Skip to main content
sharethis

อังคณา นีละไพจิตร และอัญชนา หีมมิหน๊ะ พร้อมทนายความ เข้าฟังการนัดสืบพยานโจทก์ ในคดีที่ทั้งสองยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี และกองทัพบก กรณีสนับสนุนเว็บไซต์ IO โจมตีการทำงานนักของนักป้องป้องสิทธิฯ ด้านทนายความเชื่อกระบวนการฟ้องร้องจะเปลือยรัฐและทำให้เห็นถึงโครงสร้างที่รัฐสนับสนุนให้มีปฏิบัติการไอโอเกิดขึ้นจริง แม้รัฐจะปฏิเสธความผิดก็พร้อมสู้ทุกนัด ขณะที่ศาลสืบนัดพยานโจทก์และจำเลยอีกครั้งในเดือน พ.ค. 2565

12 ต.ค. 2564 วันนี้ (12 ต.ค. 2564) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก อังคณา นีละไพจิตร และอัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมทนายความเดินทางเข้ารับฟังการนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยานโจทก์ในคดีที่ทั้งคู่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี และกองทัพบก ในความผิดฐานละเมิด พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สำหรับคดีดังกล่าวนี้สืบเนื่องมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในรัฐสภา เมื่อปี 2563 โดยวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ซึ่งอภิปรายเกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ต่อมาพบว่าการอภิปรายถึงขบวนการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) กรณีจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายนักปกป้องสิทธิฯ ทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com จึงทำให้นักปกป้องสิทธิฯ ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ และจิตใจ จึงมาฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้รับผิดต่อปฏิบัติการข่าวสารที่เกิดขึ้น โดยในวันที่ 4 พ.ย. 2563 อังคณาและอัญชนายื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะที่หน่วยงานที่กำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบก ในความผิดฐานละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท และ 2,000,000 บาท ตามลำดับ กรณีจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com

สัญญา เอียดจงดี ทนายความฝ่ายโจทก์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังรับฟังการนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้วว่า วันนี้ อัยการซึ่งเป็นทนายความของจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำให้การมาแล้ว โดยอัยการกล่าวประเด็นตามคำให้การว่าโจทก์ทั้ง 2 คนไม่มีอำนาจฟ้อง และปฏิเสธว่าเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ไม่ใช่ของ กอ.รมน. และกองทัพบก รวมถึงระบุว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับข้อความที่โพสต์ตามที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด นอกจากนี้ ยังมีการต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความไปแล้ว

สัญญากล่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อศึกษาคำฟ้อง เอกสารท้ายฟ้อง รวมถึงคำให้การและเอกสารแนบท้ายคำให้การทั้งหมด มีประเด็นที่ฝ่ายโจทก์ต้องแสดงพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนว่าเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. และ/หรือกองทัพบก หรือแสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเว็บไซต์ดังกล่าวจัดทำหรือเกี่ยวข้องกับฝ่ายรัฐบาลจริง โดยเน้นเรื่องการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน ภาค 4 ส่วนหน้า และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานดังกล่าว แบบไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และอาจจะต้องใช้พยานผู้เชี่ยวชาญหลายด้านมานำสืบยืนยันหลักการเหล่านี้ รวมถึงอาจจะต้องมีการนำเสนอหลักฐานภาพรวมเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ที่กระทำโดยรัฐ ซึ่งจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นด้านนี้ด้วย

"ตั้งแต่แรกแล้วเรามองว่า รัฐค่อนข้างที่จะมีความเป็นมืออาชีพ ในการจัดการกระบวนการไอโอ ในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือในส่วนของกองทัพภาคสองที่มีการอภิปรายไปในรัฐสภา มันมีการตัดตอน มันมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบจริงๆ มันทำให้การพิสูจน์ตัวตนค่อนข้างที่จะลำบาก แต่ถ้าเรามองและเชื่อมั่นว่าเรานำเสนอในภาพรวมให้เห็นโครงสร้างทั้งหมดของรัฐ มันจะเป็นการเปลือยรัฐเลยว่า คุณสนับสนุนให้มีปฏิบัติการไอโอเกิดขึ้นจริงและคุณสนับสนุนงบประมาณไปจริง ภายใต้เงื่อนไขการพิสูจน์ของเรา เราพิสูจน์ได้ในเบื้องต้นประมาณนี้" สัญญากล่าว พร้อมระบุว่าศาลแพ่งนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยอีกครั้งในเดือน พ.ค. 2565

