Skip to main content
sharethis

วิโรจน์ ก้าวไกล ชี้ 14 ต.ค. นี้ ครบ 120 วัน ตามคำสัญญาเปิดประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดอย่างไร ถึงจะเป็นความหวังของประชาชน เสนอ 6 เเนวทางฉบับก้าวไกล เตรียมพร้อมรับมือ ย้ำวัคซีน ยาต้องพร้อม ทุกสถานการณ์

11 ต.ค. 2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมพร้อมที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

วิโรจน์ กล่าวว่า หากนับจากวันที่ 16 มิ.ย. 64 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้ว่าจะเปิดประเทศใน 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนด 120 วัน ในวันที่ 14 ต.ค. 64 ที่จะถึงนี้  ตนและ ฐณฐ จินดานนท์ ในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบเงินกู้ 5 แสนล้าน ในสัดส่วนพรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า

สำหรับการเปิดประเทศ เพื่อให้การค้าการขาย การหารายได้ และการทำมาหากินของประชาชน สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจะเปิดประเทศได้ หรือทำ Travel Bubble กับประเทศต่างๆ เพื่อเปิดให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ และมีดัชนีในการพิจารณา และตรวจติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่ชัดเจน โปร่งใส โดยที่ประชาชนสามารถร่วมติดตามสถานการณ์ไปด้วยได้ หากรัฐบาลมีแต่แผนการเปิดประเทศ เพียงแค่แบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด และมีประมาณการคร่าวๆ ประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการต่างๆ จะไม่สามารถวางแผน และเตรียมการล่วงหน้าอย่างเหมาะสมได้เลย และไม่มีความมั่นใจว่า แผนการเปิดประเทศดังกล่าว จะเปิดได้จริงหรือไม่ เปิดแล้วจะปิดอีกเมื่อไหร่ 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 10,000 รายเศษ และมีผู้เสียชีวิตประมาณวันละ 60-80 ราย ที่สำคัญหากพิจารณาจากผลตรวจจากชุดตรวจ ATK ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ และการระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการระบาดที่แพร่กระจายไปยังส่วนภูมิภาค หลายจังหวัดยังมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การที่จะเปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมได้ รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้การระบาดของโรคโควิด-19 เป็น “การเจ็บป่วยในภาวะปกติวิสัย (Normality)” ที่ระบบสาธารณสุขปกติ สามารถควบคุมการระบาด และดูแลรักษาผู้ป่วยได้ โดยต้องมั่นใจว่า ไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข หรือมีแผนสำรองในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขได้โดยทันที อย่างไม่ตระหนกตกตื่น ในกรณีจำเป็น

“ถ้า Normality ไม่เกิดขึ้น การเปิดประเทศ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็จะเป็นเครื่องยนต์ที่กระตุก ติดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และประชาชนได้”

วิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดประเทศไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ คิดจะเปิดก็เปิด คิดจะปิดก็ปิด พอไม่กล้าปิด ก็ฝืนเปิด แล้วก็มาปิดแบบกะทันหัน จนสร้างความสูญเสียให้กับประชาชน พรรคก้าวไกล จึงเสนอแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำไปดำเนินการ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ปัจจุบันมีอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม (ข้อมูล ณ 10 ต.ค. 64) อยู่ที่ 32.5% (23.4 ล้านราย) เท่านั้น สำหรับอัตราการฉีดวัคซีน 1 เข็ม อยู่ที่ 48.7% (35.1 ล้านราย) โดยมีเพียง 14 จังหวัดเท่านั้น ที่ประชาชนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม มีความครอบคลุมตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และหากพิจารณาในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง พบว่ามีเพียง 7 จังหวัดเท่านั้น ที่มีความครอบคลุมไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งรัฐบาลควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องมีความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนเท่าใด จึงจะเข้าเกณฑ์ในการเปิดการท่องเที่ยว การกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องความครอบคลุมในการฉีดวัคซีน ให้มีความชัดเจน นอกจากจะทำให้ประชาชน และผู้ประกอบการวางแผน และเตรียมการล่วงหน้าได้แล้ว ยังเป็นการรณรงค์ในการฉีดวัคซีน ของแต่ละจังหวัดอีกด้วย

2. การฉีดวัคซีนเพื่อเปิดการท่องเที่ยว รัฐบาลจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ ในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับพ่อค้าแม่ขาย และประชาชนที่อาศัยในย่านเศรษฐกิจ ควบคู่กันไป หากย่านเศรษฐกิจมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมเพียงพอ ก็อาจมีป้ายสัญลักษณ์แสดง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ก็จะทำให้การเปิดการท่องเที่ยว ดำเนินไปได้อย่างมั่นใจ และได้รับความร่วมมือจากประชาชน

3. มีมาตรการในการฉีดวัคซีน และดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างชาติ ทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ให้ชัดเจน ต้องยอมรับว่า ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มีการแจ้งแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก หากไม่มีระบบในการป้องกันโรค และการควบคุมดูแลรักษาที่ชัดเจน ก็เสี่ยงอย่างมากที่กลุ่มแรงงานต่างชาติ จะเป็นคลัสเตอร์ในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไม่จบไม่สิ้น

4. มีระบบการสุ่มตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง ที่มีชุมชนหนาแน่นในจังหวัดต่างๆ ด้วยชุดตรวจ ATK ที่ชัดเจน เป็นระยะๆ มีระบบที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจ ATK ได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการขอรับฟรีที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์บริการสาธารณสุข ตลอดจนสามารถซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ในราคาถูก เพื่อให้การตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK เป็นกิจวัตรปกติ ของการใช้ชีวิตของประชาชน

5. สำรองสต๊อกยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้มีความเพียงพอ อาทิ ยาต้านไวรัส Favipiravir, Remdesivir ซึ่งปัจจุบันเข้าใจว่า Remdesivir ยังมีสต๊อกไม่เพียงพอ ยารักษาปอดอักเสบต่างๆ เช่น Methylprednisolone, Dexamethasone, Tocilizumab, Baricitinib, JAK Inhibitor ฯลฯ ยาที่จำเป็นในงานวิสัญญี เช่น Propofol, Midazolam, Cisatracurium ฯลฯ ยารักษาใหม่ๆ เช่น Molnupiravir, Monoclonal Antibody ควรต้องมีการสำรองไว้อย่างเพียงพอ เพื่อให้แพทย์ได้พิจารณาเบิกใช้ตามข้อบ่งชี้ อย่างเพียงพอ เข้าใจว่าในปัจจุบัน Monoclonal Antibody ที่ได้รับบริจาคมาจากประเทศเยอรมนี ยังไม่มีระบบการเบิกจ่ายที่โปร่งใส ชัดเจน เครื่องช่วยหายใจ เครื่องออกซิเจนไฮโฟล์ว ชุด PAPR ฯลฯ

6. รัฐบาลต้องเร่งถอดบทเรียน และเตรียมระบบในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้พร้อมกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ระบบการกักตัวรักษาตัวเองที่บ้านา (Home Isolation) ที่วันนี้ในหลายจังหวัดยังขาดความพร้อม ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที นอกจานี้รัฐบาลจะต้องวางระบบในการรับตัวผู้ป่วยสีเหลือง/แดง มารักษาตัวที่โรงพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่สูงขึ้น ตลอดจนการมีแผนสำรองสำรองฉุกเฉิน ที่สามารถเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาล สามรรถจัดเตรียมสถานดูแลผู้ป่วยเพื่อกักกันโรค (Community Isolation Center) โรงแรมบาล (Hospitel) โรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) ได้โดยทันที หากการระบาดรุนแรงขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถรับมือกับการระบาดระลอกถัดไป ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้ง 6 ข้อข้างต้นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และมีการสื่อสารให้กับประชาชนทราบอย่างโปร่งใส เพราะการเปิดการท่องเที่ยว เปิดเศรษฐกิจ จำเป็นต้องทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ร่วมกันกับรัฐบาล 

ทั้งนี้ วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลเปิดการท่องเที่ยว โดยที่ไม่ได้ทำการบ้านทั้ง 6 ข้อนี้ การเปิดการท่องเที่ยว และการเปิดเศรษฐกิจ ก็จะเป็นการฝืนเปิด แทนที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ กลับกลายเป็นการลวงให้ประชาชนเดินทางมาพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อย ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หรือนำเอาเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต มาใช้ในการลงทุนฟื้นฟูกิจการของตนเอง ถ้าเปิดการท่องเที่ยว แล้วนักท่องเที่ยวไม่มา หรือเปิดได้สักพัก ก็ต้องปิดอีก เพราะรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ประชาชนก็มีแต่จะสิ้นเนื้อประดาตัว พร้อมกับหนี้สินล้นพ้นตัว โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบเงินกู้ 5 แสนล้าน ครั้งต่อไป ในวันที่ 18 ต.ค. 64 จะมีการเชิญผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งตน และฐณฐ จะสอบถามในประเด็นทั้ง 6 ข้อดังกล่าวนี้ ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net