Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยตร.ไปบ้าน 'ราษฎรชัยภูมิ' 3 ราย เหตุจัดงานรำลึก 14 ตุลา - เฝ้าถึงบ้าน-ขู่ถอนประกัน-กดดันครอบครัว นักกิจกรรมและประชาชนอุบลฯ ก่อน 'ประยุทธ์' ลงพื้นที่ - แจ้งข้อหาคดีที่ 4 ช่างตัดแว่นเชียงรายจาก #คาร์ม็อบ4กันยา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าหลังจากวันที่ 13 ต.ค. 2564  “คณะราษฎรชัยภูมิ”  โพสต์เฟซบุ๊กประกาศจะจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ที่อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ  ทำให้วันรุ่งขึ้นมีนักกิจกรรมทางการเมืองในจังหวัดชัยภูมิอย่างน้อย  3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปหาถึงที่บ้าน กระทั่งเพจ  “คณะราษฎรชัยภูมิ” ประกาศ หากมีการคุกคามเกิดขึ้นอีกจะมีการชุมนุมถึงหน้าโรงพัก

อิทธิพล กฤษกลาง หรือ “เจ” อายุ 27 ปี สมาชิกกลุ่มราษฎรชัยภูมิ เปิดเผยว่าช่วงประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม ขณะที่อยู่บ้านในอำเภอเมืองชัยภูมิเพียงลำพัง  มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย มาที่บ้าน ถ่ายรูปบริเวณบ้านและเรียกให้เจ้าตัวออกไปพบที่หน้าบ้าน

โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงตัวว่ามาจากหน่วยงานใด แต่เจจำเจ้าหน้าที่หนึ่งคนได้ว่าเป็นตำรวจในจังหวัดชัยภูมิ เจ้าหน้าที่สอบถามว่าเจจะเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ในช่วงนี้ ก่อนจะปรามเจว่าสามารถพูดเรื่องการเมืองได้ แต่ไม่อยากให้ไปพูดพาดพิงไปถึงบุคคลอื่น  ซึ่งเจคิดว่าเป็นการบอกเป็นนัยว่าไม่ต้องการให้พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์  โดยการใช้เวลาพูดคุยราว 10 นาที เจ้าหน้าที่ทั้งสองนายจึงเดินทางกลับ

ศุภากร คำประดิษฐ หรือ “หนึ่ง” อายุ 28 ปี นักกิจกรรมที่เคยร่วมการชุมนุมในกรุงเทพฯ หลายครั้ง รวมทั้งร่วมจัดกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ในจังหวัดชัยภูมิ ให้ข้อมูลว่าเวลา 15.20 น. ของวันเดียวกันมีตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย เดินทางมาหาหนึ่งที่บ้านในตัวเมืองชัยภูมิ โดยขณะนั้นเขากำลังขี่จักรยานยนต์จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมรำลึก 14 ตุลา เจ้าหน้าที่จึงขอให้จอดรถพูดคุยอยู่ด้านหน้าของบ้าน

โดยตำรวจแสดงบัตรประจำตัว พยายามถามถึงบ้านอีกหลังของหนึ่งว่าอยู่บริเวณใด เนื่องจากบ้านหลังดังกล่าวมักถูกใช้ในการรวมตัวนักกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง หนึ่งไม่ตอบ แต่กล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่าหากมีเรื่องอะไรให้ไปคุยกันในงานรำลึก 14 ตุลา  ตำรวจคนดังกล่าวยังกล่าวว่ากับหนึ่งอีกว่า เกรงว่างานรำลึกจะมีกิจกรรมที่รุนแรง ขณะที่หนึ่งยืนยันว่าเป็นการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ไม่มีอะไรรุนแรง ซึ่งส่วนตัวหนึ่งเชื่อว่าตำรวจกลัวจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อตอบโต้การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระทำกับเหล่านักกิจกรรมที่ชุมนุมระหว่างการลงพื้นที่ของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่จังหวัดขอนแก่น

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เฝ้าถึงบ้าน-ขู่ถอนประกัน-กดดันครอบครัว นักกิจกรรมและประชาชนอุบลฯ ก่อน 'ประยุทธ์' ลงพื้นที่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามสถานการณ์การคุกคามนักกิจกรรมและประชาชนหลายรายในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัด ติดตาม สอบถาม ห้ามทำกิจกรรมการเมือง แม้กระทั่งไปเฝ้าถึงบ้าน ในช่วงก่อนและระหว่างที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 15 ต.ค. 2564 โดยใช้เวลาในการอยู่ที่อุบลฯ ไม่ถึง 8 ชั่วโมง แต่กลับมีประชาชนถูกเฝ้าติดตามเป็นระยะเวลาแทบทั้งสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 8-15 ต.ค. 2564 

นอกจากนี้ บางรายต้องหลบไปอยู่ในพื้นที่อื่น เพราะรู้สึกถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความผิดอะไร มีบ้างที่ต้องเว้นวรรคกิจกรรมทางการเมืองเพราะทางบ้านขอร้อง และมีรายหนึ่งถูกขู่ถอนประกันคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมต้อนรับการมาเยือนของนายกฯ ในครั้งนี้ แม้แต่นักวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลฯ ก็โพสต์รูปและข้อความว่ามีเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้านในอำเภอวารินชำราบช่วงเช้าวันที่ 15 ต.ค. ด้วยเช่นกัน

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แจ้งข้อหาคดีที่ 4 ช่างตัดแว่นเชียงรายจาก #คาร์ม็อบ4กันยา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย นายสราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ แกนนำกลุ่ม Chiangrai No เผด็จการ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดีที่มี ร.ต.อ.ศุภกร ภัทรสุขเกษม รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงราย เป็นผู้กล่าวหาในข้อหา “ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยด้วยฯ” จากกิจกรรมคาร์ม็อบ “เมื่อสภาไม่ตอบสนองเสียงประชาชน” #ราษฎรเชียงรายจะไม่ทนอีกต่อไป เพื่อแสดงจุดยืนไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564

ด้านนายสราวุทธิ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะขอให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ก่อนที่เขาจะถูกนำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และปล่อยตัวกลับโดยไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 5 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองสืบเนื่องจากกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดเชียงราย และคดีนี้ก็นับเป็นคดีที่ 4 ของสราวุทธิ์แล้ว โดยก่อนหน้านี้เขาถูกดำเนินคดีจากการจัดกิจกรรม “Car Mob ราษฎรเชียงราย ร่วมส่งใจไล่ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564, กิจกรรม “คาร์ม็อบ ราษฎรเชียงราย” #กูสั่งให้มึงลาออก เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 และ “คาร์ม็อบเชียงราย ครั้งที่ 3 #แห่แวดเวียงไล่อีตู่” เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อัยการสั่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 'สุปรียา' เหตุชุมนุมเชียงรายปี 63 #คนเจียงฮายก้ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 เวลา 10.00 น. สุปรียา ใจแก้ว หรือ “แซน” อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย พร้อมกัน 2 คดี คือ คดีมาตรา 112 เหตุจากกรณีติดป้าย “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” และคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจัดกิจกรรม #คนเจียงฮายก้ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563

ต่อมา พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งให้เลื่อนนัดการรายงานตัวในคดีมาตรา 112 ออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งทางคดี ส่วนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงรายทันที จากนั้นศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน แต่ให้ทำสัญญาประกัน หากไม่ตามตามนัด จะเสียค่าปรับจำนวน 20,000 บาท พร้อมกำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิ์และวันนัดตรวจพยานหลักฐานคือวันที่ 2 พ.ย. 2564 และวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ตามลำดับ

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net