Skip to main content
sharethis

กลุ่มลำพูนปลดแอกร่วมกับอดีตนักศึกษาและสหาย กิจกรรมรำลึกตุลา ผ่านขบวนคาร์ม็อบประวัติศาสตร์ ชำระแผล 6 ตุลา พร้อมเปิดชื่อ 23 สมาชิกสหพันธ์ชาวนาฯ สาขาภาคเหนือ ที่ถูกลอบสังหารและสูญหาย ช่วงก่อน 6 ตุลา 19

9 ต.ค.2564 เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา เวลา 16.00 น. กลุ่มลำพูนปลดแอกร่วมกับอดีตนักศึกษาและสหาย จัดกิจกรรมรำลึกตุลา โดยเริ่มขบวนประวัติศาสตร์ ชำระแผล 6 ตุลา ที่เริ่มตั้งขบวนคาร์ม็อบ ณ บริเวณสถานีรถไฟลำพูน ผ่านโรงเรียนจักรคำ ศาลากลาง แจ่มฟ้า และสิ้นสุดการเคลื่อนขบวนเข้าสู่บริเวณข่วงท่าขาม

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการและกิจกรรมเสวนาจากอดีตนักศึกษาและสหายไม่ว่าจะเป็น ทองธัช เทพารักษ์ ศิลปินที่ได้รับรางวัล “มนัสเศียรสิงห์แดง" นพพร ดินรงณ์ อดีตนักศึกษาวิทยาลัยครูเชียงใหม่ที่ร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และย่านต่างๆ ภาณุพงศ์ ไชยวรรณ์ ผู้ก่อตั้งการเกิดการต่อสู้ของชาวนา อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และรศ.รังสรรค์ จันตะ อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษาภาคเหนือ

ผู้ร่วมกิจกรรมทางการเมืองอธิบายถึงบรรยายกาศภายในงานว่า “วันนี้นอกจากมีเสวนา ก็มีนิทรรศการเล็กๆ และมีการประมูลงานศิลปะ ซึ่งน้องๆ วาดกันสด เพื่อที่จะเอาเงินมาสนับสนุนกิจกรรมครั้งต่อๆไป และกิจกรรมภายในงานก็มีวงดนตรี มีบทบาทสมมุติที่เป็นนักศึกษาถูกยิงเสียชีวิตและคาดว่าคงถูกลวงละเมิดทางเพศด้วย แล้วก็มีบทบาทสมมุติของนักศึกษาชายที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวง อันนี้ก็คือ เสียชีวิตมาก่อนแล้วถูกแขวนคอแล้วพาดด้วยเก้าอี้ แล้วมีบทบาทสมุติที่มีนักศึกษาที่มีโซ่ลามเท้าสะท้อนว่ามันถูกจำกัดอิสรภาพแล้วก็หน้าตาฟกช้ำ ดำเขียว มีเลือด และมีการจัดแสดงของศิลปินทองธัช เทพารักษ์ที่เอามาร่วมแสดงด้วยก็คือ กล่องที่มีคนไทยที่ถูกห่อหุ้มด้วยธงชาติไทยอยู่ข้างในกล่อง ซึ่งกล่องนี้ก็จะมีสัญลักษณ์สวัสดิกะของนาซี ซึ่งหมายความว่า เราถูกจำกัดอยู่ในโลกที่ถูกปกครองแบบเผด็จการ และนอกจากนั้นมีการจัดโชว์นกสีขาวอยู่ในกรงแล้วเขียนคำว่า 112 ก็คือถูกจำกัดอิสรภาพ แม้แต่เรื่อง 6 ตุลาที่พูดไม่ได้เยอะๆ และในหลายๆเรื่อง”

“งานรำลึก 6 ตุลา จัดที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น ถ้าเรามีสำนึกในเรื่องการเมือง สำนึกในเรื่องความไม่ยุติธรรมของมันเนี่ย เราจัดที่ไหนก็ได้ แต่บังเอิญที่ว่าลำพูนมีอดีตนักศึกษาที่มีความเกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาเยอะ และมีอดีตนักสู้ในเวทีหลายคน และบางคนก็ต่อสู้ทางการเมืองโดยการใช้ศิลปะต่อสู้ เช่น นักเขียนท่านหนึ่ง และรวมไปถึงมีชาวนาที่ลำพูนที่ถูกลอบฆ่า ในระหว่างช่วงก่อน ระหว่าง  และหลังช่วง 6 ตุลา” ผู้ร่วมกิจกรรมแสดงความเห็น

ขอแสดงความไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งต่อรุ่นพี่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เสียชีวิตในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และผู้ที่เสียชีวิตหลังเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นิสิต จิรโสภณ นักศึกษาภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มช., เดชา นพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์, พรเลิศ กองแสง คณะศึกษาศาสตร์, พิชัย กระแสรัตกุล คณะมนุษยศาสตร์, วันชัย บุญปฐมโรจน์กุล คณะแพทยศาสตร์, อาวุธ ช่อผกา คณะสังคมศาสตร์, สมนึก เดชเกรียงไกรศร คณะเภสัชศาสตร์

นอกจากนี้ได้อ่านรายชื่อสมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวนาไร่แห่งประเทศไทย สาขาภาคเหนือ ที่ถูกลอบสังหารและสูญหายในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 ได้แก่

1. นายอาจ ธงโท ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2518
2. นายประเสริฐ โฉมอมฤต อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2518
3. นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518
4. นายแก้ว ปงซาคำ ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518
5. นายจา จักรวาล อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2518
6. นายบุญทา โยทา อ.เมือง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2518
7. นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2518
8. นายอินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ และประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อ 31 กรกฎาคม 2518
9. นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2518
10. นายมี สวนพลู อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
11. นายตา แก้วประเสริฐ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
12. นายตา อินต๊ะคำ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
13. นายพุฒ ทรายคำ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518
14. นายนวล กาวิโล อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกระเบิดและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518
15. นายบุญรัตน์ ใจเย็น อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2518
16. นายลา สุภาจันทร์ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2518
17. นายคำ ต๊ะมูล อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2519
18. นายวงศ์ มูลอ้าย อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519
19. นายพุฒ บัววงศ์ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519
20. นายทรง กาวิโล อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519
21. นายดวงคำ พรหมแดง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2519
22. นายนวล ดาวตาด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2519
23. นายชิต คงเพชร อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2519 (Cr.Thanatorn Tae)

ภาพบรรยากาศกิจกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net