กองทัพพม่าปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังกว่า 5,600 คน

กองทัพพม่าปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากกรณีเข้าร่วมประท้วง และทำกิจกรรมต่อต้านเผด็จการ จากเรือนจำวันนี้ มากกว่า 5,600 ราย ด้านนักศึกษา ป.โท ม.มหิดล ชาวพม่าเชื้อสายกะเหรี่ยง ซึ่งถูกกองทัพพม่าจับกุมที่เมืองพะอัน ประเทศพม่า ตั้งแต่ มี.ค. 64 ไม่ได้ถูกปล่อยตัวรอบนี้  

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า

18 ต.ค. 64 สำนักข่าว ‘อิระวดี’ รายงานวันนี้ (18 ต.ค.) กองทัพพม่าปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมราว 5,600 รายจากเรือนจำ โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมประท้วงราว 1,300 ราย และผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการกระทำกิจกรรมต่อต้านกองทัพพม่าอีกกว่า 4,300 ราย

การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเกิดขึ้น หลังเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพพม่า และเป็นผู้นำคณะรัฐประหาร ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26-28 ต.ค. 64

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ มาจากการไม่ยอมปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่มีการตกลงร่วมกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนคนอื่นๆ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 64 ซึ่งประกอบด้วย 

1) หยุดยั้งการใช้ความรุนแรงในประเทศพม่าโดยทันที และขอเรียกร้องทุกฝ่ายให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจขั้นสูงสุด 

2) ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้กระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหาวิกฤติพม่าอย่างสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชน 

3) ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานการเจรจา โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการอาเซียนให้ความช่วยเหลือ 

4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ หรือ AHA 

5) ผู้แทนพิเศษ และคณะผู้แทนของอาเซียน จะเดินทางเยือนประเทศพม่า เพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวิกฤตการณ์ครั้งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่ประชุมอาเซียนเสนอมติ 5 ข้อเรียกร้องยุติความรุนแรงในพม่า

รายงานระบุเพิ่มว่า ในจำนวนผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมครั้งนี้ มีศิลปินราว 24 คน และคนวงการบันเทิงอีก 10 คน หลังทั้งหมดถูกดำเนินคดีจากกบทบาทการออกมาต่อต้านกองทัพพม่า ขณะที่ผู้ที่กระทำการวางระเบิดและทำลายทรัพย์สินสาธารณะ จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม อิระวดี ไม่ได้รายงานว่ามีศิลปิน และดาราคนไหนที่ได้รับการปล่อยตัวบ้าง

ขณะที่กองทัพพม่าเตือนว่า ประชาชนทั้งหมด 5,600 คนที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ หากถูกจับกุมอีกครั้ง พวกเขาจะต้องรับโทษตามเดิมที่ยังเหลือ และบวกเพิ่มกับโทษใหม่เข้าไปด้วย 

“ถ้าพวกเขาก่อคดีอีกครั้ง พวกเขาจะได้รับโทษที่เหลือ” ข้อความบางส่วนจากแถลงการณ์ปล่ยตัวนักโทษของรัฐบาลกองทัพพม่า 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 64 ระบอบเผด็จการเคยปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมมากกว่า 2,200 ราย โดยผู้ถูกปล่อยตัวส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีข้อหาเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร

ต่อมา ในสัปดาห์แรกของ ส.ค.ที่ผ่านมา กองทัพพม่ามีการปล่อยตัวเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิ แพทย์ ที่เข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืน หรือที่ชาวพม่าเรียกชื่อเล่นว่า CDM มาแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายร้อยคน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังถูกคุมขังอยู่ทั่วประเทศ  

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 64 มีประชาชนราว 9,028 ราย รวมถึงประธานาธิบดี วินมยิ้ด และ อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และหัวหน้าพรรคสันนิตบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ยังคงถูกคุมขังตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 จนถึงปัจจุบัน 

ขณะที่รายงานของ AAPP เผยด้วยว่านับตั้งแต่รัฐประหาร มีประชาชนถูกสังหาร 1,178 ราย จากการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง บุกโจมตี ระหว่างการจับกุม การสืบสวน และการกราดยิงโดยไม่เลือกเป้าหมายของกองกำลังความมั่นคงของกองทัพพม่า

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการรายงานข่าวของประชาไท เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 64 ต่อกรณี ‘ซอลินเต็ด’ นักศึกษาปริญญาโท ชาวพม่าเชื้อสายกะเหรี่ยง ในสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเดินทางกลับไปทำงานวิจัยทีสิสปริญญาโท ที่บ้านเกิดเมืองพะอัน เมืองหลวงรัฐกะเหรี่ยง ก่อนจะเข้าร่วมการประท้วงต้านรัฐประหาร และถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจับกุมเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64 

ใบหน้าของซอลินเต็ด นักศึกษาปริญญาโท ชาวพม่าเชื้อสายกะเหรี่ยง (ที่มา กลุ่มเฟซบุ๊ก Free Saw Lin)

ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับแจ้งวันนี้ (18 ต.ค. 64) จาก เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อกรณีความคืบหน้าซอลินเต็ด นักศึกษาในสถาบันฯ โดยเบญรัตน์ ระบุว่า ตัวของซอลินเต็ด อาจจะไม่ได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ 

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 64 ผู้สื่อข่าวได้รับการยืนยันจากเบญจรัตน์ว่า ซอลินเต็ดไม่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นศ.พม่า ม.มหิดล ร่วมชุมนุมต้าน รปห. ถูกจับไม่ทราบชะตากรรม

 

แปลและเรียบเรียงจาก 

Myanmar Junta Releases Over 5,600 Anti-Coup Protesters

 

หมายเหตุ มีการปรับแก้พาดหัว และโปรย มาเป็นในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 64 เวลา 09.50 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท