COVID-19: 9 ต.ค. 64 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 10,630 ราย เสียชีวิต 73 ราย

ศบค. รายงานสถานการณ์ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 10,630 ราย ป่วยสะสม 1,700,067 ราย รักษาหาย 10,542 ราย หายสะสม 1,572,332 ราย เสียชีวิต 73 ราย เสียชีวิตสะสม 17,607 ราย - เตรียมสุ่มตรวจ ATK ในโรงเรียน-นร.ฉีดไฟเซอร์เข็มแรก 1.5 แสนคน - 'โมเดอร์นา' แจงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีน mRNA เกิดได้น้อย

9 ต.ค. 2564 ศบค. รายงานสถานการณ์ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 10,630 ราย ป่วยสะสม 1,700,067 ราย รักษาหาย 10,542 ราย หายสะสม 1,572,332 ราย เสียชีวิต 73 ราย เสียชีวิตสะสม 17,607 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีน (8 ต.ค. 2564) สะสม 59,308,772 โดส

เตรียมสุ่มตรวจ ATK ในโรงเรียน-นร.ฉีดไฟเซอร์เข็มแรก 1.5 แสนคน

9 ต.ค.2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการดำเนินการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ในเดือน ต.ค. 2564 ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา กลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 12-18 ปี ขณะนี้มีผู้แจ้งความประสงค์เข้ารับการฉีดแล้วประมาณ 3.8 ล้านคน จากตัวเลขกลุ่มเป้าหมายมีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71 และคาดว่ามีตัวเลขผู้แจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. มีนักเรียนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วประมาณ 150,190 คน หรือร้อยละ 3.3 และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้วประมาณ 1,825 คน

น.ส.รัชดา ยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ และทางโซเชียลสื่อออนไลน์ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok เด็กบางกลุ่มได้ออกมาแสดงความกังวลต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ขอให้ความเชื่อมั่นว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลนำมาฉีดให้กับเด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงได้มาตรฐานระดับสากลและทั่วโลกยอมรับ โดยได้ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติรับรองคุณภาพเรียบร้อยแล้วทั้งจากองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ (FDA) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขของไทยด้วย

แม้การฉีดวัคซีนไฟเซอร์จะมีผลข้างเคียงในลักษณะต่าง ๆ อยู่บ้าง ทั้งผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หนาวสั่น รวมถึงผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่จากข้อมูลของคณะอนุกรรมการด้านโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับโลกด้านความปลอดภัยของวัคซีนประจำองค์การอนามัยโลก (GACVS) ระบุว่าวัคซีนชนิด mRNA มีประโยชน์ในการป้องกันโรคโควิด-19 มากกว่าความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตจาก COVID-19 ได้ โดยหลายประเทศได้เดินหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็กไปก่อนหน้านี้แล้ว อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สเปน นอร์เวย์ เป็นต้น

ทางบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) ยังได้ยื่นคำขอต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อย่างเป็นทางการแล้วเพื่อให้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 กับเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เป็นการฉุกเฉิน หากผ่านการรับรองของ FDA คาดจะสามารถใช้ได้ในเดือน พ.ย. นี้

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กนักเรียนมีความสำคัญมาก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมให้เข้มแข็งมากขึ้นและให้เด็กได้กลับไปเรียนในรูปแบบปกติโดยเร็ว พร้อมเตรียมรับการเปิดภาคเรียนเดือน พ.ย.นี้ นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ยังพิจารณาให้มีการตรวจ ATK (Antigen Test Kit) แบบสุ่มตัวอย่างประมาณ 10-15% ของจำนวนนักเรียนในทุก ๆ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักเรียนในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กำชับให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ข้อมูลสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประสิทธิภาพและอักตราการเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน เพื่อให้นักเรียนคลายความกังวลจากผลที่เกิดขึ้นด้วย

'โมเดอร์นา' แจงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีน mRNA เกิดได้น้อย

9 ต.ค. 2564 บริษัทโมเดอร์นา ออกแถลงการณ์ว่าด้วยอุบัติการณ์การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมาโดยมีข้อความระบุว่าบริษัทโมเดอร์นามีความตระหนักถึงประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศ เดนมาร์ก สวีเดน และฟินแลนด์ที่แนะนำให้มีการหยุดฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของบริษัทโมเดอร์นาเป็นการชั่วคราว ในกลุ่มประชาชนที่อายุตั้งแต่ 18 ปีลงมา ในประเทศเดนมาร์ก และกลุ่มประชาชนอายุตั้งแต่ 30 ปีลงมา ในส่วนของประเทศสวีเดน และฟินแลนด์

สำหรับบริษัทโมเดอร์นาแล้ว ความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เรามีความมุ่งมั่นที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งนับตั้งแต่มีการระบาดมาจนถึงเวลานี้ได้ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก และคร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 4 ล้านราย

ทางบริษัทโมเดอร์นาเองมีความตระหนักดีถึงโอกาสการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังจากการได้รับวัคซีนประเภท mRNA ซึ่งภาวะดังกล่าวมีอุบัติการณ์การเกิดน้อย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่มากและหายได้เองภายในเวลาในระยะเวลาอันสั้นภายหลังจากการได้รับการรักษาและการพักผ่อนที่เพียงพอ

อนึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าหากมีการติดเชื้อ COVID-19 ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นแนวทางป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวที่ดีที่สุด จากข้อมูลการวิเคราะห์ล่าสุดในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเครือข่าย US Vaccine Safety Datalink (VSD) จากจำนวนประชากร 6.2 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน mRNA นั้นไม่พบว่ามีการบ่งชี้ถึงความปลอดภัยที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังจากการได้รับวัคซีน mRNA ชนิดใดๆ ก็ตาม

นอกจากนี้แล้ว รายงานจากการวิจัยผ่านทางเครือข่าย Kaiser Permanente จากจำนวนคนที่ได้รับวัคซีนมากกว่า 2.3 ล้านราย ก็พบจำนวนของผู้ที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเพียง 15 รายในผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ทั้งหมด โดยคิดเป็นอัตราอุบัติการณ์การเกิดภายหลังจากได้วัคซีนเข็มที่สอง ที่ 5.8 รายต่อ ล้านโดส

วัคซีน COVID-19 ของบริษัทโมเดอร์นาในนาม Spikevax เป็นวัคซีนที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์และประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ในระดับที่สูงมากก็เป็นที่ประจักษ์ทั้งในการนำมาใช้จริงในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ นอกเหนือจากรายงานผลการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 จาก COVE study ที่มีมาก่อนหน้านี้ ทางบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะทำการเฝ้าระวังติดตามข้อมูลความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ทุกตัวอย่างใกล้ชิดทั้งในระยะที่ตัวผลิตภัณฑ์เองกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคนก็ดี และเมื่อถูกนำมาใช้งานจริง

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS | ไทยรัฐออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท