สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 15-21 ต.ค. 2564

Quanta Computer ยักษ์ PC ไต้หวันทุ่ม 2 พันล้านเตรียมเปิดโรงงานใหม่ จ.ชลบุรี จ้างงานเพิ่มหลายพันอัตรา

Quanta Computer Inc ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในไต้หวัน มีลูกค้าระดับโลกหลายราย เช่น Apple, Dell, Acer , Amazon และ Google ได้ลงทุน 32.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อขยายกำลังการผลิตในประเทศไทยผ่านบริษัทในเครือ QMB Co ทั้งนี้ ทาง TDR ยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขณะนี้ บริษัทดังกล่าวกําลังรับสมัครพนักงานเพิ่มอีกหลายพันอัตราเพื่อรองรับกําลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น

การลงทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายธุรกิจในไทยมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ไต้หวันหรือราว 2 พันล้านบาท การลงทุนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของ Quanta ที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ในการประชุมทางโทรศัพท์กับนักลงทุน Barry Lam ประธานบริษัท Quanta กล่าวถึงการย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทยว่าเป็นการตัดสินใจที่ “จําเป็น”

Quanta ถือเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กรายใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนี้ ประธาน Lam ยังได้แจ้งกับที่ประชุมนักลงทุนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วว่าบริษัทกำลังอยู่ระหว่างขยายธุรกิจไปสู่เทคโนโลยีใหม่ เช่น หุ่นยนต์ อุปกรณ์ทดสอบปัญญาประดิษฐ์ และยานพาหนะไร้คนขับ

สํานักข่าว Digitime ยังได้ทราบอีกว่า โรงงานใหม่ในประเทศไทยจะใช้สําหรับผลิตอุปกรณ์ server และขยายกําลังผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ซึ่งนอกจากการลงทุนในประเทศไทยแล้ว Quanta ยังได้ขยายกำลังการผลิตในไต้หวันอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: Thailand Development Report, 21/10/2564

ลงทะเบียน "เยียวยา SMEs" วันแรก ยอดทะลุกว่า 5,000 ราย รับสิทธิถึง 20 พ.ย. 2564

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วันที่ 20 ต.ค. 2564 เป็นวันแรกที่เปิดให้นายจ้าง สถานประกอบการลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ผ่านทางระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนจนถึง 20 พ.ย. 2564 ภาพรวมวันแรกมีผลตอบรับที่ดีมาก ข้อมูล ณ วันที่ 20 ต.ค. เวลา 17.00 น. พบว่า มีสถานประกอบการได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้ว 5,091 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 123,847 คน ส่วนใหญ่เป็นกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 2,231 ราย

จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 53,548 คน ปริมณฑล 1,101 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 29,218 คน ภาคกลาง 687 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 18,247 คน ภาคใต้ 454 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ์ 8,799 คน ภาคเหนือ 365 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 6,975 คน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 253 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 7,060 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถานประกอบการจำนวนหนึ่งประสบปัญหาจนต้องหยุดกิจการชั่วคราว บางแห่งมีการลดการจ้างงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีจำนวนมากที่พยายามพยุงกิจการไปพร้อมกับรักษาระดับการจ้างงานไว้อย่างสุดกำลัง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายรักษาระดับการจ้างงานและส่งเสริมการจ้างงานใหม่ โดยอุดหนุนค่าจ้าง 3,000 บาท ต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือน พ.ย. 2564 -ม.ค. 2565 เพื่อให้สถานประกอบการขนาดเล็ก-กลางเกิดสภาพคล่อง สามารถฟื้นฟูกิจการสร้างความแข็งแรงในธุรกิจ พร้อมรับการเปิดประเทศที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ ทั้งยังเป็นการตอบแทนธุรกิจในกลุ่ม SMEs ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของการจ้างงานในประเทศไทย

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับสถานประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นนายจ้างภาคเอกชน ที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ฐานข้อมูลประกันสังคม ม.33 สถานะ Active) ที่มีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 ต.ค. 2564 โดยที่นายจ้างจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ หากไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น

และกรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันที่ 16 พ.ย. 2564 จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริงไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฯ โดยหลักเกณฑ์สำคัญอีกประการที่นายจ้างสถานประกอบการจะได้รับการอนุมัติร่วมโครงการ คือนายจ้างจะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมผ่านช่องทาง e-service (e-payment) ของสำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จึงจะได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการฯ

ทั้งนี้ ผู้สนใจที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: คมชัดลึก, 21/10/2564

ดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ ไทยอันดับลดอยู่ในอันดับ 68 จาก 134 ประเทศ ก่อนหน้านี้อยู่อันดับ 67

สถาบันด้านการศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจ INSEAD ร่วมกับ Portulans Institute องค์กรอิสระด้านการวิจัยและการศึกษาในกรุงวอชิงตันดี.ซี. ที่สำรวจและจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ใน 134 ประเทศจากทุกทวีปทั่วโลกในช่วงวิกฤตโควิด เผยดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลกประจำปี 2021 (The Global Talent Competitiveness Index 2021)

ดังชีดังกล่าวพิจารณาจาก 6 ด้าน ได้แก่ 1.ปัจจัยส่งเสริมภายในประเทศ (Enable) 2.การดึงดูดแรงงาน (Attract) 3.การพัฒนาแรงงาน (Grow) 4.การรักษาฐานแรงงาน (Retain) 5.ทักษะสายวิชาชีพ (Vocational and Technical Skills) 6.ความรู้ความสามารถระดับสูงของแรงงาน (Global Knowledge Skills)

พบว่าอันดับ 1 ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ (82.09 คะแนน) ตามด้วยสิงคโปร์ (79.38 คะแนน) อันดับ 3 เป็นของสหรัฐ (78.81 คะแนน) ใน 10 อันดับแรกจากหัวทางตารางล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ส่วนไทยซึ่งรายงานจัดให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงอยู่ในอันดับ 68 จาก 134 ประเทศ (45.46 คะแนน) ลดลงจากอันดับ 67 ในปี 2020 และอยู่ในอันดับ 9 ของกลุ่มประเทศเอเชียและโอเชียเนีย และอันดับ 4 ของอาเซียน

เพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซียอยู่ในอันดับ 34 (59.70 คะแนน) บรูไนอันดับ 47 (51.61 คะแนน) ฟิลิปปินส์อันดับ 70 (44.63 คะแนน) อินโดนีเซียอันดับ 80 (42.09 คะแนน) เวียดนามอันดับ 82 (40.85 คะแนน) ลาวอันดับ 105 (32.49 คะแนน) และกัมพูชาอันดับ 119 (27.43 คะแนน) โดยเมียนมาเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ

หากแยกเป็นเมืองต่างๆ กรุงเทพมหานครอยู่ในอันดับ 99 (37.3 คะแนน) ส่วนอันดับท็อปของตารางอยู่ในสหรัฐและยุโรป โดยเมืองซานฟรานซิสโกของสหรัฐอยู่ในอันดับ 1 (76.3 คะแนน) เมืองเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ในอันดับ 2 (71 คะแนน) ตามด้วยเมืองบอสตันของสหรัฐ (70.6 คะแนน) โดยสิงคโปร์เป็นเมืองเดียวของเอเชียที่ติดท็อป 10 ในอันดับ 7 (67.2 คะแนน)

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 21/10/2564

เว็บไซต์ ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th เปิดให้นายจ้าง SMEs ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างแล้ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนให้นายจ้างเพ่อรักษาการจ้างงานในอัตรา 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง ที่เป็นสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน (เดือน พ.ย. 2564-ม.ค. 2565) ให้กับนายจ้างเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ฐานข้อมูลประกันสังคม ม.33 สถานะ Active) ที่มีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 ต.ค. 2564

โดยที่นายจ้างจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 95% ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ หากไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ไม่ต่ำกว่า 95% จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น และกรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันที่ 16 พ.ย. 64 จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริงไม่เกินร้อยละ 5 ทั้งนี้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฯ

"กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการส่งเสริม และรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อลดปัญหาการว่างงาน โดยให้นายจ้างรักษาระดับการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs เพื่อไม่ให้ถูกเลิกจ้าง ให้มีงานทำ มีรายได้ต่อเนื่อง และได้รับโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น รวมถึงเสริมสภาพคล่อง ฟื้นฟูกิจสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจ SMEs ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยโครงการฯ นี้จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในการส่งเสริมและรักษาการจ้างงาน ตลอดจนสร้างความแข็งแรงให้แก่สถานประกอบการขนาดเล็ก-กลางได้ถึง 394,621 แห่ง อุดหนุนค่าจ้างผู้ประกันตนสัญชาติไทยได้ 4,034,590 คน เป็นเงิน 36,311,310,000 บาท ส่งเสริมการจ้างงานใหม่ ในเดือนที่ 2 และ 3 สูงสุด 201,730 ราย เป็นเงิน 1,210,380,000 บาท รวมงบประมาณที่จะช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ทั้งสิ้น 37,521,690,000 บาท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับนายจ้างสถานประกอบการที่ต้องการร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.-20 พ.ย. 2564 พร้อมแนบเอกสาร ดังนี้

1. สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร

2. กรณีมอบอำนาจแนบหนังสือมอบอำนาจ/สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ

โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการอนุมัติเข้าร่วมโครงการที่เว็บไซต์ดังกล่าวภายใน 5 วันทำการนับจากวันที่ลงทะเบียน ผู้สนใจที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: Sanook, 20/10/2564

แมนพาวเวอร์เผย 5 อุตสาหกรรมเด่นรับตลาดงาน EEC

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดมุมมองตลาดงาน EEC 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเด่น ได้แก่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์, ยานยนต์สมัยใหม่, การแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมค้าส่ง-ค้าปลีก และการซ่อมยานยนต์ พร้อมชี้ความโดดเด่นด้านฝีมือแรงงานตลาดส่งออกยานยนต์ไทยสู่ตลาดยุโรป-อเมริกา ด้านแรงงานเร่งอัปสกิล-รีสกิล รองรับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมเปิดรับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

มร.ไซมอน แมททิวส์, ผู้จัดการระดับภูมิภาค ประจำประเทศไทย แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ผู้นำที่ปรึกษาด้านแรงงานเชิงนวัตกรรม เปิดเผยว่า จากที่แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้มีการอัปเดตสถานการณ์ภาพรวมของตลาดแรงงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ล่าสุดได้มีการสำรวจตลาดแรงงาน ระบุ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเด่นประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีดีมานด์สูงสุดและต่อเนื่อง 2. อุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) 3. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) มีความต้องการต่อเนื่องในทุกตำแหน่งเนื่องจากเป็นกลุ่มที่เติบโตจากสถานการณ์โควิด ประกอบกับประเทศไทยเป็นกลุ่มที่ชาวต่างชาตินิยมเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพสูง โดยเฉพาะจากผู้ใช้บริการจากตะวันออกกลาง ด้วยความพร้อมทางด้านบุคลากรทางการแพทย์ การบริการที่ดีและค่าใช้จ่ายไม่สูง ทำให้มีการจัดแพกเกจบริการเจาะตลาดนี้ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรมีสูงขึ้น 4. อุตสาหกรรมค้าส่ง-ค้าปลีก จากกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัว และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจซ่อมยานยนต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบุคลากร 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่นับเป็นการส่งสัญญาณอันดีในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย

สำหรับมุมมองของประเทศไทยกับบทบาท “Detroit of Asia” ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชีย จากข้อมูลประเทศยังเป็นฐานการผลิตหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในแต่ละแบรนด์รถยนต์จะมีการแบ่งกลุ่มประเทศในลักษณะของการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ โดยหลักๆ จะมีประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย และเวียดนาม ถึงแม้ประเทศไทยจะมีอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย แต่เรามีความโดดเด่นด้านฝีมือแรงงานและคุณภาพในการผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้เป็นที่ยอมรับจากผู้ประกอบการกลุ่มตลาดยุโรปและอเมริกาอย่างมาก โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลัก นอกจากนี้ ในภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมยังมีความต้องการอยู่และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ซึ่งกำลังก้าวไปสู่ยุค “รถยนต์ไฟฟ้า” แทนเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้พลังงานน้ำมัน จากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมทำให้มีแนวโน้มเติบโตมากใน 4-5 ปีต่อจากนี้ ทางด้านแรงงาน ต้องเร่งพัฒนาทักษะเทคโนโลยีใหม่รองรับการเติบโตของโลกอุตสาหกรรมในอนาคต ทั้งนี้ หากเราเร่งพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถจะทำให้มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันมากขึ้น พร้อมกันนี้ ประเทศไทยวางโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ได้อย่างมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้สามารถเชื่อมโยงการลงทุน การขนส่ง สร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตในพื้นที่ EEC สู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดธุรกิจใหม่และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้อย่างดี

น.ส.สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับมุมมองเกี่ยวกับตลาดแรงงาน สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพแรงงานไทย คือ การเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ (Upskill) การพัฒนาทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง (Reskill) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากสถานการณ์ตลาดแรงงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการเกือบทุกอุตสาหกรรมต้องรับมือกับปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงาน (Labor shortage) และอัตราการเปลี่ยนพนักงานสูง (Turnover) ดังนั้น แนวทางการรับมือการรักษากำลังคน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมและความผูกพันของพนักงานที่มีต่องานและองค์กร (Employee Engagement) ให้มากขึ้น พร้อมการสนับสนุนและส่งเสริมการเพิ่มทักษะความรู้ให้แก่พนักงาน เพื่อดูแลรักษาพนักงานขององค์กรและพร้อมต่อการทำงานในอนาคตซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวพร้อมให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้น ทางด้านปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกด้านหนึ่ง ที่ผ่านมาไทยจากข้อจำกัดแรงงานต่างด้าวในการเดินทางช่วงโควิดและแม้มีแนวโน้มการหันมาใช้แรงงานมากขึ้นของภาคอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันยังพบการขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรมอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากโรคระบาดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานจะดีขึ้นเมื่อมีการฉีดวัคซีนได้แพร่หลายและครอบคลุมในแต่ละกลุ่มแรงงานและจะสามารถรองรับการผลิตและส่งออกในไตรมาส 4 นี้ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย จะสามารถสรรหาและบริหารจัดการแรงงานป้อนให้แก่ลูกค้าได้ตามความต้องการ

นอกจากนี้ ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมุ่งนักศึกษากลุ่มอาชีวศึกษาและปริญญาตรีที่จะเข้ามาสู่ตลาดงานมากขึ้น โดยเน้นกลุ่มที่เข้ามาตอบโจทย์ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ทั้ง First S-curve เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics), อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ New S-curve เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics), อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) และอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ภาคการศึกษาจึงต้องปรับหลักสูตรและผลิตบัณฑิตให้ตรงกับทิศทางอุตสาหกรรม ดังนั้น ทักษะที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มแรงงานไทยจึงไม่ได้อยู่ในภาคการทำงานในระดับทั่วไป แต่จะเน้นทักษะด้านเทคนิค (Technical Skill) เป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่และความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งจะไม่ได้เน้นการปฏิบัติอย่างเดียวแต่จะผนวกการปฏิบัติงานจริงควบคู่กัน

สุดท้ายนี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ให้มุมมองสำหรับแนวทางการจัดการแรงงานอนาคตใน EEC สิ่งแรกคือ การพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรง EEC Model ซึ่งเชื่อมกับยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต่อมาคือการพัฒนาทางด้านการศึกษาในระดับความรู้ขั้นพื้นฐานที่กระจายได้อย่างเท่าเทียมกันและทันสมัยกับโลกปัจจุบัน รวมทั้งทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งประเทศไทยมีความเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านในจุดนี้ พร้อมยังเสนอแนวทางการร่วมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษาในการผลิตบัณฑิตได้ตรงความต้องการยิ่งขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐในหลายส่วนที่ต้องสอดคล้องและรองรับการก้าวสู่โลกอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการพัฒนาเทคโนโลยี 5G มากขึ้น ในการนำพาแรงงานของไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลง นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศกำลังส่งสัญญาณดีขึ้น หากตั้งรับอย่างทันท่วงทีด้วยความร่วมมือจากทุกคนและทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หากพื้นที่อีอีซีสามารถเป็นพื้นที่นำร่องในการทรานส์ฟอร์มระบบการศึกษาและการพัฒนาคนยุคใหม่ EEC Model นี้ก็จะสามารถเป็นแบบอย่างในการขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ได้ต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 20/10/2564

สภาองค์การลูกจ้างศูนย์กลางแรงงงาน เข้าช่วยเหลือพนักงานโรงงานรองเท้าไฟไหม้

จังหวัดสมุทรปราการ ได้มีการติดประกาศให้ บริษัท วัฒนา ฟูตแวร์ จำกัด ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ หยุดประกอบการโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ขณะที่บริษัทประกันภัยที่ทางบริษัท วัฒนา ฟูตแวร์ ได้ทำไว้ ได้เดินทางเข้าตรวจสอบสภาพความเสียหายของโรงงาน เพื่อเตรียมประเมินค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ให้แก่บริษัทที่เกิดเหตุ

ขณะที่พนักงานกว่า 200 คน ได้นั่งรวมตัวกันอยู่ที่กลางซอย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่สภาองค์การลูกจ้างศูนย์กลางแรงงงาน เข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยให้แรงงานทั้งหมดกรอกเอกสารเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายชดเชยค่าจ้างตามกฎหมายที่แรงงานกำหนด โดยระหว่างที่พนักงานทั้งหมดกำลังกรอกเอกสาร ได้มีพนักงานหญิงรายหนึ่งที่อ้างว่าเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารบริษัทที่เกิดเหตุ ได้แจ้งว่า ขณะนี้ทางบริษัทยังทำอะไรไม่ได้ เพราะว่ากระทรวงอุตสาหกรรมประกาศปิดโรงงานไม่ให้ใครเข้าภายใน เพราะกองพิสูจน์หลักฐานจะเข้าตรวจในวันพรุ่งนี้ เพราะต้องเอาหลักฐานเหล่านี้ไปแจ้งความเพื่อยืนยันต่อบริษัทประกันภัย ให้มาดูแลค่าเสียหายให้ ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่าบริษัทประกันภัยค่อนข้างที่จะละเอียด มันต้องใช้เวลา ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทเองได้ประสานไปทางประกันสังคมไห้เยียวยาให้กับพนักงานเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งประกันสังคมกำลังทำเรื่องอยู่ ซึ่งในเบื้องต้นทางบริษัทยังไม่มีคำสั่งปลดพนักงานแต่อย่างใด แต่ทำเรื่องให้ประกันสังคมจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงาน 6 เดือนเนื่องจากบริษัทเกิดไฟไหม้

นายสุนทร บุญยอด เจ้าหน้าที่สภาองค์การลูกจ้างศูนย์กลางแรงงงาน ได้กล่าว่า ในกรณีที่นายจ้างปิดกิจการชั่วคราวในระหว่างที่ฟื้นฟูบริษัทลูกจ้างจะอยู่อย่างไร และนายจ้างจะช่วยเหลืออย่างไรภายในบริบทกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันทางกระทรวงจะให้การช่วยเหลืออย่างไรกับลูกจ้างเหล่านี้ ซึ่งมันเป็นการเกิดเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่ได้เตรียมตัวมา อันนี้ก็คือปัญหาซึ่งมันเกิดความซ้ำซ้อน โดยสรุปในวันนี้เราก็ต้องทำความเข้าใจให้พนักงานมีตัวแทนโดยให้แต่งตั้งตัวแทนแต่ละแผนก แผนกละ 2 คน เพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจา ส่วนอีกประกาศหนึ่งเพื่อประสานงานในระหว่างที่นายจ้างยังไม่มีความชัดเจน ก็ให้ไปประสานงานว่าใครประสบปัญหาอะไรบ้าง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราแนะนำ

ขณะเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดสมุทรปราการ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เดินทางมายังโรงงานที่เกิดเหตุเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ

ที่มา: สยามรัฐ, 20/10/2564

‘ครม.’ เคาะ ตั้งนิคมฯ ราชทัณฑ์ นำร่อง 4 แห่ง จ้างงานผู้ต้องขังลดปัญหาล้นเรือนจำ ตั้งเป้า 1.6 หมื่นคน/ปี

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ โดยให้กระทรวงยุติธรรม หารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้ประกอบการเอกชน จ้างงานผู้ต้องขัง ในพื้นที่นำร่องต้นแบบที่เรือนจำสมุทรสาคร เรือนจำกลางชลบุรี เรือนจำสมุทรปราการ และเรือนจำกลางระยอง เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ฝึกทักษะยกระดับฝีมือแรงงาน และสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ และสร้างอาชีพในอนาคต และลดอัตรากระทำผิดซ้ำสอง โดยตั้งเป้าส่งแรงงานผู้ที่พ้นโทษ พักการลงโทษ หรือได้รับการลดโทษ เข้าไปทำงานในบริษัทต่าง ๆ ได้ 16,000 คนต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ภาครัฐจะต้องใช้ในการดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ เฉลี่ย 21,000 บาทต่อคนต่อปี จะทำให้ลดงบประมาณของเรือนจำ 336 ล้านบาท และยังสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้ผู้ต้องขัง ลดการกระทำผิดซ้ำ

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับแนวทาง การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายนอกเรือนจำโดยร่วมกับ กนอ. ในที่ราชพัสดุของหน่วยงานอื่น 2.การจัดตั้งนิคมฯ ภายในพื้นที่เรือนจำ ในที่ราชพัสดุของกรมราชทัณฑ์ และ 3.การใช้พื้นที่เอกชนเป็นนิคมฯ หากยังมีพื้นที่ว่างที่ยังเหลืออยู่ โดยมีพื้นที่นำร่องต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร (เรือนจำชั่วคราวบางหญ้าแพรก เรือนจำกลางชลบุรี (เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง) เรือนจำกลางสมุทรปราการ (เรือนจำชั่วคราวคลองด่าน) และเรือนจำกลางระยอง (เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว) โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจที่เน้นนวัตกรรม แรงงานใช้ฝีมือและรูปแบบธุรกิจที่ทันสมัย พร้อมให้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจของภาคธุรกิจในการร่วมลงทุนแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 19/10/2564

รมว.แรงงาน เผยไม่มีระเบียบใช้งบกลางเยียวยาลูกจ้าง

19 ต.ค. 2564 ที่สำนักงาน กพ. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เจรจากับผู้แทนลูกจ้าง บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัดและตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นเนลแห่งประเทศไทย ที่มาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องนายกรัฐมนตรี อนุมัติงบกลางเยียวยาลูกจ้าง โดยระหว่างการหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานระบุว่า ข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมที่ขอให้นำงบกลางมาเยียวยา ทดแทนเงินชดเชยกว่า 242 ล้านบาท นั้นไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่ตรงตามระเบียบของการใช้งบกลาง

ทั้งนี้นายสุชาติท้า ให้นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน ตัวแทนกลุ่มแรงงานที่ร่วมเจรจาให้ฟ้องรองดำเนินคดีกับตนเองได้เลย หากงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วน ขณะที่นายวรรณรัตน์ ศรีสดใส อธิบดีกรมสวัสดิการแรงงาน ระบุว่าหากตนทำอะไรตกหล่นไม่ครบถ้วนขอให้มาฟ้องตามมาตรา 157

นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่มแรงงาน ยังได้ เสนอให้กระทรวงแรงงาน หรือรัฐบาล ได้หางบประมาณมาช่วยเข้าเยียวยาไปพรางก่อน เนื่องจากมองว่าการที่ผู้ประกอบการหลบหนีไปแล้ว ขณะเดียวกันเสนอแนวทางตั้งกองทุนคุ้มครองการเลิกจ้าง เพื่อป้องกันเกิดเหตุซ้ำในอนาคต พร้อมกันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมยังทวงถามถึงความคืบหน้าการออกหมายจับดำเนินคดีกับนายจ้าง และขอให้ติดตามยึดทรัพย์บริษัทแม่ที่อำพรางการโยกย้ายทรัพย์สินก่อนลอยแพพนักงาน พร้อมยืนยันว่า การเดินทางมาในวันนี้ไม่ใช่หมากรรโชกทรัพย์รัฐบาลแต่มาเรียกร้องตามสิทธิ์ ซึ่งบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างตึงเครียด

ภายหลังการประชุม นายสุชาติ เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องให้ใช้นำงบกลางจำนวน 242 ล้านมาเยียวยากลุ่มแรงงานนั้นไม่มีระเบียบ พร้อมย้ำประเทศไทยใช้กฎหมายแรงงานที่คล้ายคลึงกับกฎหมายสากลของทั่วโลก และทั่วโลกไม่ทำกันในการที่จะเอาเงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศ มาใช้จ่ายในส่วนนี้ พร้อมย้ำว่าการถูกเลิกจ้างกองทุนว่างงานประกันสังคม และกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่ายชดเชยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามแนวทางในเดือน พ.ย. 2564 นี้จะดำเนินคดีในชั้นศาลเพื่อสืบพิทักษ์ทรัพย์ และจะพบเพื่อหารือกับกลุ่มแรงงานก่อนวันที่ 28 ต.ค. นี้โดยเชิญตัวแทนทั้งภาครัฐและเครือข่ายแรงงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ

ส่วนแนวทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมเสนอให้กระทรวงแรง นำภาษีที่บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด จ่ายให้กับรัฐบาล จำนวน 31 ล้านบาท ในปีภาษีล่าสุดมาสำรองจ่ายเยียวยาให้กับกลุ่มแรงงานก่อน เมื่อสามารถบังคับทรัพย์จากบริษัทดังกล่าวได้แล้วค่อยนำเงินส่งคืน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องให้กรมสรรพากรพิจารณาดูกฎระเบียบว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยดำเนินการในลักษณะเช่นนี้

จากนั้นนายสุชาติได้ออกมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมชี้แจง ผลการเจรจา รับข้อเสนอ 3 ข้อของกลุ่มผู้ชุมนุมคือ ติดตามจับกุม นายจ้างมาดำเนินคดี โดยให้นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้า และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฏหมาย สุดท้ายให้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาว่าจะสามารถนำงบกลางจำนวน 242 ล้าน มาชดเชยให้กลุ่มแรงงานก่อนได้หรือไม่

ที่มา: ไทยโพสต์, 19/10/2564

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ชุมนุมประชิดทำเนียบฯ เรียกร้องนำงบกลาง 242 ล้านบาท จ่ายค่าชดเชยแรงงาน

19 ต.ค. 2564 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นางกรรจาย แก้วชู ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย พร้อมพนักงานกว่า 100 คน จากบริษัทบริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ไทย โกลบอล จ.สมุทรปราการ ผู้ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อดัง ที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า รวมตัวชุมนุมกันที่ถนนพิษณุโลกหน้าทำเนียบรัฐบาล ยาวไปถึงบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปิดการจราจร 1 ช่องจราจร พร้อมทำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง ปราศรัย เรียกร้องให้ รัฐบาล และกระทรวงแรงงานนำงบกลางมาจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้กับผู้ใช้แรงงานกว่า 1,300 คน จำนวน 242 ล้านบาท อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวเคยมาชุมนุมเรียกร้องที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลมาแล้วแต่ยังไม่เป็นผล

ตัวแทนผู้ชุมนุมปราศรัย ว่า หากวันนี้ไม่ได้รับการเจรจาจนได้ข้อยุติ จะปีนรั้วทำเนียบรัฐบาล เหมือนกับที่เคยปีนรั้วกระทรวงแรงงานมาแล้ว และจะไม่เดินทางกลับ จะปักหลักชุมนุมต่อไป เราขอเรียกร้องให้ นายก รัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับกระทรวงแรงงาน ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมาเจรจารับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดูแลรักษาความปลอดภัย จำนวน 1 กองร้อย อย่างไรก็ตามตลอดการชุมนม กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ปราศรัย ผ่านเครื่องกระจายเสียงส่งเสียงดัง โดยหันลำโพงเข้ามาทางทำเนียบรัฐบาล รบกวนการประชุมครม. ตลอดเวลา

ที่มา: มติชนออนไลน์, 19/10/2564

บุคลากรทางการแพทย์ รพ.อุดรธานี ทวงค่าตอบแทนพิเศษเสี่ยงภัย โควิด-19 ก่อนยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมผู้ว่าฯ อุดรธานี

18 ต.ค. 2564 ที่หน้าโรงพยาบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี กลุ่มพยาบาล และ บุคลากรสาธารณสุขรพ.อุดรธานี กว่า 50 คน รวมกันชูป้ายข้อความ ระบุ “ทุกคนทำงานหนักและเหนื่อยเป็นทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพื่อเฝ้าระวัง covid -19 เรามารวมกลุ่มเพื่อขอรับเงินเสี่ยงภัย covid-19 ขอความเป็นธรรมให้เราด้วยงานหนักไม่เคยเกี่ยงแต่เงินเสี่ยงยังไม่ได้ ” ก่อนเปล่งเสียง ” เงินเสี่ยงภัยอยู่ไหน ” จากนั้นเข้ายื่นหนังสือถึง นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี ศูนย์ดำรงธรรม ป.ป.ช.จังหวัดอุดรธานี นพ.สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และเขตสุภาพที่ 8

ตัวแทนพยาบาลและบุคลากร เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นความคับข้องใจ โดยตั้งแต่ปี 2563 มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ช่วงเดือน มี.ค. จนถึงเดือน ต.ค.2563 ตามข้อตกลงพยาบาลและบุคคลากรรพ.อุดรธานีจะได้รับ 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเงินเดือน นอกจากนี้จะมีเงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือน สำหรับผู้ปฏิบัติงานตรงและผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน และการเบิกจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยในกลุ่ม PUI ทั้ง 3 รายการนี้ เราไม่ได้รับการเบิกจ่าย เราไม่ได้ถูกเลือกให้ได้รับสำหรับรพ.อุดรธานี

“เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า จากบุคลากรทั้ง 3,500 คนรพ.อุดรธานี มีเพียง 600 คน ได้เงิน 3 รายการดังกล่าว แต่ที่เหลือไม่ได้รับ เราก็ไม่ทราบว่าใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน มีการพูดคุยในระดับหนึ่งแล้วโดยผู้บริหารให้ข้อเสนอว่าให้ทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ การยื่นอุทธรณ์ควรจะเป็นหน้าที่ของกลุ่มงานทรัพยากรบุคคล ที่จะทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ แต่กลับมาเพิ่มความยุ่งยากให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานที่จะต้องทำเรื่องยื่นอุทธรณ์เอง”

ขณะที่ ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยหลังเข้าพูดคุยกับกลุ่มพยาบาลและบุคลการรพ.อุดรธานี ว่ากรณีหลักเกณฑ์การพิจารณาค่าตอบแทน หรือสิทธิพิเศษเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขในช่วงสถานการณ์โควิด เท่าที่ทราบมีบุคลากรบางส่วนที่ได้และมีบางส่วนที่ไม่ได้เงินค่าตอบแทนจำนวนนี้ โดยคนที่ไม่ได้เกิดข้อสงสัยคับข้องใจ

"จังหวัดก็ได้รับเรื่องไว้และมอบหมายให้หน่วยต้นสังกัด คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี รวบรวมข้อมูลรายงานหลักเกณฑ์การพิจารณาชี้แจงต่อกลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าว ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขรับปากจะช่วยดูแลความเดือดร้อนครั้งนี้ให้อย่างแน่นอน"

ที่มา: ข่าวสด, 18/10/2564

ผลศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจบริการจัดส่งอาหารระบุกว่า 67% ของไรเดอร์-ผู้ใช้บริการเดลิเวอรีค้านลดค่า GP

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธารีทิพย์ ทากิ อาจารย์ประจําสาขาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งกำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร เผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้บริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันหรือฟู้ดเดลิเวอรีได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประกาศล็อคดาวน์ ทำให้บริการดังกล่าวกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญนอกเหนือจากการซื้ออาหารที่หน้าร้าน และทำให้ค่า GP (หรือค่าคอมมิชชันที่แอปพลิเคชันเรียกเก็บจากร้านอาหาร) กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามอง โดยมีหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์ที่กำลังศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาและควบคุมบริการดังกล่าว ทั้งนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้จัดเสวนากลุ่มย่อยกับตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี เพื่อรับฟังมุมมองและข้อเสนอแนะจากทั้งสองฝ่าย ล่าสุด เรายังได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริโภคและไรเดอร์ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารต่อประเด็นดังกล่าว ซึ่งถือเป็นอีกสองตัวแปรสำคัญของวงจรธุรกิจนี้ เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่รอบด้านและสะท้อนบริบททางธุรกิจให้ครอบคลุมมากที่สุด จากผลการศึกษาพบประเด็นหลักที่น่าสนใจ ดังนี้

77.9% ของไรเดอร์มองว่าบริการดังกล่าวเป็นช่องทางในการหารายได้เสริมให้กับคนไทย ขณะที่ 56.3% ของไรเดอร์เห็นว่า บริการนี้ช่วยเพิ่มช่องทางในการขายและการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร

85.1% ของผู้ใช้บริการมองว่าบริการดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค โดย 73.4% ระบุว่า บริการฟู้ดเดลิเวอรีช่วยทำให้ไม่ต้องออกนอกบ้าน ซึ่งลดความเสี่ยงในการเจอผู้คนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แนวทางของภาครัฐในการควบคุมค่า GP กว่า 67% ของผู้ตอบแบบสอบถาม (ทั้งไรเดอร์และผู้ใช้บริการ) ไม่เห็นด้วยกับการที่หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายที่จะควบคุมบริการดังกล่าวด้วยการปรับลดค่า GP เพื่อช่วยเหลือร้านอาหาร

62.9% ของไรเดอร์ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยไรเดอร์ส่วนใหญ่ถึง 64.9% มีความกังวลว่า การปรับลดค่า GP จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าตอบแทนของไรเดอร์ ขณะที่ 41.4% มองว่าบริการฟู้ดเดลิเวอรีเป็นเพียงช่องทางเสริมของร้านอาหาร โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ที่จะไม่ขายผ่านแพลตฟอร์มและหาช่องทางอื่นที่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับฝั่งของผู้ใช้บริการ โดย 69.9% ของผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับการปรับลดค่า GP โดย 49.9% เกรงว่าหากมีการปรับลดค่า GP จะต้องกระทบต่อราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่ 45.9% ของผู้ใช้บริการมองว่า อัตราค่า GP ในปัจจุบัน (สูงสุดไม่เกิน 30%) เหมาะสมอยู่แล้ว และส่งผลดีในระยะยาวต่อทุกคนในวงจรธุรกิจ และมีจำนวนถึง 31% ที่มองว่าแนวคิดในการปรับลดค่า GP เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด

สำหรับ แนวทางในการรับมือหรือการตอบสนองหากภาครัฐมีการควบคุมค่า GP

59% ของไรเดอร์ระบุว่า หากภาครัฐมีการผลักดันเรื่องการปรับลดค่า GP จริงจะรวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการพิจารณา โดย 28.4% ของไรเดอร์จะเรียกร้องให้แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรีต้องแบกรับต้นทุนต่อไปหรือผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ขณะที่ 27% ของไรเดอร์เลือกที่อยู่เฉยๆ และยอมรับสภาพหากมีการปรับลดค่าตอบแทน

46% ของผู้บริโภคระบุว่าจะเลิกใช้บริการสั่งอาหารหากมีการปรับราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น ขณะที่มีเพียง 14% เท่านั้นที่ยอมจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้น

ความคาดหวังที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหาปากท้องและช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร

กว่า 73% ของผู้ตอบแบบสอบถาม (ทั้งไรเดอร์และผู้ใช้บริการ) ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนเป็นอันดับแรก

56.2% ระบุว่ารัฐบาลควรมีมาตรการในการอัดฉีดหรือกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารในระยะยาว ขณะที่ 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดหวังไม่ให้มีการประกาศล็อคดาวน์อีก และ 46.2% เสนอให้มีการประสานให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินมีการประนอมหนี้ หรือจัดโปรแกรมเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

ผศ.ธารีทิพย์ ทากิ กล่าวเสริมว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนพบว่า การประกาศล็อคดาวน์หรือขอความร่วมมือไม่ให้ออกนอกเคหสถานเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการร้านอาหารและเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้ประเด็นเรื่องค่า GP ได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้วเดลิเวอรีแพลตฟอร์มเป็นเพียงหนึ่งในช่องทางการขายของร้านอาหารเท่านั้น ไม่ต่างจากการลงทุนเพื่อเปิดหน้าร้าน หรือการเช่าที่ในห้างสรรพสินค้าที่ต้องมีค่าใช้จ่ายและมีการคิดส่วนแบ่งการขายเหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับร้านอาหารว่าต้องการเลือกเข้าร่วมใช้บริการหรือไม่ตามความสมัครใจ สำหรับการพิจารณาเพื่อควบคุมกลไกตลาดนั้น ภาครัฐควรดำเนินการอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะแต่ร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ในวงจรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้าหรือผู้บริโภค ไรเดอร์ รวมไปถึงแพลตฟอร์มสั่งอาหารด้วยเช่นกัน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 18/10/2564

เชียงใหม่ฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตน ม.33 สปส. รับมา 1 หมื่นโดส ฉีดได้วันละ 700 คน พร้อมรับวอร์คอินด้วย

18 ต.ค. 2564 บริเวณชั้น 4 ศูนย์การค้าเมญ่า ไลฟ์ไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมจัดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนมาฉีดให้แก่ผู้ประกันตนจำนวน 10,000 โดส โดยเริ่มฉีดวันนี้เป็นวันแรกโดยจะเปิดให้บริการที่ห้างเมญ่าฯ ไปอีก 1 เดือน ซึ่งผู้ประกันตนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม หรือผู้ที่มีสิทธิตามเกณฑ์ของสำนักงานประกันสังคมสามารถวอร์คอินเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้

นางอัจฉรา บัวทอง ประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สปส.เชียงใหม่ ได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 รวม 10,000 โดส โดยวันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มฉีดให้ผู้ประกันตนกำหนดให้บริการฉีดไว้ที่วันละ 700 คน โดยผู้ประกันตน นายจ้าง สามารถลงทะเบียนขอรับการฉีดทาง E-SERVICE ของ สปส.เชียงใหม่ หากแต่ว่ายังไม่ได้ลงทะเบียนใน E-SERVICE ก็สามารถวอร์คอินมายังจุดฉีดที่ชั้น 4 ห้างเมญ่าฯ ได้เลย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนให้ โดยทาง สปส.เชียงใหม่ จะเปิดบริการฉีดวัคซีนที่ห้างเมญ่าฯ นี้ไปอีก 1 เดือน

ด้านนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของการให้บริการผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ สปส. รับนโยบายมาจากรัฐบาลในการจะให้บริการผู้ประกันตน ก็มีหลายคนที่ไปรับบริการร่วมกับประชาชทั่วไปแล้ว ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็มาใช้ช่องทางนี้ ก็จะเป็นการกระจายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมในทุกกลุ่ม

“วันนี้เชียงใหม่ได้รับวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนมา 10,000 โดส ก็พยายามที่จะเชิญชวนผู้ประกันสังคมมาตรา 33 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมารับบริการฉีดวัคซีนซึ่งจุดนี้สามารถให้บริการฉีดได้วันละ 700 คน ก็ได้มีการพูดคุยกับทีมแพทย์ที่มีให้บริการซึ่งทราบว่าเคยฉีดได้สูงสุดถึงวันละ 1,000 คน ก็อยากให้ทำให้ได้เร็วได้มากที่สุด ส่วนใหญ่จะมีรายชื่อจากการลงทะเบียนไว้ก่อนแล้วก็มีฉีดตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ หากว่าไม่มีรายชื่อก็วอร์คอินเข้ามาได้ แต่ไม่ใช่จะเป็นการทั่วไป ก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขของทางสำนักงานประกันสังคม จะเป็นนายจ้าง หรือลูกจ้างก็เข้ามาฉีดได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากที่ทุกคนมีความต้องการในการจัดป้องกันตัวเอง” นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ที่มา: ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจของจังหวัดเชียงใหม่, 18/10/2564

โรงงานไม้ยางใต้ ร้องรัฐขอนำเข้าแรงงานอินเดีย-ปากีสถาน

นายสุทิน พรชัยสุรีย์ กรรมการผู้จัดการ 3 โรงงานผลิตไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งส่งออกรายใหญ่ในภาคใต้ บริษัท เขามหาชัยพาราวู้ด จำกัด จ.นครศรีธรรมราช บริษัท พาราโดม จ.กระบี่ เปิดเผยว่าว่าขณะนี้โรงงานผลิตไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งประสบปัญหาหลายด้านตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด

โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว เพราะติดปัญหาการห้ามโยกย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามจังหวัด และแรงงานต่างด้าวบางส่วนเดินทางกลับบ้าน ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตภายใน 3 โรงงานอย่างมาก

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีในหลายธุรกิจทั่วประเทศ แต่รัฐบาลให้นำเข้าแรงงานเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมากัมพูชา ลาว ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงพอ รัฐบาลไทยควรทำแบบประเทศมาเลเซีย

โดยอนุญาตให้นำแรงงานอินเดียและปากีสถานเข้ามาได้ เพราะ 2 ประเทศนี้แรงงานพูดภาษาอังกฤษได้ สามารถสื่อสารภาษากันรู้เรื่อง เป็นแรงงานมีคุณภาพ และราคาค่าแรงถูกกว่าแรงงานเมียนมา

แต่ประเทศไทยไม่ให้นำเข้ามา บอกเป็นนโยบายเรื่องความมั่นคง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำเรื่องขอให้นำเข้าแรงงานจากอินเดียและปากีสถานเข้ามาตลอด แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐบาล บอกเป็นเรื่องความมั่นคง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/10/2564

คาด ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ จ้างงานเพิ่มกว่า 1.5 หมื่นอัตรา หลังผ่อนมาตรการเข้าเมือง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การจ้างงานภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ (PHUKET SANDBOX) ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2564 ภายหลังจาก จ.ภูเก็ต ได้ออกมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้า จ.ภูเก็ต จะทำให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ เดินทางมาท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงเดือน ต.ค. 2564 – พ.ย. 2565 จะเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว หรือ ไฮ ซีซั่น (High Season) ของ จ.ภูเก็ต โดยกรมการการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน สำรวจความต้องการจ้างงานจากนายจ้าง/สถานประกอบการ พบต้องการจ้างงานประมาณ 15,000 อัตรา และคาดว่าจะมีผู้สมัครงานประมาณ 10,000 คน

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ผลักดัน โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ จนได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้ 3 เดือนที่ผ่านมา นายจ้าง/สถานประกอบการต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต พร้อมกับที่ทางจังหวัดเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับคนภูเก็ต คนที่ทำงานใน จ.ภูเก็ต รวมทั้งแรงงานต่างด้าว ตามแนวทางของ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ทำให้ปัจจุบันภูเก็ตมีความพร้อมเต็มที่ ที่จะผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้า จ.ภูเก็ต เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกเรื่องที่น่ายินดี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดี กกจ. กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย. 2564 (ระยะเวลา 3 เดือน) ที่ดำเนินการโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ มีนายจ้างสถานประกอบการ ต้องการจ้างงาน 2,727 อัตรา ผู้สมัครงาน 3,337 คน และบรรจุงานทั้งหมด 2,538 คน ประเภทกิจการที่มีการบรรจุงานมากที่สุด ได้แก่ กิจการร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของที่ระลึก ในตำแหน่ง พนักงานขายหน้าร้าน กิจการก่อสร้าง และจำหน่ายวัสดุ ในตำแหน่ง แรงงานทั่วไป ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า ช่างเทคนิควิศวกรรมโยธา (ก่อสร้าง) ช่างก่อสร้าง ช่างเชื่อมโลหะ กิจการโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด ในตำแหน่ง พนักงานบริการลูกค้า พนักงานเสิร์ฟ พนักงานล้างจาน แม่บ้าน แคชเชียร์ บาร์เทนเดอร์ และกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร ในตำแหน่ง พ่อครัว บาร์เทนเดอร์ โดย จ.ภูเก็ต เดิมเป็นจังหวัดที่มีรายได้จากภาคธุรกิจท่องเที่ยว บริการและโรงแรมเป็นรายได้หลัก ทำให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อย่างชัดเจน หากเทียบสถานการณ์การจ้างงานก่อนที่จะมีภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 – เดือน มิ.ย. 2564 (ระยะเวลา 9 เดือน) มีนายจ้างสถานประกอบการ ต้องการจ้างงาน 6,141 อัตรา ผู้สมัครงาน 6,858 คน และบรรจุงาน 5,520 คน ซึ่งต้องยอมรับว่าโครงการฯ มีส่วนช่วยให้เกิดการจ้างงานภายในจังหวัดเพิ่มขึ้น ช่วยคนหางานให้มีรายได้ดูแลตัวเองและครอบครัวต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/10/2564

ก.แรงงาน จัดงบ 80 ล้าน ช่วยลูกจ้าง-นายจ้าง ประสบอุทกภัย ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องแรงงานและสถานประกอบกิจการในทุกภาคส่วนของประเทศ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนทุกกลุ่ม จึงได้ดำเนินการช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงานและสถานประกอบกิจการจึงสั่งการให้กระทรวงแรงงานหาแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว โดยมอบหมายให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง ที่ประสบอุทุกภัยตามโครงการเงินกู้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จากกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการหรือรัฐวิสาหกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปบรรเทาความเดือดร้อนใช้ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือฟื้นฟูอาชีพหลังประสบภัย ตลอดจนสามารถนำไปเสริมสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ได้จัดทำโครงการเงินกู้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีวงเงินงบประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ในรัฐวิสาหกิจ สามารถยื่นคำขอกู้เงินเพื่อนำไปให้บริการเงินกู้แก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์วงเงินสูงสุดสหกรณ์ละ 20 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือน สูงสุดไม่เกิน 5 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากสมาชิกไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี และใช้คณะกรรมการสหกรณ์และผู้จัดการสหกรณ์เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้

ทั้งนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ตั้งอยู่ หรือยื่นคำขอกู้ผ่านระบบ e-Service กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน e-mail : labourfund@gmail.com โทรศัพท์ 0-2660-2181 โทรสาร 0-2660-2181 สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: สยามรัฐ, 15/10/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท