ชลธิชา แจ้งเร็ว: ถูกล่าแม่มดออนไลน์ สู่การโดนท้าตบในชีวิตจริง

คุยกับชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมด้านสิทธิและการเมืองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่เกิดจากการถูกคุกคามบนโลกออนไลน์ ในวันที่กลไกการสร้างความเกลียดชังขยายไปในโลกไซเบอร์จนสุดเอื้อมแขนและสิบง่ามนิ้วของมนุษย์คนหนึ่ง

  • เมื่อพื้นที่แสดงความคิดเห็นถูกขยายมาในพื้นที่ออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะพยายามปกปิดตัวตนแค่ไหนก็มีความเสี่ยงโดนคดีได้
  • การคุกคามนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่การคุกคามจากตัวแสดงที่เป็นรัฐอย่างเดียว เพราะเมื่อแสดงความเห็นในประเด็นที่เปราะบาง ก็ต้องเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอีกเหมือนกัน มีรูปแบบมาตั้งแต่การล่าแม่มดออนไลน์ ไปจนถึงการคุกคามในชีวิตจริงที่กระทบความปลอดภัยทางกายภาพ
  • การคุกคามมักจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์บางอย่างที่เป็นส่วนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับบรรทัดฐานทั่วไปที่คนในสังคมเข้าใจ หรือไม่ได้มีคุณค่าบางอย่างเทียบเท่ากับมาตรฐานของสังคม หลายครั้งที่นักกิจกรรมหญิงถูกโจมตี มักจะไม่ได้เป็นการโต้แย้งในแง่ของอุดมการณ์ ผลงานที่ทำ แต่มักเป็นการโจมตีผ่านอัตลักษณ์และตัวตน โดยใช้ เพศ รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย ความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นเครื่องมือหลัก

 

เส้นทางนักกิจกรรมของ ‘ลูกเกด’ ชลธิชา แจ้งเร็ว มีราคาที่ต้องจ่ายมากเหลือเกิน แลกกับการผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในราชอาณาจักรไทย และในโมงยามที่การเคลื่อนไหวรณรงค์ในโลกออฟไลน์ ซ้อนทับด้วยการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ด้วยแล้ว ราคาที่เธอต้องจ่ายก็เหมือนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อตัวตนของเธอถูกโจมตีในโลกทั้งสองใบ

EngageMedia  ชวนคุยลึกลงไปกับชลธิชา ว่าทำไมเธอถึงเชื่อว่าชีวิตในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์มันเกี่ยวพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงที่ต้องแบกรับมันส่งผลต่อความปลอดภัยในทุกด้าน ทั้งกายภาพ ดิจิทัล และสภาพจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นผู้หญิงนักกิจกรรมรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพื่อสะท้อนว่าสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของประชาชนไทยยังอยู่ในสถานะที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย ไม่ว่าจะอยู่ในโลกออฟไลน์และออนไลน์ 

แม้พยายามปกปิดตัวตน ก็ยังมีความเสี่ยงเมื่อแสดงออกในโลกออนไลน์

ตัวแปรสำคัญที่กระทบต่อชีวิตและสิทธิของชลธิชาคือการมาของชีวิตในโลกออนไลน์ การมีพื้นที่พูดคุย แสดงความเห็นเพิ่มขึ้นไม่ได้หมายความว่ามีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกมากขึ้นอย่างที่หลายคนเชื่อ เพราะรัฐไทยเองก็ยังตามไปกำกับ ควบคุม และไล่ล่าคนที่แสดงออกด้วยท่าทีที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยคุกคามอยู่ดี ดังที่เห็นจากความพยายามมุ่งเป้าไปยังคนที่แสดงออกเรื่องสถาบันกษัตริย์ผ่านการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะพยายามปกปิดตัวตนแค่ไหนก็มีความเสี่ยงโดนคดีได้ อย่างในกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ 'นิรนาม_' ที่มักทวีตประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อยู่เนืองนิจ

นอกจากการตกเป็นเป้าหมายของรัฐแล้ว ชลธิชายังเจอแรงเสียดทานจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสารพัดเพศและวัยที่เห็นไม่ตรงกันกับเธอ ไม่ว่าจะเป็นการล่าแม่มด พยายามทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือคุกคามบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงการถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแสดงออกของเธอในโลกออนไลน์

สำหรับชลธิชา ความขัดแย้งและภัยคุกคามในโลกออนไลน์/ออฟไลน์ เหมือนจะมีผลต่อกันและกันอยู่เรื่อย เธอรู้สึกถึงเรื่องนี้เมื่อมีบุคคลผู้เห็นต่างเอารูปไปเผยแพร่และโจมตีว่าเป็นพวก “ล้มเจ้า” เมื่อจำนวนผู้รับสารมากขึ้นเรื่อยๆ และเธอไม่สามารถไปตามทำความเข้าใจกับทุกคนได้ ความเกลียดชังก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในโลกออนไลน์อีกต่อไป มีบางคนจำได้ว่าชลธิชาคือใคร หน้าตาเป็นแบบไหน ก็เดินพุ่งเป้าเข้ามาโจมตีหรือท้าตบด้วยกายหยาบ การโดนท้าตบในร้านค้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เธอใช้ชีวิตและมีตัวตนอยู่จริง เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดมากว่า ภัยคุกคามไม่ได้อยู่แค่ในโลกออนไลน์ แต่ส่งผลต่อตัวตนและชีวิตจริงในโลกออฟไลน์ด้วย

“แน่นอนว่าด้วยความเป็นพื้นที่ออนไลน์ ความน่ากลัวอย่างหนึ่งคือการเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผลกระทบขยายวงกว้าง เมื่อมีการโจมตีเกิดขึ้น การคุกคามจึงขยายไปไกลมาก เพราะโลกออนไลน์ที่เชื่อมต่อกันทำให้ง่ายต่อการขยายพื้นที่คุกคามเราให้เพิ่มขึ้น โดยที่มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่คนที่เป็นเหยื่อจะมีโอกาสได้เข้ามาแก้ตัว และอธิบายความเข้าใจผิดๆที่ถูกขยายไปบนโลกออนไลน์”

บ่อนเซาะในโลกออนไลน์ แต่ส่งผลร้ายถึงจิตใจและชีวิตจริง

ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในโลกทั้งสองใบทำให้ชลธิชาต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่เห็นๆ กันอยู่นั้นคิดอย่างไรกับเธอ เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการถูกคุกคามบนโลกออนไลน์นั้นกระทบต่อความรู้สึก คุณค่า และตัวตนของคนหนึ่งคนที่แสวงหาความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้จริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์

ชลธิชาเสริมอีกว่า การคุกคามมักจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์บางอย่างที่เป็นส่วนน้อยหรือถูกกดทับในสังคม  อย่างหลายครั้งที่นักกิจกรรมหญิงถูกโจมตี ก็มักไม่ได้โจมตีหรือโต้แย้งในแง่อุดมการณ์หรือผลงานที่ทำ แต่มักเป็นการโจมตีผ่านอัตลักษณ์และตัวตน ไม่ว่าจะเป็นเพศ รูปร่างหน้าตา การแต่งกายหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว การโจมตีเช่นนี้กระทบต่อสภาพจิตใจของเหยื่อค่อนข้างมากเพราะมันคือการลดทอนและทำลายคุณค่าและสิ่งที่คนคนนั้นมี วิธีการแบบนี้ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเล็กลง ไม่มั่นใจในตัวตนของเธอ คุณค่าของเธอ และสิ่งที่เธอเป็น

“หลายครั้งเรารู้สึกว่าเราไม่ได้ถูกโจมตีเรื่องของแนวคิดหรือวิธีการทำงาน มันจะเป็นเรื่องความเป็นเพศ รูปร่างหน้าตา มากกว่าที่จะโจมตีเรื่องทัศนคติ หรือเอาข้อเท็จจริงมายันในสิ่งที่เราเชื่อ ซึ่งมันกระทบต่อจิตใจค่อนข้างมาก เพราะคุณกำลังทำลายคุณค่าและสิ่งที่เขามีอยู่”

เราอาจเข้าใจว่าโลกออนไลน์เป็นการสื่อสารสองทาง แต่สำหรับชลธิชาแล้ว จริงๆ มันไม่ใช่ ส่วนใหญ่มักเป็นการสื่อสารทางเดียวมากกว่า เพราะเมื่อกระจายข้อมูลความเกลียดชังออกไปแล้วก็ไม่มีใครมานั่งฟังคำชี้แจงของเหยื่อ คนที่ได้รับข้อมูลผิดๆ ก็ไม่ได้ตรวจสอบ เหมือนว่าเขาพร้อมมาทำร้ายคนๆ หนึ่งเลยจริงๆ 

การกลั่นแกล้งและโจมตีทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย มันอาจทำให้คนหนึ่งคนต้องอยู่ในสังคมท่ามกลางความหวาดระแวง และความรู้สึกไม่ปลอดภัยไปตลอดชีวิต เมื่อภัยคุกคามในโลกทั้งสองใบนั้นมีผลต่อกันและกัน เราจึงต้องถามหาความรับผิดชอบทั้งจากรัฐ จากกลุ่มทุนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและบริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ในการคุ้มครองดูแลเรื่องเสรีภาพ ความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชน

ในภาวะที่เรากำลังดำรงชีวิตอยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แตกแยก และถกเถียงพัลวันยุ่งเหยิงในโลกออนไลน์และออฟไลน์เช่นนี้ ชลธิชาเรียกร้องกับรัฐให้เห็นว่าการสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างปลอดภัย และการรับฟังความเห็นที่หลากหลายมีความสำคัญมาก

“รัฐต้องเปลี่ยนทัศนคติของการมองว่าการแสดงความคิดเห็นมันคือการบั่นทอนทำลายประเทศชาติ คิดว่าการแสดงความคิดเห็นมันคือหนึ่งในหนทางที่จะทำให้คุณรอด” ”- ชลธิชา

เมื่อการคุกคามทั้งจากรัฐและคนที่เห็นต่างในโลกออนไลน์ส่งผลกับชีวิตจริงของเรา เราก็ควรจะรู้เท่าทันและระวังตัวเองให้มากขึ้น หนึ่งในคู่มือความปลอดภัยทางดิจิทัลที่ทางทีม EngageMedia พัฒนาร่วมกับชลธิชาก็เป็นหนึ่งในแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยทางดิจิทัลของคุณ และคุณยังสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ #HumanOnTheLine อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://engagemedia.org/projects/humanontheline-th/?lang=th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท