Skip to main content
sharethis

ข้อมูลสถิติระบุว่าเยอรมนียังคงเป็นประเทศในสหภาพยุโรปที่มีผู้ขอลี้ภัยเข้าประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางมากที่สุด ขณะที่กรีซ อิตาลี และสเปน ยังคงเป็นประเทศทางผ่านที่มีผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัยจำนวนมากเดินทางเข้าออก ด้านเบลารุสกลายเป็นประเทศทางผ่านแห่งใหม่ที่ผู้อพยพนิยมใช้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งยูโรโพล (Europol) ระบุว่ารัฐบาลเผด็จการเบลารุสผลักดันผู้ลี้ภัยเข้าเยอรมนีอย่างผิดกฎหมาย

20 ต.ค. 2564 ข้อมูลของสำนักงานว่าด้วยกิจการการย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (BAMF) ระบุว่าข้อมูลตั้งแต่ต้นปีถึงถึงปลายเดือน ก.ย. 2564 พบว่ามีผู้ทำเรื่องขอลี้ภัยในเยอรมนีมากถึง 100,278 ราย ทำให้ในปี 2564 เยอรมนียังคงครองแชมป์เป็นประเทศที่มีผู้ทำเรื่องขอลี้ภัยเข้ามามากที่สุด โดยจำนวนผู้ขอลี้ภัยในปีนี้มากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 35.2

ในปีนี้พบว่า 3 อันดับแรกของประเทศที่มีผู้ขอลี้ภัยในเยอรมนีเป็นครั้งแรก คือ ซีเรีย อัฟกานิสถาน และอิรัก โดยมาจากซีเรีย 40,472 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.1 มาจากอิรัก 8,531 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 ส่วนอัฟกานิสถานมีผู้ขอลี้ภัยเข้าเยอรมนีจำนวน 15,045 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ร้อยละ 138 ซึ่งถือว่ามีจำนวนผู้ขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นมากที่สุด

จากเดิม กลุ่มผู้ขอลี้ภัยมักเดินทางเข้าเยอรมนีโดยอาศัยช่องทางประเทศกรีซ อิตาลี และสเปน แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มขอผู้ลี้ภัยเปลี่ยนมาใช้เส้นทางในประเทศเบลารุสมากขึ้น ทำให้เกิดความไม่พอใจระหว่างกลุ่มผู้นำสหภาพยุโรปและผู้นำเบลารุส กลุ่มผู้นำสหภาพยุโรปกล่าวหาว่าอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก ผู้นำเผด็จการเบลารุสจงใจผลักให้ผู้ขอลี้ภัยจากภูมิภาคที่กำลังเกิดวิกฤตให้ทะลักเข้ายุโรปมากขึ้นโดยขัดต่อกระบวนการกฎหมาย ซึ่งผู้ขอลี้ภัยเหล่านี้ถูกพาเข้ามาในยุโรปผ่านชายแดนของประเทศโปแลนด์ ลัตเวีย หรือลิทัวเนีย

อย่างไรก็ตาม สื่อฝั่งยุโรปคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ว่าที่ลูกาเชงโกพยายามทำเช่นนี้ เพื่อโต้ตอบสหภาพยุโรปที่ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลเบลารุส เนื่องจากรัฐบาลเบลารุสปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยความรุนแรง สำนักงานสหภาพยุโรปเพื่อความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย หรือยูโรโพล (Europol) เปิดเผยกับสำนักข่าวดอยช์เวเลย์ของเยอรมนีว่าทางการเบลารุสช่วยเหลือชาวซีเรียให้เดินทางโดยตรงจากกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรียมาสู่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส จากที่ก่อนหน้านี้เบลารุสเคยให้ความช่วยเหลือชาวซีเรียเดินทางไปยังตุรกีมาก่อน ตำรวจยูโรโพลบอกว่าสัปดาห์นี้มีผู้คนมากกว่า 4,900 รายถูกรับตัวจากชายแดนโปแลนด์ เข้าสู่ประเทศเยอรมนีอย่างผิดกฎหมาย โดยมีเบลารุสเป็นผู้กระทำการ

ปัญหาจากเบลารุสเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่เยอรมนีรอการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ หลังจากการเลือกตั้งเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด และพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคกรีน (Green) ที่เน้นเรื่องแก้ปัญหาโลกร้อน และพรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) ที่เน้นเรื่องธุรกิจ หากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เยอรมนีอาจแก้ไขปรับปรุงนโยบายผู้ลี้ภัยใหม่ ทำให้ผู้ขอลี้ภัยที่ขอสถานะไม่สำเร็จ สามารถยื่นเรื่องขอสัญชาติเยอรมนีใหม่ได้จากการทำงานในเยอรมนีเป็นเวลาหลายปี

ทั้งนี้ แนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลผสมนำโดยพรรค SDP มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ เพราะสื่อเยอรมันรายงานว่าสมาชิกพรรคกรีนและพรรค FDP ลงมติเปิดการเจรจาเพื่อเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค SDP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากเป็นไปตามนี้ รัฐบาลใหม่ของเยอรมนีจะมีชื่อเล่นว่า 'รัฐบาลไฟจราจร' ซึ่งมาจากสีประจำพรรคทั้ง 3 พรรค ได้แก่ สีแดงของพรรค SDP สีเขียวของพรรคกรีน และสีเหลืองของพรรค FDP 

สำหรับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ อย่างพรรค CDU หรือพรรคของอังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นต่อต้านการปรับปรุงนโยบายผู้ลี้ภัย โดยอ้างว่าจะเป็นการยกเลิกการควบคุมผู้อพยพ ขณะที่พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัดเรียกร้องให้ปิดกั้นผู้อพยพมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เดตเลฟ ชีล ประธานสำนักงานแรงงานรัฐบาลกลางเยอรมนี กล่าวว่า เยอรมนีต้องการผู้อพยพปีละ 400,000 ราย เพื่อทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีเติบโตและมาแทนที่แรงงานที่จะเกษียณอายุ

อนึ่ง สถิติของสหภาพยุโรปยังระบุว่าในช่วงปี 2557-2559 ที่ยุโรปเผชิญวิกฤตผู้ลี้ภัย ประเทศเยอรมนีให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมากกว่า 1.4 ล้านคน

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net