตลาด เป็นต้น โดยทางสมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ต่างเชื่อว่าการที่รัฐบาลได้ผ่อนปรนให้มีการกลับมาเปิดกิจการบางประเภท เช่น ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ส่วนบริการอื่น ๆ ได้บ้างแล้ว เป็นแนวทางที่ดีในการเริ่มผ่อนคลายให้เศรษฐกิจได้เริ่มขับเคลื่อนด้วยตัวเอง แต่กิจการและกิจกรรมในอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ได้เรียนข้างต้น ก็ควรได้รับการพิจารณาผ่อนปรนเช่นกัน เนื่องจากทุกกิจการและทุกกิจกรรมนั้น ผู้ประกอบการจะดำเนินการด้วยมาตรการป้องกัน และควบคุมอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ตามที่ได้ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง

“สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้จัดทำมาตรการปกติใหม่ (New Normal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานสาธารณสุข และ ศบค. ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อใช้ในการกำกับการดำเนินกิจการ และกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านอย่างเข้มงวด โดยไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อรายใหม่ขึ้นแต่อย่างไร และสิ่งที่ผู้ประกอบการของสมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ปรารถนาคือ การขอความเห็นชอบจาก ฯพณฯ ในการผ่อนผันให้กิจการ และกิจกรรมได้กลับมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยตัวเองต่อไปโดยเร็ว ภายใต้มาตรการปกติปัจจุบัน (New Normal) ที่สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้มีการปรับเพิ่มมาตรการและมีความเข้มข้นขึ้น เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อาทิ การควบคุมกิจกรรม และผู้ประกอบการด้วยวัคซีนที่ได้รับตามเกณฑ์ของคณะกรรมการควบคุมวัคซีน ประกอบการมาตรการสาธารณสุขอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด” นายอุปถัมป์กล่าว

นายอุปภัมป์ ยังหวังว่า นายกฯจะให้สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ได้เข้าหารือ เพื่อชี้แจงแนวทาง และมาตรการที่ผู้ประกอบการต่างๆในอุตสาหกรรมไมซ์ได้จัดเตรียมไว้นั้น สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมที่จะเข้าพบนายกฯ ในวันและเวลาที่ นายกฯสะดวก และโปรดแจ้งกลับมาโดยทันที สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือฉบับนี้ จะได้รับการพิจารณาจาก นายกฯ และเพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ได้มีส่วนร่วมในการกอบกู้ ขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศร่วมไปกับ นายกรัฐมนตรี ต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 6/10/2564

กสร. ประกาศนโยบายเน้นแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ตั้งเป้ามุ่งสู่ Tier 1 นำเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างนวัตกรรมมาใช้บริหารงาน

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวในฐานะประธานการแถลงนโยบายและแนวทางปฏิบัติราชการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ว่าปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 นำมาซึ่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังมาตรการล็อกดาวน์การเปลี่ยนแปลงของสภาพการจ้างงานเป็นผลทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งส่งผลให้แรงงานกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงานทักษะต่ำ แรงงานผู้หญิง แรงงานข้ามชาติในประเทศ เป็นกลุ่มแรงงานที่กรมต้องเข้ามาดูแลโดยด่วน กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินนโยบายการทำงานเน้นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบแนวคิด "คนสำราญ งานสัมฤทธิ์ผล ประชาชนพึงพอใจ" เน้นย้ำการทำงานเชิงรุก ได้แก่ 1) สานงานต่อ โครงการที่ทำแล้วมีผลกระทบเชิงบวกต่อองค์กรและประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรและยกระดับการให้บริการของหน่วยงานสู่ความเป็นเลิศ พร้อมเร่งรัดการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมและทั่วถึง 2) ก่องานเพิ่ม โดยเน้นที่นโยบายเร่งด่วนด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่ Tier 1 โดยพุ่งเป้าการตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อคุ้มครองแรงงานไม่ให้มีการละเมิดสิทธิด้านแรงงานในกิจการประเภทต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดการละเมิดสิทธิแรงงานให้นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ไปใช้ในการบริหารจัดการแรงงาน นอกจากนี้กรมจะดูแลแรงงาน ทั้งในและนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย การดำเนินมาตรการเชิงรุกด้านความปลอดภัยในการทำงาน (Safely & Healthy Thailand) เพื่อให้อัตราการประสบอันตรายจากการทำงานลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พร้อมส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤตด้วยระบบทวิภาคีและส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย (TLS) ตลอดจนปรับปรุง พัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นระบบ Big Data สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปีงบประมาณ 2565 นี้ กรมจะพัฒนาขีดความสามารถการทำงานของบุคลากร องค์กร ตลอดจนการบริหารจัดการและการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยโครงการที่เป็นงานใหม่ โดย 3) เติมงานใหม่ มุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เช่น โครงการ Factory Sandbox การส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ของสหภาพแรงงาน การพัฒนาเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ให้มีความเข้มแข็ง การเทียบเคียงมาตรฐานแรงงานไทยกับมาตรฐานอื่น ๆ เช่น ISO 45001 ระบบมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นต้น เช่นเดียวกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ที่เทียบเคียงคุณวุฒิการศึกษา กับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ พร้อมกันนี้กรมจะมุ่งพัฒนาการให้บริการ การอนุมัติ การอนุญาต เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์และอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองแรงงานด้วยระบบภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics) และพัฒนาระบบการตรวจแรงงานในรูปแบบการรับรองตนเอง (Self - Declaration) เพื่ออำนวยความสะดวกให้สถานประกอบกิจการลดต้นทุนหรือเวลาในการดำเนินงาน และพัฒนาไปสู่การตรวจสอบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต

"กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการกำกับดูแลให้แรงงานทั้งในและนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งพัฒนามาตรฐานแรงงานไทยเทียบเท่าสากลพร้อมยกระดับการให้บริการประชาชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงและยั่งยืนต่อไป" อธิบดี กสร. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 6/10/2564

ครม.เห็นชอบจ้างแพทย์-พยาบาลรองรับสถานการณ์โควิด

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 5 ตุลาคมเห็นชอบในหลักการโครงการจ้างแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และสายงานบริการทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 กรอบวงเงิน 4,335 ล้านบาทตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อเพิ่มบุคลากรในการดูแลรักษาผู้ป่วยของหน่วยบริการทั่วประเทศ รองรับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยโควิด-19 และประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน โดยในลำดับต่อไปครม.ให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณากำหนดจำนวนกรอบอัตรากำลังที่จะจ้างงานภายใต้โครงการนี้ให้เหมาะสมตามความจำเป็น

ที่มา: Hfocus, 5/10/2564

ครม.เห็นชอบมาตรการรักษาจ้างงาน SMEs จ่ายอุดหนุนลูกจ้าง 3,000 บาท/คน 3 เดือน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน ตลอดจนสร้างความแข็งแรงให้แก่ธุรกิจ

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นนายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มีการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยไม่เกิน 200 คน โดยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในเดือน ต.ค. 2564 และรับเงินอุดหนุนในเดือนที่ 1-3 (ตั้งแต่ พ.ย. 2564 ถึง ม.ค. 2565)

2.เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุน ประกอบด้วย

– รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมและรักษาการจ้างงานให้แก่นายจ้างให้กับลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวนไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

– เงินอุดหนุนคำนวณตามยอดการจ้างจริงทุกเดือน โดยพิจารณาจากจำนวนลูกจ้างที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม

– นายจ้างจะต้องรักษาการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 95% ในระหว่างร่วมโครงการ โดย (หากต่ำกว่า 95% จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น) ในกรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริง ไม่เกิน 5% ของจำนวนลูกจ้างสัญชาติไทย ณ วันเริ่มโครงการ

โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานประสานกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแนวการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการในส่วนของรายได้จากเงินอุดหนุนดังกล่าว พร้อมให้กระทรวงแรงงานจัดทำรายละเอียดข้อเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ พิจารณา ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

“มาตรการนี้คาดว่า จะรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 ราย ที่มีสถานประกอบการจำนวน 480,122 แห่งและจะสามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างได้จำนวน 5,040,176 คน” นายธนกร กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 5/10/2564

พนักงาน-ลูกจ้าง ที่ทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ไม่ต่อสัญญาจ้างให้ 14 คน ขอความช่วยเหลือผู้ว่าฯ

พนักงานจ้างตามภารกิจและพนักงานจ้างทั่วไป พร้อมทั้งพนักงานจ้างเหมาบริการจำนวน 14 คน ที่ทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ไม่ได้ต่อสัญญาจ้างให้ รวมทั้งญาติพี่น้อง ได้เดินหน้าบุกร้องผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ช่วยเหลือเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากถูกเลิกจ้างแบบกะทันหันไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ก็ได้มารับเรื่องจากผู้ที่มาร้องเรียน

โดยนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ภายหลังรับเรื่องจากผู้ร้องทางจังหวัดก็จะได้ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอน ซึ่งในส่วนของจังหวัดก็มีบทบาทในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนด ก็จะได้ตรวจสอบว่าการที่ทางเทศบาลไม่ต่อสัญญาจ้างให้กับพนักงานจ้างทั้ง 14 คน นั้น เป็นไปตามระเบียบกฎหมายว่าด้วยการบริหารท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งก็จะได้ประสานทางเทศบาล เพื่อชี้แจงกรณีดังกล่าว ภายใน 3 วัน โดยจะต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ด้านนายสกล ไกรรณภูมิ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ ก็ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่พนักงานหรือลูกจ้างประท้วงว่าถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมว่า ตามหลักการบริหารของเทศบาล ก็แบ่งออกเป็น 3 แท่ง คือ ฝ่ายสภาที่ทำหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนลงพื้นที่แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ฝ่ายข้าราชการประจำ คือ ปลัด รองปลัด ผอ.กอง หัวหน้าส่วน พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างต่างๆ ซึ่งตามกรอบระยะเวลาฝ่ายสภาก็มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี กรอบลูกจ้างก็ระยะเวลาในการทำงาน 1 ปี ซึ่งทุกคนที่เข้ามาสมัครทำงานก็ทราบระเบียบอยู่แล้ว ในส่วนแท่งบริหารของตำแหน่งนายกเทศมนตรี คือ การขับเคลื่อนนโยบายที่ได้แถลงต่อสภาไว้

ดังนั้น คนที่เข้ามาทำงานเป็นพนักงานจ้างเหมาหรือพนักงานจ้างตามภารกิจ ก็จะต้องทราบอยู่แล้วว่าสัญญาจ้างปีต่อปี ซึ่งการที่ไม่ได้ต่อสัญญาจ้างทั้ง 14 คนนั้น ก็เป็นไปตามกรอบระยะเวลาและระเบียบที่กำหนด ซึ่งทั้งสำนักงานเทศบาลมีบุคลากรมากกว่า 700 คน การที่ไม่ต่อสัญญาจ้างในบางตำแหน่ง ก็เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นเหมาะสมให้สอดคล้องกับการบริหารงาน ยืนยันว่าไม่ได้มีการกลั่นแกล้งแต่อย่างใด

ที่มา: สยามรัฐ, 5/10/2564

เตือนระวังถูกนายหน้าเถื่อน หลอกไปทำงานเกษตรที่ออสเตรเลีย เพราะขณะนี้ทางการออสเตรเลียยังไม่มีการออกวีซ่าให้กับผู้ใด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสื่อโซเชียลที่มีการรายงาน เรื่อง รัฐบาลออสเตรเลียอนุมัติวีซ่ารูปแบบใหม่ เรียกว่า “วีซ่าการเกษตร” สามารถทำงานเกษตรอยู่ในออสเตรเลียได้ 3 ปี เดินทางกลับบ้านได้ปีละ 3 เดือน และเมื่อทำงานครบ 3 ปี สามารถสมัครเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร หรือ permanent residency ของออสเตรเลียได้ ทำให้คนไทยที่คิดเดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวนมากเกิดความสนใจ จนมีผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือในการจองวีซ่าดังกล่าวตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลียได้

ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย ได้ออกประกาศเตือนว่า การยื่นขอวีซ่าทางการเกษตรของออสเตรเลียที่กำลังมีแผนดำเนินการอยู่นั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ และในขณะนี้ยังไม่มีการออกวีซ่าทางการเกษตรของออสเตรเลียให้แก่ผู้ใด รวมทั้งขอให้โปรดใช้ความระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อการโฆษณาจากองค์กรหรือบุคคลใดที่อ้างว่าสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่า ขอให้คนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งงาน ลักษณะงาน และสมัครงานกับบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางาน คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับอนุญาต จำนวน 125 บริษัท และขอให้คนหางานทุกคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงมีตามกฎหมาย และได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมแล้ว ยังสามารถทำงานอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหลบซ่อน รวมทั้งป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเน้นย้ำมาโดยตลอด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ขอให้แรงงานไทยระมัดระวังอย่าโอนเงินให้ผู้ใดโดยยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล และหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นเงินสด ควรชำระผ่านธนาคารหรือแอปพลิเคชันธนาคารเพื่อเข้าบัญชีผู้รับอนุญาตจัดหางานโดยตรง ที่สำคัญแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศต้องแจ้งการเดินทางกับ กกจ.ก่อนเดินทางทุกครั้ง และต้องเดินทางออกไปทำงานโดยผ่านด่านตรวจคนหางานที่ประจำอยู่ ณ ท่าอากาศยาน หากสาย/นายหน้าคนใดบอกว่าไม่จำเป็นต้องผ่านด่านตรวจ ให้สันนิษฐานเลยว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง โดยแรงงานไทยสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย 5 วิธี ดังนี้

1.กกจ.เป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม กกจ.มีเจ้าหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินคดีผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563-5 ตุลาคม 2564 มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อนแล้ว 96 ราย หลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 205 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 17,879,617 บาท ซึ่งประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สวีเดน และออสเตรเลีย

สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas หรือที่สายด่วน 1506 กด 2 และสายด่วน 1694” อธิบดี กกจ.กล่าว

ที่มา: news.ch7.com, 5/10/2564

สหภาพรถไฟฯ เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน

5 ต.ค. 2564 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เรียกร้องนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานที่เกิดกับกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 13 คน ดังนี้

1.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณี “พี่น้องกรรมการ สร.รฟท. ถูกกล่าวหาละทิ้งงานจากการทำกิจกรรมรณรงค์ เพื่อความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟเพื่อประโยชน์แก่ผู้โดยสาร” 2.รายงาน Case No. 3022: Complaint against the Government of Thailand ของคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (Committee of Freedom of Association: CFA) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และ 3.คำสั่งเฉพาะที่ รฟ.ชก.1000/1120/2564 เรื่องให้พนักงานสังกัดศูนย์ซ่อมบำรุงด้านลากเลื่อน ฝ่ายการช่างกลออกจากงานไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา

ความเป็นมา ตามที่อ้างถึง 1 และ 2 อุบัติเหตุรถไฟตกรางที่บริเวณเขาเต่า ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 มีผู้เสียชีวิต 7 คนและบาดเจ็บ 84 ราย และก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร รวมทั้งความเสียหายที่เกิดกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเงินกว่า 209 ล้านบาท สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ในขณะนั้น ได้มีมติทำกิจกรรมรณรงค์ให้พนักงาน รฟท. ตระหนักถึงการเดินรถไฟให้ปลอดภัย และเรียกร้องให้นายจ้างหรือ รฟท. ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ที่ได้ยื่นจดทะเบียนตามกฎหมายรัฐวิสาหกิจแรงงานสัมพันธ์ตั้งแต่ปี 2550-2552 ด้วยเหตุผลว่า ในช่วงเวลานั้น รฟท. มีงบประมาณที่จำกัด ขบวนรถไฟจึงขาดการบำรุงรักษา หัวรถจักรอยู่ในสภาพที่ชำรุด แต่ยังคงนำมาใช้เดินรถเพื่อให้บริการแก่ประชาชน จึงยื่นข้อเรียกร้องต่อ รฟท. ว่า ถ้าขบวนรถไฟไม่ว่าจะเป็นรถจักรหรือรถพ่วง ก่อนทำขบวนการรถไฟต้องทำการซ่อมให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ก่อนใช้งานดังนั้น ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 58(2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 กำหนดว่า “เมื่อสหภาพแรงงานปฏิบัติการ ชี้แจงหรือโฆษณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องหรือข้อพิพาทแรงงาน หรือการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน เพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงาน ให้สหภาพแรงงาน กรรมการสหภาพแรงงาน อนุกรรมการสหภาพแรงงาน และเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงานได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่ง” ในครั้งนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า สาเหตุที่ทำให้พนักงานหมดสติ

ทั้ง 2 คนนั้น คือ ซีลยางกั้นระหว่างประตู (คล้ายกรอบยางประตูรถยนต์) ที่ทำหน้าที่กันเสียงกันฝุ่นกันไอต่างๆ มันฉีกขาด เลยทำให้แก๊สไอเสียจากห้องเครื่องยนต์ซึ่งอยู่ติดกันกับห้องขับของรถจักรเข้ามา และในวันดังกล่าวปรากฏว่ามีฝนตก หัวรถจักรไม่ได้ติดแอร์เหมือนรถยนต์ พนักงานจึงเอากระจกทั้ง 2 ข้างขึ้นเพื่อปิดกันฝนสาด ทำให้อากาศน้อยลง ห้องเครื่องยนต์ที่อากาศมีมากกว่าก็จะไหลเข้ามา พาไอเสียเข้ามาด้วย ส่งผลให้พนักงานทั้ง 2 คนหมดสติ หากเหตุการณ์ปกติเป็นไปได้ยากที่จะหมดสติพร้อมกันทั้ง 2 คน และที่สำคัญหัวรถจักรของรถไฟขบวนที่เกิดอุบัติเหตุไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอย่างสมบูรณ์ ระบบห้ามล้ออัตโนมัติหรือระบบวิจิแลนด์ชำรุดไม่ทำงาน ซึ่งระบบนี้มีไว้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับการขับรถไฟ เมื่อเกิดเงื่อนไขที่พนักงานขับรถไฟหมดสติ ไม่ตอบสนองใดๆ ไม่กดปุ่ม ไม่ชักหวีด ไม่ใส่ห้ามล้อ ไม่ไปสัมผัสอะไรเลยภายในสองนาที ระบบนี้จะทำงานส่งสัญญาณให้รับรู้ว่า หัวรถจักรนั้นไร้การควบคุม ระบบห้ามล้อฉุกเฉินก็จะจับ รถไฟก็จะหยุดในทันที แต่อุบัติที่เกิดขึ้น พบว่าระบบนี้ใช้งานไม่ได้ มันชำรุด

ผลของอุบัติเหตุดังกล่าว ไม่พบการลงโทษทางวินัยผู้บริหารที่รับผิดชอบในการเดินรถ ที่ปล่อยให้มีการนำหัวรถจักรที่ระบบห้ามล้ออัตโนมัติหรือระบบวิจิแลนด์ชำรุดไม่ทำงานออกมาให้บริการ แต่กลับมีการตอบโต้การทำกิจกรรมรณรงค์ของ สร.รฟท. ด้วยการ ออกคำสั่งลงโทษไล่ออกกรรมการ สร.รฟท. ปฏิบัติงานที่ อ.หาดใหญ่ จำนวน 6 คน และต่อมา มีการขออำนาจศาลในการเลิกจ้างกรรมการ สร.รฟท. เพิ่มอีก 7 คน ซึ่งทำหน้าที่กรรมการกิจการสัมพันธ์ฝ่ายลูกจ้าง

นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีการฟ้องเป็นคดีที่ศาลแรงงานและศาลมีคำพิพากษาว่า มีการปฏิบัติในลักษณะที่เข้าไปยุยงมีความผิดให้ชดใช้ค่าเสียหาย 15 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลตัดสินก็ 25 ล้านบาท นอกจากการยื่นฟ้องเป็นคดีที่ศาลแรงงานแล้ว มีการกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ว่า กรรมการ สร.รฟท. ร่วมกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ร่วมกันละทิ้งงานหรือกระทำการอย่างใดๆ เพื่อให้งานหยุดชะงักหรือเสียหาย โดยร่วมกระทำเช่นนั้นด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ซึ่งคณะกรรมการ ปปช. ได้รับเรื่องสอบสวน และลงมติเห็นชอบว่า การกระทำของกรรมการ สร.รฟท. จำนวน 13 คน มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน ละทิ้งงานหรือกระทำการอย่างใดๆ เพื่อให้งานหยุดชะงักหรือเสียหาย โดยร่วมกระทำเช่นนั้นด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 166 สำนักงานอัยการสูงสุดจึงแต่งตั้งทนายเพื่อนำผลการสอบสวนของคณะกรรมการ ปปช. ไปฟ้องศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ล่าสุดศาลได้มีคำพิพากษาให้กรรมการ สร.รฟท. มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาและให้ลงโทษ ขณะนี้ คดีอยู่ในระหว่างการขออุทธรณ์

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ สร.รฟท. พร้อมด้วยองค์กรแรงงานในระดับสากลคือ สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation: ITUC) และสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Workers’ Federation: ITF) ได้ยื่นหนังสือถึงองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ร้องเรียนการที่รัฐบาลไทยละเมิดสิทธิแรงงานด้วยการใช้ช่องทางกฎหมายต่าง ๆ มาดำเนินคดีต่อผู้นำสหภาพแรงงานที่ลุกขึ้นมารณรงค์ความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟให้มีความปลอดภัย เพื่อประโยชน์ของผู้โดยสารที่มาใช้บริการของ รฟท. และ รฟท. เอง ได้รับประโยชน์เช่นกัน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล

ที่มา: สยามรัฐ, 5/10/2564

โควิดแรงงานข้ามชาติระบาดเชียงราย ต้องเร่งเปิดศูนย์คอลเซ็นเตอร์ภาษาเมียนมา

ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเขต อ.เมืองเชียงราย โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้น พบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาพักตามหอพัก แคมป์คนงาน ตลาด โรงงาน ฯลฯ จนทำให้ผู้ป่วยแพร่ไปตามจุดต่างๆ

โดย 2 ต.ค.ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันในเขต อ.เมืองเชียงราย ถึง 17 ราย อ.แม่สาย 3 ราย เวียงแก่น 3 ราย อ.เวียงชัย 1 ราย อ.แม่ฟ้าหลวง 1 ราย อ.แม่ลาว 2 ราย รวมทั้งหมด 27 ราย และวันที่ 3 ต.ค.พบในเขต อ.เมืองเชียงราย 6 ราย อ.แม่สาย 2 ราย อ.เวียงแก่น 2 ราย อ.พญาเม็งราย 1 ราย อ.แม่ลาว 1 ราย

ผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในเขต อ.เมืองเชียงราย เริ่มจากแคมป์คนงานก่อสร้างศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย ที่ตรวจคัดกรองเมื่อ 17 ก.ย.พบผลบวกประมาณ 80 ราย จากนั้นได้ตรวจพบในแคมป์คนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สถานที่ก่อสร้างศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตลาดค้าปลีกค้าส่งผักและผลไม้ขนาดใหญ่ โรงงานน้ำแข็ง ตลาดสดกลางเมืองเชียงราย ฯลฯ ซึ่งแต่ละแห่งล้วนเกี่ยวข้องกันเพราะมีแรงงานที่พักอาศัยตามหอพักหรือแคมป์คนงาน เดินทางไปทำงานยังแต่ละจุดแล้วกลับมาพักอาศัยอยู่ด้วยกัน

อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานวัตการสังคม มฟล.ในฐานะศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย กล่าวว่า ตั้งแต่มีวิกฤตในกลุ่มแรงงานใน มฟล.และตลาดค้าปลีกค้าส่งผักผลไม้ใน อ.เมืองเชียงราย ก็เริ่มพบผู้ติดเชื้อเข้าข่ายกระจายไปยังสถานที่แรงงานเหล่านี้พักอาศัยเรื่อยๆ เพราะมีการติดต่อกับนายจ้าง ญาติ คนงานด้วยกัน ฯลฯ ทำให้ยากต่อการควบคุมมากกว่าเดิม เนื่องจากแรงงานไม่ได้อาศัยอยู่เฉพาะในแคมป์ที่เป็นสถานที่ปิดหรืออยู่ตามชนบท แต่อยู่ตามหอพัก หมู่บ้าน ฯลฯ ในตัวเมืองเชียงราย

การแก้ไขปัญหาทำได้ 2 ทาง คือ นำตัวผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกหรือตรวจพบว่าติดเชื้อยืนยันไปทำการรักษา หรือส่งเข้าไปยังศูนย์คัดแยกในชุมชนหรือ Community isolation โดยไม่สามารถให้กักตัวที่บ้านหรือ Home isolation ได้เพราะลักษณะการอาศัยไม่ใช่เป็นบ้าน และอีกทางคือตรวจเชิงรุกไปยังชุมชนดังกล่าวซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการอย่างเต็มที่

สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการขาดการประสานงานหรือทำความเข้าใจกันระหว่างหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสาธารณสุข ท้องถิ่น กับกลุ่มแรงงานดังกล่าว เพราะปัญหาด้านภาษาและช่องทางการติดต่อ ด้วยเหตุนี้ ทางศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงรายจึงได้รับเป็นหน่วยงานกลางล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากสาธารณสุขในการให้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์เปิดเป็นศูนย์ติดต่อหรือ Call center เป็นภาษาเมียนมา เพื่อให้แรงงานชาวเมียนมาสอบถามข้อมูลว่าพวกเขาควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้ารับบริการทางสาธารณสุขและยับยั้งการระบาดได้ ซึ่งพบว่าหลังจากเปิด Call center ก็มีผู้โทรศัพท์เข้าไปสอบถามอย่างต่อเนื่องและทางศูนย์ก็ประสานกับสาธารณสุขและท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลนครเชียงรายซึ่งเป็นท้องถิ่นที่เกี่ยข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

แต่ก็พบปัญหาขณะนี้คือ ความต้องการในการตรวจหาเชื้อแบบ ATK ในกลุ่มแรงงานทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกระจายเชื้อออกไปอีก ซึ่งจากการประชุมร่วมกับทางสาธารณสุขและเทศบาลนครเชียงราย ทราบว่ายังมีข้อสงสัยเรื่องระเบียบการใช้งบประมาณของท้องถิ่นในการจัดหาเครื่องตรวจแบบ ATK เพื่อนำไปตรวจเชิงรุกในแรงงานข้ามชาติ แต่ก็มีบางคนที่ให้ความเห็นว่ามีช่องที่ท้องถิ่นจะสามารถจัดซื้อมาตรวจได้

ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องนี้จะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการได้พิจารณาเพื่อเปิดให้ท้องถิ่นได้จัดหาเครื่องตรวจแบบ ATK เพื่อปูพรมตรวจแรงงานข้ามชาติในเขตตัวเมืองเชียงรายโดยเร็วต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/10/2564

รมว.ศธ. มอบนโยบาย สอศ.ทบทวนการจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาทั้งระบบ ในระดับปวช.-ปวส. ตั้งเป้าเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2565

2 ต.ค. 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกของอาชีพ ที่มีอาชีพใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น และมีความคาดหวังว่านักเรียน นักศึกษาต้องปรับตัวได้ทันกับโลกของอาชีพที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ที่ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ และคาดว่าเราต้องอยู่ร่วมกับโรคติดเชื้อโควิด-19ไปอีกระยะหนึ่ง และจากการที่ตนได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก็ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้เรียน สถานศึกษา และประชาชนว่า มีนักเรียนนักศึกษาออกกลางคันเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุหนึ่งคือความแข็งตัวของหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน

ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนมีคุณภาพ มีสมรรถนะสูงสุดตรงตามที่สถานประกอบการ หรือ ตลาดแรงงานต้องการ

“ดิฉันได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทบทวนเรื่องการจัดการเรียนการสอนอของอาชีวศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่ตัวหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) การจัดการเรียนรู้ การจัดเวลาเรียน การฝึกประสบการณ์สมรรถนะวิชาชีพ การฝึกอาชีพ การประเมินผลการเรียนรายวิชา ตลอดจนการฝึกอาชีพในระบบทวิภาคี

รวมถึงเรื่องสื่อที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนสายวิชาชีพ สามารถจบออกไปอย่างมีคุณภาพ มีสมรรถนะสูงสุดตรงตามที่สถานประกอบการ หรือตลาดแรงงานต้องการ และที่สำคัญสามารถเรียนจนจบหลักสูตรโดยไม่ออกจากหลักสูตรกลางคัน ซึ่งการปรับปรุงนี้ควรจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทันใช้ในปีการศึกษา 2565 นี้”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/10/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net