Skip to main content
sharethis

'จาตุรนต์' ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่าขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ จากกรณีใช้อำนาจโดยมิชอบสั่งให้ยกเลิกหนังสือเดินทางของตน ขณะที่ 'ศรีสุวรรณ' ร้องต่อ ขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบพรรคเพื่อไทยปมเปิดคลิปวิดีโอคอล 'ทักษิณ' ว่าเข้าข่ายการครอบงำหรือชี้นำพรรคการเมืองหรือไม่

20 ต.ค. 2564 วันนี้ (20 ต.ค. 2564) จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวน ดำเนินคดี และเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาให้วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หรือไม่

ภาพจากเพจ Chaturon Chaisang
 

วอยซ์ออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า การที่จาตุรนต์ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประวิตร รองหัวหน้า คสช. ในขณะนั้น มีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการถอนหนังสือเดินทางของจาตุรนต์ และแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศให้ยกเลิกหนังสือเดินทางของตนในวันที่ 19 ส.ค. 2558 ต่อมา จาตุรนต์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ อร.4/2561 ให้จาตุรนต์ชนะคดี โดยระบุว่าการยกเลิกหนังสือเดินทางเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

ด้วยเหตุนี้ จาตุรนต์จึงมาร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ อร.4/2561 ว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบตามที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม อันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) มาตรา 186 และมาตรา 235 ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เมื่อไต่สวนเสร็จแล้ว ขอให้ ป.ป.ช. นำเรื่องเสนอต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญต่อไป

นอกจากนี้ จาตุรนต์ยังได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่านอกจากกรณีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางแล้ว ตนยังถูกคณะรัฐประหารหรือ คสช. เล่นงานหลายกรณี เช่น ถูกระงับการทำธุรกรรมกับธนาคาร บริษัทประกัน รวมถึงการลงทุนกับสถาบันการเงินอื่นๆ เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. หรือถูกนำตัวขึ้นศาลทหารในข้อหากระทำความผิดฐานยุยงปลุกปลั่น ตาม ม.116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเขาได้รับการพิจารณาคดีชั้นเดียวโดยไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา เป็นเหตุให้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 1 ผลัด ก่อนจะออกมาสู้คดีในชั้นศาลปกติและถูกยกฟ้องไปในที่สุด โดยใช้เวลาต่อสู้นานถึง 6 ปี อีกทั้งจาตุรนต์ระบุเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ตนเดินทางไปต่างประเทศเกิน 3 ครั้งต่อเนื่องกันในระยะเวลา 3 ปี

จาตุรนต์ระบุเพิ่มเติมว่าการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อเสนอต่อศาลฎีกาในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรียกร้องความยุติธรรมคืนให้แก่ตนเอง แต่หวังจะสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับสังคม และเป็นการป้องปรามไม่ให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามอำเภอใจ ใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้เห็นต่างอีกต่อไป เพราะนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 เรื่อยมาจนถึงช่วง 2-3 ปีนี้ มีการละเมิดสิทธิและการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนจำนวนมาก ตนจึงหวังว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม เพื่อก่อให้เกิดสังคมที่เป็นประชาธิปไตยในอนาคต

'ศรีสุวรรณ' ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบ 'เพื่อไทย' ปม 'ทักษิณ' วิดีโอคอลงานเลี้ยง ชี้เข่าข่ายครอบงำพรรคการเมือง

ในวันเดียวกันนี้ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางเข้าร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด กรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอซึ่งปรากฏภาพของทักษิณ ชินวัตร วิดีโอคอลเข้ามาพูดคุยกับ ส.ส. และผู้บริหารของพรรคเพื่อไทยในงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดนักการเมืองในพื้นที่ย่านเหม่งจ๋าย เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือครอบงำหรือชี้นำพรรคการเมืองหรือไม่

ภาพจากเพจศรีสุวรรณ จรรยา
 

ศรีสุวรรณกล่าวว่ากรณีดังกล่าวต้องแยกออกเป็น 2 เรื่องคือ เรื่องแรก การที่ทักษิณวิดีโอคอลเข้ามาพูดคุยกับ ส.ส. และผู้บริหารพรรคเพื่อไทย อาจเป็นการฝ่าฝืน ม.28 และ ม.29 ของ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่ เพราะกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” และ “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่า โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” หากฝ่าฝืนย่อมเข้าข่ายความผิดตาม ม.92(3) ของกฎหมายดังกล่าว อาจเป็นเหตุให้ กกต.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคนั้นได้

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องของการจัดเลี้ยงที่มีผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงจำนวนมาก โดยมีการเสิร์ฟอาหารคาวหวานและที่สำคัญมีการเสริฟไวน์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด ฉบับที่ 34 ที่ออกตามความใน ม.9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน 2548 ประกอบ ม.34(6) ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ด้วย ซึ่งผู้ที่อยู่ในงานเลี้ยงดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กลับปรากฎว่าได้กระทำเสียเองซึ่งอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะทำการไต่สวน วินิจฉัย และเสนออัยการฟ้องต่อศาลเพื่อลงโทษได้

ทั้งนี้ วอยซ์ออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า ส.ส. และผู้บริหารพรรคเพื่อไทยที่ปรากฏในงานเลี้ยงดังกล่าว เช่น สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, พิชัย นริพทะพันธุ์, เกรียง กัลป์ตินันท์, ไชยา พรหมมา, ประเสริฐ จันทรรวงทอง, เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล, ณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์, นพ ชีวานันท์, ชลน่าน ศรีแก้ว, กิตติ์ธัญญา วาจาดี และภูมิธรรม เวชยชัย เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net