Skip to main content
sharethis

ธนาธร-พรรณิการ์ นำทีมคณะก้าวหน้าบุกขอนแก่น เปิดผู้สมัครนายก อบต. 5 เขตใน อ.เมือง, อ.น้ำพอง และ อ.พล สานต่อความสำเร็จจากการเลือกตั้งเทศบาล ชูนโยบาย “อบต.ก้าวหน้า” มุ่งเปลี่ยนแปลงพัฒนาท้องถิ่น พร้อมยกตัวอย่างโครงการน้ำประปาดื่มได้-เทศบาลดิจิทัล ทำได้จริงแม้งบจำกัด

 

17 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (17 ต.ค. 2564) เวลา 9.00 น. ที่ศูนย์กีฬาอีสปอร์ตโฟกัส อีสปอร์ต จ.ขอนแก่น คณะก้าวหน้า นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรณิการ์ วานิช จัดงาน “หนึ่งเสียงเปลี่ยนบ้านเรา เลือก อบต.ก้าวหน้า” ซึ่งเป็นโครงการพูดคุยแลกเปลี่ยนอบรมการทำงานพัฒนาท้องถิ่นให้แก่ผู้สมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ใน จ.ขอนแก่น พร้อมแถลงผลงานความสำเร็จของโครงการพัฒนาท้องถิ่นที่คณะก้าวหน้าทำงานร่วมกับ อบต. ใน จ.ร้อยเอ็ด

ธนาธรกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของคณะก้าวหน้าว่าเริ่มมาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ จึงผันตัวมาทำงานบริหารร่วมกับท้องถิ่นในส่วนของการบริหาร ช่วยคิดนโยบายและลงมือแก้ปัญหาร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ธนาธรกล่าวว่าการเมืองท้องถิ่นไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร คณะก้าวหน้าจึงลงมาทำงานการเมืองในส่วนนี้ และเชื่อว่าความรู้ความสามารถและทีมงานที่มีจะช่วยพัฒนาหน่วยการเมืองที่เล็กที่สุดในมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้ ธนาธรกล่าวถึงความสำเร็จของนโยบายคณะก้าวหน้าจากการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเมื่อปีที่แล้ว และการเลือกตั้งเทศบาลเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และบอกว่าพร้อมจะสานต่อความสำเร็จนั้นให้ลงมาสู่ระดับตำบล

 

ธนาธรยกตัวอย่างนโยบายที่คณะก้าวหน้าเข้าไปช่วยพัฒนาให้ท้องถิ่นในระดับเทศบาล เช่น โครงการน้ำประปาดื่มได้ น้ำใสใน 99 วันของเทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ที่คณะก้าวหน้าส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำเข้าไปจัดการตั้งแต่ต้นทางการผลิตน้ำประปาในโรงผลิต เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ยกระดับมาตรฐานการผลิต ไปจนถึงปรับปรุงระบบการส่งน้ำ ซึ่งผลที่รับได้ คือ คุณภาพน้ำประปาดีขึ้น ประชาชนได้น้ำที่ใสสะอาด มีมาตรฐานการทำงาน ควบคุมคุณภาพน้ำได้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อน้ำมีปัญหา นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งมาตรวัดความดันอัจฉริยะในระบบท่อส่งน้ำของครัวเรือน 6 จุดในพื้นที่ ช่วยลดความสูญเสียจากการส่งน้ำ และเพิ่มการกระจายน้ำไปยังครัวเรือนได้มากขึ้น นอกจากโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาแล้ว คณะก้าวหน้ายังเข้าไปช่วยเทศบาลตำบลอาจสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันฟองดู (Fondue) แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับรับเรื่องร้องเรียนและติดต่อเจ้าหน้าที่เทศบาล เป็นตัวอย่างการบริหารจัดการข้อมูลการบริหารแบบรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ช่วยลดระยะเวลาการรับเรื่อง ย่นระยะเวลาในการแก้ปัญหาให้ประชาชน รวมถึงช่วยให้ประชาชนติดตามผลการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้อย่างใกล้ชิด ธนาธรมองว่าระบบรัฐบาลดิจิทัลนี้จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และจะเกิดการแข่งขันระหว่างหน่วยงานว่าหน่วยงานใดสามารถจัดการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้รวดเร็วกว่า ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน

นอกจากพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังมีพื้นที่ภาคเหนือที่คณะก้าวหน้าเข้าไปทำงานร่วมกับท้องถิ่น เช่น เทศบาลทากาศเหนือ จ.ลำพูน ที่ทางคณะเข้าไปทำโครงการนำร่องพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ลงรายละเอียด ออกแบบแลนด์มาร์คจุดท่องเที่ยวทั่วพื้นที่ มีการดึงศิลปินล้านนาเข้ามาช่วยออกแบบศิลปะ สร้างความน่าสนใจในแต่ละพื้นที่ และคาดว่าหากโครงการเสร็จสิ้นจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมได้ภายในเดือน ธ.ค. นี้ นอกจากนี้ยังมีเทศบาลเหมืองง่า จ.ลำพูน ซึ่งแม้สมาชิกของคณะก้าวหน้าจะไม่ได้รับเลือกให้ครองเก้าอี้นายก อบต. แต่ก็ได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปทำงานในฐานะสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) โดยคณะก้าวหน้าเข้าไปร่วมทำโครงการพัฒนาเส้นทางวิ่งและเส้นทางจักรยานรอบพื้นที่สาธารณะ จัดพื้นที่ค้าขาย ก่อให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นในท้องถิ่น

อีกหนึ่งโครงการที่คณะก้าวหน้าตั้งใจเสนอเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คือ โครงการพัฒนาการศึกษา นำหลักสูตรเทคโนโลยีสำหรับเยาวชนมาใช้ สอนการเรียน Coding ซึ่งเป็นวิชาที่ตอบโจทก์องค์ความรู้ในอนาคตให้กับเยาวชนได้ โดยจะนำหลักสูตรไปปรับใช้ในโรงเรียนเทศบาล กระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ให้ทัดเทียมกับการศึกษาในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐขนาดใหญ่ ทั้งยังช่วยออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความทันสมัย ใช้งานง่าย และมีฐานข้อมูลให้ประชาชนสามารถตรวจได้

“ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่าประเทศไทยดีกว่านี้ได้ เราสามารถสร้างประเทศที่น่าอยู่กว่านี้ได้ คนไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้น่าอยู่ได้ และการเมืองท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญ หวังว่าสิ่งที่ผมนำเสนอจะช่วยให้ทุกท่านเห็นว่าประเทศไทยยังไม่หมดหวัง” ธนาธรกล่าว พร้อมบอกว่าคณะก้าวหน้ายินดีเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำงานในระดับท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และหวังว่าการเลือกตั้ง อบต. ในวันที่ 28 พ.ย. 2564 นี้ ทีมผู้สมัคร อบต. ของคณะก้าวหน้าจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนทั่วประเทศ

 

กิจกรรมหลังเสร็จสิ้นการนำเสนอผลงานของคณะก้าวหน้า คือ การเปิดตัวผู้สมัครนายก อบต. จำนวน 5 เขตใน 3 อำเภอของ จ.ขอนแก่น ซึ่งสนับสนุนโดยคณะก้าวหน้า ได้แก่ อบต.ดอนหัน, อบต.พังทุย, อบต.โคกสง่า, อบต. ลอมลอม และ อบต.โสกนกเต้น โดยผู้สมัครนายก อบต. ทั้ง 5 คนได้ขึ้นมาตอบคำถามแสดงแสดงวิสัยทัศน์ มุ้งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ท้องถิ่น ดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง สู้ด้วยนโยบาย ขายทัศนคติที่ดีในการทำงาน เน้นความสุขภาพแต่แข็งแกร่ง รวมถึงศึกษาขอบเขตอำนาจ ใช้ช่องทางตามกฎหมายเพื่อจัดหางบประมาณมาลงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เช่น ของบเพิ่มเติมจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใหญ่กว่า หรือของบสนับสนุนจากส่วนกลางอย่างกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาพัฒนาท้องที่ให้ได้มากที่สุด

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ธนาธรพร้อมผู้สมัครนายก อบต. จ.ขอนแก่นของคณะก้าวหน้าได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงความท้าทายใหม่แนวความคิด โดยระบุว่าความท้าทายของการเลือกตั้งในระดับ อบต. คือเรื่องพื้นที่ เพราะ อบต.มีจำนวนมากกว่าเทศบาล แต่โดยเฉลี่ยแล้วได้รับงบประมาณน้อยกว่า การทำงานอาจจะไม่มีงบลงทุนเท่าไรนัก แต่อย่างน้อยที่สุดคณะก้าวหน้าเชื่อว่าการเอาใจใส่การให้บริการด้านสาธารณะจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมบอกว่าคณะก้าวหน้าให้ความสำคัญกับการทำงานท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคอื่นๆ เฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น คณะก้าวหน้าส่งทีม อบต. มากถึง 130 เขต จากทีม อบต. ก้าวหน้าทั่วประเทศ 210 ทีม 

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าการทำงานในดารเมืองท้องถิ่นนี้จะส่งผลต่อฐานเสียงภาคใหญ่ในอนาคตหรือไม่ ซึ่งธนาธรตอบว่าขอให้ประชาชนตัดสินและตนไม่สามารถพูดแทนพรรคก้าวไกลได้ แต่สิ่งที่คณะก้าวหน้าตั้งใจคือการืทำให้ประชาชนเห็นว่าประเทศไทยดีกว่านี้ได้

“ถ้าการเมืองท้องถิ่นดี ผมเชื่อว่าประชาชนจะเข้าถึงการบริการสาธารณะ จะเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ เราอยากจะทำให้ประชาชนเห็น” ธนาธรกล่าว พร้อมบอกว่าจากการเลือกตั้งเทศบาลครั้งล่าสุดซึ่งคณะก้าวหน้าได้ตำแหน่งนายกเทศบาลมา 16 แห่ง ก็ขอให้ผลงานของคณะทำงานเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จและความเปลี่ยนแปลง และหวังว่าในการเลือกตั้ง อบต. ในวันที่ 28 พ.ย. นี้จะได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากประชาชนอีก นอกจากนี้ ธนาธรยังกล่าวอีกว่าตนเชื่อมั่นในความสามารถของนายกเทศบาลและผู้สมัครนายก อบต. ของคณะก้าวหน้าว่าจะสามารถพูดคุยโน้มน้าวให้ข้าราชการประจำสามารถเปลี่ยนแปลงแนวคิดและรูปแบบการทำงานได้ หากทำได้ก็จะส่งผลดีต่อประชาชน

ด้านผู้สมัครนายก อบต. ทั้ง 5 เขตใน จ.ขอนแก่น เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าพวกเขามีความมั่นใจในแนวคิด จุดยืน และวิธีการทำงานที่เข้มแข็งของคณะก้าวหน้า ว่าจะสามารถพัฒนาท้องถิ่นได้ ผู้สมัครทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าการทำงานในวิถีแบบคณะก้าวหน้าจำนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ท้องถิ่นได้ในที่สุด และเชื่อว่าจะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ได้ด้วยนโยบายที่ตอบโจทย์คนในท้องถิ่น

“28 พ.ย. นี้ พ่อแม่พี่น้องที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลก็จะมีโอกาสใช้หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของท่าน กำหนดทิศทางการพัมนาบ้านของท่านเอง อยากจะให้ท่านใช้หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของท่านให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ธนาธรกล่าวทิ้งท้ายพร้อมฝากผู้สมัครนายก อบต. และ ส.อบต. ของคณะก้าวหน้าทุกคนด้วย และให้คำมั่นว่า อบต.ก้าวหน้าจะทำให้ดีที่สุดเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับตำบล

ธนาธรพานายกเทศบาลก้าวหน้าเล่าประสบการณ์การทำงานร่วม-แก้ไขปัญหาให้ท้องถิ่นได้จริง

ก่อนหน้านี้ ช่วงเย็นวันที่ 16 ต.ค. 2564 คณะก้าวหน้าเชิญสื่อมวลชนเข้าพบปะเพื่อพูดคุยถึงโครงการเทศบาลก้าวหน้า ซึ่งคณะก้าวหน้าเข้าไปทำงานพัฒนาพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในระดับเทศบาล โดยเชิญเทพพร จำปานวน นายกเทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด และสถาพร รอเสนา นายกเทศบาลตำบลขวาว จ.ร้อยเอ็ด มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับคณะก้าวหน้า ซึ่งนายกเทศบาลทั้ง 2 คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแนวคิดและวิธีการทำงานของคณะก้าวหน้าสามารถแก้ปัญหาให้กับท้องถิ่นได้จริง

เทพพร จำปานวน นายกเทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด
 

นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถ เล่าถึงการร่วมทำงานกับคณะก้าวหน้า โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 ตนแถลงนโยบาย “โครงการน้ำประปาดื่มได้” ต่อสภาเทศบาล เนื่องจาก ต.อาจสามารถ มีปัญหาเรื่องน้ำประปาอยู่ตลอด เช่น น้ำไม่ไหล น้ำไม่สะอาด ตนจึงต้องการปรับปรุงระบบน้ำประปาในตำบลให้ดีขึ้น และได้เข้าร่วมโครงการเทศบาลก้าวหน้า ซึ่งคณะก้าวหน้าได้ส่งทีมงานเข้ามาลงพื้นที่เพื่อสำรวจต้นตอของปัญหา และช่วยหาวิธีการแก้ไข ไปจนถึงให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง จนสามารถแก้ปัญหาน้ำประปาตำบลได้ภายใน 99 วันตามปณิธานที่ตนตั้งใจไว้ ปัจจุบัน กรมอนามัยได้รับรองให้น้ำประปาของเทศบาลตำบลอาจสามารถเป็นน้ำที่มีคุณภาพ สะอาด ดื่มได้ และขึ้นทะเบียนขอใบรับรองเป็นที่เรียบร้อย

ไม่เพียงแต่โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาชุมชนเท่านั้น แต่เทศบาลตำบลอาจสามารถยังทำโครงการน้ำประปาอัจฉริยะ หรือมิเตอร์น้ำดิจิทัลที่นำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เข้ามาช่วย หากทำสำเร็จ จะลดการใช้แรงงานคนในการจดเลขมิเตอร์และทำใบเรียกเก็บค่าน้ำประปา เพราะมิเตอร์น้ำอัจฉริยะนั้นสามารถอ่านค่า ตัดรอบ และส่งใบเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้อัตโนมัติ เพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนในการจ่ายค่าน้ำประปา ทั้งยังช่วยลดความผิดพลาดจากการจดเลขมิเตอร์ผิดได้ด้วยเช่นกัน นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถกล่าวว่าตนทำเรื่องของงบประมาณจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ไปแล้วและได้รับงบประมาณจำนวน 9 ล้านกว่าบ้านสำหรับพัฒนาโครงการนี้ หากทำสำเร็จ เชื่อว่าเทศบาลตำบลอาจสามารถจะเป็นเทศบาลตำบลแรกๆ ที่นำระบบ IoT เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำประปา นอกจากนี้ คณะก้าวหน้ายังเข้ามาช่วยเทศบาลตำบลอาจสามารถพัฒนาระบบบริหารแบบดิจิทัล หรือ Digital Government เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันฟองดู (Fondue) ซึ่งช่วยให้ประชาชนสามารถติดต่อหรือส่งเรื่องร้องเรียนไปยังเทศบาลได้ผ่านระบบแอปพลิเคชันไลน์ โดยระบบฟองดูนี้ได้รัยการพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) รวมถึงช่วยปรับปรุงเว็บไซต์ของเทศบาลตำบลอาจสามารถให้ทันสมัย แตกต่างจากเว็บไซต์เดิมอย่างสิ้นเชิง (https://tessabanatsamat.go.th/)

นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถเผยอีกว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการปราบปรามและป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้คะแนนความโปร่งใสแก่เทศบาลตำบลอาจสามารถเป็นอันดับที่ 5 จากกว่า 200 เทศบาลใน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเครื่องการันตีว่าการทำงานร่วมระหว่างเทศบาลตำบลอาตจสามารถและคณะก้าวหน้านั้นประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลและหน่วยงานรัฐอื่นๆ ได้ในอนาคต

สถาพร รอเสนา นายกเทศบาลตำบลขวาว จ.ร้อยเอ็ด
 

ด้าน นายกเทศบาลตำบลขวาว อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งทำงานร่วมกับคณะก้าวหน้าในโครงการจัดการขยะชุมชนเล่าว่าแต่เดิม ต.ขวาว แก้ไขปัญหาขยะด้วยการฝังกลบ แต่ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นมากจนพื้นที่ฝังกลบไม่เพียงพอ ส่งผลให้พื้นที่ของตำบลมีขยะเกลื่อนกลาดและเกิดปัญหามลพิษตามมา อย่างไรก็ดี คณะก้าวหน้าได้เข้ามาทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ทั้งการให้ความรู้ด้านวิชาการ และส่งเสริมวิธีปฏิบัติ จนเทศบาลตำบลขวาวสามารถจัดการปัญหาขยะได้

ตัวแทนคณะก้าวหน้าผู้ร่วมลงพื้นที่ ต.ขวาว กล่าวว่าหลังจากที่คณะทำงานลงพื้นที่สำรวจปัญหาพบว่าแหล่งที่มาของขยะเกิดจากตลาดในชุมชน เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงออกมาเป็นหลักคิดในการแก้ไขปัญหา 5 ขั้นตอน คือ 1. ลดการเกิดขยะ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงผ้า ทำถุงผ้าแจกประชาชน งดการใช้ถุงพลาสติก และออกแคมเปญ “นำถุงนำแก้วมา ลดราคาให้” 2. แยกขยะ โดยแบ่งย่อยเป็น 10 ประเภทและไม่ใช้คำว่าขยะทั่วไป แต่ใช้คำว่าขยะรีไซเคิลไม่ได้แทน เพื่อลดความสับสนให้แก่ประชาชน 3. ปลูกต้นไม้ เพื่อนำใบหรือผลผลิตจากต้นไม้ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติมาใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์จำพวกพลาสติกหรือโฟม ซึ่งพันธุ์ไม้ที่ชาว ต.ขวาว เลือกใช้คือต้นเล็บครุฑลังกา ซึ่งประชาชนสามารถนำใบของต้นเล็บครุฑลังกาไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 4. นำขยะที่ย่อยสลายได้ไปหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ และนำกลับมาใช้เป็นปุ๋ย และ 5. ออกโครงการรณรงค์ เช่น ลงนามข้อตกลงเรื่องการจัดการขยะกับผู้นำชุมชน รวมถึงทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเทศบาลตำบลหนองแคน จ.ร้อยเอ็ด ที่ใช้โมเดลขยะรีไซเคิลเพื่อการฌาปนกิจเป็นโมเดลต้นแบบในการจัดการขยะ เงินกองทุนได้มาจากการคัดแยกขยะ ซึ่งประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลที่บ้านแล้วนำไปขาย เงินที่ได้จะเก็บสะสมเข้ากองทุนเพื่อเก็บสะสมและนำไปใช้เป็นค่าฌาปนกิจให้กับคนในพื้นที่ สามารถลดขยะได้ 126 ตันต่อปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงกว่ามูลค่าเงินลงทุนถึง 3 เท่า

ระหว่างการพบปะ ผู้สื่อข่าวได้ถามธนาธร แกนนำคณะก้าวหน้าว่ามีแนวคิดในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร เนื่องจากแต่ละท้องที่ล้วนมีปัญหาที่แตกต่างกัน โดยธนาธรตอบว่าอันดับแรกต้องย้อนกลับไปที่หลักการ “3 จริง” คือ สถานการณ์จริง พื้นที่จริง ประชาชนจริง ซึ่งเป็นหลักการทำงานของคณะก้าวหน้า ไม่หลอกลวง ไม่จัดตั้ง เข้าไปคุยกับคนในพื้นที่จริง เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เอามาพูดคุยกับประชาชน ส่วนทางเลือกแนวนโยบายก็ดูแนวทางจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมาประยุกต์และจัดทำใหม่ให้เข้ากับปัญหาในแต่ละพื้นที่ ส่วนการเลือกและตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนในพื้นที่และผู้บริหารเทศบาลซึ่งอำนาจในการลงนามตามกฎหมาย

ธนาธรกล่าวว่าการทำงานในระดับเทศบาลนั้นง่ายในส่วนของการบริหารจัดการพื้นที่และประชากร เพราะเทศบาลหนึ่งมีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก มีประชากรอยู่ที่ 3,000-20,000 คน ส่วนความยากในการทำงานนั้น คือ งบประมาณ อย่างที่ทราบกันดีว่าระบบราชการวมศูนย์เป็นปัญหาให้การจัดสรรงบ รวมถึงการจัดสรรภาษีระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นก็ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ข้าราชการในระดับท้องถิ่นบางคนก็กลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าทดลองนโยบายใหม่ๆ ซึ่งการแก้ไขปัญหาส่วนขึ้นอยู่กับทักษะของนายกเทศบาลแต่ละคนว่าจะจัดการอย่างไร

ด้านนายกเทศบาลตำบลจาก จ.ร้อยเอ็ดที่มีโอกาสร่วมงานกับคณะก้าวหน้านั้น เห็นตรงกันว่าคณะก้าวหน้ามีความตั้งใจเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในท้องถิ่นจริงๆ ไม่ใช่แค่การทำงานของแกนนำคณะก้าวหน้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงทีมงานกลุ่มปฏิบัติการทุกคนที่ลงพื้นที่ด้วยความจริงใจ คนสมาชิกสภาเทศบาลไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวในการทำงาน และมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น

 

ธนาธรเผยต่อไปอีกว่าคณะก้าวหน้าพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง อบต. ในวันที่ 28 พ.ย. 2564 และเชื่อว่าผลงานการพัฒนาท้องถิ่นในของนายกเทศบาลคณะก้าวหน้าตลอด 5 เดือนที่ผ่านมาน่าจะเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน พร้อมเผยว่าหาก

ได้เวลาการทำงานติดต่อกับ 2 สมัยจะยิ่งเห็นผลงานได้ชัดขึ้น จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเป็น “ไฟลามทุ่ง” ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นในไทยเกิดการพัฒนาครั้งใหญ่ แม้งบประมาณที่ได้จะไม่เยอะ แต่เชื่อว่าความมุ่งมั่นเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า ซึ่งจะสามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net