Skip to main content
sharethis

ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ชี้เปิดประเทศ 1 พ.ย. ธุรกิจจะยังร้าง เหตุไม่มีทุนกลับมาเปิดกิจการ 'ยุทธพงศ์' ชี้โครงการซื้อเรือดำน้ำความผิดสำเร็จแล้ว เหตุกองทัพเรือจ่ายภาษีแทนเอกชน - 'จิราพร' ท้วงหากจะเข้า CPTPP ดูรอบคอบแล้วหรือยัง ห่วงเร่งรีบจะได้ไม่คุ้มเสีย ชี้อย่าให้เสียหายซ้ำรอยเหมืองทองอัครา


ที่มาภาพประกอบ: Unsplash/Yasuo Takeuchi

17 ต.ค. 2564 นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์​ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความพร้อมเปิดประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าไว้ใจ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ตัวเลขผู้เสียชีวิต และผู้รักษาตัวยังคงไม่ลดลง พื้นที่ระบาดยังอยู่ในเมืองหลัก อย่างกรุงเทพ และสมุทรปราการ ซึ่งได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการหลายคนที่ยังสับสนว่าการเปิดกิจการจะต้องทำอย่างไรบ้าง และจะเอาเงินที่ไหนมาฟื้นฟูเพื่อเปิดกิจการอีกครั้ง เพราะเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐ ที่มีเงื่อนไขปล่อยกู้ที่เข้มงวดมากเกินไป มาตรการแบงค์ชาติพักชำระหนี้ 2 เดือน กำลังจะหมดสิ้นเดือนนี้ ซึ่งหากผู้ประกอบการมีสินเชื่อเงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD) อยู่ ก็จะถูกบังคับจ่าย จุงไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะกลับมาเปิดกิจการ บางรายเจอครบรอบกำหนดการพักชำระหนี้ 6 เดือนอีก ยิ่งกลายเป็นภาระหนักขึ้น 2 เท่า

นายจิรพงษ์ กล่าวอีกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศไม่มี การแพร่ระบาดรุนแรง ขั้นตอนยุ่งยาก รัฐบาลเปิดประเทศแล้ว แต่เปิดไม่หมด สร้างความลำบากให้กับต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามา เพราะกิจการหลายอย่างยังไม่สามารถเปิดทำการได้ จึงเสนอให้รัฐบาลนำกองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สมัยรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำเอาไว้ จะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทย

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวปิดท้ายว่า หากรัฐบาลมั่นใจว่าไทยสามารถเปิดประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย 1 พ.ย. นี้ ก็ขอให้ช่วยผ่อนปรนมาตการเคอร์ฟิว 5 ทุ่ม-ตี 3 เพื่อให้คนในประเทศเริ่มมีการเตรียมพร้อมและทำมาหากินได้ เพราะเวลา 4 ชั่วโมงนี้มีคุณค่ากับคนทำงานกลางคืน ทั้งนี้กลุ่มคนทำงานกลางคืนไม่ได้มีแค่ผับบาร์ แต่ยังมีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ค้าขาย-ขนสินค้าเตรียมขายของ และกลุ่มคนขับรถรับจ้าง-แท็กซี่ด้วย ช่วยคิดเผื่อและเปิดโอกาสให้คนทำมาหากินได้ด้วย

'ยุทธพงศ์' ชี้โครงการซื้อเรือดำน้ำความผิดสำเร็จแล้ว เหตุกองทัพเรือจ่ายภาษีแทนเอกชน

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มหากาพย์โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ มูลค่ารวม 44,222 ล้านบาท พบว่ามีความเชื่อมโยงบริษัท CSOC กับตัวแทนในประเทศไทยคือ บริษัท ณัฐพล จำกัด อย่างชัดเจน เนื่องจากบริษัท CSOC คือบริษัทตัวแทนนายหน้าในประเทศไทย ของนายวรพจน์ หรือเสี่ยบอย-SKY ผู้ถือหุ้นบริษัท ณัฐพล ดังนั้นบริษัท CSOC จึงไม่ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลจีนแบบที่กล่าวอ้าง แต่เป็นเพียงนายหน้าที่เข้ามาทำ GtoG เก๊เท่านั้น เพราะมีหลักฐานใบเสร็จความสำเร็จแล้วคือ การจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 1 มูลค่า 12,424 ล้านบาท แบบไม่มีเครื่องยนต์ กองทัพเรือมีหนังสือแจ้งถึงถึง กมธ. งบฯ ว่าได้ทำการทยอยจ่ายภาษีแทนบริษัท CSOC ไปแล้ว 463 ล้านบาท จาก 820 ล้านบาท ทั้งที่กฎหมายยกเว้นการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มหากมีการจัดซื้อแบบ GtoG

นอกจากนี้ ยังปรากฎว่า บริษัท CSOS รับทำโครงการสร้างท่าเรือจอดเรือดำน้ำ 857 ล้าน แบ่งเป็นการขุดลอด 833 ล้าน ค่าใช้จ่ายพิเศษ 24 ล้าน และโครงการอู่ซ่อมเรือดำน้ำ 995 ล้าน ปรากฎงบสร้างห้องน้ำห้องส้วม 2 หลัง 3 ล้านบาท แพงกว่าบ้านทาวน์เฮาส์ใน กทม. อีกด้วย

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ขอตั้งคำถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสรรพากร และ พล.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. ว่าทำไมกองทัพเรือจึงต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแทนบริษัท CSOC ทั้งที่ GtoG ได้รับการยกเว้น การกระทำแบบนี้คือพฤติกรรมร่วมมือกับต่างชาติ โกงเงินภาษีประชาชนใช่หรือไม่ ขอให้ช่วยตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลสร้างความโปร่งใสให้กับเรื่องนี้ โดยทั้งหมดสัปดาห์หน้าจะยื่นเรื่องทวงถามต่อไป

'จิราพร' ท้วงหากจะเข้า CPTPP ดูรอบคอบแล้วหรือยัง ห่วงเร่งรีบจะได้ไม่คุ้มเสีย ชี้อย่าให้เสียหายซ้ำรอยเหมืองทองอัครา

นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ในฐานะรองโฆษก และประธานคณะอนุกรรมการนโยบายด้านการพาณิชย์และการค้าระหว่างประเทศของพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในสัปดาห์หน้าว่า สถานการณ์การเข้าร่วม CPTPP ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะมีอังกฤษ  จีน และจีนไทเป แจ้งเข้าร่วมเพิ่ม รัฐบาลจึงต้องศึกษาใหม่อย่างรอบคอบ อย่าเร่งรัดดำเนินการด้วยการอาศัยเพียงข้อมูลการศึกษาเก่า ไม่เช่นนั้นไทยจะได้ไม่คุ้มเสีย

ทั้งนี้ ผ่านมาเกือบ 1 ปี รัฐบาลยังคลุมเครือ ไม่สามารถหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันได้ และไร้ความชัดเจนว่าจะดำเนินการตามคำแนะนำจากรายงานผลการศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลต้องแก้ไขจุดอ่อนในด้านต่างๆ ของไทยก่อนเข้าร่วม CPTPP โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและพี่น้องเกษตรกรให้พร้อมต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความตกลงดังกล่าว และยังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลกำลังเร่งส่งหนังสือเข้าร่วม CPTPP โดยใช้ข้อมูลเก่าอ้างอิง ขาดการศึกษากรณีการเข้าร่วม CPTPP ของอังกฤษ จีน และจีนไทเป ไม่ได้หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปร่วมโดยเฉพาะกับองค์กรผู้บริโภคและเกษตรกร จึงชี้ให้เห็นว่า การบ้านเก่าที่เคยได้รับโจทย์จากสภาผู้แทนราษฎรก็ยังไม่ได้ส่ง การบ้านใหม่ก็ยังไม่ได้ทำ แต่ไปทำในสิ่งที่ยังไม่ควรทำคือการเร่งรีบจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP จึงไม่ได้ต่างอะไรกับกรณีการเร่งรัดปิดเหมืองทองอัครา จนทำให้ไทยถูกเอกชนฟ้องศาลอนุญาโตตุลาการ

“ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ออกมาชี้แจงว่าการเข้าร่วม CPTPP ของไทย ได้คุ้มเสียหรือไม่ มีการเตรียมความพร้อมประเทศอย่างไรบ้าง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ และต้องอธิบายผลการศึกษากรณีอังกฤษ จีน และจีนไทเป เข้าร่วมความตกลง CPTPP เพราะหากไม่มีความชัดเจน ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดการลงทุนเหมืองทองโดยขาดความรอบคอบ ทำให้ไทยถูกเอกชนฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายนับหมื่นล้าน เหมือนเอาประชาชนและประเทศชาติเป็นจำเลย” จิราพร กล่าว


ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย [1] [2] [3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net