นศ. วิจิตรศิลป์ มช. รุ่นตัดโซ่ เผาโลงศพและรูปผู้บริหารมหา'ลัย ก่อนประกาศปิดงานนิทรรศการ

นักศึกษาวิจิตรศิลป์ มช. รุ่นตัดโซ่ เผาโลงศพบรรจุรูปคณบดีและอธิการบดี ก่อนประกาศปิดงานนิทรรศการศิลปะนิพนธ์ ย้ำการเรียกร้องครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องภายในคณะเท่านั้น แต่มันคือการเรียกร้องสิทธิของนักศึกษาและมนุษย์ภายใต้ระบบอำนาจนิยมในสังคม

คลิปถ่ายทอดสดเหตุการณ์ดังกล่าว

23 ต.ค. 2564 เวลา 18.00 น. นักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดกิจกรรมปิดงานนิทรรศการศิลปนิพนธ์ “WHIPLASH : MADs Pre-degree Exhibition 2021” ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยตัวแทนนักศึกษาได้มีการอ่านแถลงการณ์ พร้อมทั้งเผาโลงศพจำนวน 2 โลงที่มีภาพใบหน้าคณบดีคณะวิจิตรศิลป์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยใหม่อยู่ภายใน

ตัวแทนนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design ได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่มาร่วมงานแสดงนิทรรศการศิลปนิพนธ์ครั้งนี้

“สุดท้ายแล้วงานครั้งนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี เราสามารถแสดงหรือสื่อสารสิ่งที่เราอยากจะพูดในธีสิสของพวกเรา หัวข้อที่พวกเราเลือกแต่ละคนก็ได้ใช้ความคิดของตัวเองอย่างเต็มที่

ขอขอบคุณทุกคน สื่อมวลชน ภาคประชาชน กลุ่มลุงป้าที่นำอาหารมาให้พวกเรา ขอบคุณนักศึกษาและประชาชนที่สนใจกับงานนี้ ขอบคุณกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชนที่มาเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยให้กับพวกเรา

การเรียกร้องในครั้งนี้ของพวกเราไม่ใช่แค่เรื่องภายในคณะ ไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดแสดงงานเท่านั้น แต่มันคือการเรียกร้องสิทธิของนักศึกษาและมนุษย์เรื่องระบบอำนาจนิยมในสังคม ซึ่งมันคือเรื่องเดียวกันกับการสร้างสังคมประชาธิปไตย”

พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า ขณะนี้นักศึกษากำลังดำเนินการร่วมลงชื่อถอดถอนคณบดีคณะวิจิตรศิลป์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยใหม่ มีผู้เข้าร่วมลงชื่อถอดถอนแล้วเป็นจำนวน 1,597 รายชื่อ สุดท้ายแล้วนักศึกษาของยืนยันเรียกร้องสิทธิของตนเอง ดังนี้

  1. นักศึกษาจะต้องได้ใช้พื้นที่และมีสิทธิการใช้สถานที่ตามกำหนดและระเบียบเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  2. นักศึกษาจะไม่ปรับแก้ผลงาน เราต้องการสร้างสิ่งนี้ให้เป็นมาตรฐานแก่ทุกๆ สาขาวิชา ไม่ใช่เฉพาะ Media Art and Design เราต้องการสร้างสิทธิเสรีภาพของเราในการทำงานและการแสดงออกของเรา
  3. ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ชุดนี้ลุ่มหลงในอำนาจ ใช้อำนาจข่มเหงนักศึกษา สิ่งที่ผู้บริหารคณะประกาศมาหรือยัดเยียดให้นักศึกษานั้นไม่มีอะไรที่เป็นผลประโยชน์ต่อนักศึกษา มีแต่จะกีดกันนักศึกษาในการจัดนิทรรศการ รวมทั้งยังมีการลดงบประมาณบางส่วนที่นักศึกษาแต่ละสาขาเคยได้รับ
  4. นักศึกษาอยากให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยืนยันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ดั่งเช่นที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยกระทำกับนักศึกษาในครั้งนี้อีก นักศึกษาต้องมีเสรีภาพในทางวิชาการภายใต้พื้นที่มหาวิทยาลัยโดยไม่ถูกปิดกั้น

ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ หนึ่งในนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design ที่จัดแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ครั้งนี้ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมดังนี้ 

คิดอย่างไรกับกิจกรรมวันนี้?

ยศสุนทร : ตอนนี้เราต้องเข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของการต่อสู้เพื่อที่เราจะได้รับสิ่งที่เราควรจะได้รับ Facilities ต่างๆ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการที่นักศึกษาจะเรียนรู้หรือมีเสรีภาพในทางวิชาการมากกว่านี้ ไม่ใช่มาเซ็นเซอร์หรือพอถึงเวลามหาวิทยาลัยก็เอาสิ่งที่เราทำพวกนี้ไปยื่นเพื่อที่จะทำการประเมินเกี่ยวกับเสรีภาพ ซึ่งผมคิดว่ามันย้อนแย้งกัน การที่เรามาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเราไม่ต้องการผู้บริหารชุดนี้ในการที่จะบริหารต่อ เราไม่ไว้วางใจอีกต่อไปแล้ว

บรรยากาศในคณะที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

ยศสุนทร : บรรยากาศที่ผ่านมาของสาขา Media Art ผมเห็นว่าระเบียบมันเข้มงวด โดยปรกติแล้วพื้นที่ของ Media Art and Design หรือเวิร์คชอปต่างๆ ในคณะ นักศึกษาควรที่จะไปใช้ได้เพื่อที่จะเป็นการเรียนรู้หรือให้เขาฝึกนอกเวลา คือการเรียนรู้มันไม่ได้มีแค่ในเวลาราชการ Facilities ต่างๆ เช่น งบประมาณบางอย่างถูกตัดออกไป มัน New Low ลงทุกวัน อย่างที่เราลงชื่อถอดถอนมันก็จะมีเหตุผลด้วยว่าเราได้รับปัญหาอะไร ทั้งเรื่องที่ abusive ทั้งเรื่องเกี่ยวกับระบบการให้คะแนน หรือการปิดกั้น มีแต่ปัญหา แล้วคนที่ได้รับผลกระทบเขาก็ออกมาร่วมลงชื่อจำนวนมาก รวมนักศึกษา เจ้าหน้าที่ คณาจารย์ ซึ่งผมคิดว่าอย่างน้อยก็ต้องควรพิจารณาตัวเองบางอย่าง คือคนไม่ทนแล้ว คุณต้องพิจารณาว่าคุณจะทำยังไง หรือจะทำตามข้อเรียกร้องของนักศึกษาได้ไหม เราขอแค่นี้ เราจ่ายค่าเทอม เราควรจะได้รับสิ่งที่สถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยจัดให้ได้มากกว่านี้

เรียนจบไปในสถานการณ์ที่ถูกปิดกั้นขนาดนี้รู้สึกอย่างไร?

ยศสุนทร : มันเป็นช่วง Turning Point ว่าจะจบหรือไม่จบ การที่จะขยับไปจากสถานะนักศึกษาไปสู่สถานะคนทำงาน มันเป็น Turning Point สำคัญ แล้วยิ่งเป็นงานธีสิสที่นักศึกษาจะได้โชว์ศักยภาพอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เขาเรียนมาตามแขนงไหนก็ตาม คุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ สิ่งที่เขาเลือกคุณต้องเคารพ ไม่ใช่ว่าอ้างกฎอย่างเดียว ผิดศีลธรรม แล้วจะเซ็นเซอร์ ซึ่งเนื้อหาของงานมันทำหน้าที่ของมันในรูปแบบของศิลปะที่จะสื่อสารได้เหมือนๆ กับงานอื่นๆ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่แฟร์ที่จะมากำหนดสองมาตรฐานว่างานแบบนี้ดี งานแบบนี้ไม่ควรแสดง มันไม่ควรจะเกิดอะไรแบบนี้ในพื้นที่ศิลปะ สถาบันศึกษา หรือพื้นที่สาธารณะ

มองเรื่องความสำคัญของการต้องมี publicspace อย่างไรบ้าง?

ยศสุนทร : ก่อนอื่นหอศิลป์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้อะไรบางอย่างอยู่แล้ว เหมือนห้องทอล์ก ห้องเสวนา มันทำหน้าที่เพื่อสร้างกระบอกเสียงให้สังคม เป็นสื่อกลาง มันทำงานกับสาธารณะอยู่แล้ว มันไม่ควรจะมี Standard ที่มากำหนด ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่ Public Space มันเหมือนจะ Public แต่ก็มีสิ่งที่รัฐหรือผู้บริหารคิดว่าดีเท่านั้นถึงจะได้มาอยู่ตรงนี้ได้ Public สำหรับสังคมเป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศที่คนหลายๆ ภาคส่วนมาร่วมทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง พัฒนาความรู้ ได้รับการศึกษาอะไรบางอย่าง อย่างบรรยากาศวันนี้เราเห็นภาคประชาชน เราจะไม่ได้เห็นอะไรแบบนี้ในงานนิทรรศการของคณาจารย์เลย ผมคิดว่าเป็นบรรยากาศที่ดีในการเปิดพื้นที่ แต่เราก็ based on ว่าเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้บริหารทำ คือเราใช้ Public Space ในการ say no กับอำนาจ คนอื่นอาจคิดว่า say yes เพราะว่าง่ายกว่า ก็แค่ทำตาม เราคิดว่าเราต้องมาพิจารณาว่าเราเจอกับอะไรในพื้นที่ Public แล้วเราจะจัดการกับมันยังไง นักศึกษา เพื่อนๆ ที่แสดงงาน และคนที่มาร่วมสนับสนุน เขาก็ไม่ยอมกัน มันถึงเกิดงานนี้ขึ้น มันเป็นการเปิดความเป็นไปได้ในพื้นที่สาธารณะแล้วระดับหนึ่ง มันจะสำคัญต่อสังคม เราไม่ได้ทำงานเพื่อศิโรราบ ก็มีงานแบบนี้บ้างจะเป็นอะไรไป

ผมยืนยันคำเดิมว่า Public Space คือพื้นที่ที่ใครก็สามารถพูดอะไรก็ได้ ถ้าเขาอยากจะทำก็มาทำได้ แต่ต้องเปิดที่ให้เราทำด้วย จะได้แฟร์ๆ กัน

บรรยากาศตรงนี้คือบรรยากาศที่ปรกติอยู่แล้ว การที่เขามาปิดหรือไม่ให้มาใช้เป็นความผิดปรกติยิ่งกว่า อย่างน้อยพื้นที่มันได้มีชีวิต ได้มีบรรยากาศของผู้คน ภาคประชาชน ซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมอันหนึ่ง เราพยายามรื้อถอน แย่งชิงวัฒนธรรมนั้นด้วยการแย่งชิงพื้นที่แล้วสร้างวัฒนธรรมใหม่ ให้เป็นความเป็นไปได้ใหม่ในสังคม

มีอะไรอยากจะบอกเพื่อนๆ ที่กำลังเจอสถานการณ์เดียวกันอยู่?

ยศสุนทร : ถ้าเรารู้ว่าเราเจอกับอะไรแล้วเรารู้สึกอะไรกับมัน ก็รวมตัวกัน แล้ว say no มันต้องอาศัยอะไรหลายๆ อย่าง แต่ละคนมีเงื่อนไขที่ต่างกัน แต่อย่างน้อยเราต้องดิ้น เราอย่าไปยอม ไม่ดิ้นก็สู้ ผมพูดแบบ abstract แบบนี้ คือไม่ดิ้นก็สู้ อยู่ที่ว่าจะออกแบบวิธีการแบบไหนที่เราจะไม่ยอมต่อสิ่งนั้น อย่างน้อยมันสามารถทำให้คุณมีประสบการณ์ในการที่คุณไม่ยอม

อยากบอกอะไรต่อผู้มีอำนาจ?

ยศสุนทร : เด็กสมัยนี้เขาเฟี้ยวครับ ถ้าคุณไม่อยากจบไม่สวย คือกระแสสังคมมันมาทางนี้แล้ว คุณก็พิจารณาเอาเอง หรือไม่ก็ลองอยู่ซัก 10-20 ปี คุณจะรู้เลยว่าเป็นยังไง ตอนนี้คุณก็กำลังดิ้นเฮือกสุดท้ายเหมือนกัน ผมก็เข้าใจ ลมมันมาแล้วครับ ลุยครับ

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มช. มีความคิดเห็นต่อเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design ที่ผ่านมา ดังนี้

ในฐานะอาจารย์ที่สนับสนุนต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษามาโดยตลอดตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การปิดกั้นขึ้น มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง?

ศรยุทธ : จริงๆ ด้านหนึ่งดีใจแทนพวกเขา เพราะระยะเวลาที่ทุกคนเคลื่อนไหวมาเกิดขึ้นมาเร็วมาก ประมาณไม่เกิน 10 วันตั้งแต่เราตัดสินใจ occupy ตึกร่วมกับนักศึกษา ผมในฐานะอาจารย์รู้สึกว่าเขาเติบโตเร็วมากในระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น ตั้งแต่การวางแผนการทำงาน และลุกฮึบในการทำงานศิลปะ ที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงประเด็นปัญหาเฉพาะที่พวกเขาเจอในคณะเกี่ยวกับอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัย เขาก็เชื่อมโยงมันออกมาในลักษณะที่เชื่อมโยงกับสังคมข้างนอกในเรื่องที่เราตกอยู่ในโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม เป็นสังคมที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ผมเห็นถึงการที่พวกเขาเชื่อมโยงปัญหากับสิ่งที่พวกเขาเจอเฉพาะหน้าไปสู่สังคมในภาพรวม ในฐานะอาจารย์ผมรู้สึกภูมิใจในพวกเขา และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเขาด้วย

ตอนนี้บทบาทของคนรุ่นใหม่ในแวดวงศิลปะเป็นอย่างไร?

ศรยุทธ : จากเฉพาะเคสนี้ ผมพูดแบบนี้ดีกว่าว่าคนในแวดวงวงการศิลปะจำนวนไม่น้อยมองปรากฏการณ์ของนักศึกษาของสื่อศิลปะ มช. ที่ occupy ตึก คนจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ความขัดแย้งระหว่างอาจารย์ แล้วให้นักศึกษามารองรับตอบสนองตัวเอง จริงๆ แล้วความคิดประเภทนี้ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง เป็นการดูเบานักศึกษาค่อนข้างมาก พวกเขาต่างหากที่คอยกระตุ้นอาจารย์อย่างพวกเราให้ตระหนักเห็นถึงปัญหา กระตุ้นพวกเราให้ร่วมสู้ไปกับพวกเขา บทบาทของนักศึกษาศิลปะในปัจจุบันจึงแตกต่างออกไปค่อนข้างมาก พยายามฉีกจากกรอบประเพณีที่ครูต้องเป็นผู้บงการชีวิตศิษย์ในทุกๆ เรื่อง แต่นักศึกษาศิลปะปัจจุบันเขามีช่องทางในการเรียนรู้ค่อนข้างมาก และพยายามที่จะ challenge อาจารย์ ใครที่เขารู้สึกว่าไม่เอาด้วยเขาก็จะมีวิธีการต่างๆ ที่จะท้าทาย ตั้งคำถาม ในขณะเดียวกันสาขาเรามีอาจารย์รุ่นใหม่เยอะ พวกเราได้รับแรงกระตุ้นจากนักศึกษาต่างหากที่เขามากระตุ้นให้พวกเรารู้สึกตื่นตัวทางการเมืองขึ้นมา

ถ้ามองศิลปะเป็นห้องเรียนห้องหนึ่งในสังคม พื้นที่การเมืองกับพื้นที่ทางศิลปะมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ศรยุทธ : จริงๆ พื้นที่การเมืองกับพื้นที่ศิลปะเป็นพื้นที่เดียวกัน แต่ที่ผ่านมาเรามักจะแยกพื้นที่ทางการเมืองออกจากพื้นที่ศิลปะ เรามักจะมองว่ามันเป็นพื้นที่ที่คอยรับใช้ความดีหรือศีลธรรมบางอย่าง หรือระบบบางอย่างในสังคม ซึ่งศิลปะแบบจารีตแบบนี้ต่างหากที่มันมีพลังทางการเมืองยิ่งกว่าพลังทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ศิลปกรรมแบบจารีตในความเป็นจริงแล้วพูดกันอย่างเท่าๆ กัน เราก็เคารพในการขัดเกลาจิตใจของศิลปะเชิงจารีต แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่างานศิลปะแบบจารีตนั่นแหละเป็นแหล่งบ่มเพาะความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นแหล่งบ่มเพาะและผลิตซ้ำอุดมการณ์ที่คอยทำให้สังคมนี้ไม่เท่าเทียมกัน

ศิลปะแบบจารีตมีการพยายามจัดอันดับสูงต่ำทางชนชั้นของผู้คน และคอยกีดกันคนกลุ่มหนึ่งออกจากสังคมตลอดเวลา อันนี้คือนัยสำคัญของมันที่แทรกอยู่ในศิลปะแบบจารีต เราไม่ได้ปฏิเสธว่ามันแย่ทั้งหมด แต่ ณ เวลานี้คนรุ่นใหม่เองพยายามบอกว่ามันมีปัญหา และหนทางที่จะคลี่คลายปัญหาก็คือการทำให้ศิลปะเป็นประชาธิปไตย ทางหนึ่งคือทำให้ทุกๆ พื้นที่ในอณูของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว หรือการใช้ชีวิตของผู้คนให้เป็นพื้นที่ทางการเมืองไปเลย

มองเรื่องความสำคัญของงานศิลปะบนพื้นที่ publicspace อย่างไร?

ศรยุทธ : คอนเซ็ปต์เรื่อง Public Space หรือปริมณฑลสาธารณะในสังคมไทยนี้มันไม่เคยมีประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง โดยแท้จริงแล้วมันกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกครอบครองโดยถ้าไม่กลุ่มทุน ก็ระบบราชการ ทั้งๆ ที่พื้นที่สาธารณะตามคอนเซ็ปต์ มันเป็นพื้นที่ที่คอยหล่อหลอมจิตสำนึกที่ผู้คนมีร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงสังคม ในฐานะที่เป็น Collective consciousness บางอย่างที่ผู้คนมีต่อสังคม และจินตนาการที่ผู้คนมีต่อสังคม

ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดคือการ occupy ตึกแบบที่เราเห็นนี้ มันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทวงคืนเสรีภาพที่พวกเขาคิดว่าเป็นเจ้าของแต่เดิม ไม่ใช่การยึด มันคือการทวงคืนสิทธิของพวกเรา พื้นที่สาธารณะที่ชัดเจนที่สุดอย่างเช่นหอศิลป์

เห็นความหวังอะไรหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมครั้งนี้?

ศรยุทธ : จริงๆ ไฟข้างหลังนี้ก็เป็นความหวัง รวมทั้งความคิดที่พวกเขาเชื่อว่า พวกเขาสามารถที่จะท้าทายอำนาจของรัฐราชการได้นี่คือความหวังแบบหนึ่ง แต่ในเชิงรูปธรรม ระยะทางแค่ไม่กี่วันที่นักศึกษาเคลื่อนไหวเขาพบอย่างหนึ่งว่า นักศึกษาสาขาอื่นๆ ได้เข้ามาหาเขา ร่วมลงชื่อกับพวกเขา ชี้แจงปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในคณะเป็นจำนวนมาก ผมคิดว่ามันเป็นเหมือนการที่นักศึกษา Media Arts and Design เป็นแนวหน้าในการที่จะกรุยทางบางอย่าง จุดประเด็นให้คนรู้สึกว่าพวกเขามีสิทธิที่จะกระทำบางอย่างได้ มีความกล้าหาญมากยิ่งขึ้น ประกายไฟดังกล่าวได้ถูกจุดไปยังคนกลุ่มต่างๆ เป็นคบไฟให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และต่างมหาวิทยาลัยได้รับรู้ถึงเรื่องนี้

ถ้าคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความกล้าหาญได้สักครึ่งหนึ่งของนักศึกษา ผมคิดว่ามันคงจะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่านี้ ทุกครั้งเมื่อคนเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เรามักจะอ้างถึงความสุขุม นุ่มลึก คิดรอบด้าน ไม่ใช้ความรุนแรง ก็เป็นส่วนที่น่ารับฟังอยู่ แต่คำพูดแบบนี้มันจะไปพร้อมๆ กับการถูกพันธนาการด้วยกฎระเบียบ ที่สุดคนที่เป็นผู้ใหญ่ คนที่แก่กว่าก็กลายเป็นภาระให้กับคนรุ่นหลังที่ต้องคอยมาแก้ไขปัญหา ต้องกล้าหาญให้ได้สักครึ่งหนึ่งของนักศึกษา

อาจารย์มีอะไรอยากจะบอกผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยหรือในสังคมบ้าง?

ศรยุทธ : ผมคิดว่าสถานภาพของพวกเขาตอนนี้ถูกสั่นคลอน แล้วก็ถูกลดทอนให้หมดความชอบธรรมไปเรื่อยๆ คนที่มีอำนาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาใช้อำนาจกับคนอื่นอย่างไร แต่คนที่มีอำนาจโดยแท้จริงแล้วเกิดจากการได้รับการยอมรับจากผู้คน ซึ่งตอนนี้เองผู้คนจำนวนมากไม่ได้ยอมรับและไม่ให้ความชอบธรรมกับผู้บริหารทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและในระดับประเทศแล้ว อยากให้ทุกคนช่วยจับตาดูความเคลื่อนไหวหลังจากนี้ คุ้มครองนักศึกษา ปกป้องนักศึกษา เดินไปเคียงข้างกับพวกเขา

สุดท้ายต่อนี้บทบาทในฐานะคณาจารย์ในสาขาวิชา Media Arts and Design จะขับเคลื่อนกันต่อไปอย่างไรหลังจากนี้?

ศรยุทธ : คือด้านหนึ่งเราต้องร่วมผลักดันประเด็นไปรพร้อมๆ กับนักศึกษา อย่างที่ผมบอกว่าเราเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของนักศึกษาในครั้งนี้ อันดับต่อมาผมคิดว่าเราต้องรักษาฐานที่มั่นการเรียนการสอนในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการทำงานทางศิลปะ ปรัชญา ความคิดต่างๆ ให้สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อมันกลายเป็นพื้นที่ของเสรีภาพเหมือนอย่างที่เคยเป็น และมันควรจะเป็นมากขึ้นกว่าเดิม อันนี้เราต้องรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้ เราเข้าใจได้ทันทีว่าหลังจากนี้มันคงมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นตามมาแน่นอน เหมือนแรงกระแทกย้อนกลับ

อันดับที่สาม ผมคิดว่าในเชิงคดีความ กฎหมาย การฟ้องร้องต่างๆ ก็คงจะติดตามมา แต่แน่นอนว่าพวกเราก็มีข้อมูลหลักฐาน มีคำให้การต่างๆ จากอาจารย์ นักศึกษา ที่เราเชื่อว่าเรายืนอยู่บนฐานของหลักการ ความเป็นเหตุเป็นผล ที่พวกเราคิดว่าไม่มีอะไรที่พวกเรากระทำผิด

 

สำหรับที่มาของคำว่ารุ่นตัดโซ่นั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา นักศึกษาสาขาวิชา ดังกล่าว เกือบ 100 คน รวมตัวกัน บุกเข้ายึดพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คืนจากผู้บริหารคณะและผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าติดตั้งผลงานให้ทันแสดงงานตามกำหนด หลังแจ้งความลงบันทึกประจำกรณีถูกห้ามแสดงผลงานศิลปะที่สถานีตำรวจเสร็จในคืนวันที่ 15 ต.ค. ต่อมาเมื่อนักศึกษาเดินทางมาถึงบริเวณหน้าประตูทางเข้าสาขาวิชา Media Art and Design ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรม ประตูรั้วทางเข้าถูกล็อคด้วยโซ่คล้องกุญแจ ทำให้นักศึกษาที่มาต้องใช้คีมตัดเหล็กตัดโซ่พังประตูหน้าเข้ามา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท