Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ : เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย

หลายประเทศทั่วโลกต่างพากันจัดกิจกรรม เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศกันอย่างต่อเนื่องจริงจัง รวมทั้งประเทศไทย ก็ได้มีการออกมาเรียกร้องชุมนุม จัดกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ เป้าหมายก็เพื่อต้องการให้สังคมทั่วไปได้รับฟังเสียงและรับรู้ถึงความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มของผู้หญิงที่มักจะถูกเอาเปรียบอยู่เสมอ ให้กลับมามีความเท่าเทียม เสมอภาค เช่นเดียวกับผู้ชายทั้งหลาย

“ผู่” พิธีกรรมรับลูกสาวกลับบ้าน  ของชาติพันธุ์ม้ง ก็เป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งที่หลายคนมองเห็นร่วมกันว่ามีความสำคัญ เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศหญิง ซึ่งถูกกดทับกันมาช้านานในนามของ จารีตประเพณี

“ตอนนี้ หญิงม้งหลายคน รู้สึกดีใจที่ได้กลับมาสู่อ้อมอกของพ่อแม่ อ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง และที่สำคัญ คือถ้าเกิดเจ็บป่วยล้มตาย เป็นอะไรไป พวกเธอก็ไม่กลัวกังวลว่าจะถูกทอดทิ้ง และนำร่างของเธอไปทิ้งไว้นอกบ้าน หรือข้างถนน ตามจารีตประเพณีเดิมๆ อีกต่อไป”

“ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องผู้หญิงม้งในประเทศไทย กรณีนี้ถือว่าได้รับการแก้ไขประสบความสำเร็จไปแล้วประมาณ 70% หลังจากที่เราได้ทำโครงการรับลูกสาวกลับบ้านนี้ขึ้นมา ก็ทำให้ผู้นำชุมชนม้งทั้ง 18 ตระกูลแซ่ของม้ง ได้ยอมรับในหลักการและลงนามร่วมกันไปแล้ว” 

ประวัติและความเป็นมาของชาติพันธุ์ม้ง 

เมื่อพูดถึงประวัติและความเป็นมาของชาติพันธุ์ม้ง ยังไม่มีผู้ใดสามารถสรุปได้ว่าชนชาติม้งมาจากไหน แต่สันนิษฐานกันว่า ม้งคงจะอพยพมาจากที่ราบสูงธิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลีย เข้าสู่ประเทศจีน และตั้งหลักแหล่งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งชาวเขาเผ่าม้งจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในมณฑลไกวเจา ฮุนหนำ กวางสี และมณฑลยูนนาน ม้งอาศัยอยู่ในประเทศจีนมาหลายศตวรรษ 

จนกระทั่ง ประมาณคริสตศตวรรษที่ 17 ราชวงค์แมนจู (เหม็ง) มีอำนาจในประเทศจีน กษัตริย์จีนในราชวงศ์เหม็งได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการปราบปราม เพราะเห็นว่าม้งที่เป็นผู้ชายส่วนใหญ่แล้วรูปร่างหน้าตาคล้ายกับคนรัสเซีย ทำให้คนจีนคิดว่า ม้งเป็นคนรัสเซีย จึงเป็นเหตุให้มีการปราบปรามม้งเกิดขึ้น โดยให้ชาวม้งยอมจำนน และยอมรับวัฒนธรรมของจีน และอีกประการหนึ่งคือเห็นว่า ม้งเป็นพวกอนารยชนแห่งขุนเขา (คนป่าเถื่อน) จึงได้มีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงในหลายแห่ง เช่น ในเมืองพังหยุนในปี พ.ศ.2009 และการต่อสู้ในมณฑลไกวเจาในระหว่าง พ.ศ. 2276 - 2278 และการต่อสู้ในมณฑลเสฉวนในระหว่าง พ.ศ. 2306 – 2318

ในที่สุด ชาวม้งประสบกับความพ่ายแพ้ สูญเสียพลรบ และประชากรเป็นจำนวนมาก ในที่สุดม้งก็เริ่มอพยพถอยร่นสู่ทางใต้ และกระจายเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลับขึ้นอยู่บนที่สูงป่าเขาในแคว้นสิบสองจุไทย สิบสองปันนา และอีกกลุ่มได้อพยพไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรลาว บริเวณทุ่งไหหินเดียนเบียนฟู โดยมีหัวหน้าม้งคนหนึ่ง คือ นายพลวังเปา ได้รวบรวมม้ง และอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา

ปัจจุบัน ชาวม้งส่วนใหญ่ในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 151,080 คน

ภาพกิจกรรมประเพณีปีใหม่ม้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | ที่มาภาพ : องอาจ เดชา

หลายจารีต ประเพณีของม้ง เชิดชูผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงกลายเป็นสมบัติของผู้ชาย            

เราดูได้จากประเพณีการฉุด การขายลูกสาว และการตัดผี รวมไปถึงการใช้ชีวิตคู่ จะเห็นว่าครอบครัวม้งใน อดีตส่วนใหญ่ จะเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ผู้หญิงม้งที่แต่งงานแล้วส่วนใหญ่จะต้องเตรียมตัวเพื่อที่จะให้กำเนิดบุตร ผู้หญิงม้งจะต้องทำงานทุกชนิด และตื่นนอนตั้งแต่เช้ามืด ต้องตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหารให้สมาชิกในบ้านรับประทาน และหาอาหารให้สัตว์เลี้ยงด้วย พอฟ้าสางแล้วต้องเตรียมตัวเพื่อไปทำงานในไร่ เช่น ปลูกถางหญ้า หรือเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ปลูกไว้ในไร่หรือ หากวันไหนไม่มีงานในไร่ก็ต้องทำงานอยู่กับบ้าน เช่น ทอผ้า เลี้ยงลูก เป็นต้น ส่วนฝ่ายชายที่เป็นสามีจะสบายมากกว่า คือนั่งจิบน้ำชา นอนสูบฝิ่น เฝ้าบ้าน สนทนากับแขก แม้ว่างานในกลางวันเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ในตอนกลางคืนเธอต้องทำงานบ้าน งานของเธอจะสิ้นสุดลง ก็ต่อเมื่อทุกคนในบ้านหลับกันหมดแล้ว

เมื่อตัวหญิงสาวไปถึงบ้านฝ่ายชายแล้ว จะถูกจัดให้อยู่ ในห้องเดียวกับชายหนุ่มที่ต้องการแต่งงานด้วย ในวันรุ่งขึ้นฝ่ายชายจะส่งผู้แทน 2 คนไปแจ้งให้บิดามารดาฝ่ายหญิงทราบ พร้อมกับอ้อนวอนมิให้มีความกังวลในบุตรสาวของตน ถึงเวลาสมควรจะมาสู่ขอ และแต่งงานในโอกาสต่อไป ผู้แทนที่ไปเจรจาจะต้องมีวาทศิลป์ในการสนทนา เพื่อชักจูงให้บิดามารดาฝ่ายหญิงเห็นชอบกับการฉุดนั้น ขณะเดียวกันก็พยายามแจกยาเส้นให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิง ทำนองเดียวกับการสู่ขอ ถ้ารับยาเส้นก็แสดงว่าเห็นชอบด้วยในฝั่งตรงข้าม หากฉุดหญิงสาวไปแล้วทางฝ่ายชายไม่มาแจ้งให้บิดามารดาทราบ ม้งถือว่าเป็นการผิดธรรมเนียมประเพณีต้องเสียค่าปรับประมาณ 12 มั่ง (ลักษณะนามของเหรียญเงินขนาดใหญ่ชาวม้งใช้กัน) 

ในทำนองเดียวกัน ถ้าหญิงสาวสามารถกลับบ้านของตนได้หลังจากการฉุดประมาณ 3 วัน ฝ่ายชายจะต้องถูกปรับ แต่บางครั้ง หากบิดาของหญิงสาวไม่ประสงค์ให้บุตรสาวของตนแต่งงานกับชายหนุ่มที่มาฉุดไป ก็อาจไม่ปรับ และให้ส่งตัวลูกสาวคืนเท่านั้น

ในปัจจุบัน การฉุด ของม้งเริ่มหายไป เนื่องจากฝ่ายหญิงที่ถูกฉุดไปนั้น บางคู่มีชีวิตครอบครัวไม่สมบูรณ์ บางคู่อาจทำร้ายตัวเอง แต่บางคู่ก็ประสบความสำเร็จกับชีวิตคู่ ซึ่งสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปบวกกับม้งเริ่มมีการศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้ม้งมีความคิด และวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป จึงได้เลิกวิธีการฉุดไปบ้าง แต่ถ้ากรณีที่จำเป็นจริง เช่น ลูกชายของตัวเองรักชอบพอกับหญิงสาวคนนั้นมาก และไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อม ลูกชายของตัวเองให้ตัดใจได้ ก็สามารถที่จะฉุดหญิงสาวคนนั้นได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าหญิงสาวนั้นไม่มีชายหนุ่มในใจเสียก่อน  หากว่าหญิงสาวมีชายหนุ่มในใจแล้ว ก็จะไม่สามารถที่จะทำได้เช่นกัน แต่เนื่องจากปัจจุบันเงินเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ หากว่าชายหนุ่มที่หญิงสาวไม่ได้รักชอบพอกัน แต่ถ้าญาติผู้ใหญ่ของหญิงสาวเห็นดี เห็นงามด้วยแล้ว หญิงสาวจะไม่มีสิทธิ์เรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองได้ เนื่องจากญาติผู้ใหญ่จะบังคับให้หญิงสาวแต่งงานกับชายหนุ่มคนนั้นทันทีไม่มีข้อแม้ใด ๆ 

แม้กระทั่ง ประเพณี “การขายลูกสาว” ซึ่งยึดถือกันมาตั้งแต่อดีต จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง 


บาทหลวงทศพร นารินรักษ์ ผู้มีบทบาทดูแลคริสตชนกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนม้งเข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

บาทหลวงทศพร นารินรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสังคมพัฒนา เขต 2 วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์ 99 ม.8 ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เป็นผู้ดูแลคริสตชนกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนม้งเข็กน้อย ซึ่งจัดว่าเป็นชุมชนชาวม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก็มีความพยายามที่จะคลี่คลายปัญหานี้ว่า เรื่องการขายลูกสาว ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงขณะนี้ก็ยังมีอยู่ คือ ถ้ามีการตกลงปลงใจจะแต่งงานกัน ผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงก็จะขายลูกสาว อย่างที่บ้านเข็กน้อย ก็จะมีการขายลูกสาวในราคา 30,000 บาท 

“ซึ่งคำว่า ขายลูกสาวนั้น  หลายคนจะรู้สึกว่าเป็นคำที่ไม่ดี และกระทบกระเทือนจิตใจของผู้หญิงม้งกันมาก เพราะที่ผ่านมา ในวัฒนธรรมของม้ง จะไม่มีการระบุคำว่า หมั้น หรือ แต่งงาน เลย แต่จะใช้คำว่า “ขายลูกสาว” ซึ่งเป็นคำที่สะเทือนใจของผู้หญิงม้งมาโดยตลอด และไม่มีใครชอบคำว่าขายกันเลย ดังนั้น ในระยะหลัง ทางกลุ่มผู้หญิงม้ง พยายามหาทางปลดล็อค หาทางแก้ไขปัญหานี้กันอยู่”

อีกพิธีกรรมหนึ่งที่น่าสนใจและประเด็นถกเถียงกันในระยะหลังมานี้ นั่นคือ พิธี “ตัดผี” เนื่องจาก ม้ง เป็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ และมีลักษณะเฉพาะต่างจากชาวเขาเผ่าอื่นๆ จะเห็นได้ว่า เมื่อลูกสาวม้ง ต้องไปแต่งงานอยู่กินกับสามี ก็จำต้อง “หลุด” ออกจากครอบครัวเดิมไปโดยปริยาย

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนสารคดี ได้เขียน เรื่อง “ผิดผี” กับชีวิตสาวม้ง เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ลูกสาวม้ง เมื่อแต่งงานออกจากครอบครัวของตนไปมีครอบครัวใหม่แล้ว จึงถือว่า จบสิ้นตัดขาด มีการทำพิธีตัดผีจากครอบครัวเดิม ต้องไปนับถือผีของฝ่ายสามี เป็นสมบัติของสามีกับครอบครัวสามีโดยเด็ดขาด ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับครอบครัวพ่อแม่ที่ให้กำเนิดพวกเธอมา ไม่สามารถกลับมาร่วมผีบรรพบุรุษของพ่อแม่ได้อีกต่อไป แต่จะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของผีบรรพบุรุษฝ่ายชาย พวกเธอต้องร่อนเร่เดินทางไปกับสามีและครอบครัวของสามี ดังนั้น หากผู้หญิงม้งประสบปัญหา ไม่ว่าจะโดนผัวซ้อม ผัวตาย ถูกญาติๆ ของครอบครัวผัวทำร้าย ผู้หญิงเหล่านั้นก็จะต้องอดทนทรมานอยู่ในหลุมมืดของปัญหา ไม่มีทางไป เนื่องด้วยพวกเธอผ่านการ “ตัดผี” ไปเป็นสมบัติของสามีแล้ว

หากพวกเธอจำเป็นต้องกลับมาอยู่อาศัยในเรือนของครอบครัวพ่อแม่ตน ก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่อง “ผิดผี” และหญิงที่ตัดผีไปแล้วนี้จะถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆ ของครอบครัวพ่อแม่ ไม่อนุญาตให้พวกเธอมาเจ็บป่วยหรือตายอยู่ในบ้าน เพราะสำหรับครอบครัวม้ง ลูกสาวจะเปรียบเสมือนน้ำในขันที่สาดทิ้งออกไปแล้ว ไม่สามารถคืนกลับมาได้                                                                     

จารีตเช่นนี้ เคยถูกตอกเสาเข็มเป็นหลักแข็งแกร่งอยู่กับวิถีคนม้งในอดีตสืบเนื่องกันมาหลายร้อยปี ซึ่งก่อนหน้านี้ จารีตการ “ตัดผี” สำหรับผู้หญิงม้ง ยังพอเป็นเรื่องสอดคล้องกลมกลืนกับวิถีในวันวาน ครั้งซึ่งคนม้งยังร่อนเร่อพยพหนีสงคราม หรือต้องไปเปิดหน้าดินทำไร่ใหม่ๆ เปลี่ยนที่อยู่ไปตามเขตพื้นที่ต่างๆ หากปัจจุบัน กลุ่มคนม้งในทุกพื้นที่ ได้ตั้งหลักแหล่งชุมชนหมู่บ้าน อยู่อย่างถาวรทำเกษตรกรรมบนแผ่นดินที่รัฐบาลไทยจัดสรรให้ สภาพชีวิตอันเปลี่ยนไปทำให้คนม้งไม่ต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน พ่อแม่ยังเห็นลูกสาวตน สุข ทุกข์อยู่ในชีวิตครอบครัวสามี ได้รับรู้ชัดแจ้งอยู่เต็มสองตา                                                                                                                          
และในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็ได้รุมกระหน่ำผู้หญิงม้งให้เป็นหม้าย “ก่อนวัยอันควร” อย่างหนักหนาสาหัส โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับคดียาเสพติด ไม่ว่าจะเพราะสามีติดคุกจากการค้ายาบ้า ถูกฆ่าตัดตอนไปจำนวนมาก และปัญหาเศรษฐกิจความตึงเครียดที่ผู้หญิงม้งต้องถูกผัวซ้อมอย่างยับเยิน ถูกทารุณอย่างหนักอหรือถูกผัวทิ้งไม่ไยดีเมื่อได้เมียใหม่ หรือกระทั่งผู้หญิงที่ตั้งท้องโดยไม่ได้แต่งงาน หญิงม้งที่มีสภาพชีวิตเช่นนี้จะกลายเป็นคนไม่มีตระกูลแซ่ ไม่มีผีบรรพบุรุษคุ้มครอง ไม่มีพื้นที่ทางสังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ อันส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งตัวเธอและลูกๆ ของพวกเธอ ที่หอบหิ้วกันมาจากการหย่าร้าง เป็นหม้าย หรือถูกทอดทิ้งนั้นด้วย

สภาพหนักอึ้งสาหัสที่ผู้หญิงม้งเผชิญอยู่โดยถ้วนทั่วในโลกยุคนี้ ได้ทำให้จารีต “ตัดผี” สำหรับผู้หญิงม้งที่ท้องไม่มีพ่อ เป็นหม้าย หรือแต่งงานแล้วเผชิญความรุนแรง ยิ่งกลับกลายเป็นปัญหาหนักอึ้งบีบคั้นผู้หญิง บีบคั้นหัวใจพ่อแม่ชาวม้ง ให้ต้องทนดูลูกสาวและหลานๆ ทุกข์ทรมานเมื่อประสบภาวะมืดแปดด้าน “ไม่มีทางไป” เพราะลูกสาวจะกลับบ้านเดิมก็ไม่ได้ พ่อแม่จะเปิดประตูรับลูกสาวที่ประสบปัญหาของตนกลับคืนมาก็ไม่ได้ หรือกระทั่งแม่ของตนไปมีสามีใหม่แล้วเป็นหม้าย ลูกชายก็ไม่อาจรับแม่กลับบ้านมาดูแลได้ เพราะจารีตม้งเชื่อสืบต่อมาว่า การรับผู้หญิงที่ “ตัดผี” กลับเข้าบ้านเก่าของตน จะทำให้ซวย โชคร้ายไปหมดทั้งบ้าน
 
เมื่อชีวิตครอบครัวล้มเหลว ผู้หญิงม้ง “ไม่มีทางไป” จำนวนมากจึงกลายเป็นคนไม่มีบ้าน กลับบ้านเดิมไม่ได้ ต้องไปตายเอาดาบหน้า ร่อนเร่ ปากกัดตีนถีบทำงานเลี้ยงตัวเองเลี้ยงลูกอยู่ในเมืองใหญ่ นั่งปักผ้าขายอยู่ในไนท์บาซ่าร์ที่เชียงใหม่ มีจำนวนมากเข้าสู่อาชีพในเงามืดตามสถานบริการทางเพศ และอีกมากต่อมากที่หนีปัญหาบีบคั้นมืดมนนี้ด้วยการตัดสินใจ “ฆ่าตัวตาย”     


ที่มาภาพ : เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย

แน่นอนว่า เมื่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ม้งได้เปลี่ยนไปจากเดิม แต่จารีตประเพณีดั้งเดิมบางอย่างนั้น ยังคงอยู่ และถูกนำมาใช้ปฎิบัติยึดถือสืบต่อกันมา ซึ่งทำให้กระทบต่อชีวิตจิตใจของผู้ถูกกระทำ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงม้งเป็นอย่างมาก ซึ่งล้วนถูกวิถีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ มีอำนาจ กดขี่ ละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัว  ไม่ว่าจะเป็นประเพณีการฉุด การขายลูกสาว การตัดผี ซึ่งหลายคู่นั้น ไม่ได้เกิดจากการสมยอม ยินยอมและเต็มใจ จึงนำไปสู่ปัญหาครอบครัว การทะเลาะตบตี การหย่าร้าง ถูกไล่ออกจากบ้านสามี ครั้นเมื่อจะกลับไปหาครอบครัวบ้านเกิดก็ไม่มีใครรับเป็นญาติ ต้องออกมาเผชิญชะตาชีวิตไปตามยถากรรมเพียงลำพัง กระทั่งผู้หญิงม้งหลายคนต้องตัดสินใจหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย เป็นต้น

ในเวทีการจัดทำรายงานสถานการณ์ของผู้หญิงชนเผ่าในพื้นที่ภาคเหนือ ตามอนุสัญญาการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เมื่อวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2552 ได้มีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ได้สรุปรายงานการประชุมเรื่องสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจากชนเผ่าและชนพื้นเมือง (ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี: CEDAW)


รัศมี ทอศิริชูชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย | ที่มาภาพ: เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย

รัศมี ทอศิริชูชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย และเป็นตัวแทนชาติพันธุ์ม้ง ได้สรุปปัญหาเรื่องสังคมม้ง เอาไว้ว่า สังคมม้งเชิดชูผู้ชาย และมีความเชื่อว่า ผู้หญิงกลายเป็นสมบัติของผู้ชายหลังจากที่แต่งงาน เป็นเพศที่อ่อนแอ ต้องเชื่อฟังผู้ชายและผู้หญิงม้ง ในอดีตนั้นจะไม่มีสิทธิเข้าถึงตำแหน่งทางการเมืองและทางปกครองได้ เนื่องจากโครงการสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของม้ง นั้นผูกติดมากับตระกูลแซ่ ซึ่งเป็นผู้ชายเป็นผู้นำตระกูลแซ่ ดังนั้น ไม่ว่าผู้หญิงม้งจะอยู่ในบทบาทไหน ก็มักจะถูกมองว่าเป็นเพศอ่อนแอ และถูกกระทำมาโดยตลอด

ยกตัวอย่าง กรณี ผู้หญิงที่ท้องนอกสมรส (จากการถูกข่มขืนและตั้งท้อง) ก็จะถูกสังคมม้งมองว่า ความผิดพลาดจะอยู่ที่ผู้หญิง  สังคมประณามผู้หญิง ส่วนผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ จะถูกปรับสินไหมให้กรรมการหมู่บ้าน ในขณะที่ผู้หญิงที่ถูกกระทำนั้นจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าปรับเพียงเล็กน้อย หนำซ้ำ ผู้หญิงที่ตั้งท้องเช่นนี้ ยังจะถูกกีดกันให้ออกจากบ้าน ไม่สามารถอยู่ร่วมกับพ่อแม่ได้  เนื่องจากมีความเชื่อว่า จะทำให้เสื่อมเสียทำให้ประตูเงินทองล่ม จนทำให้ผู้หญิงม้งหลายคนตัดสินใจเป็นภรรยาน้อย หรือไม่ก็เข้าไปใช้ชีวิตในเมืองแทน ในขณะที่กรณีเป็นผู้หญิงม่าย (สามีตาย หรือหย่าร้าง) ก็จะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไม่มีเจ้าของ และมีสถานะไม่ต่างไปจาก “ผู้หญิงสาธารณะ” ซึ่งผู้ชายทั่วไป ก็สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหลับนอนกับเธอได้ จากกรณีนี้ ตัวแทนของผู้หญิงม้ง ได้บอกเล่าถึงกรณีของผู้หญิงม้ง บ้านเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่สามีเสียชีวิตจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด บางครอบครัว เลือกที่จะปกป้องเธอที่เป็นหม้าย โดยการให้แต่งงาน เป็นภรรยาน้อย ของพี่ชายหรือน้องชายสามีเธอเอง เป็นต้น


ที่มาภาพ : เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย

หรืออีกกรณีของน้องนก ผู้หญิงม้ง อีกคนหนึ่ง ซึ่งในช่วงปี 2547 เธออายุยังไม่ถึง 15 ปี เธอเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง และรู้จักกับผู้ชายคนหนึ่ง หลังจากนั้น ในช่วงปิดเทอม ผู้ชายคนนี้ก็ฉุดเธอไปโดยใช้กระสอบคลุม อุ้มขึ้นรถและข่มขืน พ่อแม่ของเธอมาตามหา มีการเจรจาระหว่างผู้ใหญ่ให้ญาติฝ่ายชายทำพิธีผูกข้อมือ หลังจากนั้น มีความเห็นกันว่า น้องนกหนีตามผู้ชาย และกลายเป็นภรรยาของผู้ชาย หากจะทำอะไรคัดค้านก็จะมีการเรียกปรับสินไหม ซึ่งเธอพยายามให้พ่อแม่รู้เรื่องทั้งการทำร้ายร่างกาย การบังคับขืนใจ และการกระทำอื่นๆ 

จนท้ายที่สุด น้องนกตัดสินใจหนี และเล่าความจริงทั้งหมดให้พ่อแม่ฟัง จนนำไปสู่การแจ้งความร้องทุกข์ และดำเนินคดีกับฝ่ายชาย  โดยผู้ชายคนนั้นก็ได้หยิบยกประเด็นวัฒนธรรมความเชื่อของชนเผ่าม้ง เรื่องการฉุดไปแต่งงาน ซึ่งศาลรับฟังและเห็นว่า เป็นการกระทำที่รุนแรง และผิดต่อเด็กและสตรี ฝ่ายชายจึงถูกตัดสินคดี และลงโทษตามความผิด ซึ่งบางรายบางกรณี หญิงม้งที่ถูกกระทำในลักษณะนี้ ยังต้องเผชิญกับปัญหาติดเชื้อเอชไอวี กระทั่งล้มป่วย เสียชีวิตไปก็มี ซึ่งทำให้หลายคนรู้สึกถึงการถูกกดขี่ และนี่ถือเป็นการละเมิดสิทธิสตรีอย่างรุนแรงที่ยากเกินเยียวยาด้วย

กลุ่มผู้หญิงม้ง รวมตัวเรียกร้องปกป้องสิทธิ ในนาม “เครือข่ายสตรีม้งแห่งประเทศไทย”

ต่อมา มีการรวมตัวของกลุ่มผู้หญิงม้งกันขึ้นมา โดยได้มีอบรมที่ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม หรือ ศูนย์บ้านดินที่ อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ จนกระทั่ง นำไปสู่การทำโครงการวิจัยเครือข่ายผู้หญิงม้ง ของแผนสุขภาพผู้หญิง สสส.ที่สนับสนุนการทำวิจัยภาวะสังคมโดยชุมชนเอง 

รัศมี ทอศิริชูชัย หัวหน้าโครงการวิจัยเครือข่ายผู้หญิงม้ง บอกว่า ได้เข้ามาเก็บข้อมูลในชุมชนแม่สาใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2547 พวกเธอเข้าไปคุยกับชาวบ้านพยายามนำเสนอโครงการเรื่องสิทธิผู้หญิง โดยเฉพาะประเด็นการยอมรับลูกสาวที่ไปแต่งงานแล้วหย่าให้กลับเข้ามามีสถานะสมาชิกครอบครัวตามเดิมภายใต้ชื่อ "โครงการรับลูกสาวกลับบ้าน"

เธอบอกย้ำว่า คำตอบที่ค้นพบแล้วว่ามีหนทางแก้ไขปัญหานี้ได้ นั่นก็คือการทำพิธี "ผู่" หรือ "รับลูกสาวกลับบ้าน" นั่นเอง
                                                                                    
แต่เดิม พิธี ผู่ นี้เคยมีอยู่ในไทย แต่ถูกทิ้งและลืมเลือนไป แต่ยังใช้อยู่กับม้งในลาว เวียดนาม และม้งที่อพยพไปอยู่อเมริกา เนื่องจากความเชื่อของเผ่าม้ง ได้สืบทอดต่อๆ กันมาว่า เมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้วต้องตัดขาดจากครอบครัวเดิมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกของครอบครัวสามี หรือเมื่อสามีตาย หรือเลิกราหย่าร้างกัน ผู้หญิงจะกลับไปอยู่บ้านไม่ได้ ต้องอยู่ในภาวะไร้สถานะทางสังคมถูกรังเกียจ เหยียดหยาม และหากตายไปไม่มีใครทำพิธีเซ่นไหว้ให้ รวมถึงความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงที่ไม่แต่งงานถือเป็นของสาธารณะ  

แน่งน้อย แซ่เซ่ง ผู้นำเยาวชนม้งในชุมชน ผู้หญิงที่เคยตกเป็นภรรยาน้อยของสามีอย่างไม่ยินยอม  บอกเล่าว่า ได้เข้าอบรมด้านกฎหมายจากศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม หรือศูนย์บ้านดินที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ต่อมาได้ร่วมกับเพื่อนหญิงม้งคนอื่นๆ จัดตั้งเครือข่ายสตรีม้งแห่งประเทศไทย  และรัศมี ทอศิริชูชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายสตรีม้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเครือข่ายผู้หญิงม้ง เข้ามาเก็บข้อมูลในชุมชนแม่สาใหม่เพื่อแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2547 และก็ได้คำตอบว่ามีหนทางแก้ไขได้ นั่นก็คือการทำพิธี "ผู่"

หยั่ว ถนอมรุ่งเรือง ผู้นำพิธีกรรมของชาวม้งบ้านแม่สาใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บอกเล่าว่า หากเปรียบกับของไทย ผู่ก็คือพิธีปัดรังควาน ไล่โชคร้ายไปและเปิดรับเอาโชคดีเข้ามา พิธีที่ทำกันที่แม่สาใหม่ก็คือเอาไก่เป็นๆ มา 2 ตัว มาวน 3 รอบที่ประตูบ้านไล่โชคร้ายไป และอีกสามรอบเพื่อรับเอาโชคดีเข้ามา และก็มีการกินเลี้ยงกันในครอบครัว ให้ผู้รู้กล่าวคำอวยพรให้ลูกสาวที่ออกจากบ้านไปกลับมาได้ และบอกผีบรรพบุรุษให้รับรู้ ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

หยั่ว ยังบอกอีกว่าครอบครัวม้งที่ไปนับถือศาสนาคริสต์ ก็ยังสามารถผสมผสานพิธีผู่เข้ากับพิธีกรรมทางศาสนาได้อีกด้วย ด้วยพิธีผู่นี้เอง ทำให้ลีและผู้หญิงม้งคนอื่นๆ อีก 46 คน กลับมามีตัวตนอีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่เหลือนั้นครอบครัวยังไม่ยอมรับพิธีกรรมนี้


หยั่ว ถนอมรุ่งเรือง ผู้นำพิธีกรรมของชาวม้งบ้านแม่สาใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ผลจากการทำโครงการนี้กระจายไปถึงพี่น้องม้งทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศไทยคณะทำงานได้เข้าไปได้ 6-7 จังหวัดและมี 40 กว่าหลังคาเรือนที่เปลี่ยนพิธีกรรม มีหนึ่งตระกูลแซ่ที่ยอมรับและเปลี่ยนระบบของเขาทั้งหมด

“สำหรับก้าวต่อไป เราจะพยายามให้ความรักและความเข้าใจไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เราจะทำงานมีสามกลุ่ม คือคนที่เห็นด้วย กลุ่มที่ยังมีท่าทีเฉยๆ และกลุ่มที่ต่อต้าน กลุ่มที่เห็นด้วยมักจะเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาด้วยตนเอง เขาจะลุกขึ้นมา ค้นหา ติดตามว่าโครงการนี้ทำงานประเด็นอะไร และรับพิธีกรรมนี้ไปทำในครอบครัว ส่วนกลุ่มคนที่ยังมีท่าทีเฉยๆ หรือต่อต้าน เราก็จะพยายามสื่อสาร รณรงค์ ทำความเข้าใจ ให้ได้มากที่สุด” รัศมี ทอศิริชูชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายสตรีม้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และเป็นผู้จัดทำโครงการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎจารีตที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัว กล่าว
        
จนกระทั่ง นำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มผู้หญิงม้งกันขึ้นมา ในนามของ “เครือข่ายสตรีม้งแห่งประเทศไทย” ขึ้นมา โดยมีรวมตัวกันและเรียกร้องกับผู้อาวุโสของชาติพันธุ์ม้งทั้ง 15 ตระกูลแซ่ในประเทศไทย ซึ่งข้อเรียกร้องมีทั้งหมด 7 ข้อ คือ (1) การออกจากผีของผู้หญิงโดยการแต่งงาน หากมีความจำเป็นที่ผู้หญิงจะกลับเข้าผีเดิม ขอให้มีพิธีกรรมให้ผีกลับเข้าบ้านได้ (2)กรณีท้องนอกสมรส ไม่ว่าจะเกิดจากการข่มขืน หรืออื่นๆ ขอให้บุตรสาวเหล่านี้สามารถกลับเข้ามาคลอดบุตรที่บ้านได้ (3) กรณีแม่หม้าย หากไม่ต้องการแต่งงานใหม่ ขอให้ครอบครัวของสามีช่วยทำหน้าที่ดูแล (4) บุตรสาวควรได้รับการศึกษา เท่ากับหรือสูงกว่าผู้ชาย (5) ค่าสินสอดขอให้เปลี่ยนเป็นสินสมรส เพื่อปรับแนวคิดเรื่องการซื้อผู้หญิง และการตั้งครอบครัวใหม่ (7) การเลี้ยงดูบุตรหลาน เป็นหน้าที่ของผู้ชายและผู้หญิงโดยรวม (8) ให้โอกาสกับผู้หญิงได้เรียนรู้กับสังคมภายนอก


การประชุมเชิงปฏิบัติการ การสร้างภูมิคุ้มกันการเลือกปฏิบัติต่อสตรีกลุ่มเปราะบาง | ที่มาภาพ: เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย


ภาพการลงนามการร่วมพิธีกรรมกับตระกูลแซ่ 18 แซ่ | ที่มาภาพ: เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย


ตระกูลแซ่ย่าง รับลูกสาวกลับบ้าน | ที่มาภาพ: เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย

ขยายพื้นที่การเรียนรู้และเรียกร้องสิทธิให้กับผู้หญิงม้ง ผลักดัน พิธีกรรมผู่ รับลูกสาวกลับบ้าน 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา คณะกรรมการเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย มีความพยายามร่วมกันผลักดัน สนับสนุนการรวมกลุ่มในระดับต่างๆ ติดตามทบทวนหนุนเสริมผลักดันกิจกรรมพิธีกรรมผู่รับลูกสาวกลับบ้าน กันอย่างต่อเนื่อง                                                                                                                                                      
โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2560 เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ได้จัดประชุมที่อำเภอพบพระ จ.ตาก รณรงค์ให้สตรีที่ออกเรือนสามารถกลับมาร่วมพิธีกรรมกับตระกูลแซ่เดิมได้ โดย รัชดา วชิรญาณ์ ประธานเครือข่ายสตรีม้งประเทศไทย จากตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกได้ตระหนักถึงความเป็นธรรมทางเพศ รณรงค์ให้ชาวม้งทำพิธี ผู่ รับลูกสาวกลับบ้าน ช่วยแก้ปัญหาให้แก่สตรีและเด็กที่ไม่มีตระกูลแซ่ ให้สามารถกลับมาร่วมพิธีกรรมกับตระกูลแซ่เดิมของตน ตลอดจนรวบรวมปัญหาของสตรีและเด็ก เพื่อเสนอต่อเครือข่ายองค์กรม้งและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นำไปสู่แนวทางการแก้ไขต่อไป

“ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องผู้หญิงม้ง ในประเทศไทย กรณีนี้ถือว่าได้รับการแก้ไขประสบความสำเร็จไปแล้วประมาณ 70% หลังจากที่เราได้ทำโครงการนี้ขึ้นมา ก็ทำให้ผู้นำชุมชนม้งทั้ง 18 ตระกูลแซ่ของม้ง ได้ยอมรับในหลักการและลงนามร่วมกันไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ตระกูลไหนที่ยังไม่ได้ทำ รับลูกสาวกลับบ้าน เขาก็จะหันมาดูตระกูลอื่นที่เขาทำพิธี ผู่ ก่อนแล้วว่าดีไหม มีเหตุเภทภัยอะไรหรือไม่ ซึ่งถ้าทำแล้วดี ก็จะทำตาม ซึ่งที่ผ่านมา เราก็เห็นว่า ก็ดีหมด ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น”   


รัชดา วชิรญาณ์ ประธานเครือข่ายสตรีม้งประเทศไทย

เธอบอกอีกว่า ที่ผ่านมา จำนวนผู้หญิงม้ง ที่เข้าร่วมโครงการรับลูกสาวกลับบ้าน ที่ใช้ทุนของ สสส. แล้วนั้นมีจำนวนทั้งหมด 47 คน แต่ล่าสุด ยังมีหญิงม้งที่ไม่ได้ใช้งบ ทุนของ สสส. แต่ใช้งบตัวเอง แล้วได้ทำพิธีผู่ไปแล้ว ประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

“ใช่แล้ว หญิงม้งหลายคน รู้สึกดีใจที่ได้กลับมาสู่อ้อมอกของพ่อแม่ กลับมาสู่อ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง และที่สำคัญ คือถ้าเกิดเจ็บป่วยล้มตาย เป็นอะไรไป พวกเธอก็ไม่กลัวกังวลว่าจะถูกทอดทิ้ง และนำร่างของเธอไปทิ้งไว้นอกบ้าน หรือข้างถนน ตามจารีตประเพณีเดิมๆ อีกต่อไป ที่ผ่านมา ผู้อาวุโส ปู่ย่าตาทวดม้งของเรา อาจรับจารีตเก่ามาแบบผิดๆ เพี้ยนๆ ก็ได้ ซึ่งทำให้สืบต่อกันมา แต่เมื่อมายุคสมัยนี้ ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนประเทศไทยเราก็เคยมีทาส แต่พอมาถึงยุคสมัย ร.5 ก็ให้มีการเลิกทาสไปแล้ว แล้วยุคนี้ก็มาถึง ร.9 ร.10 กันแล้ว ซึ่งเราก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนความคิด จารีตให้เข้ากับยุคสมัย” ประธานเครือข่ายสตรีม้งประเทศไทย แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้

ที่สำคัญ เธอบอกว่า ปัจจุบัน บทบาทและสิทธิสตรีม้ง เริ่มเท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้น
            
“เมื่อก่อนบรรพบุรุษม้ง เขาจะไม่ให้คนม้งไปแต่งงานกับชนเผ่าอื่นๆ เลย และผู้หญิงม้งเมื่อก่อน เขาก็จะไม่ให้ออกไปไหนเลย ไม่ให้ออกสังคม แต่มาถึงตอนนี้ ผู้หญิงม้ง เริ่มมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงม้งสามารถออกไปทำงานข้างนอกได้ ออกสู่สังคมได้ และสามารถมีบทบาทเป็นผู้นำชุมชนได้ เป็นสมาชิก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเป็นข้าราชการได้”

หรือแม้กระทั่ง เรื่องการข้าว  “ยกตัวอย่าง เวลากินข้าวกัน เมื่อก่อน จะต้องให้ผู้ชายม้งล้อมวงกินข้าวก่อน ผู้หญิงม้งรอให้ผู้ชายกินอิ่มก่อน ถ้ากินเหลือ ผู้หญิงม้งถึงจะได้กินข้าวที่เหลือ แต่ถ้าไม่เหลือ พวกผู้หญิงก็อด ไม่ได้กิน  แต่เดี๋ยวนี้ ผู้ชายกินข้าวพร้อมกัน ผู้ชายกินวงหนึ่ง ผู้หญิงกินวงหนึ่ง แม้ว่าจะกินกันคนละโต๊ะ ไม่ได้กินร่วมวงกัน แต่ก็ได้กินพร้อมกัน ถือว่า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันมากขึ้น”

เหมือนที่ รัศมี ทอศิริชูชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายสตรีม้งแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ไว้นั่นแหละว่า "สิทธิไม่เท่าเทียมของผู้หญิงเป็นเพียงด้านหนึ่งของความเป็นม้ง ความเป็นชนเผ่าทำให้คนม้งจะมีความแน่นแฟ้นกันมาก ดูแลช่วยเหลือกันในหลายๆ ด้าน แม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย แต่เราก็ต้องยอมรับว่ามีด้านลบที่ต้องแก้ไข ในขณะที่ค่านิยมที่ดีๆ ในความเป็นม้ง ก็ต้องช่วยกันสืบทอดต่อไป" 

ทั้งนี้ จากผลงานและกิจกรรม เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศของชาติพันธุ์ม้ง ทำให้เครือข่ายสตรีม้งแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลประกาศเกียรติยศ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) จัดขึ้น


เครือข่ายสตรีม้งประเทศไทย รับรางวัลประกาศเกียรติยศ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2562

ข้อมูลประกอบ
1. ชาติพันธุ์ม้ง กับพิธีกรรม ผู่ รับลูกสาวกลับบ้าน เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศ, องอาจ เดชา,วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 106 มกราคม-เมษายน 2561
2. ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของม้ง, พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์ http://www.hilltribe.org/thai/
3. รับลูกสาวกลับบ้าน: ขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในชุมชนม้งด้วยพิธีกรรม, บีบีซีไทย, 28 พฤศจิกายน 2017
4. ประเพณีและเรื่องราวชุมชนชาวม้ง ยังผูกโยงกับเรื่องวัฒนธรรม, นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว, กรุงเทพธุรกิจ, 17 ตุลาคม 2560  
5. เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย จัดประชุมที่อำเภอพบพระ จ.ตาก รณรงค์ให้สตรีที่ออกเรือนสามารถกลับมาร่วมพิธีกรรมกับตระกูลแซ่เดิมได้, สวท.แม่สอด จ.ตาก กรมประชาสัมพันธ์, 24 ก.ย. 2560 
6. “หยุดความรุนแรง ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร” คือหัวใจสำคัญในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลง, แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ, 22 พ.ย. 2016 
7. สถานสถานการณ์ของผู้หญิงชนเผ่าในพื้นที่ภาคเหนือ (ตามอนุสัญญาการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ) ห้องเรียนร่วมสิทธิมนุษยชนออนไลน์, เอกชัย ปิ่นแก้ว,โอเคเนชั่น, 15 ก.พ.2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net