Skip to main content
sharethis

กสม.หยิบยกกรณีโรงงานสารเคมีที่ อ.บางปะกง ซึ่งถูกร้องเรียนขึ้นตรวจสอบอีกครั้งเหตุปัญหากากอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับการแก้ไข - ห่วงโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาและสุขภาพจิตของเด็กแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทบทวนการเรียนการสอนออนไลน์ และดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน

14 ต.ค.2564 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 11.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยวสันต์ ภัยหลีกลี้ และปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 4/2564 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม.มีมติหยิบยกกรณีกากสารเคมีตกค้างในพื้นที่โรงงาน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ขึ้นตรวจสอบอีกครั้ง หลังพบปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

กรณีนี้ สืบเนื่องจาก กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อปลายปี 2557 จากประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมลงลำรางสาธารณะ (คลองพานทอง) โดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลอย่างเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย

กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กรมโรงงานอุตสาหกรรม และเทศบาลตำบลท่าข้าม ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและออกคำสั่งปิดโรงงานบางส่วนและให้บริษัทแก้ไขระงับเหตุรำคาญจากกลิ่นเหม็นรบกวนตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายแล้ว และประชาชนผู้ร้องได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับบริษัทในความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แล้ว แต่กากอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการขนย้ายออกไปอาจรั่วซึมออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพและการดำรงชีวิตของบุคคลและชุมชนได้ กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 จึงมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

กสม.ได้ติดตามผลดำเนินงานตามข้อเสนอแนะมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้รับทราบผลแต่อย่างใด กระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2564 ได้รับทราบข้อมูลจากประชาชนในบริเวณใกล้เคียงโรงงานว่า ยังคงมีปัญหาเรื่องกากสารเคมีที่ตกค้างในพื้นที่โรงงาน กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปัญหามลพิษอาจแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนในบริเวณโดยรอบ จึงมีมติให้หยิบยกกรณีการกำจัดกากอุตสาหกรรมในพื้นที่โรงงานดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและจะได้มีข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนต่อไป

2. กสม.ห่วงโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงระบบการศึกษาและสุขภาพจิตของเด็ก แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

ตามที่วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก ซึ่งล่าสุดองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ และกรมสุขภาพจิต ได้เผยแพร่ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นตลอดปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ พบว่า เด็กและวัยรุ่นมีภาวะความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 32 มีภาวะเครียดสูงร้อยละ 28 และมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายร้อยละ 22 โดยระบุว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทุกคนจะต้องปรับตัว ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และมีการปรับการเรียนรูปแบบใหม่ผ่านระบบออนไลน์จากที่บ้าน ทำให้วิถีชีวิตของเด็กและวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว พัฒนาการการเรียนรู้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาสุขภาพจิตในบางราย

ขณะที่การประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ประจำปี 2563 โดย กสม.ในมิติผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคส่งผลกระทบต่อเด็กซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางทั้งในมิติของการศึกษาและสภาพจิตใจโดยเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาทางออนไลน์เนื่องด้วยครอบครัวประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ไม่อาจจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ เด็กไทยส่วนมากยังวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินในครอบครัวซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก สอดคล้องกับข้อมูลจากยูนิเซฟที่ระบุว่า ปัจจุบันเด็กและวัยรุ่นในประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับการเรียนรู้ที่หยุดชะงักลง และกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่มักถูกมองข้าม

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ กสม.จึงขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันตระหนักถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของเด็กตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งรัฐภาคีจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กในทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยจะต้องทำให้เด็กได้รับมาตรฐานสาธารณสุขที่สูงที่สุดเท่าที่จะหาได้และประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอนสิทธิในการรับบริการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ ยังต้องประกันสิทธิของเด็กทุกคนที่จะต้องได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 71 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็กให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพด้วย

กสม.จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ปัญหาและทบทวนเรื่องวิธีการเรียนการสอนออนไลน์และการเข้าถึงระบบการเรียนออนไลน์ที่อาจเป็นสาเหตุของความเครียด โดยควรเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และดำเนินการเชิงรุกในการดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนด้วยกลไกที่เข้าถึงได้ง่ายและมีผู้สื่อสารกับเด็กอย่างเป็นมิตร ทั้งนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net