ประชุม กมธ. พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน นัด 2 ถกนิยาม-เตรียมผลักดันให้ทันประชุมสภา พ.ย. นี้

เปิด 10 ข้อแนะนำหลังการประชุม กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ครั้งที่ 2 ถกคำนิยาม 'การทรมาน' หลักการและบทลงโทษ พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมหารือ ด้าน ประธาน กมธ. เผยเตรียมผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เสร็จทันประชุมสภาเดือน พ.ย. นี้

12 ต.ค. 2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แทนภาคประชาชนในคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …  รายงานว่าวันนี้ (12 ต.ค. 2564) เวลา 09.30 น. ณ สภาผู้แทนราษฎร กมธ. ได้จัดการประชุมครั้งที่ 2 ตามวาระกำหนด เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ในวาระที่ 2 ให้แล้วเสร็จก่อนจะส่งเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

โดยที่ประชุมวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นที่มาของการร่างกฎหมายอนุวัติการที่มีเนื้อหาในการบัญญัติให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดในทางอาญา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทบทวนรายมาตราอย่างละเอียดถี่ถ้วนในชั้น กมธ.วิสามัญ เพื่อให้นิยามความหมายของการกระทำผิด หลักการกฎหมาย และบทลงโทษมีความสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธะผูกพัน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ อาทิ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หน่วยงานอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT) และภาคประชาชนอย่างเครือข่ายครอบครัวผู้เสียหายจากการทรมานและการบังคับสูญหาย เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาร่างกฎหมายรายมาตราต่อไป

หลังการประชุมเสร็จสิ้น เวลา 11.30 น. ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. จ.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า วันนี้ กมธ. พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ได้จัดการประชุมเป็นครั้งที่ 2 เพื่อดำเนินการให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านกระบวนการในวาระที่ 2 โดยได้นำร่างกฎหมายที่มีชื่อเดียวกันมาร่วมพิจารณาทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างของรัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นร่างหลัก 2. ร่างของพรรคประชาชาติ 3. ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และ 4. ร่างของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน โดย สิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและคณะ

“โดยที่ประชุม กมธ. วันนี้ ได้ปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่าการพิจารณาในวาระที่ 2 นี้ ควรเสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค. เพื่อให้ทันเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหน้าที่จะมีขึ้นเดือน พ.ย. นี้ และเพื่อให้ร่างนี้ผ่านการพิจารณาโดยรอบคอบ ก็อาจจะต้องทุ่มเท โดยอาจต้องเพิ่มวันประชุมเพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ กลไกนี้ผ่านไปด้วยความรอบคอบ และเมื่อขณะเดียวกัน สังคมก้อยากให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หลังจากที่มีคดี อดีต ผกก. ที่ จ.นครสวรรค์ การแถลงข่าววันนี้จึงเป็นการยืนยันว่า กมธ.มีความตั้งใจอย่างมากที่จะให้กฎหมายฉบับนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมบูรณ์ และที่สำคัญคือต้องเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามไว้” ชวลิต กล่าว

ด้าน รังสิมันต์ โรม รองประธาน กมธ. คนที่ 4 กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ได้รับการติดตามอย่างมากจากหน่วยงานระหว่างประเทศ อาจสรุปได้ว่า โลกกำลังจับตามองว่าการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นอย่างไร ในขั้นตอนการพิจารณาของ กมธ. เรามีความตั้งใจอย่างดีที่สุด เพื่อให้ร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันสมัยประชุมหน้า เดือน พ.ย. นี้ และทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายวาระที่ 2 และ 3 ผ่านพ้นไปได้อย่างรวดเร็วและลุล่วงไปได้ด้วยดี

“โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายที่มีขึ้นเพื่อคนบางคนหรือคนเฉพาะกลุ่ม แต่เราต้องการสร้างหลักประกันว่าสังคมของเราจะต้องปลอดภัย โดยเชื่อว่าถ้าเราสามารถผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ให้ก้าวหน้าและประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้เมื่อไร สังคมไทยก็จะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” รังสิมันต์กล่าว

รังสิมันต์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม ระบุว่าวิทิตให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนากฎหมายป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหายของไทย ซึ่งในบางเรื่องยังไม่มีในร่างฉบับของ ครม. ไว้ 10 ข้อด้วยกัน ได้แก่

  1. ต้องกำหนดนิยามความหมายของการทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหาย ให้ชัดเจน ครอบคลุมทุกองค์ประกอบ รวมถึงกำหนดเรื่องของการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และลดทอนศักดิ์ศรี เอาไว้ด้วย
  2. ต้องกำหนดให้สิทธิในการไม่ถูกทรมาน-อุ้มหาย เป็นสิทธิเด็ดขาด จะอ้างเงื่อนไขใดๆ มายกเว้นไม่ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องความมั่นคง
  3. การบรรจุหลักการห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง หากมีเหตุเชื่อได้ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ได้รับอันตรายจากการทรมาน-อุ้มหาย ตามร่าง พ.ร.บ. นี้ (Non-refoulement)
  4. กำหนดให้ความผิดตามร่าง พ.ร.บ. นี้ครอบคลุมการกระทำผิดนอกราชอาณาจักรด้วย (Universal Jurisdiction)
  5. พัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวนให้เกิดความโปร่งใส เช่น มีอุปกรณ์บันทึกการสืบสวนสอบสวนอย่างรัดกุม
  6. กำหนดให้ความผิดตามร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นความผิดต่อเนื่อง เริ่มนับอายุความเมื่อรู้เบาะแสพอสมควรถึงชะตากรรมของผู้ถูกกระทำ
  7. การตอบสนองและให้การคุ้มครองต่อเหยื่อ รวมถึงให้น้ำหนักแก่ครอบครัวผู้ถูกกระทำในฐานะที่เป็นเหยื่อด้วย
  8. การกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนเหมาะสมกับความผิด
  9. การให้มีหน่วยงานตรวจสอบที่โปร่งใส โดยเฉพาะผู้ทำงานระดับปฏิบัติการที่มีความเป็นอิสระ
  10. การปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย โดยหวังว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับเจ้าหน้าที่ ว่าจริงๆ แล้วการมีกรอบกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจนั้นจะเป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่เอง ในทางกลับกัน การให้อำนาจที่มากเกินไปเสียอีกที่อาจเป็นพิษภัยต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ได้

นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้ความเห็นท่านอื่นๆ ซึ่งรวมถึงตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น เรื่องการกำหนดให้ไม่มีอายุความ, การให้คณะกรรมการมีอำนาจสอบสวน มีสัดส่วนมาจากตัวแทนผู้เสียหาย, กระบวนการสอบสวนต้องไม่ได้มาจากหน่วยงานที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หรือหน่วยงานใต้บัญชาการของรัฐบาล, การให้ภาระรับผิดชอบในการทำกระบวนการสอบสวนให้โปร่งใสเป็นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า ชวลิต แถลงข่าวหลังการประชุมเสร็จสิ้น โดยระบุว่า กมธ. มีแนวทางในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อุมหาย-ซ้อมทรมาร ใน 8 ประเด็น ได้แก่ 1) การกำหนดข้อยกเว้นการรับผิดหรือข้อแย้งกับ พ.ร.บ. 2) บทนิยามเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การควบคุมตัว การกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะกรรมการ 3) มาตรการป้องกันและการแจ้งจับ 4) การสืบสวน สอบสวนเป็นคดีต่อเนื่อง การกำหนดอายุความ 5) อำนาจสอบสวนคดีความผิด 6) ความรับผิดของผู้บังคับบัญชา และการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ 7) การห้ามไม่ให้รับฟังพยาน หลักฐานจากการทรมาน และ 8) องค์ประกอบ การสรรหา และคุณสมบัติของคณะกรรมการ

นอกจากนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ยังรายงานโดยอ้างอิงคำพูดของศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษก กมธ. ซึ่งระบุว่าในการประชุมครั้งถัดไป กมธ. จะพิจารณากฎหมายเป็นรายมาตรา และพิจารณาการให้นิยามคำว่า “การทรมาน” ให้ครอบคลุมตามที่อนุสัญญาระหว่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายไทยปัจจุบัน ไม่ได้ให้นิยามของคำว่า “การทรมาน” ไว้ โดย กมธ. จะยึดหลักการสร้างกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีวิธีการคุ้มครองผู้ต้องหาให้ปลอดภัยจากการถูกกระทำทรมาน หรือทำให้สูญหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท