'สื่อไทยกับมายาคติความเป็นกลาง' วาทกรรมที่ย้อนแย้ง สร้างข้อจำกัดและอคติต่อสื่อเอง

นักวิชาการนิด้า ชี้ว่าวาทกรรม 'สื่อเป็นกลาง' คือการประกอบสร้างจากความคาดหวังในอุดมคติของคนในสังคม เป็นผลให้เกิดข้อจำกัดและอคติกับตัวสื่อเอง ทั้งที่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันตลอด หากแต่มีความปริแยก และย้อนแย้งอยู่

จเร สิงหโกวินท์ อาจารย์จากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา จเร สิงหโกวินท์ อาจารย์จากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้บรรยายวิชาการออนไลน์ หัวข้อ “สื่อไทยกับมายาคติความเป็นกลาง” โดยการบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายวิชาการออนไลน์ชุด “อคติในสังคมไทย” จัดขึ้นโดยเพจ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร - SAC 

จเรกล่าวถึงการที่สังคมมักตั้งข้อสงสัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ และยิ่งเข้มข้นขึ้นภายใต้วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา คือ เรื่องความเป็นกลางของสื่อ ไม่เพียงเท่านั้นข้อคำถามที่เกิดขึ้นจากสังคมยังหมายรวมถึงหน่วยงาน องค์กร ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ และผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อด้วยเช่นกัน ซึ่งองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆเหล่านี้ก็ตระหนัก และเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของสื่อในการนำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง และถูกต้องต่อประชาชน แต่ขณะเดียวกันคำถามที่สังคมมีต่อสื่อไม่ได้มีเพียงเรื่องความเป็นกลาง ยังมีอีกหลายประเด็น เช่น เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ เนื่องจากสื่อหลายสำนักมีการทำข่าวเพื่อเรียกเรทติ้งด้วยการสร้างภาพจำแบบเหมารวมอย่าง การตีตรา และการนำเสนออคติต่อคนส่วนน้อยในสังคม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปคือความคาดหวังของผู้รับสารว่าสื่อควรจะมีลักษณะเป็นกลาง 

อาจารย์จากคณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า กล่าวต่อว่า มีหลายงานศึกษาที่ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้รับสาร โดยส่วนใหญ่แล้วผู้รับสารมักมีข้อสรุปอยู่แล้วว่า สื่อจะมีอคติในการนำเสนอข่าวในทางการเมือง เช่น ปรากฏการณ์ในช่วงที่ผ่านมาของประเทศไทยในทวิตเตอร์ ที่มีแฮชแท็ก #สื่อมีไว้ทำไม นอกจากนั้นในงานศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับทัศนคติของผู้รับสารยังพบอีกด้วยว่าผู้รับสารเลือกรับสื่อที่สอดคล้องกับความเข้าใจส่วนตัว และอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตนเองเชื่ออยู่แล้ว ซึ่งสอดรับกับงานวิจัยที่พบว่าการที่ผู้รับสารมีพฤติกรรมการเลือกรับสื่อดังกล่าวทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าห้องเสียงสะท้อน (echo chamber) โดยส่งผลให้ผู้รับสารไม่เปิดรับความเชื่อที่เห็นต่างกับสิ่งที่ตนเองเชื่อ นอกจากนั้นยังพบอีกว่าคำถามที่ประชาชนตั้งข้อกังขาต่อสื่อ โดยเฉพาะประเด็นความเป็นเจ้าของสื่อในยุคเสรีนิยมใหม่ เกิดจากการที่สื่อถูกทำให้เป็นสื่อพาณิชย์ สื่อจึงมีแนวโน้มที่จะยึดโยงกับผู้สนับสนุน หรือเจ้าของสื่อ

 

จเรเผยถึงข้อเสนองานของตน ซึ่งอาศัยข้อมูลจากสื่อกระแสหลักช่วงตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน โดยกล่าวว่าการเผยแพร่วาทกรรมสื่อเป็นกลางนั้นส่งผลให้มีการสร้างบทบาทสื่อในอุดมคติแก่สังคม นอกจากนั้นยังทำให้เกิดข้อจำกัดต่อการทำงานของสื่อ และยังมีส่วนประกอบสร้างความจริงในสังคมที่ทำให้เกิดอคติต่อตัวสื่อเองด้วย ในช่วงที่ภูมิทัศน์สื่อไทยเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้ความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสั่นคลอน และขณะเดียวกันกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่กำกับการทำงานของสื่อก็มีความเข้มงวดขึ้นทำให้สื่อทำหน้าที่ได้อย่างยากลำบากมากขึ้น อีกทั้งปัจจัยในทางการเมือง ซึ่งตั้งแต่การรัฐประหารในปีพ.ศ. 2557 การควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อโดยใช้กฎหมาย และกรอบวิชาชีพกลายเป็นเรื่องปรกติในปัจจุบัน ซึ่งสื่อเองก็รับรู้ ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เองทำให้คำว่า สื่อเป็นกลาง ถูกสถาปนากลายเป็นความจริงของสังคม หรือกลายเป็นความคาดหวังเมื่อพูดถึงสื่อสิ่งที่มาคู่กันคือคำว่าสื่อเป็นกลาง ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และข้อเรียกร้องทางการเมือง ทำให้คำว่าสื่อเป็นกลางมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น 

การประกอบสร้างวาทกรรมสื่อเป็นกลาง

จเรกล่าวว่าแท้จริงแล้วความเป็นกลางของสื่อ เป็นเพียงหนึ่งในความจริงที่ต่างแข่งขันเพื่อสถาปนาให้เป็นความจริงหนึ่งเดียวของสังคม ซึ่งเป็นความจริงที่ถูกตั้งคำถาม ท้าทายโดยผู้รับสาร และผู้กำกับดูแลสื่อ ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าวาทกรรมสื่อเป็นกลางจึงไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันตลอด หากแต่มีความปริแยก และย้อนแย้งอยู่ โดยวาทกรรมสื่อเป็นกลางนั้น ถูกประกอบสร้างจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังจากสังคมที่ต้องการให้สื่อเป็นสถาบันหรือตัวกลางของสังคมในการสร้างสรรค์ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจากงานศึกษาของจเรนั้นพบว่า สื่อเป็นกลาง เป็นเพียงความคาดหวังในอุดมคติของคนในสังคมเท่านั้น และขณะเดียวกันสื่อในฐานะสถาบันทางสังคมก็ถูกมองว่ามีบทบาทในการรักษาประชาธิปไตย เนื่องจากการให้สิทธิ์ผู้รับสารในการเลือกรับสื่อ ความเป็นกลางของสื่อจึงมีความสำคัญต่อการปกครองของสังคมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นตัวสื่อจึงแบกความคาดหวังนี้ไว้ รวมถึงถูกตรวจสอบจากผู้กำกับดูแลวิชาชีพสื่อ อีกทั้งปัจจัยที่สื่อต้องแบกรับไว้อีกอย่างคือการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด 

วาทกรรมสื่อเป็นกลางภายใต้สงครามเรทติ้ง

อาจารย์จากคณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า ชี้ว่าในยุคปัจจุบันการแข่งขันของสื่อมีสูงมาก เนื่องจากการเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ และอินเตอร์เน็ต ขับเน้นให้สภาพการแข่งขัน รวมถึงการเกิดของสภาวะข้อมูลข่าวสารล้นเกิน(information overload) ทำให้ผู้รับสารมีตัวเลือกในการรับสื่อหลากหลายขึ้น ดังนั้นแม้กระทั่งสื่อกระแสหลักก็จำเป็นที่จะต้องสร้างจุดขายให้กับตนเอง เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค และขณะเดียวกันก็มีกรอบในการกำกับการทำงานของสื่อจากจรรยาบรรณวิชาชีพซึ่งต้องการให้สื่อกำกับดูแลกันเอง แต่ด้วยสภาพการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้นจากสื่อทางเลือกอย่างสื่อสังคมออนไลน์ โดยจเรกล่าวถึงงานเขียนของ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล ซึ่งตั้งขอสังเกตไว้ว่า แท้จริงแล้วการสร้างจุดสนใจโดยการขายข่าวเชิงดราม่า แท้จริงแล้วเป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้มานานแล้ว ซึ่งเป็นการนำเสนอข่าวที่ถูกจริตกับผู้รับสารคนไทย

จเรกล่าวต่อว่าปัจจัยเหล่านี้เองทำให้สื่อส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถาบันทางสังคมที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางข้อมูลข่าวสาร แต่กลายเป็นสื่อเชิงพาณิชย์ ข้อมูลข่าวสารของสื่อได้ถูกแปรสภาพให้ด้านหนึ่งมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคสื่อ แต่อีกด้านได้ทำให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าแก่ผู้ผลิตข้อมูล รวมถึงผู้นำเสนอนั้นๆ อีกด้วย ในปัจจุบันอุตสาหกรรมสื่อจึงไม่ต่างกับกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยใหม่ อีกทั้งพฤติกรรมการรับข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในสังคม ทำให้สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทในการกำหนดวาระการรับรู้ของสังคมมากขึ้น ฉะนั้นคำว่าสื่อเป็นกลางกลายเป็นมายาคติปิดบังความจริง หรือเป็นกลยุทธ์ในการแย่งชิงความนิยมมากกว่าการให้ความสำคัญกับมาตรฐานวิชาชีพสื่อ ซี่งเกิดจากความคาดหวังในอุดมคติที่ถูกนำมาผลิตซ้ำทั้งการนิยาม และการรับรู้จนกลายเป็นภาพแทนความจริง รวมถึงถูกยอมรับว่าเป็นความจริงในสังคมไทย

สำหรับ ธนรัตน์ เขียวลายเลิศ ผู้เขียนรายงานสรุปการบรรยายชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท จาก สาขาวารสารศาสตร์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท