จาก 'สหายรัฐ' สู่ 'ป้านิ่ม' ขาประจำม็อบเชียงใหม่

"มันใกล้เวลาแล้ว ถ้าเหนื่อยก็พักสักหน่อย พอมีแรงแล้วก็กลับมาสู้ต่อ อีกไม่นาน แม่เชื่อ..." คุยกับ “ป้านิ่ม” หรือ “สหายรัฐ” หญิงวัย 61 ปี ขาประจำร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ จ.เชียงใหม่ ในฐานะ ‘คนเดือนตุลา’ กับความหวังต่อคนรุ่นใหม่

“ป้านิ่ม” หรือ “สหายรัฐ” หญิงวัย 61 ปี ขาประจำร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ จ.เชียงใหม่ 

ถ้ากล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ข่วงประตูท่าแพ หรือสถานีตำรวจภูธร ภาค 5 ทุกสถานที่ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเชียงใหม่ เรามักจะสังเกตเห็นนักเคลื่อนไหวไม่กี่คนที่สะกดดวงตา และพาให้ตั้งข้อสงสัยต่อการกระทำของเขาเหล่านั้น และหนึ่งในนั้นก็คือ “ป้านิ่ม” หรือ “สหายรัฐ” 

พลังแห่งความหวังที่สะท้อนออกมาจากตัวของป้านิ่ม ก่อความสงสัยของผู้เขียนครั้งแล้วครั้งเล่าในการเข้าร่วมสังเกตทางการเมือง ซึ่งแสดงออกผ่านความคิดเชิงสร้างสรรค์ในการเคลื่อนไหวที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นการติดข้อความรอบรถมอเตอร์ไซค์ในข้อความว่า “วัคซีนของGUอยู่ไหน ไอ้SUS” หรือการนำเอาความเชื่อพื้นบ้านของชาวล้านนาเข้ามาประกอบพิธีกรรมสาปแช่งคณะรัฐประหารผ่านตุงสามหางที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในการประกอบพิธีฌาปนกิจ รวมไปถึงการจำหน่ายสินค้าทางที่มีสัญญะทางการเมือง อาทิเช่น เสื้อสกรีนที่มีข้อความเช่น “ฮาจังคิง 112” และรองเท้าแตะที่ตกแต่งด้วยรูปหน้าของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยรายได้ทั้งหมดหลังจากหักค่าใช้จ่ายจะนำไปร่วมสมทบทุนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้แก่มวลชนผู้มีหัวใจประชาธิปไตยทั่วประเทศไทย 

คำถามที่ก่อตัวขึ้นภายในใจของผู้เขียนต่อมาก็คงจะเป็น “เขาคือใคร?” ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินตรงเข้าไปเริ่มต้นบทสนทนาระหว่างกันว่า ‘อะหยังยะหื้อป้าต๋าสว่าง เริ่มเมื่อใด๋’ (อะไรที่ทำให้แม่ตาสว่าง เริ่มต้นเมื่อไหร่) คำถามง่าย ๆ เพียงเท่านั้น แต่กลับได้คำตอบที่ผู้เขียนคิดว่าจะเป็นคำตอบและเป็นธงในใจให้แก่นักสู้รุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้ทางการเมือง และหลายคนก็กำลังท้อถอยจากการไม่เห็นหนทางสว่าง ผู้เขียนจึงขอนำบทสัมภาษณ์ของ “สหายรัฐ” หรือ “ป้านิ่ม” อาจเป็นคำตอบให้แก่นักต่อสู้รุ่นใหม่ที่มีคำถามที่ติดอยู่ในใจคล้าย ๆ กันมาตลอดการต่อสู้ที่ผ่านมาว่า “สิ่งที่เราทำอยู่ มันจะเปลี่ยนแปลงอะไรจริง ๆ ใช่ไหม” สหายรัฐในฐานะผู้ต่อสู้กับความอยุติธรรมมาตั้งแต่เธออายุเพียง 16 ปี จนกระทั่งในวันนี้เธออายุ 61 ปี ที่เป็นการเดินทางมากกว่าครึ่งชีวิตของเธอจะช่วยไขข้อข้องใจผ่านบทสัมภาษณ์สั้นๆ และช่วยยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดแล้วจริง ๆ อาจจะไม่ใช่โครงสร้างปรักหักพังโดยตรง หากแต่เป็นการเบ่งบานและเติบโตทางความคิดทางการเมืองของผู้คนในสังคม 

บทสัมภาษณ์ของสหายรัฐเข้าสู่ผ่านทะลุเข้าสู่เดือนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ในฐานะ ‘คนเดือนตุลา’ ผู้เขียนจะขอหยิบหยกคนประวัติศาสตร์มาเป็นกำลังใจให้แก่คนรุ่นต่อ ๆ ไป ให้สู้ต่อไปอย่างหวังอย่างดังสหายรัฐกล่าวไว้ว่า “ชีวิตต้องมีหวัง” 

ตอนที่อยู่ในป่าชื่อว่าสหายอะไร ? 

สหายรัฐ : “สหายรัฐ” เพราะมาจากคำว่า “รัฐ” (รัต-ถะ) 

อะไรเป็นจุดที่ทำให้สนใจทางการเมือง หรือที่เรียกว่า “ตาสว่าง” ? 

พี่ชายของแม่คือ คนที่ทำให้ตาสว่าง พี่ชายของแม่มีโอกาสเ­ข้าเรียนที่ วค. สมัยก่อน (วิทยาลัยครูเชียงใหม่) ทุกครั้งที่กลับบ้านจะนำหนังสือลัทธิสังคมนิยม มาร์กซ์ เลนิน กลับมาให้น้องๆ อ่านที่ฝางและชาวบ้านจะเรียกพี่ชายของแม่ว่า “ครูคอมมิวนิสต์”พี่ชายสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง ความทุกข์ยากของชาวนาชาวไร่ ความทุกข์ยากของกรรมกร เวลาพูดคุยอะไรก็มักจะคุยเรื่องการเมือง เรื่องความแตกต่างทางชนชั้น แม่จึงเริ่มต้นด้วยการเป็นสายของพี่ชาย เขาเรียกว่า “สาย วค.” เป็นคนถือจดหมายส่งข่าว เป็นกลุ่มระหว่างนักเรียน นักศึกษา และครู กลุ่มที่มีแนวคิดที่อยากจะมองเห็นว่าประเทศของเราเนี่ยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น             

   

เล่าประสบการณ์ช่วงเวลาในการ “หนีเข้าป่า” ให้ฟังหน่อย? 

ตอนแรกเราก็มานั่งคิดว่าจะเป็นอย่างไง จะเป็นดอยสูง ๆ แล้วมีธงแดงค้อนเคียวปลิวอยู่ลิบ ๆ  มันก็คือภาพจินตนาการ แต่ในความเป็นจริงที่เราเห็นตอนที่ไปถึงคือ เป็นป่าผืนใหญ่ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เพื่อป้องกันเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบิน และเวลาหุงหาอาหารจะต้องระมัดระวังควันไฟ อันนี้หมายถึงในเขตแดนไทยนะ ที่แม่ไปในนั้นคือ อำเภอเทิง เมื่อก่อนเป็นจังหวัดเชียงราย ฐานที่มั่นจริง ๆ ที่แม่อยู่ คือโรงเรียนที่แม่ไปเรียน เขาเรียนว่า “โรงเรียนการเมืองและการทหาร 7 สิงหา” นะ ก่อนจะข้ามไปจากสำนัก 65 ที่แม่พักอยู่ประมาณ 4-5 วันนั้น เราก็คิดว่าเดินสบายแล้ว แต่ปรากฏว่าเดินขึ้นดอยสูงไปเรื่อย ๆ เมื่อไรจะถึงสันเขามองขึ้นไปไม่เห็นอะไรเลย จนปฏิญาณกับตัวเองว่า “ดอยนี้จะขึ้นแค่ครั้งหนึ่ง และลงอีกครั้งหนึ่งคือตอนกลับบ้าน” กลายเป็นว่าต้องขึ้นลงดอย “ภูชายแดน” ชาวบ้านเรียกว่า “ภูเสี้ยงเหมี่ยง” อยู่ที่ภูชี้ฟ้า  ภูชายแดนเป็นยอดภูที่สูงที่สุด เวลาที่เราจะลำเลียงของกลับก็ต้องทำช่วงกลางคืน พอลำเลียงของหลายๆรอบ ระหว่างนั้นนั่งพักแม่จำได้เลยว่า พอเดือนดาวเริ่มขึ้น สหายคนหนึ่งก็เริ่มร้องเพลง “...พรางพรายแสง” (เพลง แสงดาวแห่งศรัทธา; ประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์) แม่ก็เลยประทับใจในเพลงจนถึงตอนนี้ จนถึงรอบสุดท้ายที่ทำการลำเลียงกัน คือ วันที่ 12 เมษา เราเดินลงมาที่เชียงราย  

อยากฝากอะไรถึงคนเดือนตุลาด้วยกันเอง? 

ตลอดระยะ 4 ปี เข้าป่าไปเราไม่มีอะไรเลย เงินเดือน 15 บาท ถึงแม้เราเข้าป่าไปก็ไม่มีอะไรให้เราซื้อ เราก็ต้องเก็บเงินไว้ แต่เงิน 15 บาทจะช่วยอะไรได้ ทุกคนที่ออกจากป่าต้องช่วยเหลือตัวเองทั้งนั้น ความจริงเลือดต่อสู้มันก็ยังอยู่ พอหลังจากออกจากป่าจริง ๆ แล้วการปรับตัวเข้ากับที่บ้านยากกว่านะ เหมือนเขาซ้ำเติมเรา เราเอาเวลาไปทิ้ง แต่ไม่มีใครมาด่านะ เราไปแล้วกลับเข้ามาเหมือนตัวประหลาด  เราเสียสละชีวิตส่วนตัว ชีวิตในวัยรุ่น ชีวิตในวัยเรียน วัยสนุกสนาน มันไม่ได้แค่ติดศูนย์นะ แต่มันติดลบ เมื่อออกมาแล้วสิ่งที่เสียสละไปในอดีต หวนกลับไปในสิ่งที่เลวร้ายมากกว่าก่อนที่จะเข้าป่า ก่อนที่จะมีอุดมการณ์อีกด้วยซ้ำ มันติดลบมากกว่า เสียดายสิ่งที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ามันจะไม่บรรลุเป้าหมายตามที่เราต้องการ เมื่อออกมาทำไมถึงหวนกลับมาตกต่ำกว่าเดิม อยากฝากบอกว่า “กึ๊ดได้จะใด่ บ่าเสียดายเลยกาสิ่งที่ลงทุนไป” (คิดได้อย่างไร ไม่เสียดายสิ่งที่ลงทุนไปเลยเหรอ) 

คิดว่าการออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนจะสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้หรือไม่? 

เปลี่ยนแปลงได้สิ แม่มีความหวังตลอดเวลา ไลน์ของแม่ชื่อ ชีวิตนี้ยังมีหวัง มีความหวังว่า ชีวิตนี้จะต้องได้เห็นจุดจบของเผด็จการ มีความหวังที่จะได้เห็นสังคมที่ดี สังคมใหม่ สังคมจะต้องได้รัฐสวัสดิการแบบที่เราเรียกร้อง เหมือนที่แม่บอกก่อนหน้านี้ว่า เราต้องไม่ประมาท แม้เราตายไปแล้ว แต่ความหวังเรายังไม่สิ้นสุด และจากประวัติศาสตร์ประเทศอื่น ๆ เขาเปลี่ยนแปลงมาได้แล้ว ตอนนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วยเร่งเวลาชัยชนะของประชาชนให้มาถึงไวขึ้น เขารู้มากขึ้น ขนาดสมัยนั้นบ้านแม่ไม่มีไฟฟ้าแม่ยังตาสว่างได้เลย ไฟฟ้าเกือบทั่วถึง อินเตอร์เน็ตก็ไปทั่วถึง ยังไงคนก็จะต้อง Get มันต้องรู้ ทำไมเราดักดานแบบนี้

อะไรที่ทำให้ยังยืนหยัดต่อสู้และมีความหวังมาจนถึงปัจจุบัน? 

ลมหายใจ คือความหวัง ทุกเช้าตื่นมา เรามีลมหายใจ อันนี้คือความหวัง เราต้องนึกอยู่เสมอว่า วันนี้เราจะทำอะไร ถ้าบ้านเมืองยังเป็นแบบนี้ สูเขา(พวกเธอ)จะละเลยได้เหรอ ต่อให้ตายตาก็ไม่หลับ สมมติว่า ตายก็ตายตาไม่หลับ สังคมยังไม่เปลี่ยน ยังจะเลวร้ายไปเรื่อย ๆ ตายก็ตาไม่หลับหรอก ถ้าวิญญาณลุกขึ้นมาสู้ได้ก็จะลุกมา พลังของแฮชแท็กและตัวคนจะออกมาอยู่ที่ ใจ ตอนนี้ก็เยอะขึ้นแล้วนะเปรียบเทียบกับปีก่อน แม่เรียกว่าความหวัง ยิ่งอยู่นานไป เรายิ่งเห็นความหวัง ใกล้แล้ว 

ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้ทางการเมืองในวันนี้? 

แม่อายุ 61 แล้ว แม่ยังสู้ สู้มาตั้งแต่อายุ 16 ตัวเลขสลับกันแล้วจาก 16 เป็น 61 แม่ยังไม่ท้อ ไม่ถอย แม่ยังไม่ผ่อน พูดกันตรง ๆ นะ แม่ยังสู้ แล้วน้องเขา (คนรุ่นใหม่) เพื่ออนาคตน้องเขา ถามน้องเขา แม่อายุเยอะขนาดนี้ แม่ยังสู้ อนาคตแม่ไม่มีแล้ว แม่ใกล้ตายแล้วแบบนั้น น้องจะไม่สู้เพื่ออนาคตตัวเองเหรอ อนาคตน้อง ๆ ยังอีกยาวไกล ทำไมไม่สู้ สู้เถอะ แม่สู้มานานแล้ว แม่คิดว่า มันใกล้เวลาแล้ว ถ้าเหนื่อยก็พักสักหน่อย พอมีแรงแล้วก็กลับมาสู้ต่อ อีกไม่นาน แม่เชื่อ...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท