Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ ICJ ส่งข้อเสนอแนะถึงทางการไทยแสดงความกังวลต่อการแก้ไขและการตรา พ.ร.บ. อุ้มหาย ที่มีความล่าช้า ทั้งที่กฎหมายนี้มีความสำคัญ ย้ำรัฐสภาควรเร่งแก้ร่าง พ.ร.บ. และต้องสอดรับกฎหมายสากล 

ภาพผู้ถูกบังคับสูญหาย

7 ต.ค. 64 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ส่งข้อเสนอเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ และสำเนาถึงสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุทางหน่วยงานยินดียิ่งที่ได้ทราบว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมได้รับการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอหลายประการตามข้อเสนอแนะที่ส่งไปก่อนหน้านี้ แต่ยังมีเนื้อหาสำคัญหลายประการที่ยังไม่ถูกแก้ไขและยังขัดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศอีกด้วย 

ทางแอมเนสตี้ และ ICJ ระบุว่า แม้ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวจะถูกปรับปรุงแก้ไข รวมถึงผ่านการรับฟังความเห็นอยู่หลายครั้ง แต่ปัญหาสำคัญหลายประการกลับยังมิได้ถูกแก้ไข แม้จะมีการทักท้วงโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญว่า หลักการดังกล่าวมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนั้น เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฯ ในปัจจุบันยังคงขัดแย้งกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามและให้คำมั่นว่าจะให้สัตยาบัน

เนื้อหาในจดหมายยังระบุอีกว่า ทั้ง 2 องค์กรมีความกังวลต่อการแก้ไขและการตราร่างพระราชบัญญัติฯ ที่มีความล่าช้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการนำมาใช้ลงโทษอาชญากรและอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย จึงขอเน้นย้ำข้อเรียกร้องของเราต่อสมาชิกรัฐสภาให้เร่งรัดการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย และผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวโดยไม่ล่าช้า

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้และ ICJ มีข้อกังวลหลักๆ ดังต่อไปนี้  

  • นิยามของอาชญากรรมการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งคำศัพท์สำคัญอื่น ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์หรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
  • การขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
  • การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินคดี
  • การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับการไม่รับฟังคำให้การหรือข้อมูลใดที่ได้มาจากการกระทำการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี
  • การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับรูปแบบความรับผิดบางประการสำหรับอาชญากรรมที่บัญญัติในร่างพระราชบัญญัติ ฯ
  • การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับหลักประกันเพื่อป้องกันการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และ
  • การขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะที่ต่อเนื่องของอาชญากรรมการกระทำให้บุคคลสูญหาย และอายุความของความผิดฐานกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

 
ข้อมูลเพิ่มเติม 

ข้อเสนอเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net