Skip to main content
sharethis

ครม. อนุมัติเงินช่วยเหลือค่าครองชีพคนขับแท็กซี่-วินมอเตอร์ไซค์ที่มีอายุเกิน 65 ปีจำนวน 5,000 บาท โอนตรงเข้าพร้อมเพย์ ภายใต้เงื่อนไขแรงงานนอกระบบ-ไม่เป็นผู้ประกันตน พร้อมเตรียมขอรับบริจาควัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) จากเกาหลีใต้เพิ่มอีก 4.7 แสนโดส ส่วนแผนการดำเนินงานเปิดประเทศ 1 พ.ย. ยังไม่ชัดเจน นายกฯ เผย "ยังพอมีเวลาในการเตรียมการ"

12 ต.ค. 2564 ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 12 ต.ค. 2564 ว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ (มอเตอร์ไซค์วินรับจ้าง) ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบและไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวม 29 จังหวัด แบ่งเป็น ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) 12,918 คน และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,776 คน รวม 16,694 คน โดยจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 5,000 บาทต่อเดือน ภายใต้กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นระยะเวลา 2 เดือน ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัดเพิ่มเติม สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพระยะเวลา 1 เดือน 
 
ธนกรกล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีการลงทะเบียนร่วมโครงการฯ ว่ากรมการขนส่งทางบกจะเปิดให้มีการลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ และดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี จากฐานข้อมูลใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะ (รถแท็กซี่) และใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ สำหรับกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่เช่า ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบพื้นที่ให้บริการได้ จะต้องทำการตรวจสอบยืนยันตัวตนก่อน เช่น ให้นิติบุคคลรถเช่า/สหกรณ์แท็กซี่เป็นผู้รับรอง เป็นต้น และกรมการขนส่งทางบกจะจ่ายเงินด้วยวิธีการโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Promptpay) เฉพาะการผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คาดว่าจะจ่ายเงินรอบแรกระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย. 2564 และจ่ายเงินรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย. 2564
 
“โครงการฯ ดังกล่าวจะช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากระบบการขนส่งสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถสาธารณะ ที่จะส่งผลให้ประชาชนยังคงได้ใช้บริการรถสาธารณะที่มีคุณภาพ มีความครอบคลุมในพื้นที่อย่างปลอดภัยต่อไป” ธนกร กล่าว

เตรียมรับบริจาคแอสตราเซเนกาเพิ่มจากเกาหลีใต้อีก 4.7 แสนโดส

ด้าน ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (12 ต.ค. 2564) ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) จำนวน 470,000 โดส โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้มีอำนาจลงนามในร่างข้อตกลงการขอรับบริจาค (Donation Agreement) ระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้กับไทย รวมถึงเป็นผู้รับผิดชอบลงนามในร่างข้อตกลงไตรภาคีระหว่างไทย เกาหลีใต้ และบริษัทแอสตราเซเนกา

ไตรศุลีกล่าวเพิ่มเติมว่าการรับบริจาควัคซีนเป็นหนึ่งในแนวทางการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทย ที่เร่งจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศอย่างครอบคลุม ทั้งยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างไทยและนานาประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่จะดูแลประชาชน รวมถึงเห็นความสำคัญของชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย

นอกจากนี้ ไตรศุลียังกล่าวอีกว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2  ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 121 บัญญัติให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา 2 สมัย สมัยละ 120 วัน โดยให้ถือวันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมครั้งแรก เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด

ทั้งนี้ เนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาปี 2562 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมครั้งแรก โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2562 และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้วันที่ 1 พ.ย. เป็นวันเริ่มประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันมาตลอด ในรอบนี้จึงกำหนดให้วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นวันเริ่มประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เช่นกัน และสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. 2565

ยังไม่มีแนวทางการเปิดประเทศ-ยืนยันไม่ยุบสภา

ในช่วงท้ายของการแถลง ธนกร ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ฝากถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องแนวทางในการเปิดประเทศหลังการแถลงข่าว 15 นาทีเมื่อค่ำวานนี้ (11 ต.ค. 2564) โดยธนกรเผยว่านายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าขณะนี้ยังอยู่ในการเตรียมการ "พอมีเวลาในการเตรียมการ" ขอให้ประชาชนภาคธุรกิจ/ผู้ประอบการ ที่เกี่ยวข้อง การ์ดอย่าตก อย่าฝ่าฝืนมาตรการ เพราะอาจทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงอีกครั้งว่า อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุม ศบค. ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ตุ.ค. นี้ ซึ่งคาดจะมีรายละเอียดเพิ่มเติม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีการถอดถอน 3 เจ้าคณะจังหวัด และกรณีของพระมหาสมปองว่า เป็นเรื่องที่ดำเนินการตามมติของมหาเถรสมาคม และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการต่อไป

ส่วนกรณีกระแสข่าวที่พรรคพลังประชารัฐเตรียมเสนอชื่อคนอื่นเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าไม่เคยได้ยินกระแสการเสนอชื่อคนอื่นในนามพรรคพลังประชารัฐเป็นว่าที่ผู้ลงสมัครนายกรัฐมนตรีแข่งกับตน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนนำไปกล่าวกันเองในเชิงวิเคราะห์ โดยนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ประวัติ วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้มีการชี้แจงไปก่อนหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มการยุบสภาหรือการเลือกตั้ง มีเพียงแต่การเลือกตั้งท้องถิ่น อบต. เท่านั้น ขอให้สื่อมวลชนไม่นำเสนอข่าวที่สร้างความสับสน สำหรับความคืบหน้ากรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ เพราะมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่ารัฐบาลมีแนวทางการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 37,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในทุกพื้นที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ซึ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจข้อเท็จจริงและความเสียหาย เพื่อจะได้เตรียมงบประมาณให้เพียงพอและเบิกจ่ายได้โดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net