ศูนย์ทนายฯ สรุปคดีคาร์ม็อบทั่วไทย ณ 18 ต.ค. 64 ไม่น้อยกว่า 96 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 244 ราย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปคดีคาร์ม็อบทั่วไทย ณ 18 ต.ค. 64 ไม่น้อยกว่า 96 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 244 ราย (บางรายถูกกล่าวหาในหลายคดี) ในจำนวนนี้เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ยังเป็นเยาวชนจำนวน 18 ราย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าแม้กระแสการจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ” (Car Mob) เพื่อแสดงออกทางการเมือง และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง จะลดระดับลงไปในช่วงเดือนนี้ แต่ในช่วงสามเดือนเศษที่ผ่านมา ลักษณะการจัดกิจกรรมนี้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นทางเลือกสำคัญในการแสดงออกทางการเมือง โดยเกิดขึ้นนับร้อยครั้งทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน คดีความที่ติดตามมาก็ยังไม่ได้ยุติลง ตำรวจในพื้นที่ต่างๆ ยังมีการออกหมายเรียก และแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และในแต่ละคดี ต้องใช้ระยะเวลาต่อสู้คดีต่อไปอีกนับปี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมลักษณะนี้ ไม่น้อยกว่า 244 ราย ใน 96 คดี (บางรายถูกกล่าวหาในหลายคดี) ในจำนวนนี้เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ยังเป็นเยาวชนจำนวน 18 ราย

หากพิจารณาคดีแยกเป็นรายจังหวัด จะพบว่ามีคดีเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 37 จังหวัด ได้แก่

ภาคกลางและตะวันออก กรุงเทพมหานคร (22 คดี), นนทบุรี (3 คดี), ปทุมธานี (2 คดี), ชลบุรี (2 คดี), ลพบุรี (2 คดี), สระบุรี (1 คดี), สิงห์บุรี (1 คดี), กาญจนบุรี (1 คดี), นครนายก (1 คดี)

ภาคเหนือ เชียงใหม่ (6 คดี), เชียงราย (5 คดี), ลำปาง (3 คดี), ลำพูน (2 คดี), ตาก (2 คดี), พิษณุโลก (1 คดี), นครสวรรค์ (1 คดี), กำแพงเพชร (1 คดี), อุตรดิตถ์ (1 คดี)

ภาคอีสาน นครราชสีมา (7 คดี), ขอนแก่น (4 คดี), นครพนม (3 คดี), สุรินทร์ (2 คดี), ร้อยเอ็ด (2 คดี), ชัยภูมิ (1 คดี), ยโสธร (1 คดี), หนองบัวลำภู (1 คดี), อำนาจเจริญ (1 คดี), อุบลราชธานี (1 คดี)

ภาคใต้ นครศรีธรรมราช (3 คดี), ยะลา (3 คดี), กระบี่ (2 คดี), ภูเก็ต (2 คดี), ปัตตานี (2 คดี), นราธิวาส (1 คดี), สตูล (1 คดี), สุราษฎร์ธานี (1 คดี), สงขลา (1 คดี)

ในคดีเหล่านี้ มีคดีที่ตำรวจเปรียบเทียบในข้อหาการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ทำให้คดีสิ้นสุดไปแล้วจำนวน 12 คดี 

ขณะที่อีกจำนวน 84 คดี นั้น มีการกล่าวหาในข้อหาหลัก คือฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีทั้งอัตราโทษจำคุกและโทษปรับ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่เลือกจะต่อสู้คดีต่อไป โดยหลายคดีได้ทยอยถูกพนักงานอัยการเร่งสั่งฟ้องต่อศาล (พบว่ามี 2 คดี ได้แก่ คดีที่จังหวัดลำปาง และจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ให้การรับสารภาพในชั้นศาล)

อ่านรายงานนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท