Skip to main content
sharethis

ไรเดอร์ แอปฯ LINE MAN ใน จ.มุกดาหาร ร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม ขอให้ช่วยเจรจากับบริษัท แก้ปัญหาค่ารอบต่ำ-ระบบกระจายงาน ตัวแทนไรเดอร์เผยเตรียมร้องเรียนศาลแรงงานด้วย   

ไรเดอร์แอป LINE MAN จ.มุกดาหาร ยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 64 (ภาพจาก สหภาพไรเดอร์)
 

22 ต.ค. 64 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 64 พนักงานรับส่งอาหารผ่านระบบแพลตฟอร์ม หรือ “ไรเดอร์” แอปพลิเคชัน LINE MAN จำนวน 20-30 คน นัดรวมตัวเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนถึงศูนย์ดำรงธรรม ศาลาว่าการจังหวัดมุกดาหาร เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยประสานงานเจรจากับทางบริษัท LINE MAN Wongnai เพื่อให้แก้ปัญหาค่ารอบ และการกระจายงานที่ไม่เป็นธรรม

เพื่อสอบถามรายละเอียดถึงปมปัญหา และข้อเรียกร้อง ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สัมภาษณ์ ‘กี้’ ไรเดอร์หญิง แอปฯ LINE MAN ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ไปยื่นข้อเรียกร้องในวันดังกล่าว

สำหรับข้อเรียกร้อง กี้ ไรเดอร์หญิง จ.มุกดาหาร ระบุว่า กลุ่มไรเดอร์ LINE MAN มุกดาหาร มีข้อเรียกร้องถึงบริษัทด้วยกันทั้งสิ้น 6 ข้อ ประกอบด้วย 

1. ขอให้บริษัทปรับขึ้น ค่าตอบแทนต่อรอบให้กับไรเดอร์ ในอัตราเริ่มต้นไม่ต่ ากว่า 40 บาทต่อรอบ หักแล้วเหลือ 32.80 บาทต่อรอบ

2. ขอให้บริษัทปรับรัศมี การกระจายงานเป็นเหมือนเดิมคือระยะแรกอยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร 

3. ขอให้บริษัทปรับเปลี่ยนระบบจ่ายงาน การมองเห็นของไรเดอร์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์
เก่าหรือไรเดอร์ใหม่

4. ขอให้บริษัทจ่ายค่าตอบแทน/ค่าเสียเวลา ในกรณีที่ออเดอร์ถูกยกเลิก

5. ขอให้บริษัทปรับเปลี่ยนอินเซนทีฟให้เหมาะสมกับจำนวนออเดอร์ที่ชัดเจน และหากมีการ
เปลี่ยนแปลงอินเซนทีฟ ขอให้บริษัทคำนึงถึงไรเดอร์ และแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3-7 วัน

6. ขอให้บริษัทปิดรับสมัครไรเดอร์ใหม่ หากจำนวนออเดอร์มีไม่เพียงพอต่อไรเดอร์ อาจเป็น
สาเหตุที่ทำให้ไรเดอร์หาอุปกรณ์หรืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้จากเงินพิเศษ เงินอินเซนทีฟ 
หรือผลตอบแทนในรูปแบบอื่น

ค่ารอบ-การกระจายงานยังคงเป็นปัญหา 

สำหรับการขอเพิ่มค่ารอบ แม้ว่าทางบริษัท LINE MAN Wongnai เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ต่อกรณีหลักเกณฑ์การคำนวณค่ารอบในแต่ละจังหวัดนั้น "จะพิจารณาจากอุปสงค์-อุปทาน และค่าครองชีพในแต่ละจังหวัด พร้อมยืนยันว่า ค่ารอบของ LINE MAN จะอยู่ในระดับเดียวกันกับบริษัทแพลตฟอร์มอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกันนั้น"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'LINE MAN' แจงปมหลักพิจารณา ค่ารอบ-อินเซนทีฟ ยันฟังฟีดแบ็กไรเดอร์ทุกครั้งก่อนออกนโยบาย

ขณะที่ ‘กี้’ อธิบายให้ฟังว่า ในท้องที่มุกดาหารตอนนี้ ค่ารอบเมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย และค่าธรรมเนียม อยู่ที่ 21.55 บาทต่อรอบเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประทังชีวิต ซึ่งบางคนทำงานตั้งแต่ 7.00-21.00 น. หรือ 14 ชั่วโมงต่อวัน แต่ได้เงินเพียงแค่ 400-เกือบ 500 บาทเท่านั้น ถ้าอยากได้เงินค่ารอบเยอะกว่านี้ ต้องทำงานถึง 5 ทุ่ม หรือ 16 ชม. ถึงจะได้เงิน 500 บาท อย่างไรก็ตาม รายได้ตรงนี้ยังไม่รวมกับการต้องเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน ค่าสึกหรอ ค่าน้ำมัน และอื่นๆ ที่ไรเดอร์ต้องแบกรับภาระด้วยตัวเอง

“ค่าน้ำมันก็ขึ้นเดี๋ยวนี้ เราตื่นเช้าทุกวัน กลับดึกทุกวัน ไม่มีวันหยุด ค่ารอบก็น้อย” ไรเดอร์หญิง ระบุ 

เนื่องด้วยไรเดอร์ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายการทำงานทั้งหมด จึงอยากเรียกร้องให้บริษัทช่วยเพิ่มค่ารอบขึ้นเป็น 40 บาทต่อรอบ (ก่อนหักภาษี และค่าธรรมเนียม) เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน   

ข้อต่อมา การขอให้บริษัทปรับรัศมีการกระจายงานให้กลับมาเป็นภายในรัศมี 3 กิโลเมตร (กม.) จากการสอบถาม กี้ระบุว่า ตอนนี้ทางแอปฯ LINE MAN จ.มุกดาหาร ใช้ระบบกระจายงานแบบยิงตรง หรือบริษัทจะส่งงานให้ตัวไรเดอร์โดยตรง โดยที่ไรเดอร์จะไม่ต้องมาแย่งกดรับงานแข่งกันเอง 

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น บางครั้งงานที่ยิงตรงให้ไรเดอร์ เป็นงานที่มีระยะทางรับส่งอาหารที่ไกลมาก บางทีไกลถึงประมาณ 9-10 กม. ทีนี้การรับ-ส่งอาหารระยะที่ไกลมาก แต่ได้ค่ารอบที่ต่ำอยู่ที่ 21 บาทเท่านั้น มันทำให้ทำงานได้ไม่คุ้มกับรายได้ค่าส่ง นอกจากนี้ การวิ่งในระยะทางที่ไกล ยังทำให้ไรเดอร์ต้องเสียเงินค่าสึกหรอ และค่าน้ำมัน จากระยะทางรับส่งอาหารที่ไกลขึ้นด้วย ดังนั้น กลุ่มไรเดอร์ LINE MAN จึงเสนอว่า อยากให้บริษัทช่วยจ่ายงานให้คนขับในระยะทางไม่เกิน 3 กม. แต่ถ้าประมาณ 4-5 กม. สำหรับกี้แล้ว เธอพอรับได้ แต่ออเดอร์ 9-10 กม.นั้นไกลเกินไป 

บรรยากาศการนัดรวมตัวไรเดอร์ LINE MAN มุกดาหาร ก่อนไปยื่นข้อเรียกร้อง (ภาพจาก สหภาพไรเดอร์)

การกระจายงานอย่างเท่าเทียม

สำหรับข้อเรียกร้องให้มีการกระจายงานอย่างเท่าเทียมกันระหว่างไรเดอร์ที่ทำงานมานานกับไรเดอร์หน้าใหม่นั้น กี้ระบุว่า เธอเคยเทียบจำนวนออเดอร์ในแต่ละวันระหว่างไรเดอร์ใหม่กับไรเดอร์เก่าแล้วพบว่า คนใหม่มักจะได้รับงานจำนวนมากกว่าคนเก่าเสมอ เธอจึงอยากให้บริษัทช่วยจ่ายงานให้ไรเดอร์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เป็นที่ครหาของการเลือกปฏิบัติ

กรณีการเรียกร้องค่าชดเชยค่าเสียเวลาจากการยกเลิกงาน กี้ อธิบายว่า เวลาไรเดอร์รับงานจากร้าน “โล่ดำ” หรือร้านค้าไม่ได้มีแอป LINE MAN (ไม่ได้หักค่า GP ให้กับทางแอปฯ 32.10% รวม VAT แล้ว) เวลามีออเดอร์ให้วิ่งไปที่ร้านเหล่านี้ด้วยตัวเอง ถ้าพบว่าร้านปิด ก็ต้องยกเลิกสินค้า สมมติ กรณีที่ออเดอร์มีระยะทางที่ไกลมาก ราว 9-10 กม. และถ้าพบว่าร้านปิด นั่นหมายความว่า ไรเดอร์ต้องไปที่ร้านระยะทางที่ไกลมากโดยไม่ได้ค่ารอบอะไรเลย เสียค่าน้ำมันไปและค่าสึกหรอไปเปล่าๆ และยังต้องเสียเวลารองานใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึง 1 ชม. ไรเดอร์ในมุกดาหารจึงตัดสินใจเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยให้กับไรเดอร์ เป็นค่าเสียเวลาตรงนี้ด้วย 

ทั้งนี้ กี้สะท้อนปัญหาเรื่องการติดต่อ CS หรือ Customer Service ด้วยว่า เวลาที่ไรเดอร์มีเรื่องร้องเรียน หรือต้องการยกเลิกงาน จะต้องติดต่อ CS ซึ่งมีการบริการช้ามาก เนื่องมาจากมีคู่สายรอต่อคิวเยอะ กว่า CS จะมารับเรื่องร้องเรียนอาจต้องใช้เวลา 30 นาทีขึ้นไป ส่งผลให้ไรเดอร์เสียเวลาทำมาหากินหรือรับออเดอร์ใหม่ ถ้าเป็นไปได้ เธออยากให้ทางบริษัทพิจารณาเรื่องการตั้งสำนักงานใน จ.มุกดาหาร ด้วย เพื่อรับเรื่องร้องเรียนได้โดยตรง

ปรับอินเซนทีฟ-ปิดรับไรเดอร์ใหม่ 

กรณีปมปัญหาค่าอินเซนทีฟ กี้ มองว่า ค่าอินเซนทีฟที่บริษัทกำหนดให้ตอนนี้ยากเกินไปที่ไรเดอร์คนหนึ่งจะทำได้ สำหรับอินเซนทีฟที่มุกดาหาร จะเป็นระยะเวลารอบสัปดาห์ หรือ 7 วัน โดยบริษัทกำหนดว่า ปัจจุบัน ถ้าใน 7 วัน สามารถส่งออเดอร์ครบ 150 งาน จะได้เงินโบนัส 500 บาท ถ้าครบ 180 งาน ได้ 700 บาท และรับส่งออเดอร์ครบ 200 งาน ได้ 1,000 บาท 

“ยากมากที่สุดเลย เท่ากับวันหนึ่งต้องทำงานถึง 30 งาน อีกอย่างไรเดอร์ใหม่วิ่งเยอะ ไรเดอร์เปิดรับทุกวัน” ไรเดอร์หญิง อธิบาย

กี้ อยากให้ปรับเงื่อนไขอินเซนทีฟกลับมาเป็นแบบเดิมคือ 120 งาน จะได้ 1,200 บาท และ 150 งาน เงินโบนัส 2,000 บาทต่อสัปดาห์ หรือปรับเงินโบนัสน้อยลงก็ได้ แต่อยากให้เงื่อนไขอินเซนทีฟง่ายขึ้น โดยปรับจำนวนงานน้อยลง 

ทั้งนี้ กี้ระบุด้วยว่า มีกรณีที่เป็นอุปสรรคต่อการทำอินเซนทีฟคือระบบแอปฯ ล่ม เมื่อใดก็ตามที่ระบบแอปฯ ล่ม ก็ส่งผลให้ไรเดอร์ทำแต้มอินเซนทีฟไม่ทันรอบสัปดาห์ ซึ่งกี้ ก็อยากให้บริษัทพิจารณาเรื่องการชดเชยเวลาเกิดระบบแอปฯ ล่มด้วย 

สุดท้าย คือการปิดรับสมัครงาน ไรเดอร์หญิง มีความเห็นว่า ตอนนี้ไรเดอร์มีจำนวนเยอะกว่าออเดอร์ในแต่ละวัน ทำให้งานกระจายถึงไรเดอร์ได้ไม่ทั่วถึง เธอจึงอยากบริษัทปิดรับสมัครไรเดอร์ใหม่ชั่วคราว นอกจากนี้ การที่ไรเดอร์ใหม่เยอะไป ทำให้ไรเดอร์ทำอินเซนทีฟไม่ได้ด้วย 

“หลักๆ ที่ต้องการคือค่ารอบ และก็ข้อรอง ปิดรับสมัครไรเดอร์ และที่อยากขอจริงๆ คืออยากให้มีออฟฟิศ LINE MAN ประจำจังหวัดมุกดาหาร เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้ไรเดอร์ได้ง่ายขึ้น ติดต่อได้ง่ายขึ้น” ไรเดอร์หญิงจากมุกดาหาร ย้ำข้อเรียกร้อง

สำหรับบรรยากาศการยื่นข้อเรียกร้อง กี้ระบุว่า เดิมทีไม่ได้นัดกันไปยื่นข้อเรียกร้องกันเยอะ เนื่องจากเธอไม่ได้ตั้งเป้าอยากนัดชุมนุมแต่อย่างใด แต่ว่าพอมีการประกาศออกไปว่าจะมีตัวแทนไรเดอร์ LINE MAN พื้นที่มุกดาหารไปยื่นข้อเรียกร้องที่ศูนย์ดำรงธรรม ไรเดอร์ก็มารวมตัวกันเยอะขึ้น จนถึงประมาณ 20-30 คน 

ตัวแทนไรเดอร์ LINE MAN มุกดาหาร ยื่นหนังสือให้เจ้าหน้าที่ ศูนย์ดำรงธรรม (ภาพจาก สหภาพไรเดอร์)

เมื่อไปยื่นหนังสือ กลุ่มไรเดอร์ได้คุยกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรม ทางเจ้าหน้าที่แนะนำด้วยว่าให้นำหนังสือร้องเรียนที่ยื่นที่ศูนย์ดำรงธรรมไปยื่นที่ศาลแรงงานจังหวัดด้วย เพราะมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทอาจละเมิดสัญญา ดังนั้น ทางกลุ่มไรเดอร์ท้องที่มุกดาหารตัดสินใจจะนำตัวหนังสือร้องเรียนไปยื่นที่ศาลแรงงานจังหวัดด้วย 

สำหรับที่ศูนย์ดำรงธรรม เจ้าหน้าที่รับปากจะติดตามเรื่องปัญหา และจะยื่นเรื่องให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร พิจารณาต่อไป

ไรเดอร์หญิง กล่าวด้วยว่า หากบริษัทยังไม่ยอมแก้ไขตามข้อเรียกร้อง ไรเดอร์แอป LINE MAN มุกดาหาร จะมีการยกระดับการกดดัน โดยการปิดรับงานช่วงกลางวัน เพื่อให้บริษัทสนใจปัญหาของไรเดอร์ LINE MAN มุกดาหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net