#ม็อบ13ตุลา ทะลุฟ้าจัดเสวนากระบวนการยุติธรรม ถกปัญหา-หาทางออก

#ม็อบ13ตุลา เสวนากระบวนการยุติธรรมกับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยกลุ่มทะลุฟ้าจบลงด้วยดี เปิดเวทีเชิญตัวแทน 4 ฝ่ายร่วมพูดคุยถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมและความไม่เป็นธรรมในคดีการเมือง ยืนยันสิทธิประกันตัว และสิทธิในการแสดงออก ด้าน 'ทนายแจม' จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามถึงผู้พิพากษา "ถ้าไม่ผิดจะกลัวอะไร" เหตุไม่ยอมลงชื่อในคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเบนจา อะปัญ

13 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ต.ค. 2564) เวลาประมาณ 16.00 น. กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรม #ม็อบ13ตุลา เสวนากระบวนการยุติธรรมกับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ถ.งามวงศ์วาน โดยรูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นการตั้งเวทีเสวนา มีการแสดงดนตรี และการแสดง Performance Art เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อีกทั้งยังมีการเปิดโต๊ะเขียนจดหมายถึงคนในเรือนจำ และมีการติดธงรูปคนที่อยู่ในเรือนจำเล็กๆ รอบงานอีกด้วย

แผงเหล็กและลวดหนามหีบเพลงถูกนำมาวางกั้นบริเวณหน้าทางเข้าเรือนจำกลางคลองเปรม
 

เวลา 16.25 น. กลุ่มคนเสื้อแดงที่มารอลุ้นผลการประกันตัวของจตุพร พรหมพันธุ์ในวันนี้ มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุฟ้า โดยทีมสังเกตการณ์คาดว่ามีผู้ชุมนุมมารวมตัวกันประมาณ 100 คน หลังจากนั้นเวลา 16.40 น. กองข่าวแกงรายงานว่าผู้จัดกิจกรรมเปิดเวทีฟรีไมค์ (Free Microphone) ให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถขึ้นมาปราศรัยระบายความในใจเกี่ยวกับปัญหาการเมืองและสังคมที่เผชิญอยู่ในขณะนี้

ตัวหนังสือบนป้ายเรือนจำพิเศษถูกนำออกไปก่อนมีการชุมนุม
ผู้ชุมนุมจึงเอาป้ายผ้าที่เขียนคำว่า "ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์" ไปแขวนไว้ (ภาพโดย iLaw)
 

ต่อมาเวลา 17.25 น. กลุ่มทะลุฟ้าอ่านบทกวีและทำกิจกรรม Performance Art หน้าเรือนจำพิเศษ มีกิจกรรมโปรยกระดาษเขียนข้อความรณรงค์ เช่น 'นักสู้ไม่ใช่นักโทษ' 'ปฏิรูปสถาบันตุลาการ' 'หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชน' นอกจากนี้ ยังมีการใช้สีแดงทาประตูเรือนจำพิเศษเพื่อสื่อสารถึงเลือดและการต่อสู้ของนักกิจกรรมที่อยู่ในเรือนจำ และเพื่อยืนยันว่าคนข้างนอกจะไม่ลืมคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

 

หลังจากนั้นเวลา 17.32 น. จึงเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ "กระบวนการยุติธรรมกับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง" โดยมี ปูน ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) จากกลุ่มทะลุฟ้า, เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากกลุ่ม People Go Network, ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ผศ.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ดูแลบัญชีกองทุนราษฎรประสงค์

หลังเสร็จสิ้นการเสวนา วงสามัญชนได้ขึ้นแสดงดนตรี และในเวลาประมาณ 18.55 น. ผู้จัดการชุมนุมแจกเนื้อเพลง 'ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ' ให้ผู้ชุมนุมร้องร่วมกัน โดยหันหน้าเข้าฝั่งเรือนจำ ต่อมาเวลา 19.10 น. ผู้จัดการชุมนุมนำเค้กขึ้นมาบนเวที และร่วมร้องเพลงวันเกิดให้ไดโน่ สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ และมีการจุดพลุต่อเนื่องประมาณ 3-5 นาที หลังจากนั้น กลุ่มทะลุฟ้าประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 19.15 น.

หลังยุติการชุมนุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดเหตุชุลมุนขึ้นบริเวณหน้าเรือนจำ รายงานเบื้องต้นระบุว่าชายคนหนึ่งซึ่งอ้างตนว่าเป็นกลุ่มทะลุแก๊สได้ชกหน้าสื่อมวลชนอิสระคนหนึ่งโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งผู้จัดการชุมนุมได้เข้ามาระงับเหตุไม่ให้บานปลาย ผู้ชุมนุมทั้งหมดสลายตัวจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว ส่วนผู้บาดเจ็บถูกนำตัวตัวส่งโรงพยาบาล ต่อมาเวลา 20.43 น. ไอลอว์รายงานผ่านทวิตเตอร์ว่าคนที่ถูกทำร้ายเล่าว่าตนเป็นสื่ออิสระได้เข้าไปขอสัมภาษณ์เยาวชนคนหนึ่ง โดยเอาภาพจากเหตุทะลุแก๊สไปถามว่าใช่เขาหรือไม่ ซึ่งทำให้คนถูกขอสัมภาษณ์ไม่พอใจ จึงไม่ได้สัมภาษณ์กัน มีผู้ใหญ่ในที่ชุมนุมมาขอเคลียร์ จึงกล่าวขอโทษไป แต่ยังถูกกระชาก และถูกรุมทำร้าย

ฟังเสียงบนเวทีเสวนาถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมและความไม่เป็นธรรมในคดีการเมือง

ธนพัฒน์ กล่าวว่า ไม่สมควรมีใครถูกตั้งข้อหาและถูกคุมขัง เพราะทุกคนมีออกมาเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และตนเชื่อว่าคนในประเทศไทยต้องการมีประชาธิปไตยแบบสากลเหมือนในหลายๆ ประเทศ แต่มีไม่ได้เพราะยังมีกฎหมายบางมาตราที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น กฎหมายที่ห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งตนคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะหรือสถาบันทางการเมืองต้องทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งการวิจารณ์นั้นล้วนแต่เป็นไปด้วยเจตนาสุจริต และเป็นไปตามข้อเท็จจริง หากผู้ที่ถูกวิจารณ์รู้สึกไม่พอใจก็ขอให้ใช้กฎหมายและวิธีการทางกฎหมายที่เท่าเทียมกับประชาชน นอกจากนี้ ธนพัฒน์ยังฝากถึงตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่มักอ้างว่า 'ทำตามคำสั่งนาย' แม้จะปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง แต่ก็ควรมีความเป็นมนุษย์ด้วย และตนเชื่อว่าทุกสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทำกับประชาชนจะต้องได้รับการสะสางในอนาคตอย่างแน่นอน

ปูน ธนพัฒน (สงวนนามสกุล) จากกลุ่มทะลุฟ้า
 

ธนพัฒน์หยิบยกเรื่องราวในหนังสือเรื่อง "ปีศาจ" ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ขึ้นมาพูดในการเสวนาครั้งนี้ โดยระบุว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงการต่อสู้ทางด้านชนชั้น แม้จะแต่งไว้เมื่อ 70 กว่าปีก่อน แต่เรื่องราวในหนังสือยังคงเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน รวมถึงความคิดของผู้คนบางส่วนในยุคนี้ก็ยังไม่หลุดพ้นจากระบบชนชั้น อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าคนเก่าๆ ความคิดเก่าๆ จะหายไปตามกาลเวลา ถ้าเราลุกขึ้นมาเก็บกวาดสิ่งผุพังต่างๆ ในประเทศนี้ตอนนี้ จะทำให้ประเทศเราสมบูรณ์แบบได้ในอนาคต แบบที่อารยะประเทศเป็นกัน

"ถ้าไม่ได้ทำผิดแล้วจะกลัวอะไร ถ้าท่านยึดมั่นว่าคำสั่งของท่านเป็นไปตามหลักการกฎหมายทุกประการ ไม่ได้มีอะไรที่มันผิดหรือบิดเบี้ยว ท่านไม่มีความจำเป็นที่จะเขินอายกับการลงชื่อเพื่อกักขังอนาคตของเด็กคนหนึ่ง ลงชื่อเพื่อปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราวของน้องๆหลายๆ คน น้องๆ หลายๆ คนที่ออกมาเคลื่อนไหว" ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศศินันท์เล่าย้อนความสัมพันธ์กับอานทท์ นำภา หรือทนายอานนท์ ในฐานะรุ่นพี่ทนายความ และเพื่อนร่วมงาน ที่เปลี่ยนบทบาทจากทนายความผู้ให้ความช่วยเหลือนักเคลื่อนไหวหรือคนที่ถูกละเมิดสิทธิมาเป็นนักเคลื่อนไหวที่เปิดหน้าสู้เสียเอง โดยศศินันท์บอกว่าอานนท์ไม่ต้องการให้นักศึกษาและเยาวชนต่อสู้อย่างเดียวดาย จึงออกมาร่วมต่อสู้ด้วย และอานนท์รู้ดีว่าการต่อสู้นี้มีระยะเวลาที่ยาวนาน แต่อานนท์ก็ยืนยันที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งหลายๆ คนก็ทราบดีว่าไม่ได้มีความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น ศศินันท์กล่าวต่อไปว่ากระบวนการยุติธรรมในตอนนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าสิ้นหวัง พร้อมยกตัวอย่างกรณีของอดีตผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ ที่สะเทือนวงการยุติธรรมอย่างมาก เพราะตำรวจถือเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม แต่กลับทำผิดร้ายแรงเสียเอง ต่อเนื่องมาจนถึงผู้พิพากษาที่ตัดสินหรือวินิจฉัยคดีการเมืองแบบไม่เคารพหลักการ เช่น การให้ประกันตัว ซึ่งตามหลักกฎหมายของประเทศไทยแล้ว หากยังไม่มีคำพิพากษาสูงสุดถือว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นยังไม่มีความผิด

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์  (ทนายแจม) ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 

นอกจากนี้ ศศินันท์ยังยกตัวอย่างกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเบนจา อะปัญ นักกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยระบุว่าปกติแล้ว ทุกครั้งที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจะมีการลงชื่อผู้พิพากษาในเอกสาร แต่กรณีของเบนจาไม่มีการลงชื่อ ซึ่งตนได้สอบถามเจ้าหน้าที่ศาลว่าทำไมผู้พิพากษาจึงไม่ลงชื่อ และได้รับคำตอบว่าผู้พิพากษากลัวโดนถล่มในโซเชียลมีเดีย กลัวผลกระทบด้านความปลอดภัย ตนจึงอยากถามกลับไปยังผู้พิพากษาด้วยคำถามที่ทุกคนชอบถามว่า "ถ้าไม่ได้ทำผิดแล้วจะกลัวอะไร"

"ถ้าท่านยึดมั่นว่าคำสั่งของท่านเป็นไปตามหลักการกฎหมายทุกประการ ไม่ได้มีอะไรที่มันผิดหรือบิดเบี้ยว ท่านไม่มีความจำเป็นที่จะเขินอายกับการลงชื่อเพื่อกักขังอนาคตของเด็กคนหนึ่ง ลงชื่อเพื่อปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราวของน้องๆหลายๆ คน น้องๆ หลายๆ คนที่ออกมาเคลื่อนไหว" ศศินันท์กล่าว พร้อมเล่าต่อไปว่าจากการพูดคุยกับนักศึกษาและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวพบว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะทางบ้านดี เข้าถึงการศึกษา และไม่ได้มีชีวิตที่ลำบาก แต่พวกเขาบอกเหตุผลที่ออกมาต่อสู้ว่าเขาไม่สามารถมีอนาคตที่ดีได้ ถ้าคนรอบข้างหรือคนทั่วๆ ไปยังมีปัญหา ยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคม ยังมีความอยุติธรรมเกิดขึ้นอยู่

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
 

เลิศศักดิ์ ผู้พูดคนต่อมากล่าวถึงโปรเจ็กต์เดินทะลุฟ้าที่กลุ่ม People Go Network ทำร่วมกับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ว่าเริ่มต้นมาจากการสานต่อกินกรรม We Walk ซึ่งตั้งเป้าว่าจะต้องเดินเข้า กทม. ให้ได้ ประกอบกับในช่วงนั้นจตุภัทร์ได้รับหมายเรียกให้มารายงานตัวที่ กทม. พอดีจึงเกิดเป็นกิจกรรมเดินทะลุฟ้าขึ้น โดยจุดประสงค์หลักของการจัดกิจกรรมคือต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเรื่องสิทธิการประกันตัว รวมถึงการถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ แม้ว่าจตุภัทร์จะถูกคุมขังในเวลาต่อมาหลังการรายงานตัวในครั้งนั้น แต่ผลที่ตามมาคือเกิดการรวมกลุ่มของประชาชนที่ใหญ่ขึ้น มีกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับแกนนำอย่างต่อเนื่อง เช่น หมู่บ้านทะลุฟ้า หรือการยืนหยุดขัง เป็นต้น

นอกจากนี้ เลิศศักดิ์ยังกล่าวถึงประเด็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าเป็นการลดทอนเสียงเรียกร้องของประชาชนในการชุมนุมทางการเมือง รวมไปถึงการเรียกร้องในภาคประชาสังคมต่างๆ พร้อมยกตัวอย่างการตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือเวทีการรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนอื่นๆ ว่าไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐอ้างว่าติด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกับการชุมนุม ซึ่งทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยกว่าเดิมมาก แต่กลับกัน เมื่อรัฐเป็นผู้จัดเวทีนั้นเองกลับสามารถทำได้ เห็นได้ชัดว่ารัฐพยายามใช้กฎหมายเพื่อกีดกันประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง อีกทั้งเลิศศักดิ์ยังตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงนี้รัฐสามารถผลักดันและพัฒนาโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เพราะว่าประชาชนไม่สามารถออกมาแสดงความคิดเห็นหรือว่าเรียกร้องได้เนื่องจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่

ผศ.ชลิตา บัณฑุวงศ์
 

ด้าน ชลิตา ผู้ดูแลบัญชีกองทุนราษฎรประสงค์ เรียกร้องให้รัฐยุติการดำเนินคดีหรือดำเนินการทางกฎหมายกับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พร้อมเล่าจุดเริ่มต้นของกองทุนราษฎรประสงค์ว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2553 จากเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีคนเสื้อแดงถูกจับดำเนินคดีจำนวนมาก ในช่วงเวลานั้น มีการระดมทุนเพื่อช่วยว่าความให้กับพี่น้องเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นมีฐานะยากจนและไม่ได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งช่วงเวลานั้นยังไม่มีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงช่วยเหลือกันไปตามมีตามเกิด หลังจากนั้น กองทุนก็ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในช่วงรัฐประหารปี 2557 มีคนถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมากและช่วงนั้นต้องไปขึ้นศาลทหาร ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีหลายร้อยคน จึงมีการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อีกครั้ง ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2563 ซึ่งมีการชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากและโดนดำเนินคดีมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตนจึงนำเงินและบัญชีนั้นมาพัฒนาเป็นกองทุนราษฎรประสงค์จนเป็นรูปเป็นร่างในทุกวันนี้

"หาก กสม. จะมีเสียงหรือมีบทบาทก็อยากให้เข้ามาช่วยในเรื่องของการประกันตัวด้วยและช่วยประสานกับกองทุนยุติธรรมให้ประชาชนสามารถเข้าถึง[เงินช่วยเหลือ]ได้ง่ายกว่านี้ด้วย" ชลิตา บัณฑุวงศ์ ผู้ดูแลบัญชีกองทุนราษฎรประสงค์

ชลิตากล่าวว่ากองทุนนี้ไม่ใช่แค่เงินประกันตัว แต่มีความหมายตามชื่อซึ่งโยงไปถึงการล้อมปราบเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ และยึดโยงกับเจตนารมณ์ของประชาชนว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนที่จะปกป้องสิทธิและเสรีภาพของเพื่อน รวมถึงต้องการปกป้องเจตนารมณ์ของคณะราษฎรและคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง กองทุนราษฎรประสงค์ไม่ใช่การระดมเงินธรรมดาแต่เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนที่บ่งบอกถึงความไม่พอใจกับความยุติธรรมและระบบโครงสร้างต่างๆ ของประเทศ

"ดิฉันเชื่อว่าท่ามกลางการกดทับหรือการใช้อำนาจรัฐ ประชาชนหลายคนไม่สามารถออกมาแสดงออกได้ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เขาคิดว่าเขาสามารถทำได้ก็คือการบริจาคเงินเข้ากองทุนนี้เพื่อเอาไปช่วยหรือเหลือคนที่ถูกรัฐรังแก คนที่เป็นแกนนำ คนที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของประชาชน นี่คือความสำคัญของกองทุนนี้" ชลิตากล่าว พร้อมระบุว่ากองทุนนี้ยืนอยู่บนหลักการที่ว่ากฎหมายไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการคนที่เห็นต่างจากรัฐ และเรายืนอยู่บนหลักการที่ว่าคนทุกคนจะต้องได้รับสิทธิและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีความุยติธรรมอย่างแท้จริง รวมถึงยึดมั่นในหลักสิทธิการประกันตัว ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้ และเรายืนยันในสิทธินี้ เพราะฉะนั้นกองทุนราษฎรประสงค์ไม่ใช่แค่คนบริจาคเงินเข้ามาแต่เป็นการแสดงถึงเจตจำนงและเจตนารมณ์ของประชาชนทั้งหมด 

ชลิตา กล่าวถึงประเด็นที่มีคนพยายามปั่นกระแสผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊สหรือผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ และการบริจาคเงินเข้ากองทุนราษฎรประสงค์ถือเป็นการสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบนั้น ตนในฐานะผู้ดูแลกองทุนขอยืนยันในหลักการว่า ผู้ต้องหาทุกคนจะต้องได้รับสิทธิในการประกันตัว ไม่ว่าจะเป็นใคร ก่อนจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด บุคคลนั้นถือว่าเป็นผู้ผู้บริสุทธิ์ และกองทุนราษฎรประสงค์ขอยืนยันในการประกันตัวผู้ชุมนุมเหล่านี้ เพราะปฏิบัติการของพวกเขาเป็นการชุมนุมทางการเมือง ข้อเรียกร้องของพวกเขาชัดเจน นั่นคือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก แม้ปฏิบัติการชองผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงจะดูอันตราย แต่ไม่เคยมุ่งหมายเอาชีวิตเจ้าหน้าที่ จุดตั้งต้นที่ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องเกิดจากความคับแค้นทางการเมือง ความขัดแย้งจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดล้มเหลว ซึ่งนักวิชาการหลายคนก็พูดในลักษณะเดียวกันหลังจากลงพื้นที่พูดคุยมาแล้ว

นอกจากนี้ ชลิตายังฝากถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าขอให้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องสิทธิการประกันตัว และควรตั้งคณะทำงานประสานงานกับกองทุนยุติธรรม เพราะเงินของกองทุนราษฎรประสงค์ใกล้จะหมดแล้ว

"เราเองก็เกรงใจประชาชนมาก เราไม่กล้าแม้แต่ที่จะบอกว่าช่วยกันโอนเงินเข้ากองทุนหน่อย เพราะประชาชนโอนกันมาเยอะมากแล้ว จนหมดกำลังแล้ว หาก กสม. จะมีเสียงหรือมีบทบาทก็อยากให้เข้ามาช่วยในเรื่องของการประกันตัวด้วยและช่วยประสานกับกองทุนยุติธรรมให้ประชาชนสามารถเข้าถึง (ผู้สื่อข่าว - เงินช่วยเหลือ) ได้ง่ายกว่านี้ด้วย" ชลิตา กล่าว

 

ก่อนจบกิจกรรมเสวนา ผู้ดำเนินการเสวนาให้ผู้พูดแต่ละคนกล่าวทิ้งท้าย โดยธนพัฒน์ขอฝากบทกวีไว้ 1 ท่อน ระบุว่า "จงอาจหาญกล้าที่จะมีฝัน จงศรัทธาตั้งมั่นในฝันใฝ่ เราเป็นกล้าและโดนย่ำอยู่ร่ำไป แต่เราจะเติบใหญ่เป็นไม้งาม" และขอให้ทุกคนจงเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่เลิศศักดิ์หวังให้กระบวนการยุติธรรมกลับเข้าสู่ทิศทางที่ควรจะเป็นตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ เพราะในตอนนี้อำนาจยุติธรรมกำลังรับใช้อำนาจอื่นที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สถาบันกษัตริย์กลับอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมฝากคำคมสั้นๆ ที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับนักกิจกรรมชาวพม่าเมื่อไม่นานมานี้ว่า "มันฝังกระสุนเข้าไปในหัวเราเพื่อจะเด็ดชีพเรา แต่พวกมันหารู้ไม่ว่าการปฏิวัตินี้มันอยู่ในหัวใจของเราต่างหาก"

ด้านชลิตาขอให้กำลังใจทุกคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ พร้อมระบุว่าเห็นด้วยกับเลิศศักดิ์ว่า หากจะแก้ปัญหาระยะยาวต้องแก้ที่โครงสร้าง นอกจากการแก้ไขมาตรา 112 แล้วยังต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะว่ารัฐธรรมนูญเป็นการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคม หากรัฐธรรมนูญยังเป็นแบบนี้ สิ่งต่างๆ ที่มากระทบตัวเราและละเมิดสิทธิของเราก็จะยังคงอยู่

ส่วนศศินันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่าขอให้ทุกคนที่อยู่ข้างนอกอย่าลืมคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เพราะทุกครั้งที่เข้าไปเยี่ยมในฐานะทนายความ พวกเขาจะถามเสมอว่าข้างนอกเป็นอย่างไรบ้าง ยังพูดถึงพวกเขาอยู่ไหม และขอให้ผู้ชุมนุมร่วมกับตะโกนคำว่า "ปล่อยเพื่อนเรา" 3 ครั้ง และขอเสียงปรบมือให้กับมารดานักกิจกรรมที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ สุดท้าย ขอขอบคุณทุกคนที่มาในวันนี้ และตนรับปากว่าจะนำเรื่องราวในวันนี้ไปเล่าให้ทุกคนที่อยู่ด้านในฟัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท