Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชน 649 รายชื่อ 88 องค์กร ยื่นจดหมายเปิดผนึกให้ประวิตร ทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ชี้ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ

11 ต.ค. 2564 ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) รายงานว่า วันนี้ (11 ต.ค.64) ประชาชน 649 รายชื่อ และ 88 องค์กร นำโดยเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน มีจดหมายเปิดผนึกส่งถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อคัดค้านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 โดยเห็นว่าเป็นการดำเนินการทำรายงานที่ไม่ชอบธรรม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ พร้อมกับมีข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนรายงานอีไอเอ ฉบับดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

“รายงานฯ นี้ ไม่เข้าใจและไม่ได้กล่าวถึงมิตินิเวศวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนจำนวนมาก ดังนั้น การประเมินผลกระทบฯ ควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง” เนื้อหาในจดหมายระบุ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 โดยการพัฒนาระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560

แต่อย่างไรก็ดี คณะผู้ชำนาญการได้พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ(คชก.) ได้พิจารณารายงานเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564 และมีมติให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และกรมชลประทาน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานดังกล่าว และ สทนช. จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามมติของ คชก. จนกว่าจะผ่านการพิจารณา

สุวิทย์  กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลที่รับฟังข้อมูลด้านเดียว และมีธงอยู่แล้วที่จะผลักดันโครงการโขง เลย ชี มูล ดังนั้น การจัดเวทีรับฟังความเห็นต่างๆ จึงเป็นแค่พิธีกรรมที่อ้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อกังวลและคำถามของคนอีสานต่อกรณีโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล คือ โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูลนี้มีความคุ้มค่าหรือไม่ที่จะลงทุนหลายหมื่นล้านบาท หรือเป็นแค่การผลาญงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน

“การผันน้ำโขงจะเอาน้ำมาจากที่ไหนผันเข้ามาในภาคอีสาน เพราะเราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงกักน้ำไว้ตอนบน และ สปป.ลาว สร้างเขื่อนไชยยะบุรีกักน้ำไว้เพื่อปั่นไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทย ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงยิ่งลดน้อยลงไปอีก และ สปป.ลาว กำลังมีแผนที่จะสร้างเขื่อนสานะคาม ที่อยู่ห่างจากชายแดนไทย อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 2.5 กิโลเมตร คาดว่าถ้าสร้างเสร็จจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และปริมาณน้ำที่จะลดลงอีก” สุวิทย์กล่าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สทนช. ก็กำลังผลักดันโครงการสร้างเขื่อนปากชม (ผามอง) ที่บริเวณบ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย กั้นแม่น้ำโขงระหว่างพรมแดนประเทศไทยและ สปป.ลาว เพื่อกักน้ำและยกระดับน้ำให้สูงขึ้นเพื่อให้น้ำเข้าปากแม่น้ำเลย แต่ประชาชนในพื้นที่คัดค้าน

นอกจากนี้ยังมีบทเรียนจากโครงการ โขง ชี มูล ที่ผ่านมา กว่า 30 ปี โดยการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำมูล ลำน้ำชี ลุ่มน้ำหนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรฯ ที่อ้างจะแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้น้ำท่วม ตอนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโครงการเหล่านี้ล้มเหลวไม่สามารถทำได้ และมีการแพร่กระจายของดินเค็ม ทั่วภาคอีสาน ส่งผลกระทบด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งการสูญเสียที่ดินทำกินของพี่น้องชาวอีสาน เช่น เขื่อนราศรีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร เป็นต้น

“ดังนั้น รัฐบาลควรชะลอโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ออกไปก่อน และให้มีการศึกษาการจัดการน้ำโครงการ โขง ชี มูล ที่ผ่านมา ในด้านผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้มีการศึกษาร่วมกันระหว่างภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐต่อทางเลือกในการจัดการน้ำที่เหมาะสม และสอดคล้องกับระบบนิเวศภาคอีสาน” ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวทิ้งท้าย  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net