Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เสียงปี่กลองทางการเมืองที่กำลังดังอยู่ในขณะนี้ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองอย่างมีนัยยะบางประการ การลงพื้นที่ของนักการเมืองช่วงนี้ จึงย่อมเหมือนการได้กลิ่นบางอย่างที่มิอาจทำให้นิ่งเฉยอยู่ได้กันอีกต่อไป ถ้าไม่อยากตกขบวน การเมืองนับจากนี้ จึงห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด

การเตรียมความพร้อมของพรรคการเมือง ณ วันนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่พลาดไม่ได้ และปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่รับผิดชอบบทบาทสำคัญนี้ภายในพรรคย่อมหนีไม่พ้น คนที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ที่ถือว่าเป็น “แม่บ้าน” ของพรรคนั่นเอง

ตั้งแต่อดีตกาล ความยิ่งใหญ่และศักดิ์ศรีของตำแหน่งเลขาธิการพรรค หรือ“แม่บ้าน” ของพรรค มีมากจริงๆ โดยเฉพาะพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คนที่ดำรงตำแหน่งนี้มักจะได้รับเกียรติให้เป็น “ผู้จัดการ” รัฐบาล  ซึ่งต้องเป็นผู้มากบารมีจริงๆ เท่านั้น

และแน่นอนว่า เมื่อเป็นถึงระดับ “ผู้จัดการ” รัฐบาล ตำแหน่งแห่งหนเก้าอี้ในรัฐบาลของเลขาธิการพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มักจะโตตามไปด้วย ถึงจะสมน้ำสมเนื้อ

ในปี 2512 จอมพลถนอม กิตติขจร ร่วมก่อตั้งพรรคสหประชาไทย โดยตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค มี พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค เมื่อจัดตั้งรัฐบาล ในปีนั้น พล.อ.อ.ทวี ก็นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และในปี พ.ศ. 2514 ก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในยุคเรืองรองของพรรคชาติไทย สมัยที่มี มังกร “เติ้ง เสี่ยว หาร” นายบรรหาร ศิลปอาชา  เป็นเลขาธิการพรรค ร่วม 14 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2523-2537 นายบรรหารก็เป็น“แม่บ้าน” ของพรรคที่เปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรี และบารมีจริงๆ ไม่ว่าจะสมัยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องประเคนเก้าอี้นายกฯ ให้ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อย่างจำใจ มังกร “เติ้ง” ที่สวมหมวกเป็น“ผู้จัดการ” รัฐบาล ก็นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามด้วยเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

กระทั่งเมื่อป๋าเปรมวางมือทางการเมือง ล้างมือในอ่างทองคำ “เติ้ง เสี่ยว หาร” ก็ประกาศศักดาด้วยการพา พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล โดยนายบรรหาร ก็ได้นั่งว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตามด้วยเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนถูก รสช. ยึดอำนาจ

ปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ ว่าเลขาธิการพรรค หรือ“แม่บ้าน” ของพรรค เป็นตำแหน่งที่มีศักดิ์ศรี และบารมีจริงๆ ภายในพรรค และยิ่งเมื่อก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คนที่ดำรงตำแหน่ง“ผู้จัดการ” รัฐบาล อย่างเลขาธิการพรรคแกนนำ ก็เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงในการที่จะได้นั่งเก้าอี้ที่สมศักดิ์ศรีนั้นจริงๆ

ไม่ว่าจะเป็น “เสธฯ หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่เป็นเลขาพรรคประชาธิปัตย์ ยาวนานถึง 13 ปี แต่เมื่อมีโอกาสได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล “เสธฯ หนั่น” ก็มีโอกาสได้นั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2 สมัย ตามด้วยนั่งว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ขณะที่ “ป๋าเหนาะ” นายเสนาะ เทียนทอง เมื่อรับไม้เป็นแม่บ้านพรรคชาติไทย ต่อจากนายบรรหาร ที่ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค “ป๋าเหนาะ” ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง พาพรรคชาติไทยชนะเลือกตั้ง แล้วนายบรรหารก็ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดย“ป๋าเหนาะ” นั่งว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสร้างความความผิดหวังให้กับเจ้าพ่อวังน้ำเย็นอย่าง“ป๋าเหนาะ” เป็นอย่างมาก

และเมื่อนายบรรหาร ยุบสภาฯ “ป๋าเหนาะ” ก็ย้ายไปสังกัดพรรคความหวังใหม่ของ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โดยรับตำแหน่งเลขาธิการพรรค พร้อมนำพรรคชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคประชาธิปัตย์แบบฉิวเฉียด ส่ง “พ่อใหญ่จิ๋ว” สู่เก้าอี้ สร.1 ได้เป็นผลสำเร็จ แล้วผู้จัดการรัฐบาลมือทองอย่าง“ป๋าเหนาะ” ก็ทะยานสู่เก้าอี้ มท.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่างสมศักดิ์ศรี

ซึ่งแม้ในกรณีของ “ป๋าเหนาะ” ที่นั่งว่าการกระทรวงหมอ ในสมัยมังกร “เติ้ง” หลายคนอาจจะคิดว่า ไม่สมศักดิ์ศรี

แต่จะว่าไปแล้ว นี่ก็คือ เก้าอี้ “ว่าการ”

มาถึงพรรคแกนนำรัฐบาลในปัจจุบันอย่างพรรคพลังประชารัฐเองก็เหอะ ในช่วงแรกที่มี นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค และมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาพรรค แม้จะไม่ได้พาพรรคชนะเลือกตั้ง แต่ก็สามารถพาพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ส่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สืบอำนาจต่อไปได้ นายสนธิรัตน์ที่เป็นแม่บ้านพรรค (แต่ไม่น่าจะใช่ผู้จัดการรัฐบาล) ก็ยังได้นั่งเก้าอี้ระดับว่าการที่กระทรวงพาณิชย์ ก่อนจะย้ายมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ดังนั้นปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงเกิดตั้งแต่ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค เพราะเมื่อมีการปรับโครงสร้างการบริหารภายในพรรค โดยการให้ ร.อ.ธรรมนัส ขึ้นมาเป็น“แม่บ้าน” ของพรรค แต่กลับไม่มีการเลื่อนเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรีให้ด้วย ยังคงให้นั่งในตำแหน่งเดิมคือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกระทรวงนี้มีเลขาธิการพรรคเล็กที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล นั่งว่าการอยู่ ซึ่งนั่นก็คือเลขาธิการพรรคเล็กร่วมรัฐบาล เป็นผู้บังคับบัญชาเลขาธิการพรรคใหญ่แกนนำรัฐบาล

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของ “ศักดิ์ศรี” และ “บารมี” ล้วนๆ

และเมื่อ ร.อ.ธรรมนัส ต้องการอวดศักยภาพของ“แม่บ้าน”พรรค ที่จะต้องเป็น“ผู้จัดการ” รัฐบาล ตัวจริง เสียงจริง เพื่อโชว์ “ศักดิ์ศรี” และ “บารมี” จึงถูกปลด แม้แต่เก้าอี้เล็กๆ อย่าง “ช่วยว่าการ” ก็รักษาไว้ไม่ได้

พรรคชาติไทย หลังจากที่“ป๋าเหนาะ” ถอยออกมา ก็แปรสภาพกลายเป็นพรรคเอสเอ็มอี พรรคขนาดกลางและขนาดย่อมทันที ส่วนพรรคพลังประชารัฐจะเดินซ้ำรอยเช่นนั้นหรือเปล่า เป็นเรื่องของเวลาและอนาคต

แต่ที่แน่ๆ “ป๋าเหนาะ” คือผู้ที่ทำให้ตำแหน่งเลขาธิการพรรค หรือ “แม่บ้าน” พรรค หรือตำแหน่ง “ผู้จัดการ” รัฐบาล เป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติและมีศักดิ์ศรีเป็นอย่างยิ่ง และถ้าแกมองย้อนกลับไปในวันที่แกเคยน้อยใจมากกับเก้าอี้ “หมอเหนาะ” ในวันนั้น

วันนี้น่าจะมีรอยยิ้มเล็กๆ ที่มุมปาก พร้องคำรำพึงเบาๆ ว่า

 “กระจอกกว่ากูอีก”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net