ด้านอังคณา ในฐานะผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า ลำดับแรกต้องขอบคุณศาลที่รับคดีนี้ไว้พิจารณา ซึ่งถือเป็นคดีแรกที่ผู้เสียหายจากการถูกด้อยค่าจากปฏิบัติการ IO ได้นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ที่ผ่านมามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่เป็นเหยื่อของ IO ที่พยายามสร้างความเกลียดชังต่อนักสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะผู้หญิง โดยที่หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจกลับไม่สามารถปกป้องสิทธิของผู้เสียหาย ไม่สามารถยุติปฏิบัติการนี้ และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

“หลายปีที่ผ่านมาดิฉันตกเป็นเหยื่อการด้อยค่าของปฏิบัติการ IO มาโดยตลอด และพยายามหาความเป็นธรรมทุกวิถีทาง ทั้งการแจ้งความการร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และพนักงานสอบสวนในท้องที่ แต่พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ อีกทั้งยังปล่อยให้ website และปฏิบัติการ IO เหล่านี้กระทำการคุกคามและด้อยค่าประชาชนโดยเฉพาะนักสิทธิมนุษยชนต่อไป”

“ในการฟ้องคดีครั้งนี้ ดิฉันไม่มีความหนักใจใดๆ แม้ภาระในการพิสูจน์จะตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งถือเป็นความยากและท้าทายอย่างมาก เพราะผู้ถูกกล่าวหาเป็นหน่วยงานรัฐ ดิฉันยังเชื่อมั่นว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม”

“ในส่วนของคดี พยานหลักฐานที่นำเสนอต่อศาลเป็นเอกสารที่หน่วยงานรัฐเองเป็นผู้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของรัฐสภาซึ่งเป็นเอกสารราชการ และต่อมาฝ่ายค้านได้ตั้งคำถามต่อนายกรัฐมนตรีในเรื่องการด้อยค่านักสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ดิฉันเห็นว่ารัฐจึงต้องมีความกล้าหาญในการรับผิดชอบและพร้อมรับผิด และเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ ไม่ควรปกป้องหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด และไม่ควรคิดว่าการยอมรับผิดเป็นการเสียหน้า ดิฉันเชื่อว่าการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาในศาลครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเผยความจริง เป็นการเยียวยาแก่เหยื่อ และจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อีกทั้งจะนำมาสู่การคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการละเมิดโดยรัฐ” อังคณากล่าว

ขณะที่ อัญชนากล่าวว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มันอยู่ที่การกระทำที่ไม่ถูกต้อง เส้นทางต่อมาคือเราทำให้เห็นในสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่า เป็นความพยายามที่จะทำให้ทุกคนได้เห็นว่า รัฐควรทำอะไรมากกว่าและรัฐไม่ควรทำอะไรมากกว่า และสำหรับเราเองหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือตรงนี้ก็สู้เต็มที่ เพราะฉะนั้นเราก็เชื่อมั่นว่า เราจะทำให้มันเห็นภาพที่มันชัดเจนว่าสิ่งนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นกับใครและการใช้งบประมาณของแผ่นดินไม่ควรจะใช้เพื่อทำร้ายหรือทำลายประชาชนแต่ควรจะใช้เพื่อปกป้องพิทักษ์รักษาสิทธิ์ให้กับประชาชน

ด้าน ปรานม สมวงศ์ จากองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งทำงานกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้กล่าวว่าเรื่องการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ได้รับการติดตามและสนใจจากสหประชาชาติ (UN) โดยเฉพาะรายงานล่าสุดในการประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รายงานดังกล่าวได้ยกตัวอย่างประเทศที่ปรากฏกรณีการตอบโต้/แก้แค้น (reprisal) ต่อพลเมืองที่เป็นนักปกป้องสิทธิฯ บ่อยครั้ง และหนึ่งในนั้นคือกรณีของอังคณาที่มีรายงานของเลขาธิการสหประชาชาติให้ความสนใจต่อเนื่องมาหลายปีต่อการถูกล่วงละเมิด การข่มขู่ และการรณรงค์ป้ายสีออนไลน์ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการพูดถึงกรณีที่อังคณาได้ยื่นฟ้องต่อสำนักนายกรัฐมนตรีและกองทัพบกเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานผ่าน pulony.blogspot.com ซึ่งผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ได้กล่าวหาว่ามีใช้เงินสาธารณะโจมตีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการร้องขอให้ลบรายงานข่าวปลอม เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และการบิดเบือนข้อมูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net