ประเมินความเป็นไปได้ 4 แบบ ที่จะเกิดกับการสืบทอดอำนาจผู้นำจีน 'สีจิ้นผิง'

'สถาบันโลวี' องค์กรคลังสมองออสเตรเลีย นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ 4 แบบ กับอนาคตของวิกฤตผู้สืบทอดอำนาจ 'สีจิ้นผิง' ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนปัจจุบัน ที่กุมอำนาจตัวบุคคลไว้ที่ตัวเขาเพียงคนเดียวจนทำให้เกิดปัญหาการขาดเสถียรภาพในการเมืองชนชั้นนำ และทำลายบรรทัดฐานการแบ่งสรรอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ยุคสมัย 40 ปี ก่อนหน้านี้


'สีจิ้นผิง' ผู้นำจีน ที่ครองอำนาจในจีนมายาวนาน 9 ปี | ที่มาภาพ: Wikipedia

ไมรอน รัช เคยเขียนบทความวิชาการในปี 2505 เรื่อง "ปัญหาการสืบทอดอำนาจของครูชเชฟ" (Khrushchev Succession Problem) ที่เป็นอดีตผู้นำสหภาพโซเวียตไว้ว่า "ในการปกครองแบบเผด็จการตัวบุคคลหรือทรราชแบบใดก็ตาม มีอยู่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ไม่วันใดก็วันหนึ่งก็จะเกิดวิกฤตการสืบทอดอำนาจ วันที่เกิดวิกฤตนั้นจะแผ่เงามืดทอดมาถึงช่วงเวลาก่อนหน้าจะเกิดวิกฤต ส่งอิทธิพลให้เกิดช่วงเวลาการปกครองแบบเผด็จการ"

องค์กรคลังสมองจากออสเตรเลีย สถาบันโลวี ทำการวิเคราะห์ในประเด็นนี้เกี่ยวกับ 'สีจิ้นผิง' ผู้นำจีน ที่ครองอำนาจในจีนมายาวนาน 9 ปี และเป็นคนที่มีอำนาจนำอย่างท่วมท้นทั้งในระบอบการเมืองจีน การบัญชาการทางทหาร มีอิทธิพลมากในพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) รวมถึงแผ่อิทธิพลไปยังภาคนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศในจีน ทั้งนี้สีจิ้นผิงให้ยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดและปฏิเสธที่จะเสนอชื่อคนที่จะสืบทอดอำนาจต่อจากเขา

เรื่องนี้ทำให้มีการวิเคราะห์ว่านอกจากจะทำให้ความพยายามในการปฏิรูปจีนช่วงตลอด 40 ปีที่ผ่านมาถดถอยลงจากเดิมเพราะการใช้อำนาจจากตัวบุคคลแล้ว ยังเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดวิกฤตการสืบทอดอำนาจ โดยมีการประเมินความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นหลายรูปแบบ รูปแบบแรกคือการเปรียบเทียบกับสภาพของโซเวียตสมัยเผด็จการ โจเซฟ สตาลิน ยุคหลังจากที่เขาปราบปรามคู่แข่งทางการเมืองรายอื่นๆ จนหมดจนทำให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจหลังจากที่สีจิ้นผิงหมดอำนาจไปแล้วหรือไม่ หรือในอีกความเป็นไปได้หนึ่งก็อาจจะเกิดระบบที่เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบต่ออำนาจครอบงำที่แผ่วงกว้างของสีจิ้นผิงเองบีบให้เขาออกจากอำนาจก่อนเวลา หรืออย่างน้อยก็บีบให้เขาต้องกำหนดเวลาลงจากอำนาจ หรือความเป็นไปได้อื่นๆ ที่สีจิ้นผิงจะประนีประนอมจนทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจที่เป็นไปอย่างเรียบร้อย

ในขณะที่ประเทศที่มีการเมืองระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่มักจะมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจและการสืบทอดตำแหน่งกันอย่างเป็นระบบระเบียบและอย่างสันติ แต่ในหลายประเทศทั่วโลกการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ก็มักจะเป็นแหล่งความขัดแย้งและปัญหาการขาดเสถียรภาพ ซึ่งจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่รอดพ้นไปจากความจริงข้อนี้ โดยที่ในบทวิเคราะห์ยกตัวอย่างเหตุการณ์การแย่งชิงอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำพรรคคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด และมีความพลิกผันที่แม้แต่เหมาเจ๋อตุงก็ยังควบคุมการสืบทอดอำนาจของตัวเองไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จแต่ถูกสกัดจากเติ้งเสี่ยวผิง เป็นหนึ่งในตัวอย่างเหล่านี้

อย่างไรก็ตามโลวีมองว่าเรื่องการแย่งชิงอำนาจนี้เป็นอันตรายไม่ใช่แต่เฉพาะตัวกลุ่มชนชั้นนำเองที่จะเป็นการเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่าแม้แต่กลุ่มชนชั้นนำก็มีความแตกแยกภายใน แต่ยังเป็นอันตรายในแง่ของการขาดเสถียรภาพและความผันผวนทางการเมืองด้วย และภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ประเทศจีนก็มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะวิกฤตเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่เขายังยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ตัวเองจากที่ปทัสถานเดิมของการเมืองจีนเป็นการเมืองแบบคณาธิปไตยมาในช่วงก่อนหน้านี้ อีกทั้งความผันผวนทางการเมืองนี้ก็ส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและส่งผลเป็นลูกคลื่นต่อประเทศ 14 ประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกับจีน รวมถึงโลวียังแสดงความกังวลในเรื่องการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ของจีนทำให้ความเสี่ยงเหล่านี้มีมากขึ้นด้วย

จากสาเหตุทั้งหมดนี้ทำให้สถาบันโลวีรวบรวมการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในการเปลี่ยนผ่านหรือการสืบทอดอำนาจของผู้นำจีนสีจิ้นผิง ไม่ว่าจะเกิดกรณีการเสียชีวิตกะทันหัน การกลายเป็นผู้ขาดความสามารถในการดำรงตำแหน่งต่อ หรือกระทั่งกรณีการรัฐประหารในจีน นอกจากความเป็นไปได้ทางการต่อสู้ห้ำหั่นกันเองในหมู่ชนชั้นนำจนเกิดการขาดเสถียรภาพการเมืองแล้ว ถ้าหากสีจิ้นผิงกุมอำนาจไปจนถึงแก่เฒ่าก็จะเกิดการฝังแน่นของโครงสร้างอำนาจการกดขี่ครอบงำปราบปรามจนทำให้เกิดปัญหาอีกแบบหนึ่ง

1. สีจิ้นผิงลงจากอำนาจปี 2565 และเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

ความเป็นไปได้แรก คือการที่สีจิ้นผิงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยในปี 2565 โดยการที่เขายอมมอบอำนาจให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งจากคณะกรรมการประจำกรมการเมืองที่เรียกว่า "โปลิตบูโร" โดยอาศัยกฎปัจจุบัน ถ้าสีจัดการด้วยวิธีการเช่นนี้ก็จะเท่ากับว่าเขาได้ทำตามธรรมเนียมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคหลังเหมาเจ๋อตุง คือการที่เลขาธิการใหญ่ของพรรคจะลงจากตำแหน่งหลังรับตำแหน่ง 5 ปีครบ 2 สมัย และการตั้งเวลาเกษียณอายุของตัวเองอย่างไม่เป็นทางการไว้ที่อายุ 68 ปี ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ปี 2545

แต่ทำไมสีจิ้นผิงถึงจะยอมลงจากอำนาจเช่นนี้นั้นมีหลายเหตุผล อย่างแรกคือการที่สีจิ้นผิงใช้เวลาในช่วง 2 สมัยนี่ส่วนใหญ่ไปกับการทำลายระบบการสืบทอดอำนาจเดิมและเน้นเรื่องการเสริมความเข้มแข็งให้พรรครัฐบาลในเชิงองค์กรและเชิงสถาบันซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะสร้างความตึงเครียดขึ้นแต่สีจิ้นผิงน่าจะเชื่อว่าเขาต้องการอำนาจทางการเมืองและการบริหารจำนวนมากในการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างพรรคการเมือง และหลังจากที่การปฏิรูปหลายอย่างเกิดขึ้นแล้วเขาก็อาจจะรู้สึกว่าวางใจได้ที่จะวางมือจากตำแหน่งการนำที่เป็นทางการ

สาเหตุที่สองคือผลการวิจัยทางวิชาการเมื่อไม่นานนี้ชี้ว่าสีจิ้นผิงอาจจะพิจารณาลงจากตำแหน่งเพราะความปลอดภัยของตัวเอง เพราะคนในพรรคที่คาดหวังว่าจะได้รับการส่งเสริมเลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อยๆ ถูกปิดโอกาสเหล่านี้ก็อาจจะกลายเป็นปฏิปักษ์แล้วก็หาวิธีร่วมกันเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการท้าทายการนำของสีจิ้นผิงหรือแม้กระทั่งการรัฐประหารได้ ทำให้สีจิ้นผิงอาจจะเกษียณตัวเองเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากเรื่องเหล่านี้ แต่ทว่ามันก็มีความขัดแย้งในตัวเองเพราะมันทำให้สีจิ้นผิงต้องสรรหาคนสืบทอดอำนาจที่เขาไว้วางใจได้เพื่อที่จะการันตีความปลอดภัยให้เขาได้

ปัญหาสำหรับสีจิ้นผิงคือ ใครที่จะเหมาะสมสืบทอดเพราะในโปลิตบูโรชุดปัจจุบันไม่มีใครเลยที่มีประวัติการปกครองดีพอหรือมีประสบการณ์มากพอที่จะถูกมองว่ามีเครดิตมากพอจะแทนที่สีจิ้นผิง และเมื่อพิจารณาจากการที่สีจิ้นผิงทำการกวาดล้างและโครงการปราบปรามการคอร์รัปชันของเขาแล้วคนที่จะมาแทนที่เขาต้องมีความจงรักภักดีกับสีจิ้นผิงอย่างหนักแน่นและแสดงให้เห็นต่อสาธารณะ เพราะการกวาดล้างของเขาสร้างศัตรูเอาไว้มากจนทำให้เขาลงจากอำนาจลำบาก และถ้าหากจะมีคนที่คอยติดตามเขาในระดับไว้ใจได้อย่าง Wang Huning ก็เป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์งานบริหารจัดงานหรืองานปกครองมากพอที่จะเป็นตัวเลือกในการสืบทอดผู้นำจีน รวมถึงยังมีสายสัมพันธ์กับกองทัพและฝ่ายความมั่นคงของรัฐน้อย

สิ่งที่เป็นคำเตือนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งถ้าหากกรณีข้างบนเกิดขึ้นจริงคือถ้าหากสีจิ้นผิงเกษียณตัวเองในปีหน้าเขาจะต้องหาทางพยายามคงอำนาจของตัวเองอยู่ในแบบที่ไม่เป็นทางการ เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการปกครองและกำหนดนโยบายของประเทศทำให้เกิดความไม่แน่นอนจากอำนาจที่ไม่เป็นทางการเช่นนี้

2. สีจิ้นผิงจะวางแผนลาออกในการประชุมพรรคครั้งที่ 21 (ปี 2570) หรือไม่ก็ 22 (ปี 2575)

สีจิ้นผิงเคยกล่าวไว้ในการประชุมพรรคเมื่อปี 2557 ในทำนองให้ความสำคัญกับการสืบทอดอำนาจผู้นำในแบบที่เป็นระบบระเบียบ ถ้าหากว่าสิ่งที่เขาพูดออกมาจากใจจริง ก็เป็นได้มากกว่าที่เขาจะเลื่อนเวลาการเกษียณตัวเองออกไปอีก 6 ปีข้างหน้าแทนที่จะเป็นปีหน้า เพื่อให้เขารู้สึกว่าจะสามารถเกษียณอายุได้โดยที่มรดกความทะเยอทะยานทางการเมืองในประเทศและต่างประเทศของเขาจะยังคงอยู่

สำหรับผู้นำเผด็จการแล้วการหาทางลงให้ตัวเองได้อย่างปลอดภัยและมั่งคั่งในชีวิตหลังการเมืองเป็นสิ่งที่พวกเขาคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ เทียบกับประเทศประชาธิปไตยสมัยใหม่แล้ว ผู้นำที่ชอบเข้าสังคมมักจะมั่นใจได้ว่าเมื่อเขาลงจากตำแหน่งแล้วจะยังคงมีเสรีภาพและสามารถเลือกที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมการเมืองตามที่พวกเขาเห็นสมควรได้ ส่วนผู้นำเผด็จการมักจะขาดความมั่นคงปลอดภัยเช่นนี้ พวกเขาต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลังถึงความปลอดภัยของครอบครัวและทรัพย์สินของตัวเอง ด้วยเหตุนี้พวกผู้นำเผด็จการจึงมักจะพยายามออกบัญญัติในทำนองที่จะทำให้ตัวเองไม่ต้องรับผิด เช่นในรัสเซียที่เคยมีการพิจารณาร่างบัญญัติแนวนี้ให้กับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อปลายปี 2563

จากงานวิจัยของ อเล็กซานเดร์ เดบส์ และ เอช อี โกแมนส์ ระบุุว่าเผด็จการร้อยละ 41 มักจะต้องเผชิญกับการถูกเนรเทศ, ถูกคุมขัง หรือเสียชีวิต ภายในเวลา 1 ปีหลังจากที่ออกจากตำแหน่ง เทียบกับผู้นำประชาธิปไตยที่ประสบกับสิ่งเหล่านี้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น

เรื่องนี้มีตัวอย่างแม้แต่จากในประวัติศาสตร์การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอง จากที่คนที่มีโอกาสเป็นผู้สืบทอดเหมาเจ๋อตุงต่างก็เสียชีวิตหรือถูกโค่นล้มด้วยความโหดเหี้ยม ผู้ที่ได้รับเลือกให้สืบทอดอำนาจของเติ้งเสี่ยงผิงก็ถูกโค่นล้มทั้งสองคนและถูกขับออกจากพื้นที่สาธารณะมีหนึ่งในนั้นมีถูกคุมขังภายในบ้านหลายสิบปี ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ยอมสละอำนาจเองอย่างเจียงเจ๋อหมินและหูจินเทาต่างก็มีชีวิตหลังเกษียณที่ปลอดภัยและครอบครัวไม่ต้องติดคุก โลวีระบุอีกว่าการจำกัดเวลาที่ผู้นำอยู่ในอำนาจจึงมีความสำคัญทางด้านการทำให้ระบบการเมืองเสถียรซึ่งจะนไปสู่เศรษฐกิจที่ดีขึ้นไปด้วย

มีการประเมินความเป็นไปได้อีกว่าถ้าหากสีจิ้นผิงออกจากตำแหน่งเองในรูปแบบนี้เขาก็จะพยายามมีบทบาททางสาธารณะในแง่ของการเป็นหน้าตาทางการทูตของจีน หรือไม่ก็อาจจะกลายเป็นประธานคณะกรรมาธิการกลางของกองทัพ (CMC) ที่มีอำนาจเหนือประธานาธิบดีแต่มีอำนาจเชิงพิธีการและได้รับการมองเห็นน้อยกว่า แบบเดียวกับที่เจียงเจ๋อหมินเคยยึดตำแหน่งนี้เอาไว้มาก่อนในปี 2545 ที่เป็นการเล่นกับอำนาจในแบบที่ลดอำนาจของหูจินเทาผู้สืบทอดต่อจากเขาได้

ทั้งนี้ยังเป็นไปได้ที่สีจิ้นผิงจะใช้เวลาช่วงที่รอจะออกจากตำแหน่ง 6 ปีหลังจากนี้หรือมากกว่านี้ในการส่งเสริม "โครงการขจัดการคอร์รัปชัน" เพื่อกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมืองของตัวเอง จัดหากลุ่มวงในของพรรครุ่นหนึ่งทั้งรุ่นที่จงรักภักดีกับเขาเพื่อทำให้เขากลายเป็นคนที่เล่นบท "ปกครองจากเบื้องหลัง" และ "คนกำหนดตัวผู้นำ" แบบที่เติ้งเสี่ยวผิงเคยทำได้

ในแง่ของกลยุทธ์การสร้างอำนาจของสีจิ้นผิงนั้น มีการวิเคราะห์ว่าสีจิ้นผิงใช้วิธีการแปะชื่อและตัวตนภายนอกของตัวเองไว้ตามอุดมการณ์ต่างๆ ของพรรคและตามโครงสร้างการบริหารต่างๆ เช่นการอ้างอิงว่าตัวเองจะปกป้องมรดกของเหมาเจ็อตุง อย่างไรก็ตามมีผู้วืเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเยล มิลาน สโลวิก ระบุไว้ว่า "ภายใต้เผด็จการแบบสถาปนา ผู้ที่เป็นเผด็จการจะต้องสร้างภาพภายนอกให้ดูเหมือนไร้เทียมทานไม่มีอะไรจะทำอันตรายได้ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการคงไว้ซึ่งอำนาจที่แท้จริงของพวกเขา" แต่ภาพลักษณ์เทียมทางอำนาจเหล่านี้ก็มีโอกาสละล่มสลายลงได้เช่นกัน

3. ถูกท้าทายอำนาจการนำหรือถูกรัฐประหาร

ความเป็นไปได้ที่ 3 ที่สีจิ้นผิงอาจจะต้องเผชิญไม่ได้เรื่องละเมอเพ้อพก แต่มีการพูดถึงในหมู่ผู้นำระดับสูงของจีนแม้แต่กระทั่งสีจิ้นผิงเองก็พูดระแวงถึงเรื่องนี้ว่าอาจจะมีคนที่ "วางแผนสมคบคิด" จะ "ทรยศ" เขาโดยไม่ได้พูดชัดเจนว่ากลุ่มไหน เป็นไปได้ว่าคำพูดเหล่านี้อาจจะเป็นแค่การอ้างความชอบธรรมในการจัดการกับอะไรภายในพรรค โดยที่มีหลายคนถูกกล่าวหาว่าวางแผนจะยึดอำนาจพรรคจากสีจิ้นผิงจากข้อมูลจองถ้อยแถลงวงในที่เผยแพร่เมื่อปี 2559

ความกลัวในเรื่องจะถูกยึดอำนาจจากภายในนี้ในเชิงสถิติแล้วเป็นเรื่องที่กลุ่มผู้นำเผด็จการเสี่ยงจะต้องเผชิญ เคยมีงานวิจัยระบุว่าถึงแม้การรัฐประหารในระบอบคอมมิวนิสต์พรรคเดียวจะไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ชะตากรรมของผู้นำเผด็จการที่เผชิญกับการยึดอำนาจจากภายในนี้ก็จบไม่สวยนัก จากที่ร้อยละ 73 ของเผด็จการที่ถูกโค่นล้มถ้าไม่เสียชีวิตก็ต้องเผชิญการจำคุกหรือเนรเทศ

ในขณะที่กรณีของสีจิ้นผิงนั้นเขาสามารถควบรวมอำนาจไว้ที่ตัวเองไว้ได้อย่างดีโดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แต่ทว่าการสนับสนุนสีจิ้นผิงนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรต่างๆ ทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่ตลอด ในตอนนี้ยังไม่รู้ว่าสีจิ้นผิงต่อรองกับเหล่าชนชั้นนำภาคส่วนต่างๆ ไว้อย่างไรบ้าง แต่ถ้าหากเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่องหรือมีการบริหารวิกฤตการต่างประเทศผิดพลาดซ้ำๆ ก็อาจจะทำให้สีจิ้นผิงที่นั่งลำบากได้เพราะไม่สามารถควบคุมแนวร่วมของเขาเอาไว้ได้ ทุกแนวร่วมของเผด็จการมีจุดแตกหักของมันอยู่เสมอ ทำให้เผด็จการต้องคอยระแวงและจัดการการพยายามก่อรัฐประหารอย่างจริงจังเสมอ

การจะรัฐประหารในรัฐแบบจีนเช่นนี้มีความท้าทายอย่างมากและต้องฝ่าด่านต่างๆ มากมายในขณะที่ต้องไม่ทำให้ผู้นำตื่นตัวในเรื่องนี้ ทำให้ถึงแม้ว่าสีจิ้นผิงจะมีศัตรูทางการเมืองอยู่บ้างในพรรค แต่การต้องฝ่าด่านต่างๆ ทำให้การรัฐประหารเป็นไปได้ยาก

นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล แดน แมตติงลี เปิดเผยว่าผู้นำจีนทั้งหลายต่างก็คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะถูกก่อรัฐประหารเป็นอย่างดีจึงมีการพยายามสกัดกั้นสิ่งเหล่านี้ เช่นกรณีสีจิ้นผิงเขามีการจับตามองการแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลต่างๆ ในรัฐบาลและกองทัพจีนจนทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่กลายเป็นคนฝ่ายต่อต้านพรรครัฐบาล รวมถึงการที่สีจิ้นผิงมีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยให้อยู่ในตำแหน่งระดับสูงของกองทัพได้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เขาใช้ยับยั้งการรัฐประหาร

ในอีกกรณีหนึ่งคือการพยายามโค่นล้มสีจิ้นผิงด้วยช่องทางตามกฎหมายจองจีนก็เป็นไปได้ยากเช่นกันเพราะการจะทำเช่นนั้นต้องมีการสื่อสารระหว่างผู้กระทำการต่างๆ รวมถึงวางแผนเรื่องการขนส่งลำเลียงต่างๆ เป็นอย่างดี แต่แม้แต่คนมีอำนาจระดับสูงในพรรครัฐบาลจีนก็ยังขยับเรื่องนี้ลำบาก พวกเขาสื่อสารในเรื่องนี้ได้ยากเพราะฝ่ายความมั่นคงของสีจิ้นผิงคอยจับตาการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างครอบคลุม

เรื่องที่น่าจะเป็นไปได้คือการท้าทายอำนาจการนำของสีจิ้นผิงที่จะเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดในที่ประชุมของโปลิตบูโรหรือของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ แต่การจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ต้องมีการที่เจ้าหน้าที่หลายคนไม่ยอมรับการนำของสีจิ้นผิงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมันเป็นเรื่องยากที่จะรู้เห็นตรงกันว่ามีคนในพรรคจำนวนมากขนาดไหนที่พร้อมจะโค่นล้มสีจิ้นผิงร่วมกัน

4. สีจิ้นผิงสิ้นสภาพหรือกระทั่งเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่ทันคาดคิด

ต่อให้ถ้าหากว่าสีจิ้นผิงพูดความจริงในเรื่องที่ว่าเขาไม่ได้อยากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปจนตลอดชีวิตจะเป็นเรื่องจริง การที่เขาทำลายบรรทัดฐานการสืบทอดตำแหน่งของประเทศก็ทำให้จีนไม่ได้รับมือไว้ล่วงหน้าถ้าหากเกิดกรณีที่เขาเสียชีวิตหรือสิ้นสภาพการเป็นผู้นำกะทันหัน เรื่องนี้มีโอกาสเกิดขึ้นจากอายุของสีจิ้นผิงและข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับสุขภาพที่ทรุดโทรมลงของเขา

ถึงแม้ว่าสีจิ้นผิงจะพยายามปกปิดเรื่องความเจ็บป่วยของตัวเองและทำเหมือนเป็นความลับของรัฐรวมถึงข่มขู่นักข่าวต่างประเทศที่รายงานในเรื่องนี้ แต่ความพยายามปกปิดเรื่องนี้ก็มีเวลาจำกัดของมัน สาเหตุที่เขาพยายามปกปิดก็เพราะว่ากลุ่มที่จะก่อรัฐประหารอาจจะอ้างเรื่องสุขภาพมาเป็นความชอบธรรมในการบอกว่าสีจิ้นผิงขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งผู้นำต่อแบบเดียวกับที่ผู้พยายามก่อรัฐประหารต่อ มิคาอิล กอร์บาชอฟ แห่งโซเวียตสมัยปี 2534 เคยอ้างไว้ แม้ว่าการรัฐประหารในครั้งนั้นจะไม่สำเร็จก็ตาม

ทางโลวีได้ประเมินเผื่อเอาไว้ว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเกิดกรณีที่สีจิ้นผิงสิ้นสภาพหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตกะทันหัน โดยในแง่พิธีการตามแบบฉบับรัฐธรรมนูญจีนแล้ว เลขาธิการใหญ่ของพรรคและประธานคณะกรรมาธิการกลางของกองทัพจะได้รับแต่งตั้งในการประชุมแบบครบองค์ประชุมของคณะกรรมการกลางเท่านั้น และจะได้รับคัดสรรจากคนที่กำลังดำรงตำแหน่งในโปลิตบูโร โดยที่ไม่แน่นอนว่าบทบาทของสภา "ประชาชน" แห่งชาติของจีนจะต้องมีบทบาทในการแต่งตั้งหรือไม่

กระนั้นในทางปฏิบัติแล้ว ตัวเลือกผู้นำใหม่ของจีนมักจะมาจากการปรึกษาหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ การเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ก่อนที่จะมีการรับรองจากคณะกรรมการกลาง โดยที่ถึงแม้ว่าสีจิ้นผิงจะคงเสถียรภาพทางสมดุลอำนาจระหว่างกลุ่มชนชั้นสูงในพรรคไว้ได้อย่างดีและมีตัวเก็งว่าจะเป็นผู้สืบทอดอยู่บางส่วน แต่ในช่วงสุญญากาศทางอำนาจแล้วมันจะกลายเป็นการต่อสู้กันเองภายในระหว่างกลุ่มโปลิตบูโรซึ่งถือเป็นฝันร้ายสำหรับคนในพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ถือขนบธรรมเนียมทางสถาบันของพรรค

การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเองภายในที่เกิดขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนผู้นำคนต่อไปต่างกัน กลุ่มคนที่ถูกกีดกันหรือถูกลงโทษจากรัฐบาลแนวร่วมสีจิ้นผิงก็อาจจะเป็นโอกาสนี้เป็นการแสดงอำนาจของตัวเองและพยายามแย่งชิงอำนาจนำด้วย

ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจเหล่านี้จะเกิดขึ้นในรูปแบบใด มีปัจจัยใดเข้ามาชี้นำบ้าง และการสืบทอดอำนาจจะเป็นไปอย่างราบรื่นได้หรือไม่ แต่ทางโลวีก็ให้ตัวชี้วัดเอาไว้สำหรับผู้จับตามองในเรื่องนี้ว่าอะไรที่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกของกลุ่มผู้นำในพรรค อย่างแรกคือการที่ในการประชุมพรรคตามกำหนดการไม่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองประธานาธิบดีอยู่ที่นั่น อย่างที่สองคือ การเปลี่ยนแปลงผังต่างๆ ของรายการโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ อย่างที่สามคือการที่อินเทอร์เน็ตใช้การไม่ได้หรือการสกัดกั้นโซเชียลมีเดีย หรือการที่พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับฝ่ายต่อต้านสีจิ้นผิง การหยุดชะงักเหล่านี้อาจจะขยายไปถึงเที่ยวบินและการรถไฟในสนามบินและสถานีรถไฟใหญ่ๆ ของจีนด้วย นอกจากนี้ยังจะมีการสร้างเรื่องราวต่างๆ เพื่อสกัดขากันหรือขัดแย้งกันเองในหมู่รัฐบาลกลางออกมาตามช่องทางสื่อต่างๆ

อีกความเป็นไปได้หนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือการที่ถ้าหากสีจิ้นผิงเจ็บป่วยจนทำให้สิ้นสภาพความเป็นผู้นำเพราะขาดคุณสมบัติหรือป่วยหนักเกินกว่าจะทำงานต่อได้ (เช่น เกิดอาการเส้นเลือดสมองตีบ, หัวใจวาย เป็นต้น) การที่สีจิ้นผิงหมดสภาพเช่นนี้ต่างจากกรณีเสียชีวิตตรงที่จะทำให้เกิดสภาวะสุญญากาศทางการเมืองในแบบที่ไม่รู้ว่าจะยาวนานไปถึงเมื่อใด ทำให้ทั้งฝ่ายสนับสนุนสีจิ้นผิงและฝ่ายต่อต้านต่างก็เบนเข็มไปมาระหว่างที่ว่าสีจิ้นผิงจะฟื้นตัวได้หรือสิ้นสภาพ

มีการยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นในสมัยเผด็จการ โจเซฟ สตาลิน ปี 2496 ซึ่งในตอนนั้นต้องใช้เวลา 5 วันเต็มสตาลินถึงจะเสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ในช่วงระยะเวลานี้เองที่กลุ่มผู้นำระดับสูงของพรรครัฐบาลโซเวียตก็วางแผนสกัดแข้งสกัดขากันเพื่อเตรียมมีอำนาจในยุคหลังสตาลิน มีบางคนที่พูดจากลับไปกลับมาเช่น ลาฟเวนตีย์ เบอร์เรีย หัวหน้าตำรวจลับกล่าวในแง่ลบเกี่ยวกับสตาลินในช่วงที่อาการสตาลินแย่ลง แต่เมื่อสตาลินมีท่าทีจะฟื้นตัวเขาก็กลับมาสร้างภาพลักษณ์ว่าจงรักภักดีกับสตาลินอีกครั้ง แม้กระทั่งภาพยนตร์ตลกที่ชื่อ The Death of Stalin ก็นำฉากที่น่าหัวร่อจากกรณีช่วงสตาลินใกล้เสียชีวิต

ในแง่นี้ใครควรจะได้ดำรงตำแหน่งต่อถ้าหากสีจิ้นผิงหมดสภาพในช่วงที่กำลังดำรงตำแหน่ง รัฐธรรมนูญจีนระบุว่าจะต้องให้ประธานาธิบดีเป็นผู้รับรองให้รองประธานาธิบดีขึ้นดำรงตำแหน่งต่อ แต่ระบบนี้เองก็สร้างภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างเห็นได้ชัดถ้าหากประธานาธิบดีไม่มีแรงมากพอจะให้ความเห็นชอบเช่นนี้ แต่ก็มีบางส่วนในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าถ้าหากตำแหน่งของประธานาธิบดีว่างรองประธานาธิบดีจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งแทนได้ กระนั้นก็ตามคำว่า "ตำแหน่งว่าง" ก็ก่อปัญหาความกำกวมได้เช่นกันเพราะในช่วงที่ประธานาธิบดีป่วยนั้นไม่มีใครทราบว่าเขาจะกลับมาดำรงตำแหน่งต่อหรือไม่และในสภาพนี้ถือว่า "ตำแหน่งว่าง" จริงหรือไม่

นอกจากนี้ในจีนมีรองประธานาธิบดีคนเดียวคือ Wang Qishan ที่ในตอนนี้อายุ 72 แล้วและอาจจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งระดับสูงได้อีกเพราะใกล้เกษียณอายุแล้ว การให้ Wang ดำรงตำแหน่งต่อในแง่นี้อาจจะมีปัญหาตามมา

อีกจุดหนึ่งคือตำแหน่งประธานกองทัพและเลขาธิการใหญ่ของพรรคก็จะว่างไปด้วย สองตำแหน่งนี้ยิ่งมีความไม่แน่นอนยิ่งกว่ากรณีประธานาธิบดีถ้าหากสีจิ้นผิงเป็นอะไรไปก่อนเวลาอันควร นอกจากจะเสี่ยงเกิดการต่อสู้ภายในพรรคแล้ว ผู้นำระดับสูงที่ได้รับการแต่งตั้งจากสีจิ้นผิงก็จะอยู่ในสภาพที่สุ่มเสี่ยงขาดความมั่นคงถ้าหากจะดำรงตำแหน่งต่อ เพราะพวกเขาไม่มีฐานสนับสนุนแบบที่ขึ้นอยู่กับพวกเขาเอง ทั้งนี้กลุ่มคนที่มีอำนาจสูงในตำแหน่งรัฐบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำฝ่ายต่อต้านการคอร์รัปชันหรือผู้นำทหารก็อาจจะหันมามีบทบาททางการเมืองในแบบตั้งตนเป็นอิสระจากแนวร่วมได้เช่นกัน

โลวีสรุปว่า การประเมินความเป็นไม่ได้เหล่านี้ไม่ได้ต้องการให้โครงร่างแบบแผนอนาคตของจีนแต่อย่างใด แต่ต้องการเสนอให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของทิศทางการเมืองจีนภายใต้สีจิ้นผิงที่มีการควบคุมอำนาจและไม่มีแบบแผนในการสืบทอดอำนาจชัดเจนทำให้ยากที่จะเกิดการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติและคาดเดาได้ และทั้งโลกก็อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วยขึ้นอยู่กับว่าจีนจะเล็งเห็นและจัดการกับปัญหาที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นเหล่านี้หรือไม่อย่างไร

เรียบเรียงจาก
AFTER XI: FUTURE SCENARIOS FOR LEADERSHIP SUCCESSION IN POST-XI JINPING ERA, Lowy Institute, 22-04-2021

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท