Skip to main content
sharethis

เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ต.นาปัง อ.ภูเวียง จ.น่าน ยื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน-ส.ส.เพื่อไทย ทวงถามค่าชดเชยหลังปศุสัตว์จังหวัดน่านสั่งฝังทำลายสุกรเพื่อป้องกันโรคพีอาร์อาร์เอสตั้งแต่เดือน มี.ค. ชี้ผ่านไป 7 เดือนยังได้เงินไม่ครบ ปศุสัตว์จังหวัดแจงรอ ครม. อนุมัติงบ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดน่านเร่งทำเรื่องเร่งรัด

19 ต.ค. 2564  มติชนออนไลน์รายงานว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ต.นาปัง อ.ภูเพียง จ.น่าน กว่า 50 คน นำโดยชาตรี หมอสุยะ เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดน่านเพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ติดตามทวงถามความคืบหน้าเงินชดเชยจากจากรัฐบาล โดยวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด และอนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน รับเรื่องร้องเรียนและชี้แจงกับเกษตร จากกรณีการทำลายสุกรใน พื้นที่โรคระบาดผ่านไปกว่า 7 เดือน แต่เกษตรยังไม่ได้รับเงินครบทุกคน ทั้งจังหวัดกว่า 32 ล้านบาท มีข่าวเกษตรบางรายถูกเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการแสนละ 1,000 บาทด้วย

ชาตรี หมอสุยะ กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเดือดร้อนหลังจากปศุสัตว์ทำลายสุกรไปเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ต้องเป็นหนี้จนไม่มีเงินพอสำหรับเลี้ยงชีพ แถมยังมีเจ้าหน้าที่บางรายเรียกเงินเป็นค่าดำเนินการแสนละ 1,000 บาทอีกด้วย จึงขอให้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย สืบเนื่องจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอภูเพียง ได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ชนิดโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ในสุกร และได้ทำการฝังทำลายสุกรในพื้นที่ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 เนื่องจากมีสุกรป่วยเป็นโรคพีอาร์อาร์เอส แต่เวลาล่วงเลยนานกว่า 7 เดือนแล้วยังไม่ได้รับเงินชดเชย พร้อมเจรจาขอผ่อนผันหนี้ให้กับเกษตรกรที่ทำไว้กับสถาบันการเงินและบริษัทนายทุนต่างๆ ด้วย

อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน ชี้แจงว่า จากการที่เกิดโรคระบาดดังกล่าวรวมทั้งจังหวัดมีสุกรของเกษตรกรที่ต้องถูกทำลายถึงกว่า 400 ราย รวมเป็นเงินชดเชยที่จะต้องจ่ายให้เกษตรกรจำนวนกว่า 32 ล้านบาท ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ได้นำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อจ่ายจากเงินงบกลางครั้งแรกเมื่อช่วง เม.ย. 2564

ปศุสัตว์จังหวัดน่าน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติจ่ายส่วนของจังหวัดน่าน 62 ราย แต่เป็นเกษตรกร อ.ท่าวังผา ครั้งที่ 2 คณะรัฐมนตรีมีมติจ่ายจากงบกลางให้อีก แต่มีส่วนของจังหวัดน่านเพียง 3 ราย เป็นเกษตรกร ต.นาปังอ.ภูเพียง รวมที่จ่ายไป 65 ราย เป็นเงินที่จ่าย 3 ล้าน 3 แสนบาท ยังเหลือที่ยังไม่ได้จ่ายให้เกษตรกร 394 ราย เกือบ 30 ล้านบาท ทางปศุสัตว์จังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการสำรวจรายชื่อพร้อมเอกสารหลักฐานส่งไปยังปศุสัตว์เขต เพื่อนำส่งกรมปศุสัตว์

“ต้องรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในรอบถัดไป นอกจากนั้น ปศุสัตว์จังหวัดจะประสานไปยังสถาบันการเงินและร้านค้าอาหารสัตว์เพื่อชี้แจงปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าเพื่อช่วยผ่อนผัน ภาระหนี้สินค่าอาหารสัตว์ซึ่งจะมีเงินมาจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอย่างแน่นอน โดยอัตราการชดเชยนั้น เกษตรกรจะได้รับชดเชยร้อยละ 75” อนุสรณ์กล่าว

ด้านหัวหน้าสำนักงานจังหวัดน่านกล่าวว่าจะทำหนังสือส่งไปยังกรมปศุสัตว์ เพื่อเร่งรัดเรื่องดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร และจะทำหนังสือส่งไปยังสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของเกษตรกรเพื่อขอความอนุเคราะห์ผ่อนผัน ภาระหนี้สิน ให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้ จนกว่าจะได้รับเงินชดเชยต่อไป

ขณะที่ทีมข่าวพรรคเพื่อไทยรายงานว่า  ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ต.นาปัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ยื่นหนังสือต่อสิรินทร รามสูต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ทวงถามค่าชดเชยการทำลายสุกรตามคำสั่งปศุสัตว์จังหวัดน่าน เพื่อป้องกันการระบาดโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ในสุกร ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 2564 ปัจจุบันล่วงเลยกว่า 7 เดือนแล้วแต่ยังไม่ได้รับค่าชดเชยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเดือดร้อน แบกรับต้นทุน เงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนมาก เมื่อยื่นเรื่องทวงถามกลับยังไม่มีความคืบหน้า และได้รับคำชี้แจงเพียงส่วนกลางยังไม่อนุมัติ

สิรินทร กล่าวว่า เมื่อพบการแพร่ระบาดโรคพีอาร์อาร์เอสเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม มี.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดีกับปศุสัตว์ อ.ภูเพียง และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ จ.น่าน ฝังทำลายสุกรทั้งหมด โดยที่ไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง โดยได้รับคำมั่นสัญญาจากปศุสัตว์ว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชยค่าสุกรให้ภายหลัง แต่จนบัดนี้เวลาผ่านล่วงเลยไปกว่าครึ่งปี เมื่อยื่นเรื่องสอบถามไปยังช่องทางต่างๆ กลับไม่มีความคืบหน้า

“ชาวบ้านเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนครั้งนี้อีกรอบ เนื่องจากทราบมาว่าจังหวัดอื่นๆ เช่น พะเยา ได้มีการจ่ายเงินชดเชยการทำลายสุกรตามคำสั่งปศุสัตว์จังหวัดแล้ว แต่ทำไม ต.นาปัง อ.ภูเวียง จ.น่าน กลับยังไม่ได้รับค่าชดเชย ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องนี้สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก หลายคนกู้ยืมเงินจาก ธกส. มาลงทุน ก็ยังต้องใช้ต้นใช้ดอก ไม่มีการลดหย่อนช่วยเหลือแต่อย่างใด จึงขอเป็นตัวแทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร สอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยติดตามเรื่องนี้ด้วย” สิรินทร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net