เมื่อประเด็นสิทธิในการทำแท้งถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในการประชุมอาเซียนภาคประชาชน

54 ปีที่แล้วรัฐบาลของ 5 ประเทศได้รวมตัวกันเป็น “สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “อาเซียน” เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นใช้เวลาอีก 40 ปี (พ.ศ. 2551) กว่าที่จะมีการลงนามใน “กฎบัตรอาเซียน” หรือกรอบกฎหมาย และข้อตกลงร่วมกัน ขณะที่การสร้าง”ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” หรือกรอบความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างกันเพิ่งเกิดขึ้นมาได้แค่ 9 ปีเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามในขณะที่รัฐอาเซียนวางเป้าหมายสวยหรูว่าจะเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก ภาคประชาสังคมในอาเซียนก็มีการรวมตัวด้วยเช่นกัน โดยมีการจัดประชุมอาเซียนภาคประชาสังคมคู่ขนานไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนทุกปีมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน และร่วมมือกันจัดทำแถลงการณ์ต่ออาเซียนให้ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพลเมืองอาเซียน ซึ่งภายหลังการประชุมจะมีการส่งตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าพบปะหารือกับตัวแทนภาครัฐเพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น รวมถึงแถลงการณ์ หรือข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา ที่น่าสนใจและเป็นปัญหามาแทบทุกปีก็คือ ตัวแทนภาคประชาสังคมที่มาเข้าร่วมประชุมจากบางประเทศ เป็นเอ็นจีโอที่แต่งตั้งโดยรัฐ หรือไม่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ทำให้ยากที่จะเชื่อว่าพวกเขาเหล่านี้จะทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนจริง นอกจากเรื่องที่มาตัวแทนเอ็นจีโอบางประเทศ ในเรื่องของประเด็นสิทธิ ต่าง ๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในเวทีการประชุมภาคประชาสังคม ก็จะเห็นได้ว่าบางสิทธิ (เช่น สิทธิมนุษยชนตามระบอบบประชาธิปไตย หรือสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการอพยพย้ายถิ่น สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิด้านสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิผู้หญิง สิทธิเด็ก) เป็นสิทธิที่ได้รับการยอมรับ และพูดถึงได้ง่ายกว่าสิทธิบางสิทธิด้วย เช่น สิทธิในเรื่องรสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ หรือสิทธิของ LGBTIQN+ (ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ สิทธิในเรื่องการเลือกคำใช้คำนำหน้านาม สิทธิในการแต่งงาน สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศก็ตาม)

สิทธิในการทำแท้งปลอดภัยในเวทีประชุมอาเซียนภาคประชาชน

ในขณะที่รัฐบาลอาเซียนตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็กมา 14 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เรี่ยกันกับที่ภาคประชาสังคมก็มีการจัดตั้งกลุ่มสิทธิผู้หญิงในอาเซียน (ASEAN Women’s Caucus) และกลุ่มสิทธิในรสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ (ASEAN SOGI Caucus) แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีการประชุมครั้งใดเลยที่มีการพูดถึงประเด็นสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ทั้งที่สิทธิในการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชน และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ 

และเพื่อไม่ให้ประเด็นนี้ตกหล่นไปจากการประชุมอีกครั้งเหมือนเช่นที่ผ่าน ๆ มาปีแล้วปีเล่า ในการประชุมอาเซียนภาคประชาสังคมเมื่อวันที่ 15-17 ต.ค. 2564 ที่เพิ่งผ่านมานี้ กลุ่มนักสตรีนิยมที่ทำงานในประเด็นการเข้าถึงการทำแท้งปลอดภัยในประเทศต่าง ๆ จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดเวิร์คช็อปอย่างเร่งด่วน เรื่อง “สถานการณ์การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยในเอเชีย กับความรับผิดชอบของรัฐ” ขึ้น แน่นอนว่านี่คือครั้งแรกที่มีการพูดถึงประเด็นสิทธิในการทำแท้งปลอดภัยในเวทีการประชุมอาเซียนภาคประชาสังคม และเป็นครั้งแรกที่แถลงการณ์ของภาคประชาสังคมอาเซียนจะมีข้อเรียกร้องในประเด็นการเข้าถึงสิทธิในการทำแท้งที่ปลอดภัย

สถานการณ์การทำแท้งใน 3 ประเทศอาเซียน : อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

แม้ว่าข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันวิชาการในประเทศตะวันตกจะระบุชัดเจนว่า ทวีปเอเชียคือภูมิภาคที่มีการทำแท้งไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นมากที่สุดในโลก แต่จากการที่หลายประเทศในเอเชีย (รวมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย) ยังคงมีกฎหมายห้ามการทำแท้งอย่างเข้มงวด ทำให้แทบทุกประเทศ (ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย) ไม่เคยมีตัวเลขที่ชัดเจนเกี่ยวกับอัตราการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเลย
 
Garima Shrivastava จากองค์กร ARROW (The Asian-Pacific Resource and Research Centre for Women) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค นำเสนอข้อมูลให้เห็นว่า กลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนมีกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ตั้งแต่กฎหมายที่ห้ามทำแท้งในทุกกรณีไปจนถึงกฎหมายที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ประเทศที่มีกฎหมายทำแท้งเข้มงวดมากที่สุดคือห้ามทำแท้งไม่ว่าจะกรณีใดก็ตามได้แก่ ฟิลิปปินส์ และลาว ขณะที่อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อนุญาตให้มีการทำแท้งเฉพาะในบางกรณี เช่น กรณีที่การตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เท่านั้น บางประเทศก็อนุญาตให้มีการทำแท้งได้โดยกำหนดอายุครรภ์ เช่น ไทย อนุญาตให้ทำแท้งได้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สิงคโปร์ ไม่เกิน 24 สัปดาห์ เป็นต้น ทั้งนี้พบว่ากฎหมายทำแท้งที่เข้มงวดส่วนใหญของประเทศในภูมิภาคนี้ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่ตกทอดมาจากกฎหมายของประเทศเจ้าอาณานิคมแทบทั้งสิ้น 

ทั้งนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ที่ต้องการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประชากรชายขอบ  ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แรงงานข้ามชาติ คนพิการ ผู้อพยพ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทียากจน และ LGBTIQ

อินโดนีเซีย

Ika Ayu ผู้อำนวยการองค์กร SAMSARA ที่เป็นองค์กรให้ข้อมูล และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำแท้งปลอดภัย บอกว่า ในอินโดนีเซีย กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ใน 2 กรณี และจะต้องทำในสถานบริการเท่านั้นคือ กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าถูกข่มขืนจริงโดยได้รับการยืนยันจากตำรวจ (ซึ่งไม่มีการจำกัดอายุครรภ์แต่ต้องผ่านกระบวนการปรึกษาก่อน) และกรณีการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ที่ตั้งครรภ์ และถึงแม้ว่าจะเข้าเกณฑ์การทำแท้งถูกกฎหมาย แต่ถ้าสามี หรือครอบครัวไม่เซ็นต์อนุญาต ผู้ให้บริการก็ไม่ทำแท้งให้อยูดี ซึ่งทั้งหมดนี้อาจพูดได้ว่า การเข้าถึงการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายแทบจะเป็นไม่ได้เลย ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมในอินโดนีเซียหันไปใช้วิธีการทำแท้งด้วยตัวเองที่ไม่ปลอดภัยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้คนที่แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง หรือมีประวัติการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง ก็ยังมีความผิดทางกฎหมายด้วย

เช่นเดียวกับสถานการณ์การทำแท้งในทุกประเทศ Ika บอกว่าอินโดนีเซียก็ไม่มีสถิติอัตราการทำแท้งของประเทศเหมือนกัน และแม้ว่าปัจจุบันเรื่องการทำแท้งจะถูกพูดถึงมากขึ้นในสังคมอินโดนีเซีย แต่ก็ยังคงมีสื่อที่เขียนถึงการทำแท้งในแง่ลบ หรือตีตราผู้ที่ทำแท้งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทำให้หลายคนไม่กล้าพูด และคนส่วนใหญ่ก็ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลการทำแท้งที่ปลอดภัย ในทางกลับกันเธอกล่าวว่ายิ่งตีตราการทำแท้งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเห็นจำนวนตัวเลขคนที่ทำแท้ง หรือพยายามทำแท้งมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยด้วย ที่ผ่านมาองค์กรและเครือข่ายของเธอยังไม่เคยคุยกับรัฐบาลอย่างจริงจังว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะกฎหมายของอินโดนีเซียเข้มงวดมาก นอกจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังส่งผลให้การตั้งครรภ์กลายเป็นภาระมากขึ้น เป็นความท้าทายสำหรับคนที่ต้องการเข้าถึงการทำแท้ง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ Ika และเครือข่ายของเธอพยายามทำก็คือ เรียกร้องให้รัฐบาลจัดให้มีบริการจ่ายยาทำแท้งทางไกล หรือ telemedicine เพื่อลดอัตราการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยลง เพราะในปีที่ผ่านมารัฐก็ทำเรื่องนี้แล้วกับกรณีอื่น ๆ ทำใมจะนำเอารูปแบบการจ่ายยาทางไกลนั้นมาใช้กับการให้บริการยาทำแท้งที่ปลอดภัยบ้างไม่ได้

ฟิลิปปินส์

Clara Rita Padilla ทนายความนักสตรีนิยม ผู้อำนวยการองค์กร EnGendeRights ฟิลิปปินส์ ในฐานะตัวแทนจาก Philippine Safe Abortion Advocacy Network หรือ Pinsan ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ตอนนี้กำลังรณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายทำแท้งในฟิลิปปินส์ ที่ระบุไม่ให้มีการทำแท้งในทุกกรณี แม้แต่กรณีการตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน การตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือต่อสุขภาพของผู้ที่ตั้งครรภ์ รวมถึงกรณีการตั้งครรภ์มีความผิดปกติ กรณีตัวอ่อนในครรภ์มีความผิดปกติ ทั้งนี้กฎหมายทำแท้งของฟิลิปปินส์ฉบับปัจจุบัน (บังคับใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1930) เป็นกฎหมายเก่าแก่ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากกฎหมายอาญาของสเปนตั้งแต่ ค.ศ. 1870 นู่นเลยทีเดียว และถ้าเอาจริง ๆ กฎหมายของสเปนฉบับนี้ตราขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1822 หรือเกือบ 200 ปีเลยด้วยซ้ำ
    
ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2020) มีผู้ที่ทำแท้งในฟิลิปปินส์ถึง 1.26 ล้านคน และทุก ๆ วันมีคนที่เสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนเนื่องมาจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยอย่างน้อย 3 คน ขณะที่สถิติการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในฟิลิปปินส์สูงมาก โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เช่นเดียวกับสถิติการถูกล่วงละเมิด หรือกระทำความรุนแรงทางเพศ หรือกล่าวได้ว่าทุกชั่วโมงมีผู้หญิงฟิลิปปินส์ถูกข่มขืนเฉลี่ยชั่วโมงละ 1 คน 

ข้อมูลจากสถิติชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้จะมีกฎหมายที่ห้ามการทำแท้งอย่างเด็ดขาด หรือมีคำสอนทางศาสนาที่ห้ามการทำแท้งมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถจะห้ามไม่ให้คนไปทำแท้งได้ ปัญหาก็คือ ในฟิลิปปินส์ไม่มีทั้งสถานบริการทำแท้งที่ปลอดภัย และบริการรักษาอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการทำแท้งก็มีไม่เพียงพอ ต่อให้คุณมีเงิน หรือมีอาการบ่งชี้ถึงความผิดปกติของการตั้งครรภ์ หรือ ทารกในครรภ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็ไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งได้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่ามีวัยรุ่นมากมายที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะท้องไม่พร้อม และหลายคนเสียชีวิตจากการคลอดบุตร ขณะที่การทำแท้งเป็น 1 ใน 5 ของสาเหตุการตายมารดาในฟิลิปปินส์มาโดยตลอด
    
สิ่งที่เครือข่ายรณรงค์เพื่อการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยของฟิลิปปินส์ทำในปีที่ผ่านมาคือ การร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งเดิม และประชาสัมพันธ์ให้คนมาร่วมลงชื่อ โดย Clara มองโลกในแง่ดีว่า การที่คนรุ่นใหม่ให้การตอบรับต่อการรณรงค์ในหลายเรื่องที่ผ่านมา เช่น การเรียกร้องให้มีการแก้ไขนโยบายเพื่อจัดให้มีบริการดูแลหลังการทำแท้ง โดยมีการแชร์โพสต์ออกไปเป็นกระแสไวรัล ก็หวังว่าร่างกฎหมายแก้ไขกฎมายทำแท้งที่เครือข่ายของเธอจัดทำขึ้นจะได้รับการสนับสนุนจากคนเจนเนอเรชั่น Z และจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายได้ในที่สุด

ประเทศไทย

ประเทศไทยเพิ่งมีการแก้ไขกฎหมายทำแท้งไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยระบุว่าการทำแท้งในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ไม่มีความผิดทางอาญาอีกต่อไป แต่ในอายุครรภ์ที่เกินกว่า 12 สัปดาห์ ยังคงมีบทลงโทษทางอาญาอยู่ อย่างไรก็ดีกฎหมายก็ยังเปิดช่องไว้ว่า หากการทำแท้งนั้นดำเนินการโดยแพทย์ บุคคลที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยังมีโอกาสได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ เพียงแต่จะต้องมาผ่านกระบวนการให้การปรึกษาทางเลือกเสียก่อน ซึ่งถ้าเทียบกับกฎหมายทำแท้งของทั้งอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ก็ต้องนับว่า กฎหมายทำแท้งในประเทศไทยมีความก้าวหน้ากว่ามาก 

ถึงจะดูก้าวหน้ากว่าประเทศอื่น แต่ สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ประสานงานจากกลุ่มทำทาง กลุ่มที่ทำงานด้านการให้คำปรึกษากับผู้หญิงที่ต้องการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และรณรงค์ผลักดันเชิงนโยบายให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ลงโทษผู้หญิง ก็ได้นำเสนอข้อมูลให้เห็นว่า สถานการณ์การทำแท้งในประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาในทางปฏิบัติอย่างไร โดยสุพีชากล่าวว่า ในประเทศไทยมีเครือข่ายแพทย์ที่ให้บริการการทำแท้งที่ปลอดภัย มีการทำวิจัยประสิทธิภาพของการทำแท้งด้วยยายืนยันความปลอดภัย จนนำมาสู่การออกนโยบายสนับสนุนค่าบริการทำแท้งที่ปลอดภัยของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งละ 3,000 บาทให้กับคนไทยที่มีเลข 13 หลัก มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการให้บริการก็พบว่านับตั้งแต่มีการสนับสนุนการให้บริการการทำแท้งที่ปลอดภัย ตัวเลขของผู้ที่เข้ามารับการรักษาในสถานบริการด้วยอาการแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยก็ลดลงอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับอัตราของผู้ที่เสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยลดลงเป็นศูนย์ราย 3 ปีติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็น่าเสียดายที่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่รับรู้ว่ารัฐไทยมีการสนับสนุนทั้งการให้บริการทำแท้งที่ปลอดภัย ทั้งค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ เพราะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวสถานบริการเอง ยังไม่กล้าที่จะประกาศตัว หรือประชาสัมพันธ์ให้สาธารณรับรู้อย่างทั่วถึง อีกทั้งจำนวนสถานบริการที่ให้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยก็ยังมีจำนวนน้อยมาก และไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และที่มากไปกว่านั้นบรรดาสถานบริการที่เปิดให้บริการก็ยังตั้งเงื่อนไขของตัวเองขึ้นมาอย่างมากมายยอีกด้วย เช่น จะให้บริการเฉพาะอายุครรภ์ไม่เกินกี่สัปดาห์ หรือให้บริการเฉพาะเยาวชนอายุไม่เกินกี่ปี หรือให้บริการเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานของสถานบริการเท่านั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ยังคงเข้าไม่ถึงข้อมูล และเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยอยู่ดี รวมถึงไม่ได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการ และมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้หลายคนยังถูกปฏิเสธการให้บริการด้วยเหตุผลว่าไม่เข้าเกณฑ์ หรือเงื่อนไขที่สถานบริการตั้งไว้ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ สถานบริการตามสิทธิในการรักษาไม่ต้องการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ 
    
ข้อเรียกร้องของกลุ่มทำทางต่อรัฐไทยก็คือ รัฐจะต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานบริการทำแท้งที่ปลอดภัย ต้องเพิ่มจำนวนสถานบริการให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และในกรณีที่สถานบริการใดไม่ต้องการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ก็จะต้องรับผิดชอบในการส่งผู้รับบริการไปรับบริการในสถานบริการที่มีบริการต่อ และคอยดูแลต่อเนื่องหากเกิดอาการแทรกซ้อน

แถลงการณ์จากเวทีแลกเปลี่ยนเรื่องสถานการณ์การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยต่อประชาคมอาเซียน

หลังการนำเสนอสถานการณ์ การเคลื่อนไหวผลักดันเชิงนโยบายของแต่ละประเทศ มีการอ่านแถลงการณ์ที่เตรียมมาให้กับผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้ฟัง โดยแถลงการณ์จากเวทีเสวนานี้จะถูกนำไปรวมกับแถลงการณ์จากเวทีอื่นๆ เพื่อจัดทำเป็นแถลงการณ์รวมของการประชุมซึ่งจะเสนอต่อรัฐบาลอาเซียนต่อไป เนื้อหาของแถลงการณ์เป็นการเรียกร้องให้ทุกรัฐในอาเซียนตระหนักถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และเรียกร้องให้รัฐต้องจัดให้มีบริการทำแท้งที่ปลอดภัย ตลอดจนยกเลิกกฎหมายที่ยังะบุความผิดทางอาญาต่อการทำแท้ง และออกกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครอง สนับสนุนให้บุคคลที่ตั้งครรภ์สามารถใช้สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของพวกเขา สิทธิด้านสุขภาพ และสิทธิในการที่จะมีชีวิตได้อย่างเต็มที่

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และบรรยากาศทางการเมืองที่ไร้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิงของหลาย ๆ ชาติในอาเซียน อย่างน้อยที่สุดสำหรับคนที่ทำงานด้านสิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัย พวกเราได้ออกมาพูดถึงความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลแทบทุกรัฐมองข้ามแล้ว และเราจะยังคงพูดต่อไป พูดด้วยเสียงหลาย ๆ เสียง ด้วยสำเนียงภาษาแต่ละภาษาให้ดังพร้อมกัน จนกว่ารัฐอาเซียนจะเห็นว่า การทำแท้งปลอดภัยเป็นบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองอาเซียน และเกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิตที่ไม่ควรต้องสูญเสียไปด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ 

การจัดให้มีบริการทำแท้งที่ปลอดภัยจึงถือเป็นหน้าที่ที่ทุกรัฐในอาเซียนพึงจะต้องทำ หากเคยเอ่ยอ้างว่ารัฐของตนเป็นรัฐที่ตระหนักถึง และให้ความสำคัญกับหลักการสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท