CENSORSHIP NEVER DIES คำเตือน: บางเรื่องอาจหาดูไม่ได้ในประเทศนี้

คำเตือน: ลิสต์ภาพยนตร์ ละคร ซีรีย์ ที่ท่านจะได้รับชมต่อจากนี้ มีการเซนเซอร์ ตักเตือน ตัดทอนเนื้อหาบางส่วน เพื่อให้ถูกต้องตามหลักศีลธรรมอันดี และไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศนี้ บางเรื่องอาจหาดูไม่ได้แล้ว เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

 

นางสาวสุวรรณ Suvarna of Siam (2466) ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2466 เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกเซ็นเซอร์ เนื่องจากมีการถ่ายฉากพระเอกถูกใส่ร้ายจนเกือบโดนประหารชีวิตด้วยการตัดคอที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอาจสร้างความเสื่อมเสียให้กับภาพลักษณ์ของประเทศ เมื่อมีข่าวนี้แพร่ออกไปจึงมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจพิจารณาก่อนฉาย และให้ตัดฉากนี้ออกไปก่อนฉายจริง 

The King and I (2499) ผ่านการพิจารณาจากแผนกพิจารณาภาพยนตร์ กองทะเบียนกรมตำรวจ เมื่อเดือนต.ค. 2499 แต่ได้รับคำสั่งห้ามฉายในประเทศไทยจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งในปี 2542 โดยใช้ชื่อว่า Anna and the King ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในไทย จึงได้ย้ายสถานที่ถ่ายทำเป็นที่มาเลเซียแทน และนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย มีคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทยอีกเช่นเคย เนื่องจากมีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ไม่เหมาะสม และมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งทั้งสองเรื่องสร้างมาจากหนังสือนวนิยายชื่อ Anna and The King of Siam แต่งโดยมาร์กาเร็ต แลนดอน นักเขียนชาวอเมริกันนวนิยายเรื่องนี้เล่าชีวิตของแอนนา ลีโอโนแวนส์ บุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงและเคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งโดยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงวิถีชีวิตในราชสำนัก ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยในสมัยนั้น และความสัมพันธ์ลึกซึ้งของแอนนากับรัชกาลที่ 4

ทองปาน (2519) ภาพยนตร์กึ่งสารคดีที่วิจารณ์ความล้มเหลวจากนโยบายการพัฒนาชนบทของรัฐบาล โดยเล่าจากเรื่องราวชีวิตจริงของ ‘ทองปาน’ ชาวนาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขง ตัดสลับกับเวทีสัมมนาถกเถียงของผู้สนับสนุนและคัดค้านการสร้างเขื่อน หลังจากถ่ายทำและตัดต่อเสร็จไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ทีมงานและนักแสดงถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ต้องหนีเข้าป่าและหนีไปต่างประเทศพร้อมกับฟิล์มหนังต้องห้าม ที่ไม่มีโอกาสได้ฉายในเมืองไทยรอบปกติ อีกทั้งเพลงคนกับควาย ของ สุรชัย จันทิมาธร ที่ใช้ประกอบในเรื่องก็กลายเป็นเพลงต้องห้ามด้วยไปด้วย

คนกราบหมา My Teacher Eats Biscuits (2540) หนังตลกร้ายที่เล่าเรื่องลัทธิประหลาดที่ผู้คนพากันกราบไหว้หมา มีกำหนดฉายในงานนิทรรศการภาพยนตร์กรุงเทพครั้งที่ 1 แต่ถูกสั่งห้ามฉายเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนไปยังกองเซ็นเซอร์ว่าบทภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะสมและเป็นการดูหมิ่นพระพุทธศาสนา

ยอดชายนายโอ๊กอ๊าก (2547) เข้าฉายเมื่อ 16 ก.ย. 2547 มีเสียงวิจารณ์ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการล้อเลียน พานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค) ลูกชายอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น จนมีข่าวว่าทำให้นายกฯ เกิดความไม่พอใจ ทางผู้กำกับจึงแก้ปัญหาด้วยการเซ็นเซอร์บางฉากออกไปและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘โว๊กว๊าก’

แสงศตวรรษ (2549) ภาพยนตร์ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ซึ่งจะสามารถฉายได้แต่มีเงื่อนไขให้ตัดฉากสำคัญออก 4 ฉาก เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์ ได้แก่ 1.ฉากพระกำลังเล่นกีตาร์ 2.ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะปฎิบัติหน้าที่ 3.ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล 4.ฉากพระเล่นเครื่องร่อน ซึ่งผู้กำกับจึงตัดสินใจจะไม่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในไทย และได้ไปขอฟิล์มคืน แต่ทางคณะกรรมการไม่คืนให้ และจะคืนก็ต่อเมื่อตัดทั้ง 4 ฉากออกก่อน เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองเซ็นเซอร์อย่างหนัก ต่อมาผู้กำกับได้นำหนังเรื่องนี้เข้ารับการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้สั่งให้ตัดเพิ่มเป็น 6 ฉาก โดยผู้กำกับใส่ฟิล์มดำแทนฉากที่โดนตัด เพื่อแสดงถึงการโดนบังคับให้ตัดออก

หมากเตะ โลกตะลึง (2549) ภาพยนตร์ตลกที่เล่าเรื่องทีมฟุตบอลในประเทศลาว ที่มีความฝันจะไปแข่งขันในระดับโลก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าอาจทำให้ชาวลาวเกิดความไม่พอใจเพราะถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนระดับประเทศ จึงสั่งให้ระงับการฉาย ทางผู้กำกับจึงมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ‘ราชรัฐอาวี’ และกลับมาฉายใหม่อีกครั้งในชื่อ ‘หมากแตะรีเทิร์นส’

อาจารย์ใหญ่ (2549) โดนเซ็นเซอร์เนื่องจากสร้างความไม่พอใจให้กับคณาจารย์และนักศึกษาแพทย์ ว่ามีการนำเสนอที่ไม่เหมาะสม สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้บริจาคร่างกายและกระทบต่อสถาบันแพทย์ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคม ซึ่งผู้กำกับก็มีการปรับแก้เนื้อหาบางส่วนและเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็นใหม่เป็น ‘ศพ’

นาคปรก (2551) ถูกองค์กรพุทธส่งเรื่องร้องเรียนไปยังกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อให้พิจารณาเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้ง เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม กระทบต่อภาพลักษณ์ของศาสนา เช่น พระถือปืน สัมผัสร่างกายผู้หญิง ซึ่งคณะกรรมการกล่าวว่าได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านพระพุทธศาสนามาร่วมพิจารณา แล้วพบว่าเรื่องนี้มีเนื้อหาเหมาะสม สอนเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งมีผลดีต่อวงการสงฆ์มากกว่าผลเสีย จึงฉายได้ตามปกติ

เชือดก่อนชิม (2552) เดิมมีชื่อว่า ‘ก๋วยเตี๋ยวเนื้อคน’ ต้องเลื่อนการฉากออกไปก่อนเพราะคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหากระทบต่อความมั่นคง อาจทำให้ก๋วยเตี๋ยวขายไม่ได้ และในหนังยังมีเนื้อหาล่อแหลมเพราะมีฉากเหตุการณ์คนหายในช่วง 6 ต.ค. 2519 ทางผู้กำกับต้องมีการปรับแก้เนื้อหาถึง 4 ครั้ง และเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เป็น ‘เชือดก่อนชิม’ จึงเข้าฉายฉายได้ในวันที่ 19 มี.ค. 2552

Insects in the Backyard (2553) โดนคำสั่งห้ามฉายจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม เพราะขัดต่อศีลและทำอันดีของประชาชน แต่ไม่มีการระบุว่าฉากใดหรือส่วนใดของภาพยนตร์ ซึ่งหนังเรื่องนี้เนื้อเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ในสังคม จนก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัว และหากพิจารณาฉากที่เกี่ยวกับการร่วมเพศกัน มีเพียง 4-5 ฉาก ฉากละไม่กี่วินาทีเท่านั้น ผ่านไป 7 ปี ทางผู้กำกับได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนและส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง ในที่สุดก็สามารถเข้าฉายได้ในเรท 20- โดยมีกำหนดเข้าฉายในวันที่ 30 พ.ย. 2560 

ตัวอย่างหนัง https://youtu.be/Dt-qZWzG4RQ

Fatherland ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก (2555) มีกำหนดฉายปลายปี 2555 แต่ถูกห้ามฉายเพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในขณะนั้น นายทุนจึงสั่งให้ระงับการฉายเอาไว้ก่อน เป็นเวลากว่า 7 ปี หนังได้ฉายรอบพิเศษ ที่ห้องประชุม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ในชื่อใหม่คือ ‘ราชิดา’  

เชคสเปียร์ต้องตาย Shakespeare Must Die (2555) มีกำหนดออกฉายในเดือน เม.ย. 2555 แต่ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ถูกห้ามฉายในประเทศไทย เพราะมีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ และบางฉากมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เนื่องจากมีฉากที่อ้างอิงถึงการล้อมปราบนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 มีการนำฟุตเทจภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทยในเดือน เม.ย. 2552 มาใช้ และการให้ปิศาจในเรื่องสวมชุดสีแดงเปรียบเหมือนการกล่าวหาเสื้อแดง

ตัวอย่างหนัง https://youtu.be/vd6JEk6Imco

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง Boundary (2556) อนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เผยแพร่ในไทย เพราะเนื้อหาขัดต่อความมั่นคงของชาติ และกระทบสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ โดยเนื้อเรื่องมีการกล่าวถึงการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์ ความสูญเสียและวิถีชีวิตของคนต่างจังหวัด และเล่าถึงชีวิตของคนชายแดนที่ติดกับบริเวณเขาพระวิหาร ผู้กำกับเดินเรื่องยื่นอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการฯ มีมติให้ฉายได้ โดยจัดอยู่ในเรทผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป และให้ดูดเสียงที่มีการพูดว่า "เรามาร่วมเคาท์ดาวน์และร่วมฉลองให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 84 พรรษา" ความยาว 2 วินาทีออก

ประชาธิป’ไทย Paradoxocracy (2556) ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์ สั่งให้ดูดเสียงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ออกไป 5 จุด ช่วงที่มีการเซ็นเซอร์ยังคงปรากฏอยู่ในหนังคือตอนที่เสียงหายไปและซับไตเติ้ลก็โดนคาดดำ ประชาธิป’ไทย เป็นหนังที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบัน ผ่านเหตุการณ์สำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองผ่านมุมมองของนักคิดนักวิชาการไทย 

รับชมได้ที่: https://youtu.be/LH3oBN7XKUY

เหนือเมฆ 2 ตอนมือปราบจอมขมังเวทย์ (2556) ละครช่วง 2 ทุ่ม ออกอากาศทางช่อง 3 จะต้องถูกตัดตอนให้อวสานเร็วขึ้น เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทุจริตของนักการเมือง มีฉากการใช้ความรุนแรง เด็กอาจจะนำไปลอกเลียนได้ โดยทางช่อง 3 ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “เนื้อหาบางช่วงบางตอนไม่เหมาะสมกับการออกอากาศ” นอกจากนี้การพูดถึงฉากที่ทำให้ละครเรื่องนี้ถูกตัดจบ คือฉากตอนที่ นภา (นก สินจัย เปล่งพานิช) ได้ไหว้พระ ขอพรให้คุณงามความดีเป็นที่พึ่งแก่ทุกชีวิต เป็นเกราะคุ้มกันปกป้องคนคิดทำประโยชน์แก่ประเทศไทย และประโยคที่ว่า "ไม่ว่าอีกนานแค่ไหน ความดีจะไม่มีวันพ่ายแพ้"

ดาวคะนอง By the Time It Gets Dark (2559) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสั่งห้ามฉายที่ Warehouse 30 รวมทั้งงดกิจกรรมพูดคุยถึงภาพยนตร์หลังจากนั้น โดยเจ้าหน้าที่ให้ความเห็นว่าเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้มีความสุ่มเสี่ยงไม่เหมาะสมต่อช่วงเวลา โดยหนังแบ่งเรื่องเล่าออกเป็น 4 เรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกันแบบหลวมๆ หนึ่งเรื่องในนั้นมีฉากที่คล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เล่าถึงผู้กำกับภาพยนตร์หญิงและผู้เป็นแรงบันดาลใจของเธอ ซึ่งเคยเป็นอดีตนักศึกษาและนักกิจกรรมในช่วงปี 2510 ดาวคะนองเปิดฉายรอบปกติอีกครั้งในวันที่ 8 ธ.ค. 2559 

อาบัติ (2558) มีมติห้ามฉายจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยให้เหตุผลว่าสร้างความเสื่อมเสียต่อพุทธศาสนา เนื่องด้วยเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสามเณรที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เสพของมึนเมา ทั้งนี้ยังมีเนื้อหาภาพความรุนแรงพูดส่อเชิงชู้สาว และไม่เคารพพระพุทธรูป จึงมีการเลื่อนการฉายไปก่อน ทางผู้สร้างได้มีการตัดเนื้อหาบางส่วนและเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น ‘อาปัต’ จึงอนุญาติให้ฉายได้ ในเรตผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป เริ่มฉายครั้งแรก 18 ต.ค. 2558 โดยเวอร์ชันเก่ายังคงถูกห้ามนำมาฉายในประเทศไทย หากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมายอีกด้วย

ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 (2561) ไม่ผ่านเซนเซอร์จากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เนื่องจากมีฉากพระเคาะโรงศพแฟนเก่าแล้วร้องไห้  โดยทางทีมงานได้รับแจ้งจากกองเซ็นเซอร์เพียง 1 วันก่อนฉายรอบแรกว่ามีฉากที่ไม่เหมาะสมให้ตัดออก เพราะเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่สำรวม และเป็นเรื่องที่อ่อนไหวทางศาสนา ทางทีมงานจึงได้เลื่อนการฉายออกไปก่อนและทำการตัดฉากที่พระเกาะโลงร้องไห้ฟูมฟายให้สั้นลง จึงได้รับอนุมัติให้ฉายได้โดยได้เรทอายุ 15 ปีขึ้นไป

ซีนที่ไม่ผ่านเซ็นเซอร์ในไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 https://youtu.be/9EgmiRH71vQ

Sex Education (2562) สมาชิกพรรคพลเมืองไทย ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กสทช. ให้ปลดป้ายโฆษณาและตรวจสอบซีรีส์เรื่อง Sex Education ซีซัน 2 ที่เข้าฉายทาง Netflix เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาผิดศีลธรรม ไม่เหมาะสมต่อเยาวชนไทย ต่อมาทั้งโพสต์และเพจของพรรคพลเมืองไทยได้ปลิวหายไป ซึ่งข้อร้องเรียนนี้ก็ไม่ได้มีผลต่อซีรีส์เรื่องนี้แต่อย่างใด ปัจจุบันซีรีส์เรื่องนี้ได้มีผลตอบรับดีทั่วโลกมีการสร้างต่อจนถึงซีซัน 4 และมีแผนจะสร้างต่อในซีซันต่อไปอีกในอนาคต

เอหิปัสสิโก (2564) หลังส่งภาพยนตร์ไปตรวจพิจารณา ผู้กำกับได้รับแจ้งว่ามีคณะกรรมการบางส่วนไม่อยากให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ และทางผู้กำกับต้องเข้าไปชี้แจงกับทางคณะกรรมการ แต่เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 ก็ได้รับแจ้งว่าสารคดีผ่านเซนเซอร์แล้วสามารถฉายได้ โดยไม่ต้องตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใดๆ ซึ่งทางคณะกรรมการให้เหตุผลว่าต้องการให้เกิดการถกเถียงในกลุ่ม จึงให้มีการพิจารณาอีกครั้งและไม่มีการเรียกผู้กำกับเข้าไปสอบถามเหมือนที่บอกไว้ตอนแรก ซึ่งสารคดีเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องราวคดีของพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2560

Squid Game (2564) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาเตือนประชาชนว่าซีรีส์ Squid Game มีการนำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสม มีการนำเสนอเนื้อหา ภาพ เสียง พฤติกรรมรุนแรง ทำร้ายผู้อื่นเพื่อแข่งขันและเอาตัวรอด ซึ่งอาจเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรง จนอาจเกิดเป็นอาชญากรรม โดยเฉพาะเด็กหรือเยาวชน ผู้ปกครองจึงต้องคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ซึ่งเรื่องนี้เป็นซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้ เล่าเรื่องราวของกลุ่มคนที่เสี่ยงชีวิตในการเอาชีวิตรอดอย่างลึกลับผ่านการเล่นเกมที่มีเงินรางวัล 45.6 พันล้านวอน หลังจากเข้าฉายก็เกิดเป็นกระแสโด่งดังระดับโลก ติดอันดับ 1 ใน Netfilx หลายสัปดาห์ติดต่อกัน จนทำให้รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยเกิดความเป็นห่วง ในขณะที่มีความเห็นจากโลกออนไลน์บอกว่าสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้น่ากลัวยิ่งกว่าในเรื่อง Squid Game อีก

รวมรวมข้อมูลจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท