Skip to main content
sharethis

สมาชิกสหพันธ์แรงงานกลางเกาหลี (KCTU) หลายพันคนรวมตัวกันประท้วงกลางกรุงโซล เพื่อเรียกร้องสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงาน พร้อมแต่งกายด้วยชุดคอสเพลย์ เลียนแบบตัวละครในซีรีส์เรื่อง Squid Game ซึ่งออกอากาศผ่านทางเน็ตฟลิกซ์และโด่งดังไปทั่วโลก ชี้สภาพการทำงานไม่ต่างจากตัวละครในเรื่อง แกนนำชู 4 ข้อเรียกร้อง แก้ปัญหาแรงงานนอกระบบ พร้อมนัดชุมนุมในตลอดเดือน พ.ย. นี้

21 ต.ค. 2564 วานนี้ (20 ต.ค. 2564) สมาชิกสหพันธ์แรงงานกลางเกาหลีกว่า 80,000 คนจาก 13 เมืองในเกาหลีใต้ร่วมกันประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ (Irregular worker) ให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยแรงงานนอกระบบในเกาหลีใต้หรือ Irregular worker นั้น หมายถึงแรงงานล่วงเวลาหรือแรงงานที่มีสัญญาระยะสั้นโดยที่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานและไม่ได้รับสวัสดิการ

เฉพาะในกรุงโซล มีสมาชิกสหพันธ์แรงงานกว่า 27,000 คนที่เข้าร่วมการประท้วง ทำให้ตำรวจต้องเตรียมกำลังมากถึง 12,000 นายเพื่อรับมือการประท้วงในครั้งนี้ นอกจากนี้ สำนักข่าวต่างประเทศยังรายงานอีกว่าตำรวจเกาหลีสร้าง “กำแพงรถบัส” ด้วยการนำรถบัสหลายสิบคันมาจอดขวางล้อมพื้นที่บริเวณจัตุรัสกวางฮวามุน ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการสำคัญ เช่น ศาลากลางกรุงโซล และเป็นจุดที่ประชาชนมักมารวมตัวกันเพื่อประท้วงรัฐบาลบ่อยครั้ง

อิมยอนซอก (Lim Yun Suk) บรรณาธิการข่าวของ CNA ประจำเกาหลีใต้ทวีตข้อความพร้อมคลิปวิดีโอบรรยากาศการประท้วงในกรุงโซล ซึ่งปรากฏภาพผู้ประท้วงแต่งกายเลียนแบบตัวละคร ‘ผู้คุมเกม’ จากในซีรีส์ดังเรื่อง Squid Game ออกอากาศทางแพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับโลกอย่างเน็ตฟลิกซ์

“สมาชิกสหภาพแรงงานหลายคนที่มาประท้วงในกรุงโซล แต่งตัวด้วยชุด Squid Game พร้อมบอกว่าพวกเขาก็หาเลี้ยงชีพอย่างทุลักทุเลเหมือนในซีรีส์ และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปรับปรุงสิทธิแรงงาน บางรายงานบอกว่าวันนี้มีคนมาชุมนุมมากถึง 30,000 คน” อิมยอนซอกเขียนในทวีตเตอร์

 

 

ซีรีส์เรื่อง Squid Game กำกับและเขียนบทโดยฮวังดงฮย็อก (Hwang Dong-hyuk) ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมทุนนิยมผ่านการเล่นเกมการละเล่นในวัยเด็ก เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านวอน โดยผู้เล่นเกมทั้งหมด 456 คนล้วนเป็นคนที่ประสบปัญหาทางการเงิน จนถึงมาต้องต่อสู้เสี่ยงชีวิตแลกกับเงินจำนวนมหาศาล เพื่อให้กลับออกไปใช้ชีวิตในในโลกทุนนิยมอันโหดร้ายได้ ซึ่งหลังจากซีรีส์เรื่องดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาว่าสถานการณ์ในเรื่องนั้นใกล้เคียงกับสถานการณ์แรงงานของเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก

ข้อมูลจากวารสารนานาชาติด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมและการประกอบอาชีพ ซึ่งตีพิมพ์ในเดือน ก.ค. 2559 ระบุว่าแรงงานในเกาหลีใต้มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยสูงถึงสัปดาห์ละ 44.6 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม OECD ซึ่งมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่สัปดาห์ละ 32.8 ชั่วโมง

“บางฉาก (ในซีรีส์) ก็ทำใจดูยาก” อีชางกึน อดีตพนักงานบริษัทซังยงมอเตอร์ส (Ssangyong Motors) หลายพันคนที่ถูกบังคับให้ออกจากงานเนื่องจากบริษัทยื่นฟ้องล้มละลายใน พ.ศ.2552 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News ของสหรัฐฯ

“ใน Squid Game คุณเห็นตัวละครตะเกียกตะกายเพื่อความอยู่รอดหลังจากถูกไล่ออกจากงาน พยายามไปเปิดร้านขายไก่ทอดบ้าง หรือไม่ก็ไปรับจ้างขับรถกะดึกรับส่งคนเมา ซึ่งนั่นทำให้ผมนึกอดีตเพื่อนร่วมงานหลายคนที่ตายจากไป” อีชางกึนกล่าว

ทางการเกาหลีใต้ระบุว่าการชุมนุมประท้วงของสมาชิกสหพันธ์แรงงานขัดต่อนโยบายรักษาระยะห่างเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่กำหนดให้ประชาชนในเขตกรุงโซลและปริมณฑลสามารถทำกิจกรรมรวมตัวกันได้ไม่เกิน 8 คน ถ้า 4 ใน 8 คนนั้นฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ สามารถรวมตัวกันได้สูงสุดไม่เกิน 10 คน ส่วนการชุมนุมนั้นถือว่าห้ามจัดโดยเด็ดขาดในเขตกรุงโซลและปริมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้ได้ออกมาเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพแรงงานยุติการชุมนุม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

รายงานล่าสุดจากสำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้ระบุว่าวันนี้ (21 ต.ค. 2561) เทศบาลกรุงโซลได้แจ้งความเอาผิดผู้ชุมนุมทุกคนที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงหยุดงานทั้งหมดแล้ว ในข้อหาละเมิดกฎหมายควบคุมป้องกันโรคติดต่อ โดยเจ้าหน้าที่จากเทศบาลกรุงโซลให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าทางหน่วยงานได้แจ้งเตือนไปยังแกนนำสหพันธ์ฯ แล้วว่าการจัดการชุมนุมนั้นขัดต่อกฎหมายควบคุมป้องกันโรคติดต่อ และขอให้ยกเลิกการชุมนุมแล้วก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน ผู้นำสหพันธ์แรงงานกลางเกาหลีแถลงข่าวในวันนี้ (21 ต.ค. 2564) ว่าการประท้วงหยุดงานของแรงงานทั่วประเทศเมื่อวานนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียกร้องให้รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูปแรงงานครั้งใหญ่ให้เกิดความเสมอภาค

สำหรับข้อเรียกร้องของสหพันธ์แรงงานกลางเกาหลีนั้นมีทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่ 1. ยกเลิกแรงงานนอกระบบ และยกเลิกกฎการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงานที่มีพนักงานน้อยกว่า 5 คน 2. ให้สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานแก่แรงงานทุกภาคส่วน 3. รัฐต้องรับผิดชอบความมั่นคงด้านอาชีพในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรม 4. ให้สิทธิแรงงานที่คุ้มครองคุณภาพชีวิตรอบด้าน ทั้งการเดินทาง การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย การศึกษา และการดูแลบุตร

ผู้นำสหพันธ์แรงงานกลางเกาหลีประกาศว่าในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ ทางสหพันธ์ฯ จะจัดการชุมนุมใหญ่อย่างน้อย 3 ครั้ง โดยในวันที่ 4 พ.ย. จะเป็นการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแก้ไขกฎหมายแรงงานนอกระบบ ในวันที่ 13 พ.ย. จะเป็นการชุมนุมของสภาแรงงานแห่งชาติ และในวันที่ 28 พ.ย. จะจัดการเดินขบวนเรียกร้องเพื่อแรงงานคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ทางสหภาพฯ ยังเตรียมจัดการชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศในวันที่ 22 ม.ค. ปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงก่อนการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ของเกาหลีใต้จะจัดขึ้นในวันที่ 9 มี.ค. 2565

“แรงงานจำนวน 69 คนเสียชีวิตหลังจากทำงานวันละหลายชั่วโมง 50 วันติดต่อกัน นี่คือสภาพความเป็นจริงที่แรงงานชาวเกาหลีใต้ต้องเผชิญ เราจึงออกมาเรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติที่ทำให้แรงงานต้องล้มตาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับอ้างเรื่องการมาตรการรักษาระยะห่างและลดทอนคุณค่าเสียงของแรงงานเหล่านี้ ยิ่งรัฐบาลกดทับเราเท่าไร แผนการประท้วงหยุดงานจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น” จอนจงด็อก เลขาธิการสหพันธ์แรงงานกลางเกาหลี กล่าว

ขณะที่ยุนแท็กกึน รองประธานอาวุโสแห่งสหพันธ์แรงงานกลางเกาหลี กล่าวว่า การประท้วงหยุดงานไม่ใช่เป้าหมายของสหภาพฯ สิ่งที่สหพันธ์ฯ ต้องการจริงๆ คือ “การเปิดพื้นที่พูดคุยเจรจา” ระหว่างภาคแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีการตอบรับใดๆ ซึ่งการกระทำของรัฐบาลจะส่งผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปอย่างแน่นอน นอกจากนี้ รองประธานสหพันธ์ฯ ยังกล่าวว่าจะดำเนินการชุมนุมเรียกร้องตามแผนที่ประกาศไว้ และขอให้รัฐบาลหันมาฟังเสียงแรงงานและประชาชนผู้สร้างชาติให้เกาหลีใต้เป็นดินแดนแห่งความหวังเช่นทุกวันนี้

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net