อัพเดทมนุษยธรรม-สงครามปาตานี Ep2 : มุมนักวิชาการสันติศึกษา - ปธ.สภาประชาสังคมชายแดนใต้

 

  • อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษาชี้การรับรู้เรื่องมนุษยธรรมจำเป็นกับทุกกลุ่ม แม้กระทั่งรัฐบาลไทย แต่ในภาพใหญ่เรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด ขณะที่ผลกระทบของผู้หญิงและเด็กลดลงตามสัดส่วนของเหตุการณ์ที่ลดลง
  • ย้ำการลงนามให้สัญญา เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องติดตามการกระทำหลังจากนั้นด้วย
  • ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ระบุคนมลายูมุสลิมเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง แต่คนมลายูพุทธกลับไม่ค่อยสนใจ เหตุมองว่าตนไม่ได้ทำผิดอะไรต่อรัฐ ส่วนสถานการณ์การโจมตีพลเรือนลดลงเพราะการลงนามหยุดยิงช่วงโควิด แต่กับคู่ต่อสู้ทางอาวุธโดยตรงยังคงมีต่อเนื่อง ขณะที่ BRN ยกระดับสู่สากล แต่อาจเสียเปรียบที่ลงนามหยุดยิงฝ่ายเดียว

 

กว่า 17 ปีของเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส วันที่ 4 ม.ค.2547 สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี ปมความขัดแย้งกลับมาปะทุอีกครั้ง อย่างต่อเนื่อง รายงานชุดสัมภาษณ์ตั้งเป้าสัมภาษณ์เพื่ออัพเดทสถานการณ์สงคราม ความขัดแย้ง รวมทั้งประเด็นมนุษยธรรมในพื้นที่ผ่านมุมมองนักวิชาการ นักวิจัย ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ สื่อ ข้าราชการและนักการเมือง

โดยในตอนที่ 2 นี้ เป็นการคุยกับ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และ รักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ในประเด็นสถานการณ์ในพื้นที่และความรับรู้เรื่องมนุษยธรรม

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

การรับรู้เรื่องมนุษยธรรมจำเป็นกับทุกกลุ่ม แม้กระทั่งรัฐบาลไทย แต่ในภาพใหญ่เรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด

รุ่งรวี ระบุถึงความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ  International Humanitarian Law (IHL) ในส่วนของกลุ่มติดอาวุธ เช่น กลุ่มพูโล (องค์การปลดปล่อยสหปาตานี - PULO) และกลุมบีอาร์เอ็น (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี - BRN) ว่า พวกเขาได้รับการอบรมจากองค์กระหว่างประเทศ เช่น Geneva Call มาแล้ว ก็น่าจะมีความเข้าใจในเรื่องกฎเกณฑ์ด้านมนุษยธรรมในภาวะสงครามมากขึ้น ส่วนของรัฐไทย น่าจะยังไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้มากนัก เพราะรัฐไทยปฏิเสธว่าพื้นที่ในภาคใต้เป็นความขัดแย้งด้วยอาวุธตั้งแต่ต้น การจะยอมรับถึงการใช้ IHL จึงเป็นเรื่องยาก

  • หมายเหตุ : ความหมายของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law หรือ Law of Armed Conflict หรือ Law of War) คือ กฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับวิธีการทำสงครามและการปฏิบัติต่อพลรบและพลเรือนอย่างมีมนุษยธรรมในระหว่างการทำสงคราม (Jus in bello) โดยมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญ 5 หลัก ได้แก่ (1) หลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน (Principle of Distinction) (2) หลักการความได้สัดส่วน (Proportionality) (3) หลักการเตือนภัยก่อนการโจมตี (Precuation) (4) หลักความจำเป็นทางทหาร (Military Necessity) และ (5) หลักมนุษยธรรม (Humanity)
  • อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย www.treaties.mfa.go.th

ส่วนคนในพี้นที่นั้น อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา กล่าวว่า อาจจะมี NGOs บางกลุ่มที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ หากได้รับการอบรมโดยองค์กรระหว่างประเทศ แต่ในภาพใหญ่ ความเข้าใจในเรื่องนี้น่าจะค่อนข้างจำกัด แต่ถ้าเจาะจงไปที่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ เปอร์เซ็นต์การรับรู้ต่อเรื่อง IHL คาดว่าน้อยมาก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะพอสมควร เป็นเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ คนที่เข้าใจจริงๆ มีจำกัด แม้แต่ในหมู่ภาคประชาสังคมเอง หากว่ากลุ่มหลัก คือ กลุ่มติดอาวุธ รัฐบาลไทย และภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องการปกป้องพลเรือนและสิทธิมนุษยชนมีความเข้าใจในเรื่อง IHL ก็จะมีประโยชน์ต่อการปกป้องพลเรือนในภาวะสงคราม

คนมลายูมุสลิมเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง แต่คนมลายูพุทธกลับไม่ค่อยสนใจ เหตุมองว่าตนไม่ได้ทำผิดอะไรต่อรัฐ

ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มองในเรื่องการรับรู้ประเด็นมนุษยธรรมว่า พี่น้องมลายูมุสลิมได้เปรียบกว่าพี่น้องมลายูพุทธ เนื่องจากที่ผ่านมาหากย้อนประวัติศาสตร์กลับไป พี่น้องมลายูมุสลิมได้เรียนรู้ผ่านการถูกกระทำ ถูกกดขี่ ถูกข่มเหง และถูกรังแก มาโดยตลอด จึงทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นมา

แต่หากมองประวัติศาสตร์ในระยะใกล้ตั้งแต่ปี 2547 พี่น้องมลายูมุสลิมถูกกระทำโดยส่วนใหญ่ จึงทำให้พวกเขาซึมซับในเรื่องพวกนี้ ฟีดแบ็คก็มีการออกมาเรียกร้อง มีการออกมาเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก มันเลยเกิดองค์ความรู้ในเรื่องมนุษยธรรม และเรื่องสิทธิมนุษยชนค่อนข้างสูง เพราะพวกเขาเรียนรู้ตามประสบการณ์ตรงที่ตนเองพบเจอ จนรู้ช่องทางในการที่จะเคลื่อนไหว หรือ เรียกร้อง ในเรื่องต่างที่พวกเขาถูกกระทำ

ในมุมกลับกันพี่น้องมลายูพุทธกลับไม่ค่อยสนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องมนุษยธรรมอย่างจริงจัง โดยถือว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่รู้จะไปเรียกร้องอะไรกับใคร เพราะพี่น้องมลายูพุทธมีความชัดเจนว่าเขาไม่ได้ถูกกระทำโดยรัฐ แต่ถูกกระทำโดยฝ่ายขบวนการ หรือ ฝ่ายผู้คิดเห็นต่าง ที่นี้พวกเขาก็ไม่รู้จะไปเรียกร้องหาความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมจากใครได้ ถ้าจะไปเรียกร้องจากฝ่าย BRN เขาจะฟังเราหรือไม่ แต่ถึงเขาฟังเสียงเราก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าเขาจะเห็นด้วยกับเราหรือไม่ หรือเขาเห็นว่าพี่น้องมลายูพุทธเป็นพวกเดียวกันกับรัฐ ถึงกระทำเราเพื่อให้กระทบกับรัฐ หรือเปล่า

กระนั้นก็ตามการรับฟังโดยกลุ่ม BRN ต่อเสียงพี่น้องมลายูพุทธ เราคาดหวังอย่างมากมาตั้งแต่ต้นในการเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เราอยากให้มีเสียงของคนพุทธเข้าไปอยู่ในกระบวนการสันติภาพด้วย แต่ผลกระทบจากแถลงการณ์ของ BRN พักหลังเขากล้าที่จะเริ่มใช้คำว่า "มลายูด้วยกัน" ทั้งมลายูพุทธและมลายูมุสลิม ที่ตนเคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้ตนก็เคลื่อนไหวในฐานะคนมลายูที่นับถือศาสนาพุทธ ยังไงเราก็เป็นพี่น้องกัน

รักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้และเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวด้วยว่า ในนามเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพก็คงต้องเพิ่มความพยายามที่จะต้องรณรงค์ให้องค์ความรู้ เสริมความเข้าใจว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมด้วยว่ามันคือกฎหมายแบบไหน และแต่ละคนมีมุมมองกันแบบไหน ความจริงแล้วเราถูกละเมิด แต่เราถูกละเมิดจากใคร อีกทั้งเราจะไปเรียกร้องจากใครได้บ้าง ซึ่งประชาชนทุกคนต้องรับรู้โดยที่ไม่จำกัดความต่างทางด้านศาสนา พลเมืองทุกคนต้องรู้และต้องตื่นรู้ด้วย

ผลกระทบของผู้หญิงและเด็กลดลงตามสัดส่วนของเหตุการณ์ที่ลดลง

รุ่งรวี เผยถึงสัดส่วนด้านผลกระทบต่อกลุ่มผู้หญิงและเด็กว่า ลดลงตามสัดส่วนของความรุนแรงที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังมีการพูดคุยสันติภาพ เหตุผลสำคัญ คือ น่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนในเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่ม BRN เพื่อสร้างความชอบธรรมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น 

โจมตีพลเรือนลดลงเพราะการลงนามหยุดยิงช่วงโควิด แต่กับคู่ต่อสู้ทางอาวุธโดยตรงยังคงมีต่อเนื่อง

รักชาติ ให้ความเห็นต่อประเด็นผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอว่า ถ้ามองช่วงโรคระบาดโควิค เหตุการณ์ที่ไปกระทบกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอเบาบางลงอย่างมาก แต่กับคู่ขัดแย้งหลักก็มีการไปโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง มีวางระเบิดเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐเองก็เข้าไปปิดล้อมจับกุมบ้าง ปะทะและวิสามัญด้วย แต่มันก็เป็นการขัดกันทางอาวุธด้วยกัน ถือว่าไม่กระทบกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ ที่ตนพูดถึงตนจะเจาะจงไปเลยว่าเป้าหมายพลเรือน คือ กลุ่มเป้าหมายอ่อนแอที่รวมไปถึงเด็กและสตรี เพราะถ้าเกิดว่าเรากำหนดแบบนั้นได้ เราจะอยู่ในมิติการพูดคุยที่มีความก้าวหน้า มันจะเห็นแบบชัดเจนถ้าสามารถคุยเรื่องแบบนี้ได้

เพียงแต่ตอนนี้อาจจะมีเหตุผล หรือ สาเหตุอื่นเข้ามา อาจจะอยู่ในช่วงของสถานการณ์โควิด อยู่ในช่วงของการลงนามฝ่ายเดียวกับ  Geneva call แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตนยังมองว่าการอยู่ในช่วงสถานการณ์ต่างๆ แบบนี้อาจจะมีการลดจำนวนเหตุการณ์ลงบ้าง โดยเฉพาะเหตุการณ์โจมตีเป้าหมายพลเรือน แต่เราเห็นชัดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งไปที่คู่ต่อสู้ที่มีการถืออาวุธด้วยกันโดยตรง และตนคิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ถ้ามีการโจมตีจากฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งจะนิ่งเฉย เนื่องจากมีการประกาศลงนามหยุดปฏิบัติช่วงโควิด ถือว่าเป็นการมองคนละมุม ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นสงคราม ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นอาชญากรภายในประเทศ และก็บังคับใช้กฎหมายได้ก็ถือว่าเป็นความชอบธรรมของรัฐ

  • สำหรับ Geneva Call  นั้น เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนตั้งอยู่ในเมืองเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เป็นกลางและความเป็นอิสระในการสานเสวนากับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐโดยส่งเสริมและเคารพต่อหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และทำงานเน้นการทำงานเพื่อปกป้องพลเรือนในสถานการณ์ความขัดแย้งและโดยเฉพาะต่อเด็กและการห้ามการละเมิดทางเพศรวมทั้งการเลือกปฏิบัติทางเพศ และการห้ามใช้กับดักระเบิด

การลงนามให้สัญญา เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องติดตามการกระทำหลังจากนั้นด้วย

ส่วนประเด็นการลงนามใน Deep of Commitment กับ Geniva Call รุ่งรวี มองว่า เป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ต้องดูว่า BRN สามารถที่จะทำได้ตามที่ได้สัญญาไว้หรือไม่ ในเหตุการณ์สังหาร 3 ศพที่ปัตตานีเมื่อต้นปีนี้ (ดูข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/news/crime/2076280) ก็มีผู้หญิงอยู่ด้วย ที่น่าสนใจ คือ BRN จะอธิบายอย่างไร คิดว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะเป็นการแก้แค้นการวิสามัญฆาตกรรมฝ่ายขบวนการที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา กล่าวด้วยว่า ความจริงแล้ว PULO เคยทำ Deed of Commitment กับ Geneva Call มาก่อนหน้านี้ แต่ PULO ไม่ใช่กลุ่มที่คุมกองกำลังหลักในพื้นที่ ก็เลยไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าการลงนามของ BRN ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แต่ก็มีข้อดีสำหรับพลเรือนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการปกป้องเด็ก เพราะเขาน่าจะมีความปลอดภัยมากขึ้น แม้ว่าสภาวะของความขัดแย้งด้วยอาวุธน่าจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยในอนาคตอันใกล้

BRN ยกระดับสู่สากล แต่อาจเสียเปรียบที่ลงนามหยุดยิงฝ่ายเดียว

ส่วน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มองเรื่องนี้ในทำนองเดียวกันว่า เป็นการยกระดับองค์กรเคลื่อนไหวใต้ดินสู่หลักการสากล ซึ่งหากหลังการลงนาม BRN หยุดก่อเหตุภายในพื้นที่ก็ถือว่าชอบธรรมที่จะยกระดับองค์กรไปสู่สากลได้เหมือนกัน ในขณะเดียวกันหากมองอีกมุมหนึ่งถือว่าเป็นการเสียเปรียบของ BRN หรือเปล่าที่ไปลงนามฝ่ายเดียว และอาจจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วย แต่รัฐไทยกลับชอบธรรมมากกว่า เพราะเขาไม่ได้ลงนามด้วย และยังสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ด้วย

แต่จะอย่างไรก็ตามแต่การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายควรหลีกเลี่ยงกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ ถึงจะไม่มีโควิดแล้วก็ตาม ทุกฝ่ายต้องละเว้นกลุ่มเป้าหมายพลเรือนเป็นเรื่องสำคัญ แล้วนอกเหนือจากนั้นคุณก็สู้รบกันไป และต้องเร่งเข้าสู่กระบวนการพูดคุยให้เร็วที่สุด บ้านเรามันบอกช้ำมาเยอะมากแล้ว เราเสียทั้งโอกาสแบะชีวิตค่อนข้างสูง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท