โนเบลให้รางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์แก่นักวิชาการที่ค้นพบว่า ‘การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงาน’

ประกาศของเว็บไซต์รางวัลโนเบล ระบุว่า พวกเขามอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ให้กับนักเศรษฐศาสตร์ 3 คนที่ทำงานวิจัยอยู่บนฐานของชีวิตความเป็นจริง จนนำมาสู่การตอบคำถามประเด็นทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงาน ผู้อพยพไม่ทำให้เกิดการแย่งงาน ตลอดจนเรื่องการศึกษา 

เดวิด การ์ด (ซ้าย), กุยโด อิมเบนส์ (กลาง) และ โจชัว แองกริสต์ (ขวา)

14 ต.ค. 64 นักวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2564 ได้แก่ เดวิด การ์ด, โจชัว แองกริสต์ และ กุยโด อิมเบนส์ ที่ทำการวิจัยในแบบที่เรียกว่า "การทดลองตามธรรมชาติ" (natural experiments) เพื่อตอบคำถามทางสังคมในเรื่องที่ว่าค่าแรงขั้นต่ำกับการอพยพส่งผลต่อตลาดแรงงานอย่างไรบ้าง ทำให้โนเบลมองว่าพวกเขาเหล่านี้ทำการ "ปฏิวัติการวิจัยเชิงประจักษ์ในด้านเศรษฐศาสตร์"

ปัญหาท้าทายในเชิงงานวิจัยคือเรื่องการที่จะประเมินด้วยความแม่นตรงว่าทางเลือกต่างๆ เช่นนโยบายสาธารณะต่างๆ ว่าจะส่งผลสืบเนื่องอย่างไรบ้าง สำหรับในกรณีนี้ เดวิด การ์ด อาศัยการทดลองตามธรรมชาติ คือวิธีการที่ผู้วิจัยจะไม่เข้าไปควบคุมตัวแปรต่างๆ แบบเดียวกับการทดลองเชิงคลินิก แต่จะเก็บข้อมูลต่างๆ จากกลุ่มที่อยู่ภายใต้ตัวแปรควบคุมที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติหรือสังคม และนักวิจัยอีกสองคนคือ โจชัว แองกริสต์ และกุยโด อิมเบน ก็ทำหน้าที่หาผลลัพธ์และความสืบเนื่องความเป็นเหตุเป็นผล (causation) จากการทดลองตามธรรมชาติเหล่านี้

หนึ่งในการทดลองวิจัยที่สำคัญมากของเดวิด การ์ด ผู้ที่ทำงานอยู่ในราชบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือ การทดลองที่ท้าทายความเชื่อเดิมที่ว่า "การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้งานลดลง" ซึ่งไม่เป็นความจริง จากผลการทดลองของ เดวิด การ์ด ที่พิจารณาสภาพตลาดแรงงานในสหรัฐฯ

อีกงานวิจัยหนึ่งที่มีการยกตัวอย่างในเว็บไซต์โนเบลคืองานวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับการศึกษาของบุคคล โดยวัดจากอัตรารายได้เทียบกับจำนวนปีที่กลุ่มตัวอย่าง ทำให้พบว่าไม่ว่าจะพิจารณาภายใต้บริบทใดก็ตาม คนที่ใช้จำนวนปีในการศึกษามากยิ่งมีรายได้สูงเมื่อเทียบกับคนที่มีจำนวนปีที่อยู่ในการศึกษาน้อยกว่า เช่น ในกรณีของผู้ชายที่เกิดในสหรัฐฯ ช่วงระหว่างปี 2473-2483 จะมีรายได้สูงขึ้นร้อยละ 7 โดยเฉลี่ยถ้าหากเขามีจำนวนปีที่อยู่ในการศึกษาสูงกว่า 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ทางโนเบลระบุว่าการเปรียบเทียบสหสัมพันธ์เหล่านี้อาจจะไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันเสมอไป เพราะคนที่ใช้เวลาปีการศึกษาน้อยอาจจะเพราะพวกเขามีพรสวรรค์จนทำให้เรียนจบเร็วกว่าก็ได้ ดังนั้นแล้วทำให้นักวิจัยอย่างโจชัว แองกริสต์ และเพื่อนร่วมทีมของเขาอลัน ครูเกอร์ (ผู้ที่ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) ต้องทำงานวิจัยต่อยอดหลังจากนั้นเพื่อให้เหตุผลเชื่อมโยงระหว่างจำนวนปีการศึกษากับรายได้

อีกงานวิจัยหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องผลจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งงานวิจัยของการ์ดและครูเกอร์พบว่าข้ออ้างเดิมๆ ที่ว่าการขึ้นค่าแรงจะทำให้ตำแหน่งงานน้อยลงนั้นนอกจากจะไม่เป็นความจริงแล้ว เหตุและผลของสิ่งต่างๆ ยังกลับกันอีกด้วย นั่นคือการที่อัตราการว่างงานสูงนั้นไม่ใช่เป็นผลลัพธ์แต่เป็นสาเหตุ การว่างงานสูงเป็นสาเหตุให้นายจ้างตั้งอันตราค่าแรงต่ำได้จนทำให้เกิดการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงตามมา

ในช่วงยุคสมัยประมาณปี พ.ศ. 2533 การ์ดและครูเกอร์ทำการศึกษาวิจียเปรียบเทียบกันระหว่างรัฐเพนซิลเวเนียที่ไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กับรัฐนิวเจอร์ซีที่เพิ่งมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 4.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงเป็น 5.05 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ที่เลือกเทียบสองรัฐนี้เพราะเป็นรัฐที่อยู่ใกล้เคียงกันและมีลักษณะตลาดแรงงานคล้ายกัน พวกเขาพบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบให้มีอัตราการจ้างงานลดลงแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลแบบเดียวกับงานวิจัยอื่นๆ อีกสองงานวิจัย

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุเรื่องนี้โดยตรงแต่ก็มีการตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ หนึ่งในสาเหตุนี้คือการที่บริษัทต่างๆ มีอำนาจครอบงำตลาดแรงงานในท้องถิ่นทำให้พวกเขาบีบจ้างงานด้วยค่าแรงต่ำได้ เมื่อมีค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้้นก็จูงใจให้คนอยากทำงานเหล่านี้มากขึ้นจนทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่การที่บริษัทมีอำนาจเหนือตลาดแรงงานทำให้ยากที่จะประเมินล่วงหน้าว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อค่าแรงหลังจากนั้นอย่างไร

นอกจากกรณีค่าแรงขั้นต่ำแล้วนักวิจัยเหล่านี้ยังทำการวิจัยเรื่องผลที่เกิดตามมาจากการอพยพด้วย โดยที่การ์ดเคยทำงานวิจัยเรื่องผลของการอพยพเข้าประเทศต่อตลาดแรงงาน โดยอาศัยช่วงที่มีผู้อพยพจากคิวบาจำนวนมากในสมัยที่ผู้นพฟิเดล คาสโตร เปิดโอกาสให้ผู้คนอพยพออกนอกประเทศได้ในปี 2523 ส่งผลให้มีชาวคิวบาอพยพไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 125,000 คนในช่วง 5 เดือนถัดจากนั้น โดยเฉพาะในเมืองไมอามี ทำให้แรงงานเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 7 ในเมืองนั้น

อย่างไรก็ตาม จากความเชื่อที่ว่าผู้อพยพจะทำให้เกิดการแย่งงานก็ไม่เป็นความจริงในงานวิจัยของการ์ด งานวิจัยของ เดวิด การ์ด ระบุว่า การที่ชาวคิวบาอพยพเข้าไปจำนวนมากไม่ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อแรงงานแต่อย่างใด ค่าจ้างไม่ได้ลดลง การว่างงานไม่ได้สูงขึ้้น เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ งานวิจัยของการ์ดยังกลายเป็นฐานให้เกิดงานวิจัยต่อยอดอื่นๆ ในเวลาต่อมาที่ทำให้พบว่าการอพยพเข้าเมืองเพิ่มขึ้นส่งผลทางบวกต่อรายได้ของคนหลายกลุ่มจำนวนมากที่เกิดในประเทศนั้น ขณะที่ผู้อพยพจะต้องปากกัดตีนถีบมากกว่าในช่วงแรกๆ เพราะเรื่องการขาดพื้นฐานภาษาของประเทศที่พวกเขาอพยพไป ขณะที่คนพื้นถิ่นสามารถเลือกเปลี่ยนงานที่เน้นใช้ภาษาบ้านเกิดของพวกเขาได้ทำให้ไม่ต้องแข่งขันเรื่องงานกับผู้อพยพ

สำหรับโจชัว แองกริสต์ กับ กุยโด อิมเบน นั้น พวกเขามีการต่อยอดงานวิจัยการทดลองตามธรรมชาติในแบบของการ์ด ด้วยการจัดการการวิจัยในแบบที่สามารถหาเหตุผลเชื่อมโยงได้ ด้วยวิธีการแบบกลุ่มออกเป็นกลุ่มตัวแปรควบคุม กับกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการทดลอง และหลังจากนั้นก็พิจารณาร่วมกับความเป็นไปได้ในการส่งผล กลายเป็นแนวทางในการวิจัยที่เน้นเรื่องการหาเหตุผลเชื่อมโยงได้แทนการที่ข้อมูลมีสหสัมพันธ์อย่างเดียว ซึ่งในเรื่องนี้เว็บไซต์โนเบลเรียกว่าเป็น "การปฏิวัติในการวิจัยเชิงประจักษ์"

สำหรับตัวการ์ดเองกล่าวว่า เมื่อเขารู้ข่าวเรื่องได้รับรางวัลนี้เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมาตอนแรกเขานึกว่าถูกเพื่อนอำเล่น การ์ดบอกว่า งานของเขาแตกต่างจากงานของนักเศรษฐศาสตร์ในอดีตที่เน้นแต่เรื่องทฤษฎีเป็นหลัก โดยที่งานของเขาเน้นเรื่องการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์โดยอาศัยหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า และนักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันก็มีการเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมอย่างการศึกษา สุขภาวะ นโยบายค่าแรง และเรื่องการอพยพ ด้วย

ก่อนหน้านี้ในปี 2562 ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ 3 คนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จากการเป็นผู้บุกเบิกวิธีการลดปัญหาความยากจน นักวิจัยเหล่านี้คือ อภิจิต บาเนอร์จี, เอสเตอร์ ดูฟโล และ ไมเคิล เครเมอร์ ดูฟโลนับเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ได้รับรางวัลนี้หลังจากที่มีการมอบรางวัลตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา

แปลและเรียบเรียงจาก

Natural experiments help answer important questions, Nobel Prize, 10-2021

3 economists awarded Nobel for work on real-world experiments, CNN, 11-10-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท