Skip to main content
sharethis

ก่อนหน้านี้เคยมีวาทกรรมจากสื่อว่า "คนขาวที่รายได้น้อยมักจะเป็นฐานเสียงพรรครีพับลิกัน" หรือเป็นผู้นิยมอดีตผู้นำโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ว่าจากงานวิจัยล่าสุดพบว่าคนรายได้น้อยในสหรัฐฯ จำนวนมากลงคะแนนเลือก "โจ ไบเดน" จนสามารถล้มทรัมป์ได้

โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน ที่มา: Wikipeida

จากคำถามเรื่องคนรายได้น้อยในสหรัฐฯ ที่มีบทบาทต่อการเมืองการเลือกตั้งทำให้องค์กรด้านความเป็นธรรมทางสังคมหลายกลุ่มที่ร่วมทำงานวิจัย นำเสนอผลการวิจัยเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมาระบุว่าในหมู่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกัน 168 ล้านรายในเดือน พ.ย. 2563 มีจำนวน 59 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 35 ที่มาจากครัวเรือนที่ยากจนหรือมีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตได้รับชัยชนะเหนือ โดนัลด์ ทรัมป์

งานวิจัยดังกล่าวนี้เผยแพร่โดยกลุ่มองค์กรพัวพีเพิลแคมเปญ, ศูนย์ไครอสเพื่อศาสนา สิทธิ และความเป็นธรรมในสังคม, และกลุ่มรีแพร์เรอร์ออฟเดอะบรีช รายงานของพวกเขามีชื่อว่า "ปลุกยักษ์ที่หลับใหลให้ตื่น : กลุ่มคนรายได้น้อยผู้ลงคะแนนเสียงและการเลือกตั้งปี 2563" ซึ่งกลุ่มคนรายได้น้อยเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่พัวพีเพิลทำแคมเปญเข้าหาในช่วงปี 2563 จาก 16 รัฐทั่วสหรัฐฯ

องค์กรพัวพีเพิ่ลแคมเปญได้เข้าหากลุ่มคนจนประมาณ 2.1 ล้านรายเพื่อพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ, สวัสดิการสุขภาพ, โครงการต่อต้านความยากจนที่หนักแน่น, สิทธิในการเลือกตั้ง และนโยบายต่างๆ ที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาการเหยียดเชื้อชาติสีผิวเชิงโครงสร้างระบบ, ปัญหาความยากจน, ปัญหาการทำลายระบบนิเวศ และปัญหาเศรษฐศาสตร์การสงคราม

พัวพีเพิลแคมเปญค้นพบว่า "สาเหตุที่คนจนและคนายได้น้อยมีอัตราการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในสหรัฐฯ น้อยกว่าไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่สนใจการเมือง แต่เป็นเพราะการเมืองไม่เคยสนใจใยดีพวกเขาต่างหาก" ผู้แทนฯ ไม่เคยรับฟังความต้องการของพวกเขาหรือทำให้พวกเขารู้สึกว่าคะแนนเสียงของพวกเขามีคุณค่า

นอกจากนี้พัวพีเพิลแคมเปญยังได้ระบุถึงปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ อีกเรื่องหนึ่งคือการที่คนจนและคนชายขอบเข้าไม่ถึงการเลือกตั้งด้วยหลายสาเหตุ เช่น ไม่สามารถลงคะแนนได้เพราะความเจ็บป่วย, ความพิการ หรือปัญหาเรื่องการเดินทางคมนาคม นอกจากนี้ในหลายรัฐก็มีกฎหมายการปิดกั้นกีดกันคนชายขอบจากการเลือกตั้ง ทำให้มองได้ว่าที่คนจนและคนชายขอบมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งน้อยก่อนหน้านี้เป็นเพราะอุปสรรคกีดกันเชิงโครงสร้างระบบมากกว่าจะเป็นความล้มเหลวจากตัวปัจเจกบุคคล

มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มคนรายได้น้อยในสหรัฐฯ ออกมาเลือกตั้งกันมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไบเดนมีโอกาสชนะแค่มากว่าหรือน้อยกว่าร้อยละ 3 เช่น แอริโซนา, จอร์เจีย, มิชิแกน, เนวาดา และวิสคอนซิน โดยที่ในรัฐจอร์เจียนั้นนับเป็นครั้งแรกที่พรรคเดโมแครตชนะในรัฐนี้นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

ในแง่ของสถิติด้านเชื้อชาติสีผิวนั้นในรัฐจอร์เจียมีคนรายได้น้อยทั้งคนขาวและคนดำในอัตราส่วนเกือบเท่ากันที่ไปลงคะแนนเสียง ขณะที่ในรัฐอื่นๆ อย่างมิชิแกนหรือเพนซิลเวเนีย มีคนจนที่เป็นคนขาวที่ออกไปลงคะแนนเสียงจำนวนมากกว่า

ผู้อำนวยการด้านนโยบายของศูนย์ไครอส ชายลีย์ กุปตา บาร์เนส กล่าวว่าสถิติจากการวิจัยในครั้งนี้เป็นการท้าทาย "วาทกรรมเรื่องเล่าจากสื่อ" ที่ออกมาในช่วงปี 2559 และก่อนหน้านี้ เช่น วาทกรรมที่ว่าคนขาวรายได้น้อยเป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันในเชิงพฤตินัยและทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีในสมัยนั้น" แต่ข้อมูลที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางตรงกันข้ามคือการที่แม้แต่คนขาวรายได้น้อยก็โหวตให้พรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปี 2563 จากข้อมูลนี้ทำให้บาร์เนสมองว่ามันเป็นไปได้ที่จะสร้างแนวร่วมกับกลุ่มคนรายได้น้อยในสหรัฐฯ ไม่ว่ากับเชื้อชาติสีผิวใดก็ตาม

ขณะเดียวกันรายงานการวิจัยของกลุ่มความเป็นธรรมในสังคมเหล่านี้ก็ระบุว่าควรจะมีการปรับโครงสร้างการเลือกตั้งให้เอื้อต่อการที่คนรายได้น้อยและคนชายขอบจะเข้าถึงการเลือกตั้งได้มากกว่านี้และส่งเวริสให้พวกเขาลงคะแนนเสียง เช่น ทำให้การแบ่งเขตการเลือกตั้งโดยมีผู้กำหนดเป็นพรรคการเมืองเดียว (partisan gerrymandering) กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย, การขยายเวลาการลงคะแนนเสียงล่วงหน้า และการเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบการเลือกตั้งของประเทศ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้พรรคเดโมแครตผ่านร่างวาระต่างๆ ที่ส่งเสริมคนรายได้น้อยมากกว่านี้ เช่นเรื่องค่าแรง, เงินเยียวยาทางเศรษฐกิจ, การลางานแบบยังได้รับค่าจ้าง, เรื่องบ้านและที่อยู่อาศัย รวมถึงประเด็นสวัสดิการสุขภาพ

มีการนำเสนอสถิติผลเอ็กซ์ซิตโพลในรายงานว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 72 บอกว่าพวกเขาต้องการสวัสดิการสุขภาพที่ดำเนินการโดยรัฐบาล มีมากกว่าร้อยละ 70 ที่ต้องการให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในจำนวนนี้มีคนที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันร้อยละ 62 นอกจากนี้ในรัฐฟลอริดาก็มีผู้โหวตลงประชามติสนับสนุนค่าแรงขั้นต่ำ 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 500 บาทต่อชั่วโมง) ซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากกว่าที่พวกเขาโหวตให้ผู้แทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสองคนรวมกัน

เรียบเรียงจาก

New Study Reveals Poor, Low-Income Voters Were Crucial in Toppling Trump in 2020, Common Dreams, 15-10-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net