Skip to main content
sharethis

'มาเรีย เรสซา' ผู้ร่วมก่อตั้งสื่ออิสระฟิลิปปินส์ Rappler และนักข่าวรัสเซีย 'ดิมิทรี มูราตอฟ' ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมาจากการที่พวกเขา "ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก" ซึ่งเรสซาบอกว่ารางวัลที่เธอได้รับนี้เพื่อ "นักข่าวทุกคนจากทั่วโลก" และให้สัญญาว่าจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อไป


ที่มาภาพ: Chris Campbell (CC BY-NC 2.0)

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นหนึ่งในรางวัลโนเบล 5 สาขาที่มอบให้กับบุคคลที่ทางคณะกรรมการมองว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์กับโลกในด้านสันติภาพ ในปี 2564 นี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลร่วมกันคือ มาเรีย เรสซา นักข่าวและผู้ร่วมก่อตั้งสื่ออิสระ Rappler ในฟิลิปปินส์และ ดิมิทรี มูราตอฟ นักข่าวรัสเซียผู้ก่อตั้งและเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการสื่ออิสระ โนวายา กาเซตา ในรัสเซียมานานเป็นเวลา 24 ปี

เว็บไซต์รางวัลโนเบลระบุว่าพวกเขาตัดสินใจมอบรางวัลให้ทั้งสองคนนี้เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นผู้ที่ใช้ความพยายามในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นจุดตั้งต้นสำหรับสังคมประชาธิปไตยและสันติภาพที่ยั่งยืน ทั้งสองคนนี้จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของนักข่าวทุกคนผู้ที่ยืนหยัดเพื่ออุดมคตินี้สำหรับโลกในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับสภาพที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ

"พวกเราต้องการความช่วยเหลือในหลายด้านมาก มันยากมากและอันตรายมากกว่าเดิมหลายเท่าในการเป็นนักข่าวทุกวันนี้" เรสซากล่าว

นับตั้งแต่รอดริโก ดูเตอร์เต เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในปี 2559 เรสซาและสื่อ Rappler ก็ต้องเผชิญกับการถูกเล่นงานต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดี การถูกสอบสวน และการโจมตีทางออนไลน์ โดยที่เรสซาหวังว่ารางวัลของเธอจะช่วยให้เป็นเกราะป้องกันสำหรับเธอและนักข่าวอื่นๆในฟิลิปปินส์จากการถูกโจมตีทั้งการทำร้ายร่างกายและการข่มขู่คุกคามทางออนไลน์ หวังว่าจะทำให้นักข่าวทำงานได้โดยไม่ต้องเผชิญความหวาดกลัว

โดยที่ในตอนนี้เรสซาต้องเผชิญกับคดีหมิ่นประมาททางไซเบอร์ซึ่งเธออยู่ในช่วงประกันตัวรอการอุทธรณ์ ซึ่งคดีของเธอระบุโทษจำคุก 6 ปี เรสซาหวังว่าเธอจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปรับรางวัลที่นอร์เวย์ได้

"การลุแก่อำนาจเช่นนี้จะสำเร็จได้ถ้าหากฉันอนุญาตให้ความกลัวนอารมณ์และในหัวของฉันมาครอบงำการปฏิสัมพันธ์โต้ตอบของพวกเราได้ ความท้าทายที่สุดมันคือการเอาชนะความกลัวเสมอ" เรสซากล่าว

เว็บไซต์โนเบลระบุอีกว่า "เรสซาได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อเปิดโปงการลุแก่อำนาจ การใช้ความรุนแรง และระบอบอำนาจนิยมที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศของเธอ" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลดูเตอร์เตในกรณีสงครามยาเสพติดที่ "เปรียบเสมือนการทำสงครามกับประชาชนตัวเอง" นอกจากนี้เรสซาและสื่อ Rappler ยังนำเสนอเรื่องที่โซเชียลมีเดียถูกใช้แพร่กระจายข่าวลวง ใช้คุกคามคู่แข่ง และบงการวาทกรรมสาธารณะ

สำหรับ ดิมิทรี อังเดรเยวิช มูราตอฟ นั้นโนเบลระบุว่าเขา "ปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นใยรัสเซียภายใต้สภาพที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว" มูราตอฟเริ่มก่อตั้งสื่ออิสระในรัสเซีย โนวายา กาเซตา ในปี 2536 และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการมาตั้งแต่ปี 2538 ต่อเนื่องมาเป็นเวลารวม 24 ปีแล้ว สื่อของเขานำเสนอเรื่องราวของการทุจริตคอร์รัปชัน ความรุนแรงจากตำรวจ การจับกุมอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย การโกงการเลือกตั้ง และ "โรงงานโทรล" ของรัสเซีย รวมถึงเรื่องการใช้กำลังของกองทัพรัสเซียทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ถึงแม้ว่าสื่อของมูราตอฟต้องเผชิญกับการเล่นงานอย่างรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่คุกคาม, การใช้กำลัง และการฆาตกรรม นับตั้งแต่ตั้งหนังสือพิมพ์มามีนักข่าวของสื่อเขาถูกสังหารไปแล้ว 6 ราย หนึ่งในนั้นคือ แอนนา โปลิตคอฟสกายา ผู้ที่เขียนบทความเปิดโปงเรื่องสงครามในเชชเนีย ถึงแม้จะถูกคุกคามหนักแต่มูราตอฟก็ไม่ยอมทิ้งตำแหน่งและคอบปกป้องสิทธิของนักข่าวในการเขียนข่าวอย่างเสรีตราบใดที่อยู่ภายใต้หลักจรรยาบรรณและมาตรฐานวารสารศาสตร์

เว็บไซต์โนเบลระบุว่าการให้รางวัลในครั้งนี้เป็นการต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้อย่างเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ "ถ้าไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ มันก็เป็นเรื่องยากที่จะส่งเสริมภราดรภาพระหว่างประเทศ ส่งเสริมการปลดอาวุธและทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างสำเร็จในช่วงเวลาของพวกเรา"


เรียบเรียงจาก
Philippines' Nobel Prize winner Ressa says award for 'all journalists', news.com.au, 09-10-2021
The Nobel Peace Prize 2021, The Nobel Prize, 08-10-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net