ครม.ไฟเขียว เพิ่มวงเงิน 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้' และ รักษาระดับการจ้างงาน SMEs

คณะรัฐมนตรีมีมติใช้จ่ายเงินกู้ เพิ่มวงเงิน 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้' และ รักษาระดับการจ้างงาน SMEs พร้อมทั้งรับทราบปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ส่วนของการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เหตุผลกระทบโควิด  มอบรฟท. สกพอ. และคณะกรรมการกำกับดูแลฯ พิจารณาเพื่อดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก

 

19 ต.ค.2564 เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โดยมีมติที่น่าสนใจดังนี้

เพิ่มวงเงิน 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้' และ รักษาระดับการจ้างงาน SMEs

ครม. มีมติอนุมัติตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2564 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้

1. อนุมัติโครงการการเพิ่มวงเงินสนับสนุนโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 กรอบวงเงินจำนวน 8,122.3764 ล้านบาท และโครงการเพิ่มวงเงินสนับสนุนโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ กรอบวงเงินจำนวน 1,383.8814 ล้านบาท ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลัง เร่งดำเนินการเปิดลงทะเบียนกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) โดยเร็ว และพิจารณาปรับปรุงฐานข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม

2. อนุมัติโครงการการเพิ่มวงเงินสนับสนุนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 กรอบวงเงินจำนวน 42,000.0000 ล้านบาท ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564

3. อนุมัติโครงการการเพิ่มวงเงินสนับสนุนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ กรอบวงเงิน 3,000.0000   ล้านบาท ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการฯ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 และในกรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถดำเนินโครงการฯ ได้ตามเป้าหมาย เห็นควรให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณาปรับลดกรอบวงเงินของโครงการฯ ให้คงเหลือตามความเหมาะสมและความจำเป็นเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ต่อไป

4. อนุมัติโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs กรอบวงเงินจำนวน 37,521.6900 ล้านบาท ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการจัดหางาน กำหนดเงื่อนไขให้นายจ้างที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนและจัดส่งข้อมูลผ่านระบบ e-Service รวมถึงประสานสำนักงานประกันสังคมในการเร่งประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างกลุ่มเป้าหมายทราบถึงขั้นตอนดังกล่าว และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือในการจัดส่งข้อมูลผ่านระบบ   e-Service เพื่อให้กรมการจัดหางาน สามารถจ่ายเงินอุดหนุนได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานตามข้อเสนอโครงการ รวมถึงจะช่วยส่งเสริมนโยบายการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

5. มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 1, 2 และ 3 และดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายวัน รวมทั้งมอบหมายให้กรมการจัดหางาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 4 และดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป

รับทราบปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ส่วนของการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เหตุผลกระทบโควิด

ครม. รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 3/2564 และมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันดำเนินงานโดยเร็ว เพื่อให้บริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงักตามที่ สกพอ. เสนอ 

1. รับทราบปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ในส่วนของการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์เนื่องจากสถานการณ์ผลกระทบโควิด-19 ดังนี้ 1) บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) มีหนังสือหารือผลกระทบอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเพื่อปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากเหตุสุดวิสัย (ภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) โดยขอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาโครงการฯ โดยขอขยายระยะเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จนกว่าจะได้ข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และกำหนดมาตรการเยียวยาอื่น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมลงทุนโครงการ (PIC) และการขยายระยะเวลาโครงการฯ 2) คณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (คณะกรรมการบริหารสัญญาฯ) มีการประชุมเพื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเห็นว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่อาจคาดการณ์ได้ก่อนลงนามสัญญา และมีผลกระทบเกิดขึ้นจริง จึงมีมติเห็นชอบหลักการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนของค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรลลิงก์ แก่เอกชนคู่สัญญาและแนวทางดำเนินการระหว่างกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ

3) คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (คณะกรรมการกำกับฯ) มีการประชุมพิจารณาเรื่องหลักการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนของค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ แก่เอกชนคู่สัญญาและแนวทางดำเนินการระหว่างกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ตามความเห็นของคณะกรรมการบริหารสัญญาฯ โดยคณะกรรมการกำกับฯ เห็นด้วยกับหลักการตามคณะกรรมการบริหารสัญญาฯ โดยมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เรื่องที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ ที่จะถึงกำหนดชำระในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดของโควิด-19 นั้น ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเหตุผ่อนผันในการไม่ชำระเงินใด ๆ ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ

2. มอบหมายให้ รฟท. สกพอ. และคณะกรรมการกำกับดูแลฯ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ก็ขอให้ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอ ครม. รวมทั้ง 3. มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สกพอ. และเอกชนคู่สัญญา เข้าดำเนินการเพื่อแก้ไขการดำเนินการกรณีแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้บริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท