Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกลเตรียมนำผลรับฟังความเห็นองค์กรครูทั่วประเทศ คืนอำนาจคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่ ไปประกอบการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคฯ - ประธาน อนุ กมธ.พิจารณาหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครู สผ. เตรียมเสนอแนวทางแก้ปัญหา 1 พ.ย. นี้ ย้ำไม่ใช่นโยบายขายฝัน

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นำคณะจัดเสวนารับฟังความคิดเห็นจากองค์กรวิชาชีพครูจำนวนกว่า 300 องค์กร เรื่องกลไกทางกฎหมายกับการปฏิวัติการศึกษา กรณี ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)​ แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง หน.คสช.ที่ 19/60 เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมาพร้อมกล่าวว่าพรรคคงการดำเนินตามนโยบายปฏิวัติการศึกษาด้วยการกระจายอำนาจ สลายการรวมศูนย์ให้อำนาจแก่สถานศึกษา ลดขั้นตอนให้แบนราบ ขั้นตอนการบริหารจัดการและตัดสินใจสั้น อำนาจอยู่ที่กรรมการสถานศึกษา รวมถึงเห็นควรใข้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้จัดตั้งไว้ที่สถานศึกษาให้มากที่สุด

ขณะที่สุรวาท ทองบุ ส.ส.ก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เม.ย. 2560 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงประเด็นที่มุ่งรับฟังความเห็นจากองค์กรวิชาชีพครูเกี่ยวกับการดำเนินงานของบางหน่วยงาน หรือสำนักงาน คณะกรรมการบางหน่วย และอำนาจหน้าที่ โดยท้ายที่สุดเวทีดังกล่าวเห็นว่า ควรยุบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (คปภ.) สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธ.ภ.) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธ.จ.) และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) รวมทั้ง คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อนุ กศจ.) เนื่องจากมีความซ้ำซ้อน สิ้นเปลือง ล่าช้าไม่ตอบโจทย์คุณภาพการศึกษา ไม่เกิดผลดีต่อครูและผู้เรียนในที่สุด นอกจากนี้ ส่วนใหญ่เห็นด้วย ให้คืนอำนาจของคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่ (กพท.) จากที่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดคืนอำนาจของ อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่) เท่านั้น เพื่อให้การบริการงานสัมพันธ์สอดคล้อง เป็นกระบวนการเดียวกันในการบริหารงานวิชาการ การบริหารงานทั่วไป งบประมาณ แผนงาน และการเงินการคลังกับการบริหารงานบุคคล ส่วนเรื่องการปรับปรุงการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ. ควรปรับตามสมควร เพื่อแก้ปัญหาและป้องกันการทุจริต

สุรวาท รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวสรุปหลังประมวลผลการเสวนาว่าจะนำความคิดเห็นทั้งหมดไปใช้ในการผลักดันให้เกิดการปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และยืนยันการดำเนินการระยะเปลี่ยนผ่านต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม ไม่กระทบทางลบต่อผู้ปฏิบัติงานและที่สำคัญที่สุด ประโยชน์จะต้องเป็นของผู้เรียน

ประธาน อนุ กมธ.พิจารณาหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครู สผ. เตรียมเสนอแนวทางแก้ปัญหา 1 พ.ย. นี้ ย้ำไม่ใช่นโยบายขายฝัน

นายปรีดา บุญเพลิง ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแผนปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษาและแนวทางการบริหารจัดการปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาถึงเเนวทางนโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่าน 3 รูปแบบ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ คือ 1. โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ 12 แห่ง 2.คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เจรจากับสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาครูรายที่ถูกฟ้อง พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาของผู้ค้ำประกัน และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และ 3.การจัดอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ทางด้านการวางแผนและการสร้างวินัยทางการเงินและการออม โดยย้ำว่าแนวทางดังกล่าว เป็นเรื่องที่ดีและสอดคล้องกับที่คณะอนุกรรมมาธิการได้มีการศึกษาไว้แล้ว ทั้งสาเหตุของการเกิดหนี้และแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู ซึ่งรายละเอียดต่างๆคณะอนุกรรมาธิการจะมีการแถลงและเสนอต่อที่ประชุมสภาในช่วงเปิดสมัยประชุมสามัญวันที่ 1 พ.ย. 2564 นี้

ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวด้วยว่า กรณีที่บางฝ่ายมองว่านโยบายแก้ปัญหาหนี้ครูนี้เคยมีคนทำมาแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และมักจะปรากฎมาในช่วงใกล้เลือกตั้ง ซึ่งกลายเป็นนโยบายขายฝันให้กับครูนั้น ยืนยันว่าไม่ขายฝันแน่นอนเนื่องจากตั้งแต่ที่ตนเข้ามาเป็นส.ส.ก็มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าติดขัดกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การดำเนินการล่าช้าแต่ย้ำว่าช่วงเปิดสมัยการประชุมนี้ จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยนำเสนอต่อสภาแล้วส่งต่อให้รัฐบาลเพื่อดำเนินการซึ่งเชื่อว่าจะสำเร็จ เพื่อให้แนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครูนำร่องข้าราชการทั้งหมด 


ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net