Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เผยแรงงานหญิงข้ามชาติหญิงได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมของรัฐ หลังพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้บันทึกข้อมูลการต่อใบอนุญาตทำงาน พร้อมย้ำควรได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบตามสมควรจากเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นข้อบกพร่องผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เอง

14 ต.ค.2564 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แจ้งว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้ประสานงานโครงการและนักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้เดินทางไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าวบางเขนเพื่อรับตัว ป. แรงงานหญิงชาวเมียนมา หลังจากที่ต้องต่อสู้ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ตามพระราชกำหนดบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท และจะไม่ได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักรไทยอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี 

ที่มาของคดีนี้นั้น มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ระบุว่า สืบเนื่องจาก

1.  เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 และเจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงกรุงเทพมหานครตรวจสอบแรงงานในบริษัทที่แรงงานข้ามชาติหญิง ป. ทำงานอยู่และพบว่าใบอนุญาตทำงานของนาวสาวป. หมดอายุ จึงดำเนินคดีในข้อหา เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ตามพรก.ฯ และพนักงานตำรวจได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับและให้ ป. เข้าสู่กระบวนการผลักดันออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมาย
2.   หลังจากที่มูลนิธิฯตรวจสอบข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า ป.เป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานข้ามชาติตามกฎหมายประเภทข้อตกลงระหว่างรัฐหรือ MOU และใบอนุญาตให้ทำงานได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 จึงได้ดำเนินการยื่นคำขอต่อใบอนุญาตทำงานต่อสำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ พื้นที่ 2 ล่วงหน้าก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่พบข้อมูลในระบบทะเบียนแรงงานข้ามชาติ

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จึงได้ประสานไปยังหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี ดังนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้ปล่อยตัว ป. เนื่องจากเห็นว่าเป็นแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาลงวันที่ 3 ส.ค.2564 ซึ่งกำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 ถึงวันที่ 3 ส.ค. 2564 สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวและให้ดำเนินการต่อใบอนุญาตภายในวันที่ 2 ธ.ค.2564 ทั้งนี้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ตอบเป็นหนังสือถึงกรณีดังกล่าวว่า ป. ไม่เป็นบุคคลต่างด้าวที่กำหนดไว้ในประกาศฯ ดังกล่าว รวมทั้งกรมการจัดหางาน เพื่อหารือด่วนในประเด็นว่า ป. เป็นแรงงานที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ ต่อมาวันที่ 15 ก.ย. 2564 กรมการจัดหางานได้ตอบเป็นหนังสือว่า ป.ให้การยอมรับตามข้อกล่าวหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน แม้นายจ้างจะมายื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว นายทะเบียนก็ไม่อาจอนุญาตทำงานได้

ต่อมามูลนิธิฯ ได้ข้อเท็จริงเพิ่มเติม ว่า ป. ได้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตทำงานไว้ก่อนใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุจึงแจ้งข้อมูลไปยังกรมการจัดหางาน และกรมฯได้ตอบกลับเป็นหนังสือในวันที่ 28 ก.ย. 2564 ว่า ป. ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานและให้สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และประสานให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปล่อยตัว การที่ ป. ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตจะหมดอายุตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และไม่ปรากฏว่านายทะเบียนได้มีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงาน จึงมีสิทธิทำงานไปพลางก่อนจนกว่านายทะเบียนจะมีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตทำงาน ตามมาตรา 67 วรรคสอง ป. จึงไม่ได้กระทำความผิดตามข้อหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 8 มีโทษตามมาตรา 101 แห่งพระราชกำหนดฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ด้วยเหตุนี้ ป. กรมการจัดหางานได้สั่งให้ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ พื้นที่ 2 พิจารณาคำขอต่ออายุใบอนุญาตให้สามารถกลับมาทำงานได้ และได้ส่งหนังสือฉบับนี้ไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาปล่อยตัวต่อไป ทั้งนี้เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้เดินทางไปรับ ป. ณ สถานที่กักตัวคนต่างด้าวและประสานงานกับนายจ้างเพื่อรับกลับเข้าทำงานตามเดิม

ว่าที่ ร.ต.วัชรวิชญ์ วุฒิพัชระพัชร์ นักกฎหมายมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สำนักงานสาขาจังหวัดสมุทรสาคร มีความเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของระบบการบันทึกข้อมูลการต่อใบอนุญาตและข้อมูลการทำงานของแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นอุปสรรคในการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ความบกพร่องของระบบทำให้แรงงานข้ามชาติต้องตกเป็นผู้ต้องหาถูกพรากสิทธิและเสรีภาพโดยไม่ได้กระทำความผิด

ป. จึงควรได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบตามสมควรจากเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นข้อบกพร่องผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เองที่ไม่ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัด ทั้งที่ได้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตทำงานไว้ก่อนใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุแล้ว โดยปรากฏหลักฐานตามใบเสร็จรับเงินจากหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติไม่น้อยจากหลากหลายพื้นที่ว่าไม่สามารถต่อใบอนุญาตทำงานได้เนื่องจากไม่ได้บันทึกข้อมูลการทำงานและการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน จึงขอให้กรมการจัดหางานแจ้งสำนักงานจัดหางานในทุกพื้นที่ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้บันทึกข้อมูลการทำงานของแรงงานข้ามชาติทันทีที่มีการยื่นคำขอหรือดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่เกิดปัญหาที่ตามมาและจับกุมในลักษณะดังกล่าวอีกและให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกระทรวงแรงงานที่ให้มีการปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการทั่วไปและแนวปฏิบัติการเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรม ( General principles and operational guidelines for fair recruitment) ขององค์การด้านระหว่างระหว่างประเทศ หรือ ILO ที่รัฐบาลไทยเป็นผู้ร่วมร่างหลักการดังกล่าว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net