Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เช้าวันนี้ผมได้ไปร่วมงานรำลึก45ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์และได้กล่าวเปิดนิทรรศการ “หนี้เลือด 6 ตุลาคม 2519 ถึงเวลาชำระ”

เมื่อผมได้อ่านชื่อของนิทรรศการที่น้องๆผู้จัดเป็นคนตั้งขึ้นผมนึกถึงอะไร?

ผมเชื่อว่านักศึกษาประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาจำนวนมากได้ยินคำทำนองนี้มาคล้ายๆกันและก็จะนึกถึงคำว่า “เลือดล้างด้วยเลือด” มีการแต่งเพลงที่ตอนท้ายบอกว่า “ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์อาจเงียบหงอย ก็เพียงช่วงรอคอยสู่วันใหม่ วันกองทัพประชาชนประกาศชัย จะกลับไปกรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์” 

นี่คือเป็นผลผลิตจากการที่ชนชั้นนำผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงเข้าสังหารเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ การใช้ความรุนแรงนั้นไม่ได้นำไปสู่การปราบทำลายล้างผู้ที่เห็นต่างให้ราบคาบ แต่กลับกลายเป็นเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงที่มากยิ่งขึ้น จนเป็นคำว่าเลือดล้างด้วยเลือดและบทเพลงข้างต้น

เพราะฉะนั้นบทเรียนของสังคมไทยก็คือการที่รัฐใช้อำนาจ ใช้กำลังความรุนแรงเข้าจัดการกับนักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยมมีแต่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม และทางออกจากความขัดแย้งนั้นไม่ได้เกิดจากการปราบการฆ่าให้สิ้นซาก แต่เกิดจากการหาทางออกที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกัน ทำให้ผู้ที่เห็นต่างสามารถอยู่ในสังคมได้ทั้งๆที่เห็นต่างจากรัฐ 

นิทรรศการในวันนี้จะทำให้เราเห็นภาพความโหดเหี้ยมของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม แต่ความหมายของคำว่าหนี้เลือดต้องชำระย่อมแตกต่างไป ก็คือไม่ใช่เลือดล้างด้วยเลือดแต่ความหมายหนึ่งคือที่ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ซึ่งเป็นผู้นำนักศึกษาในสมัยนั้นและยังได้ทำงานต่อเนื่องในทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อสิทธิ เพื่อประชาธิปไตยตลอดมา ก็ได้เสนอวิถีทางในการชำระหนี้เลือด 6 ตุลาโดยการนำผู้ที่กระทำผิดมาดำเนินคดีทางกฎหมาย

ส่วนอีกความหมายหนึ่งที่ผมอยากจะเสนอก็คือการชำระหนี้เลือด 6 ตุลา ยังเป็นเรื่องที่สังคมไทยประชาชนไทยจะต้องคิดว่า การปราบปรามที่โหดเหี้ยมในครั้งนั้นเกิดจากโครงสร้างระบบทางสังคม อุดมการณ์ ความคิดความเชื่อ วัฒนธรรมอย่างไร? ที่ทำให้ชนชั้นนำใช้มารักษาอำนาจผลประโยชน์ของตนเอง ใช้ปลุกปั่น ยุยงทำให้เกิดความโกรธแค้นเกลียดชังต่อนักศึกษาประชาชน ถึงขั้นที่มาเข็นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมทารุณ 

ระบบโครงสร้างอุดมการณ์ ความคิดและวัฒนธรรมนั้นยังอยู่ในสังคมไทยจนปัจจุบันนี้และยังเป็นหลักในการนำการปกครองประชาชนในทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าจะชำระหนี้เลือดนอกจากชำระกันในทางกฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแล้ว ประชาชนไทยจะต้องคิดว่าเราจะเปลี่ยนโครงสร้างเปลี่ยนระบอบที่พร้อมจะฆ่านักศึกษาประชาชนเพียงเพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองได้อย่างไร? 

ต้องหาทางเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม อุดมการณ์ ความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งหลายมีเสรีภาพในการที่จะแสดงออก ในการที่จะสร้างสังคมอย่างที่เขาปรารถนา

 

ที่มา: Facebook Chaturon Chaisang

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net