'นิด้าโพล' สำรวจคนใต้ 48% ยังไม่แน่ใจจะเลือก 'ประชาธิปัตย์' ด้าน 'ซูเปอร์โพล' ยกผลสำรวจ 'ประยุทธ์-จุรินทร์ 'คู่ชิงนายก

'นิด้าโพล' สำรวจความเห็นคนใต้ 1,315 คน 48.14% ระบุยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ - ด้าน 'ซูเปอร์โพล' สำรวจ 1,348 คน 68.2% ระบุ 'ประยุทธ์' เหมาะสมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วย 'จุรินทร์' ที่ 59.3% 

17 ต.ค. 2564 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “วันวาน…วันนี้ ของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในภาคใต้ กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวันวาน…วันนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.94 ระบุว่า เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมา ร้อยละ 13.08 ระบุว่า ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.45 ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (เฉพาะผู้ที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.41 ระบุว่า เลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 38.59 ระบุว่า ไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.68 ระบุว่า เลือกพรรคพลังประชารัฐ รองลงมา ร้อยละ 29.93ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ร้อยละ 9.05 ระบุว่า ไม่ได้ไปเลือกตั้ง ร้อยละ 6.73 ระบุว่า เลือกพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 4.18 ระบุว่า เลือกพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 2.79 ระบุว่า เลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 2.55 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) ร้อยละ 1.86 ระบุว่า เลือกพรรคประชาชาติ ร้อยละ 1.39 ระบุว่า เลือกพรรครวมพลังประชาชาติไทย ร้อยละ 0.46 ระบุว่า เลือกพรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่และพรรคเพื่อชาติ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 0.23 ระบุว่า เลือกพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคชาติพัฒนา ในสัดส่วนที่เท่ากัน

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.14 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ รองลงมา ร้อยละ 30.04 ระบุว่า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 20.38 ระบุว่าเป็น จะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 0.84 ระบุว่า จะไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) และร้อยละ 0.60 ระบุว่า จะไม่ไปเลือกตั้ง

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 100.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ผู้ตอบแบบสอบถามจำแนกตามจังหวัด ในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 17.19 ระบุว่าเป็น สงขลา รองลงมา ร้อยละ 16.88 ระบุว่าเป็น นครศรีธรรมราช ร้อยละ 13.61 ระบุว่าเป็น สุราษฎร์ธานี ร้อยละ 6.31 ระบุว่าเป็น ชุมพรและภูเก็ต ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 5.86 ระบุว่าเป็น ตรัง ร้อยละ 5.55 ระบุว่าเป็น พัทลุง ร้อยละ 5.40 ระบุว่าเป็น กระบี่ ร้อยละ 4.94 ระบุว่าเป็น นราธิวาส ร้อยละ 4.79 ระบุว่าเป็น ปัตตานี ร้อยละ 4.64 ระบุว่าเป็น ยะลา ร้อยละ 3.27 ระบุว่าเป็น สตูล ร้อยละ 3.04 ระบุว่าเป็น พังงา และร้อยละ 2.21 ระบุว่าเป็น ระนอง

ตัวอย่างร้อยละ 48.90 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.10 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.00 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 14.68 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.51 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.01 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 23.80 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 80.31 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 18.86 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.53 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.30 ไม่ระบุศาสนา

ตัวอย่างร้อยละ 18.55 สถานภาพโสด ร้อยละ 78.48 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.51 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.46 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 24.87 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.83 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.29 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.92 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.18 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.91 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 10.80 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.82 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.50 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.89 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.99 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 22.51 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.42 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.07 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 20.91 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.22 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.95 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.71 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 4.87 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.63 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 11.71 ไม่ระบุรายได้

'ซูเปอร์โพล' ยกผลสำรวจ 'ประยุทธ์-จุรินทร์ 'คู่ชิงนายก

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ประเมินคู่ชิงนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,348 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11-16 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา พบว่า

ผลประเมินความเหมาะสมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับแรกได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา เพราะจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ อดทน อดกลั้น มุ่งมั่นทุ่มเททำงานให้ประเทศชาติและประชาชนต่อเนื่องมา ปรับปรุงตนเอง กำลังทำงานต่อเนื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศแก้ปัญหาปากท้องให้กลับมาเปิดประเทศได้ ยังไม่พบปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่รุนแรงเอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ไม่เหมือนอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเอื้อผลประโยชน์ต่อครอบครัวและพวกพ้อง เป็นต้น

อันดับสอง ที่ตามมา ได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 ระบุ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  เพราะมีอุดมการณ์ ขยันทุ่มเททำงานแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน มีประสบการณ์การเมืองมายาวนาน เชื่อมประสานทุกฝ่ายฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ได้ไม่มีประวัติด่างพร้อย จงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ จุดยืนมั่นคงกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พบทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่เอื้อผลประโยชน์แก่ครอบครัวและพวกพ้อง เป็นต้น
อันดับสาม ที่ตามมาติด ๆ ได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.6 ระบุ คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ เพราะ เป็นผู้หญิงกล้า แกร่ง มุ่งมั่นทุ่มเท ทำงานใกล้ชิดประชาชน อยู่เบื้องหลังความสำเร็จพรรคไทยรักไทยในอดีต มีความละเอียดอ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชนตัวเล็กตัวน้อย เป็นต้น

อันดับสี่ ได้แก่ ร้อยละ 58.5 ระบุ นายกรณ์ จาติกวณิช เพราะ เป็นนักการเมือง เป็นตัวของตัวเองสูง การศึกษาดี พูดจาดีมีประสบการณ์สูง เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ การเงิน เป็นต้น อันดับห้า ได้แก่ ร้อยละ 54.4 ระบุ นาย อนุทิน ชาญวีรกูล เพราะ เป็นนักธุรกิจเคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจอยู่เบื้องหลังความสำเร็จผ่านวิกฤตโควิด อดทน อดกลั้นต่อการถูกโจมตี จิตใจดีช่วยเหลือประชาชน ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เป็นต้น และรอง ๆ ลงไปได้แก่ ร้อยละ 53.9 ระบุ นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า พูดจาดีมีเหตุผล มีวิสัยทัศน์ มีการศึกษาดี เป็นต้น และร้อยละ 46.7 ระบุ นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม เพราะเป็นนักการเมือง นักประชาธิปไตยที่มีความรู้ มีจุดยืนเข้มแข็งจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ผลงานเปิดโปงทุจริตจำนำข้าว เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ จุดยืนทางการเมืองของประชาชนที่พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 40.7 สนับสนุนรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 21.2 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และ ร้อยละ 38.1 ระบุ พลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง
ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกแบ่งจุดยืนทางการเมืองของประชาชนออกตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ พบว่า ประชาชนในภาคใต้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.7 สนับสนุนรัฐบาลมากที่สุด ในขณะที่คนอีสานสนับสนุนรัฐบาลน้อยที่สุดคือร้อยละ 23.9 โดยคนในภาคกลางสนับสนุนรัฐบาลเป็นอันดับสองได้ร้อยละ 38.5 และคนกรุงเทพมหานครสนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 31.5 และคนภาคเหนือสนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 29.9

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนพลังเงียบหรือขออยู่ตรงกลาง พบว่ากลุ่มคนในภาคอีสานเกือบครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มพลังเงียบสูงที่สุด คือร้อยละ 48.6 รองลงมาคือ คนกรุงเทพมหานครร้อยละ 43.2 ในขณะที่คนภาคเหนือเป็นพลังเงียบร้อยละ 40.7 และคนในภาคกลางเป็นพลังเงียบร้อยละ 40.2 โดยคนในภาคใต้เป็นพลังเงียบน้อยที่สุดคือร้อยละ 16.8 ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล พบว่า สูงสุดในภาคเหนือคือร้อยละ 29.4 ในขณะที่คนในภาคใต้ไม่สนับสนุนรัฐบาลน้อยที่สุดคือร้อยละ 5.5 ในขณะที่คนในภาคอีสานร้อยละ 27.5 คนกรุงเทพมหานครร้อยละ 25.3 และคนในภาคกลางร้อยละ 21.3 ไม่สนับสนุนรัฐบาล ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า หลังจากมีพรรคการเมืองต่าง ๆ ทยอยเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีออกมา ประชาชนส่วนใหญ่ตอบรับผู้ถูกเสนอตัวเป็นคู่ชิงนายกรัฐมนตรีตามความเหมาะสมในคุณลักษณะของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่ตอบรับกับการเสนอชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าเหมาะสมเป็นคู่ชิงนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองในจุดแข็งของแต่ละคนที่แตกต่างกัน 

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและการตัดสินใจเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ส่งผลทำให้การสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลสูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่สนับสนุน โดยกลุ่มประชาชนในภาคใต้มีมากที่สุดในกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มพลังเงียบหรือขออยู่ตรงกลางมีมากที่สุดในภาคอีสานรองลงมาคือคนกรุงเทพมหานคร โดยพบว่ามีถึงเกือบครึ่งหนึ่งของประชาชนในภาคอีสาน ที่ขอเป็นพลังเงียบหรือขออยู่ตรงกลาง เมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท