Skip to main content
sharethis

 

เปิดเอกสารข้อห่วงใยของกระทรวงสาธารณสุขต่อการเตรียมการเข้า CPTPP ชี้แผนรองรับบางเรื่องขอเวลาปรับตัว 5 ปี, 10 ปี แต่ต้องมีกำลังคนมีงบฯ ขณะที่ผลกระทบต่อการออกมาตรการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ยังไม่ยอมทำกรอบเจรจา ส่วน ปธ.อนุฯ นโยบายด้านการพาณิชย์และการค้าระหว่างประเทศของพรรคเพื่อไทย เตือนเข้า CPTPP ไม่รอบคอบ ระวังซ้ำรอยเหมืองทองอัคราฯ

18 ต.ค. 2564 ต่อกรณีเมื่อสัปดาห์ก่อนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) ซึ่งประกอบด้วยภาควิชาการและภาคประชาสังคมที่ได้ติดตามนโยบายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศและผลกระทบที่เกิดขึ้นมาตลอดสองทศวรรษ ออกคำแถลง 4 เหตุผล คัดค้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เดินหน้าเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สัปดาห์นี้ โดยข้อกังวลเช่นจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการผูกขาดพันธุ์พืช การเข้าถึงยา การคุ้มครองผู้บริโภคนั้น

วันนี้ (18 ต.ค.64) ประชาไทได้รับเอกสารของทางกระทรวงสาธารณสุขต่อ การเตรียมการ CPTPP เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นประเด็นข้อห่วงใยหลักๆ แล้วชี้แผนรองรับบางเรื่องขอเวลาปรับตัว 5 ปี, 10 ปี แต่ต้องมีกำลังคนมีงบประมาณ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ. ไม่รับปากอะไร 

แหล่งข่าวระบุว่าข้อใหญ่สุด คือเรื่อง ผลกระทบต่อการออกมาตรการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (การออก/แก้ไขมาตรการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ CPTPP) ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ไม่สามารถดำเนินตามข้อเรียกร้องของ CPTPP ได้ ต้องเจรจาขอยกเว้นกำหนดเป็นข้อสงวนการใช้กลไกเอกชนฟ้องรัฐในการออกมาตรการด้านสาธารณสุข (ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ CL) ให้ได้ จนถึงขณะนี้ กนศ. ไม่ยอมทำกรอบเจรจาที่ระบุประเด็นอ่อนไหว เพื่อเป็นสัญญาประชาคมที่รัฐจะมีต่อสังคมไทยว่า หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญ

ขณะที่วันนี้ เฟซบุ๊กเพจ พรรคเพื่อไทย รายงานว่า จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และประธานคณะอนุกรรมการนโยบายด้านการพาณิชย์และการค้าระหว่างประเทศของพรรคเพื่อไทย เตือนไปยังรัฐบาลประยุทธ์ อีกครั้งหลังปรากฎกระแสคณะรัฐมนตรีอาจมีการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ในช่วงสัปดาห์ที่จะถึงนี้

“การพิจารณาเรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะมีอังกฤษ จีน และจีนไทเป แจ้งเข้าร่วมเพิ่ม รัฐบาลจึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบ อย่าเร่งรัดดำเนินการด้วยการอาศัยเพียงข้อมูลการศึกษาเก่า ไม่เช่นนั้นไทยจะได้ไม่คุ้มเสีย” จิราพร กล่าว

จิราพร กล่าวว่า เกือบ 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลยังคลุมเครือ ไม่สามารถหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันได้ และไร้ความชัดเจนว่าจะดำเนินการตามคำแนะนำจากรายงานผลการศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลต้องแก้ไขจุดอ่อนในด้านต่างๆ ของไทยก่อนตัดสินใจจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและพี่น้องเกษตรกรให้พร้อมต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลกำลังเร่งส่งหนังสือเข้าร่วม CPTPP โดยใช้ข้อมูลเก่าอ้างอิง ขาดการศึกษากรณีการเข้าร่วม CPTPP ของอังกฤษ จีน และจีนไทเป ไม่ได้หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปร่วมโดยเฉพาะกับองค์กรผู้บริโภคและเกษตรกร จึงชี้ให้เห็นว่า การบ้านเก่าที่เคยได้รับโจทย์จากสภาผู้แทนราษฎรไป รัฐบาลก็ยังไม่ได้ส่ง การบ้านใหม่ก็ยังไม่ได้ทำ แต่ไปทำในสิ่งที่ยังไม่ควรทำ คือ การเร่งรีบจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP จึงไม่ต่างอะไรกับกรณีการเร่งรัดปิดเหมืองทองอัครา จนทำให้ไทยถูกเอกชนฟ้องศาลอนุญาโตตุลาการ

“ขอให้พลเอกประยุทธ์ ชี้แจงให้ชัดเจนว่าการเข้าร่วม CPTPP ของไทย ได้คุ้มเสียหรือไม่ มีการเตรียมความพร้อมประเทศอย่างไร เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ และต้องอธิบายผลการศึกษากรณีอังกฤษ จีน และจีนไทเป เข้าร่วมความตกลง CPTPP หากยังไม่มีความชัดเจน ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่พลเอกประยุทธ์ยึดการลงทุนเหมืองทองโดยขาดความรอบคอบ ทำให้ไทยถูกเอกชนฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายนับหมื่นล้าน เหมือนเอาประชาชนและประเทศชาติเป็นจำเลย” ส.ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทยกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net