สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญากับความเป็นมนุษย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถ้าถามว่าปรัชญา (philosophy) คืออะไรและปรัชญาทำงานอย่างไรก็คงเป็นเรื่องยาว แต่ในที่นี้ต้องการพูดถึงว่าปรัชญาคือความพยายามจัดการกับปัญาพื้นฐานต่างๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับ “ความเป็นมนุษย์” (human being) โดยเริ่มจากคำถามพื้นฐานว่า เราคือใคร? ซึ่งเป็นการถามถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ของเรา

ตัวอย่างเช่น งานทางปรัชญาของเพลโตตอบคำถามนี้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์คือกายกับจิต และจิตมนุษย์ มีธรรมชาติ 3 ด้าน คือความปรารถนาต่างๆ, ความรักเกียรติ และปัญญา ซึ่งถือว่าปัญญาเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด เมื่อธรรมชาติความเป็นมนุษย์ของเราเป็นเช่นนี้ เราจึงควรปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ของเรา นั่นคือ ในแง่ชีวิตส่วนบุคคล เราควรใช้ปัญญานำทางความปรารถนาต่างๆ และความรักเกียรติให้มีดุลยภาพ และในทางสังคมการเมือง ผู้มีปัญญาสูงสุดหรือราชานักปรัชญา (philosopher kings) ควรเป็นผู้ปกครอง

ดังนั้น งานทางปรัชญาก็คือการให้โลกทัศน์บางอย่าง เช่น จากความเข้าใจว่าเราคือใคร หรือธรรมชาติความเป็นมนุษย์ของเราคืออะไร จึงนำไปสู่คำตอบว่า เราควรดำเนินชีวิตอย่างไร และระบบสังคมการเมืองที่สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ของเราควรเป็นอย่างไร

คริสต์ศาสนาที่เดินทางจากดินแดนทะเลทรายมางอกงามในตะวันตก แตกต่างจากคริสต์ศาสนาของชาวยิวค่อนข้างมาก เพราะเมื่อมาปะทะกับปรัชญาตะวันตก ทำให้ปราชญ์คริสต์จริงจังกับการอธิบายธรรมชาติของมนุษย์และการออกแบบสังคมการเมืองที่สอดคล้องกัน ขณะเดียวกันก็เกิดแนวคิดปรัชญาใหม่ๆ ที่ตั้งคำถามกับธรรมชาติของมนุษย์, ศีลธรรม และระบบสังคมการเมืองแบบคริสต์และพยายามเสนอนิยามความเป็นมนุษย์แบบอื่นๆ ขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ๆ  

นักปรัชญาคริสต์นอกจากจะเสนอคำตอบว่า มนุษย์คือ “จินตภาพ” (image) ของพระเจ้าแล้ว ยังเสนอคำอธิบายครอบคลุมที่สุดว่า มนุษย์ โลก จักรวาลและสรรพสิ่งถูกสร้างโดยพระเจ้าและล้วนแต่เป็นไปตามแผนการของพระเจ้า ทว่าแผนการของพระเจ้าเป็นอย่างไรย่อมเป็นที่ถกเถียงมาตลอด เช่นว่าความชั่วร้ายและภัยพิบัติต่างๆ เป็นแผนการของพระเจ้าด้วยหรือไม่

บ้างว่าพระเจ้าสร้างอาดัมขึ้นมาให้เป็นทั้งหัวหน้าครอบครัวและผู้ปกครองโลก มนุษย์เพศชายซึ่งเป็นทายาทของอาดัมจึงมีอำนาจชอบธรรมในการเป็นหัวหน้าครอบครัว ขณะที่กษัตริย์ได้รับมอบอำนาจเทวสิทธิ์จากพระเจ้าให้ปกครองรัฐ ไอเดียนี้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับบทเทศนาบนภูเขาของเยซูที่ว่า “อาณาจักรสวรรค์จะมาสู่โลกนี้ในไม่ช้า” จนส่งผลให้เกิดประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลาง ที่มีอำนาจคู่ขนาน คือพระสันตะปาปาที่ใช้อำนาจเทวสิทธิ์ปกครองศาสนจักร เพื่อเตรียมประชาชนสู่อาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้า และกษัตริย์ที่ใช้อำนาจเทวสิทธิ์ปกครองอาณาจักรทางโลก

แต่แล้วอำนาจคู่ขนานก็ขัดแย้งกัน นักปรัชญาอย่างฌ็อง-ฌากส์ รุสโซ ถึงกับวิจารณ์ว่า เป็นความผิดพลาดของเยซูที่เสนอ “อาณาจักรสวรรค์” ขึ้นมาแข่งกับอาณาจักรทางโลก เพราะเมื่อก่อนที่มีศาสนาพหุเทวนิยมแม้ประชาชนจะนับถือเทพต่างๆ มากมาย แต่ศรัทธาเช่นนั้นอยู่ใต้อำนาจรัฐหนึ่งเดียว จึงทำให้รัฐมีเอกภาพ ขณะที่แนวคิดอาณาจักรสวรรค์ของเยซูคือรากฐานของการสร้างศาสนจักรขึ้นมาแข่งอำนาจกับอาณาจักรทางโลก รัฐที่มีสองอำนาจคู่ขนานย่อมนำไปสู่ความขัดแย้ง และประชาชนก็ไม่รู้จะเชื่อฟังใครมากกว่าระหว่างศาสนจักรกับกษัตริย์ ยิ่งเมื่อเกิดการปฏิรูปศาสนาแยกนิกายคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์ที่ตามมาด้วยสงครามระหว่างนิกายศาสนา 30 ปี ที่ผสมปนเปกันระหว่างความขัดแย้งทางความเชื่อศาสนากับการช่วงเชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง คำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนายิ่งมีมากขึ้น

ในที่สุดรุสโซก็เสนอแนวคิด “ศาสนาพลเมือง” (civil religion) ในรูปของ “ศีลธรรมอิสระ” ที่ได้มาจากนิยามธรรมชาติของมนุษย์ในกรอบคิดของปรัชญาศีลธรรมและการเมืองแบบโลกวิสัย และถูกขยายความต่อมาว่ารัฐต้องรับเอา “ศีลธรรมที่เป็นอิสระจากศาสนาทั้งปวง” อันเป็นศีลธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพ, เพื่อยึดถือปฏิบัติในฐานะ “อำนาจสูงสุดทางศีลธรรม” (moral supremacy) เหนือศาสนาทั้งปวง และเพื่อให้หลักประกันว่าอำนาจสูงสุดอันเป็นศีลธรรมของรัฐได้ครอบครองรากฐานอันแข็งแกร่งมากกว่าที่อ้างถึงโดยทฤษฎีประโยชน์นิยมและอารมณ์นิยม จึงต้องการสิ่งที่คล้ายกับ “เทววิทยาที่มีเหตุผล” (rational theology) เช่น ปรัชญาศีลธรรมของอิมมานูเอล คานท์ที่ยืนยันความเป็นมนุษย์ในฐานะสัตผู้มีเหตุผล (rational being) ที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเองอันล่วงละเมิดมิได้

ความพยายามทางปรัชญาที่ต้องการสร้างระบบสังคมและการเมืองแบบโลกวิสัยที่เป็นอิสระจาก “อำนาจเทวสิทธิ์” ของศาสนจักรและกษัตริย์ เห็นได้ชัดเจนจากแนวคิดของจอห์น ล็อกที่เสนอว่า มนุษย์มีเสรีภาพเท่าเทียมกัน และมีหน้าที่รักษาปกป้องสิทธิและเสรีภาพของกันและกันตามกฎธรรมชาติ นี่คือพระประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องการให้มนุษย์ปกครองตัวเอง และการที่จะรักษาสิทธิเสรีภาพเอาไว้ได้ไม่ใช่มอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่กษัตริย์ อำนาจสูงสุดเป็นของทุกคน รัฐบาลเพียงแต่ได้รับความยินยอมให้มาใช้อำนาจนั้นแทนประชาชนในการรักษาสิทธิเสรีภาพของทุกคน แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ในการปฏิวัติอเมริกา ดังปรากฏในคำประกาศอิสรภาพที่ว่า “เราทุกคนถูกสร้างมาให้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน” แน่นอนว่า แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น

หันมามองสังคมไทยที่พุทธศาสนามีอิทธิทางสังคมและการเมืองมายาวนาน พุทธปรัชญานิยามความเป็นมนุษย์ว่าเป็น “อนัตตา” ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ตัวเราเป็นเพียง “ตัวตนสมมติ” ซึ่งถ้ายึดถือตัวตนสมมติย่อมนำมาซึ่งความทุกข์นานา การนึกถึงธรรมชาติของเราที่เป็นอนัตตาสัมพันธ์กับเป้าหมายชีวิตของปัจเจกบุคคลคือความพ้นทุกข์ แต่มนุษย์จำเป็นต้องเกาะเกี่ยวเป็นสังคมด้วยตัวตนสมมติ ดังนั้น จากธรรมชาติของมนุษย์ที่ไร้ตัวตนจึงนำมาสู่การสถาปนาตัวตนสมมติ คือการสถาปนาธรรมราชาผู้เป็นสมมติเทพ โพธิสัตว์ พุทธเจ้าอยู่หัวที่เป็นทั้งผู้ปกครองทางโลกและศาสนจักรที่บรรดาผู้ใต้ปกครองต้องพึ่ง “พระบรมโพธิสมภาร” เพราะกษัตริย์ไม่เพียงเป็นผู้ปกครอง หากยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะนำพามวลพสกนิกรสู่ “โพธิ” หรือปัญญารู้แจ้งพระนิพพาน

อย่างไรก็ตาม รัฐศาสนาทุกศาสนาล้วนอ้างถึงอุดมการณ์สูงส่งเหนือโลก ไม่ว่าพระเจ้า สวรรค์ นิพพาน บุญญาธิการ ซึ่งสะท้อนความจริงของการประกอบสร้างความเชื่อที่ว่า บรรดาพระศาสดาของศาสนาต่างๆ และบรรดากษัตริย์ของรัฐศาสนาต่างๆ พวกเขามาจากโลกอื่นที่แตกต่างจากโลกของสามัญชนอย่างเรา พวกเขาสั่งสอนและพิพากษาเราจากความจริง ความดีในมุมมองของพวกเขาเป็นด้านหลัก จึงไม่มีทางที่พวกเขาจะเข้าใจโลกของเราจากความจริงหรือมุมมองของพวกเรา เมื่อความจริง ความดีตามมุมมองของพวกเขาต่างจากความจริงและความดีตามมุมมองสามัญชนอย่างเรา สถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ของพวกเขาจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ของสามัญชนอย่างเรา ดังนั้น ขณะที่สามัญชนอย่างเรายืนยันความยุติธรรมของอำนาจและผลประโยชน์ของเราบนหลักเสรีภาพและความเสมอภาคของ “คนเหมือนกัน” แต่พวกศาสดาและกษัตริย์คิดถึงสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ของพวกเขาเป็นด้านหลัก ซึ่งย่อมเป็นสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ที่สูงส่งเหนือพวกเราเสมอไป

แต่ถึงที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่งานของนักปรัชญาที่มีชื่อในประวัติศาสตร์ แต่เป็นงานของสามัญชนคนธรรมดาทั่วไปทั้งที่ปรากฏนามและไร้นาม เช่น คนแบบอานนท์, เพนกวิน, ไผ่ ดาวดิน, รุ้ง, เบนจา, ไมค์, ป้าเป้าและคนอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจครอบงำทางความคิด ความเชื่อแบบมองคนไม่เท่ากัน และไม่ยอมสยบต่ออำนาจของระบบเผด็จการทรราชย์ที่ฉ้อฉลและโหดร้ายต่อความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน 
 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo/?fbid=425722518909351&set=a.274390314042573

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท