Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 คนจากกรณี #ม็อบ30กันยา ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี โดยหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชนอายุ 17 ปีจากกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย ขณะที่ตำรวจนัดผู้ต้องหาทั้งหมดอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย. นี้เพื่อรายงานตัวและส่งสำนวนต่อไปอีกอัยการ ด้านแกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีแจ้งความกลับ พร้อมถามเหตุใดม็อบสนับสนุน 'ประยุทธ์' จึงไม่ถูกดำเนินคดีบ้าง

20 ต.ค. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าวานนี้ (19 ต.ค. 2564) ผู้ได้รับหมายเรียกอีก 4 รายในคดีชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรีเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา เดินทางไปที่ สภ.เมืองนนทบุรี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกครั้งที่ 2 และหนึ่งในนั้นเป็นนักกิจกรรมเยาวชนอายุ 17 ปี โดยตำรวจแจ้ง 3 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่เข้ารับทราบข้อหาก่อนหน้านี้

พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ออกหมายเรียกประชาชนที่เข้าร่วมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยหมายเรียกระบุว่ามี พ.ต.ต.จิราธิป ใจยาว เป็นผู้กล่าวหา รวมมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย คือ ฟิวส์ (นามสมมติ) เยาวชนจากกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย รวมถึงวรวรรณ แซ่อั้ง หรือ 'ป้าเป้า' ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมว่าผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมดทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ตั้งแต่ช่วงวันที่ 8, 12 และ 15 ต.ค. จนชุดสุดท้ายในวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดถูกพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี แจ้งข้อหาเดียวกันทั้งสิ้น 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก, ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 และฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนนทบุรี ที่ 2415/2564 เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 62) ลงวันที่ 31 ส.ค. 2564 ข้อ 4 การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาของตำรวจระบุในลักษณะเดียวกัน โดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 กลุ่มผู้ถูกกล่าวร่วมกันชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองขับไล่นายกรัฐมนตรี มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน อันอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และมีผู้ร่วมชุมนุมบางคนทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขัดขวางขบวนรถนายกรัฐมนตรี ใช้เท้าถีบรถยนต์ในขบวน ตลอดจนมีผู้นำปัสสาวะมาราดรดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และตำรวจได้แจ้งว่าชุมนุมดังกล่าวเป็นความผิด ให้ยุติเลิกการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ต้องหาไม่ยอมเลิก ผู้กล่าวหาจึงได้มาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาบางส่วนได้ให้การในเบื้องต้นว่าการชุมนุมในวันที่ 30 ก.ย. 2564 นั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรองรับไว้ ขณะเดียวกันประกาศหรือข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ออกมาและบังคับใช้อยู่ในขณะนี้นั้น มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อป้องกันกับการแพร่โรคระบาด แต่กลับถูกนำมาใช้ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุด จนเกินสมควรแก่เหตุ การตั้งข้อกล่าวหาในลักษณะดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการไม่ถูกต้อง

ตำรวจปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดหลังดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น และนัดหมายให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 21 คนรายงานตัวในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันนัดส่งสำนวนให้อัยการ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 เจษฎา ศรีปลั่ง จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ เดินทางเข้าแจ้งความที่ สภ.ปากเกร็ด จากกรณีมีผู้มาชุมนุมต้อนรับและให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันเดียวกันกับที่ตำรวจมีการตั้งกล่าวหาผู้ชุมนุมฝั่งคัดค้าน โดยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดฝ่ายผู้ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ถูกดำเนินคดี ทั้งที่มีการชุมนุมในลักษณะเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net